เงินเฟ้อเดือนสิงหาคมพุ่ง 7.86% พาณิชย์ฟันธงผ่านจุดสูงสุดแล้ว?/บทความพิเศษ ศัลยา ประชาชาติ

บทความพิเศษ

ศัลยา ประชาชาติ

 

เงินเฟ้อเดือนสิงหาคมพุ่ง 7.86%

พาณิชย์ฟันธงผ่านจุดสูงสุดแล้ว?

 

ทันทีที่สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยรายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) ประจำเดือนสิงหาคม 2565 เท่ากับ 107.46 หรือเพิ่มขึ้น 0.05% หากเทียบกับเดือนก่อนหน้าและเพิ่มขึ้น 7.86% หากเทียบกับเดือนสิงหาคมปี 2564

โดย สนค.มีความเห็นว่า เป็น “อัตราคงที่” แล้วเมื่อเทียบกับเงินเฟ้อ 3 เดือนที่ผ่านมาที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่มิถุนายน 2564 ที่ 7.66% ต่อเนื่องด้วยเดือนกรกฎาคม 7.61%

พร้อมกับสรุปลงไปว่า “เงินเฟ้อของประเทศไทยได้เดินทางมาถึงจุดสูงสุดแล้ว” และจะปรับตัวลดลงในระยะต่อๆ ไป

ความเห็นของ สนค.ดังกล่าวได้กลายเป็นคำถามที่สร้างความสงสัยที่ว่า เหตุใดกระทรวงพาณิชย์จึงแสดงความมั่นใจได้มากเพียงนั้น

 

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 กระทรวงพาณิชย์เพิ่งปรับตัวเลขคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปประจำปี 2565 เป็นระหว่าง 5.5 – 6.5% (ค่าเฉลี่ยกลาง 6.0%) ถือเป็นการปรับเป็นครั้งที่ 3 จากเดิมที่มีปรับคาดการณ์ไปเมื่อเดือนมีนาคม 2565 ที่ผ่านมาว่า เงินเฟ้อทั้งปีน่าจะอยู่ที่ 4-5% หรือปรับเพิ่มจากคาดการณ์ครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน 2564 ว่า เงินเฟ้อจะขยายตัวในกรอบ 0.7-2.4% ค่ากลางอยู่ที่ 1.5% จากปัจจัยเรื่องสงครามรัสเซีย-ยูเครนส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบสูงขึ้น

โดยการปรับประมาณการเงินเฟ้อปี 2565 ล่าสุดนี้ เป็นผลมาจากสมมุติฐานที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อได้เปลี่ยนแปลงไป 2 รายการคือ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยปีนี้คาดว่า จะขยายตัว 2.5-3.5% จากเดิม 3.4-4.5% และอัตราแลกเปลี่ยนอ่อนค่าเป็น 33.5-35.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐจากเดิมที่ 32-34 บาทต่อเหรียญ ส่วนระดับราคาน้ำมันดิบดูไบยังทรงตัวอยู่ระหว่างที่ 90-110 เหรียญ/บาร์เรล

อย่างไรก็ตาม “อัตราเงินเฟ้อ” ที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ ถือว่าอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ประเมินไว้ระหว่าง 4.2-5.5%, ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมิน 6.2%, สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) 6.5%, คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) 5-7%, ธนาคารพาณิชย์ประเมิน 5.2-6% และธนาคารโลก 5.2%

สำหรับตัวเลขเงินเฟ้อสะสมช่วง 8 เดือน ปี 2565 (มกราคม-สิงหาคม) เพิ่มขึ้น 6.14% และเงินเฟ้อพื้นฐานที่หักอาหารสดและพลังงานที่มีความผันผวนด้านราคาออก ดัชนีอยู่ที่ 103.59 เพิ่มขึ้น 0.09% เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2565 และเพิ่มขึ้น 3.15% เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2564 และเฉลี่ย 8 เดือนเพิ่มขึ้น 2.16%

ปัจจัยหลักที่ทำให้เงินเฟ้อเดือนสิงหาคมสูงขึ้น มาจากสินค้ากลุ่มพลังงาน ซึ่งมีน้ำหนักในการคำนวณเงินเฟ้อ 14.31% หรือปรับเพิ่มขึ้น 30.50% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นต้นทุนการขนส่งและต้นทุนการผลิตที่สำคัญยังคงสูงขึ้น รวมทั้งจากค่าบริการ เช่น ค่าโดยสารสาธารณะ และค่าการศึกษาที่ปรับสูงขึ้น ส่งผลให้สินค้าในหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 6.83%

ส่วนสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น 9.35% โดยเฉพาะผักสด เช่น พริกสด, ต้นหอม, ผักคะน้า ราคาปรับสูงขึ้นเนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกได้รับความเสียหายจากอุทกภัยในหลายจังหวัด รวมทั้งเนื้อสุกร, ไก่สด, ไข่ไก่, เครื่องประกอบอาหาร และอาหารสำเร็จรูป ราคาปรับเพิ่มขึ้นตามต้นทุนการผลิต ราคาวัตถุดิบ และค่าขนส่ง

และยังมีสาเหตุจากฐานเงินเฟ้อปีที่แล้วในเดือนสิงหาคม 2564 นั้น “ต่ำ” ทำให้เงินเฟ้อเดือนสิงหาคมปี 2565 เพิ่มขึ้นสูง ซึ่งถือเป็นเรื่องทางเทคนิค

 

แต่เป็นที่น่าสังเกตถึงคำประกาศอย่างมั่นใจว่า เงินเฟ้อพ้นจุดต่ำสุดแล้วนั้น ทาง สนค.คำนวณจากปัจจัยใด เพราะหากพิจารณาราคาก๊าซหุงต้มที่ทยอยปรับขึ้นต่อเนื่องแบบขั้นบันไดตั้งแต่เดือนเดือนกรกฎาคม-เดือนกันยายน เป็นเดือนสุดท้ายจากเดิมราคาถังละ 363 บาท ทยอยปรับมาจนถึง 1 กันยายน 2565 ที่ถังละ 408 บาท

เช่นเดียบกับ “ค่าไฟฟ้าผันแปร” หรือค่า Ft ที่ปรับขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่งวดแรกเดือนมกราคม-เมษายน จนถึงงวดล่าสุด เดือนกันยายน-ธันวาคม 2565 ปรับขึ้นอีก 68.66 สตางค์ มีผลให้คนไทยต้องเสียค่าไฟหน่วยละ 4.72 บาท ซึ่งน่าจะทำให้เงินเฟ้อเดือนต่อไปคือ เดือนกันยายนน่าจะปรับตัวสูงขึ้น

ในประเด็นนี้ นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า ในระยะ 3 เดือนที่ผ่านมาเงินเฟ้ออยู่ระดับใกล้เคียงกัน นอกจากนี้ ดัชนีที่ชี้วัดเศรษฐกิจ ทั้งดัชนีราคาผู้ผลิต-ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง ปรับลดลง ดังนั้น แนวโน้มเงินเฟ้อเดือนกันยายน 2565 คาดว่า จะเริ่มปรับลดลง อุปสงค์ในประเทศปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับ “ฐานเงินเฟ้อ” ปีก่อนอยู่ในระดับสูง ดังนั้น เงินเฟ้อตั้งแต่เดือนตุลาคม-ธันวาคม 2565 “น่าจะเพิ่มขึ้นไม่มากนัก”

ส่วนปัจจัยภายในประเทศพบว่า ราคาสินค้าและบริการ ทยอยปรับเพิ่มขึ้นไปแล้ว ทางผู้ผลิต-ผู้บริโภคต่างยอมรับการปรับราคาและไม่กระทบเกินไป โดยจะเป็นไปตามนโยบาย Win-win โมเดล

นอกจากนี้ สนค.ยังได้รับข้อมูลจากผู้ประกอบการว่า การขึ้นราคาสินค้าและบริการของบริษัทต่างชาติที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทย อิงตามอัตราเงินเฟ้อของประเทศต้นทาง

เช่น อัตราค่าบริการเพิ่มขึ้น 8% อิงจากอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐเดือนมีนาคม 2565 ซึ่งสูงขึ้น 8.5% เป็นต้น โดยบางบริษัทปรับราคาเพิ่มขึ้นแล้วตามบริษัทแม่ และบางบริษัทจะปรับราคาในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า ซึ่งเป็นไปตามนโยบายการปรับราคาของบริษัทแม่ที่จะใช้กับบริษัทในเครือทั่วโลกที่ส่งผลต่อราคาสินค้าและบริการในตะกร้าเงินเฟ้อของไทยและราคาขายปลีกน้ำมันปรับตัวลดลงต่อเนื่อง นอกจากนี้ รัฐบาลเองก็ยังได้มีมาตรการช่วยลดค่าครองชีพออกมาอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม สนค.ยอมรับว่า ยังมีปัจจัยภายนอกที่ต้องติดตาม เช่นว่า สถานการณ์ความตึงเครียดจากการสู้รบในภูมิภาคต่างๆ จะต้องไม่เพิ่มขึ้น, ค่าเงินบาทอ่อนค่า ซึ่งจะส่งผลต่อต้นทุนสินค้านำเข้าบางชนิดมากน้อยเพียงใด และการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐ

รวมถึงสถานการณ์ราคาพลังงานปลายปี และการส่งออกพลังงานของรัสเซียที่จะมีผลต่อทิศทางราคาพลังงานโลก ทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งจะมีผลต่อต้นทุนการผลิตไฟฟ้า ต้นทุนการขนส่ง และการผลิตสินค้า

รวมทั้งความรุนแรงของอุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นจะทำให้ผลผลิตผักสดเสียหาย ขาดแคลนและราคาเพิ่มขึ้น รวมถึงการปรับขึ้นค่าแรง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565

เท่ากับว่า เมื่อหัก-ลบกันแล้วปรากฏ “ปัจจัยท้าทาย” ยังมีมากว่า “ปัจจัยบวก” แม้ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์จะปรับลดลง รัฐยังตรึงราคาน้ำมันดีเซลลิตรละ 35 บาท

แต่แนวโน้มความตึงเครียดฝั่งรัสเซีย-ยูเครนยังยืดเยื้อ และหากกลุ่มโอเปคพลัสปรับลดกำลังผลิตน้ำมันดิบลง 100,000 บาร์เรล/วันในเดือนตุลาคม 2565 ก็จะมีผลให้ราคาน้ำมันดิบกลับมายืนอยู่ในระดับ 100 เหรียญ/บาร์เรลอีกครั้ง และยังมีผลต่อราคาก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งน่าจะทำให้ค่า Ft ปรับขึ้นไปอีก

 

ในส่วนของผู้บริโภค ทาง สนค.ได้ออกสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในช่วงเดือนมิถุนายน 2565 จากกลุ่มตัวอย่าง 8,363 คนทั่วประเทศเกี่ยวกับการปรับตัวในภาวะน้ำมันแพงพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้น้ำมัน โดยใช้รถยนต์ส่วนตัวน้อยลง ตามด้วยเปลี่ยนชนิดพาหนะ/วิธีการเดินทาง และเปลี่ยนชนิดน้ำมัน

โดยประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดค่าใช้จ่าย ด้วยการลดการใช้สินค้าฟุ่มเฟือยลง การเดินทางท่องเที่ยว และบริโภคอาหารนอกบ้านน้อยลง หากสถานการณ์ราคาน้ำมันแพงยืดเยื้อ ส่วนใหญ่จะหาอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ด้วย

ดังนั้น สนค.จึงมีข้อเสนอให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการและดูแลค่าบริการขนส่งสาธารณะให้เหมาะสม กระตุ้นการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยว และสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า

ซึ่งนอกจากจะบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นแล้ว ยังช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างต่อเนื่องอีกด้วย