ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 9 - 15 กันยายน 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | เมนูข้อมูล |
เผยแพร่ |
ความเป็นไปใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในความรู้สึกของประชาชน เป็นเรื่องน่าเศร้าที่สุด
ชีวิตประชาชน ชีวิตเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจระดับล่าง ชีวิตข้าราชการโดยเฉพาะครู หรือกระทั่งพระสงฆ์องค์เจ้า สูญเสีย พิการ บาดเจ็บ ปีหนึ่งนับไม่หวาดไหว ความเสียหายจากการก่อความรุนแรงในพื้นที่หนักหนาสาหัสมานานนมหลายทศวรรษ แต่ดูเหมือนไม่มีทางเยียวยาแก้ไขได้
เล่ากันว่าทุกครั้งที่มีการหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาเรียกร้องให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบให้มากขึ้น คำตอบจะวนอยู่ 3 เรื่องคือ
1. ยืนยันว่าแก้ปัญหาถูกทางแล้ว
2. การแก้ไขมุ่งไปที่ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” อันเป็นศาสตร์แห่งการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน
และ 3. สถานการณ์ดีขึ้น
ว่ากันว่านี่เป็นคำตอบสำเร็จรูป หากมีการไถ่ถามขึ้นมาเมื่อไร ไม่ว่าสถานการณ์จะเลวร้ายอบย่างไร ยืนยันแค่นี้เป็นจบ

นั่นเป็นคำตอบอย่างเป็นทางการ
แต่ที่กระซิบกระซาบกันในวงสนทนาที่ค่อนข้างกันเองสักหน่อย จะเล่ากับถึงผลประโยชน์มหาศาลที่ทุกฝ่ายร่วมทำมาหาได้จากสถานการณ์รุงแรงที่เกิดขึ้นไม่รู้จบนี้
และแล้วเรื่องราวที่ป้องปากพูดกัน มาสู่รูปธรรมที่ยืนยันได้ เมื่อ “ผู้หญิงของสมาชิกวุฒิสภาคนหนึ่ง” ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นตำรวจด้วยวิธีพิสดาร ถูกเปิดโปงว่าได้รับการอวยให้ไปมีตำแหน่งปฏิบัติงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อรับสิทธิรายได้พิเศษ ทั้งเบี้ยเลี้ยง และอื่นๆ โดยที่ตัวไม่ต้องไปทำงานในพื้นที่จริง ซึ่งเรียกว่า “บัญชีเถื่อน”
เมื่อเรื่องที่ถูกแฉออกมา ทำให้เกิดความกังขาว่าการหากินกับบัญชีเถื่อนของเครือขายผู้ยึดครองอำนาจคงไม่ได้แค่นี้ น่าจะเอื้อผลประโยชน์ให้กับพรรคพวกตัวเองกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน
และผลประโยชน์สารพัดแบบนี้ ทำให้มีความเชื่อว่าเหตุที่ไม่มีการแก้ไขอย่างจริงจัง เพราะมีผู้เกี่ยวข้องที่เห็นช่องทางหากินกับการรักษาความรุนแรงไว้ เพื่อเป็นเหตุให้ไม่ถูกตัดงบประมาณที่จัดสรรให้พรรคพวกอย่างมักง่าย
นั่นเป็นข้อกล่าว ซึ่งจริงหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่คนที่ได้ยินได้ฟังเชื่อหรือไม่มีความสำคัญกว่า เพราะหมายถึงเครื่องชี้วัดศรัทธาประชาชนต่อหน่วยงานรัฐ

เมื่อเร็วๆ นี้ “นิด้าโพล” สำรวจเรื่อง “บัญชีผี หน่วยงานภาครัฐใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้” โดยถามความเห็นจากกลุ่มคนที่รับผลจากความรุนแรงนั้นมากที่สุด คือประชาชนในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส
เมื่อถามถึงความเชื่อต่อข่าวเจ้าหน้าที่รัฐจำนวนหนึ่งมีชื่อปฏิบัติงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดน แต่ไม่มีตัวตนมาทำหน้าที่จริงในหน่วยงานนั้น หรือที่เรียกว่า “บัญชีผี” คำตอบร้อยละ 40.29 เชื่อว่าเกิดขึ้นจริง ร้อยละ 25.95 ค่อนข้างเชื่อว่าเกิดขึ้นจริง มีแค่ร้อยละ 19.33 เท่านั้นที่ไม่เชื่อเลย และร้อยละ 14.07 ไม่ค่อยเชื่อ
เมื่อถามว่ารู้สึกอย่างไรกับ “บัญชีผี”
ร้อยละ 43.32 เห็นว่ามีผลประโยชน์แอบแฝงอยู่, ร้อยละ 41.55 เห็นว่าไม่เป็นธรรมกับเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติงานจริงในพื้นที่, ร้อยละ 30.65 คิดว่าเป็นการย้ายชื่อไปเอาตำแหน่ง เพื่อการเติบโตทางราชการในวันข้างหน้า, ร้อยละ 30.38 มองว่าเป็นการใช้เส้นสายทางราชการ/การเมือง, ร้อยละ 27.38 คิดว่าเป็นเรื่องปกติในระบบราชการไทย, ร้อยละ 17.57 เห็นว่าผู้บริหารในส่วนกลางไม่ใส่ใจดูแลแก้ปัญหา, ร้อยละ 14.85 มองว่าเป็นการใช้ช่องว่างทางกฎระบียบในระบบราชการ
เมื่อถามว่าปัญหานี้แก้ไขได้หรือไม่ ร้อยละ 57.08 ตอบว่าแก้ได้, ขณะที่ใกล้เคียงกันคือร้อยละ 40.74 ตอบว่าแก้ไขไม่ได้
จากความคิดของคนในพื้นที่เช่นนี้ ย่อมไม่ผิดที่จะสรุปว่าความเชื่อในความตรงไปตรงมา ไม่ใช้สถานการณ์ที่สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน และเจ้าหน้าที่ระดับล่าง ไม่เกิดขึ้น
ศรัทธาที่ไม่มีอยู่จะทำให้คนที่ตั้งใจแก้ปัญหาอย่างจริงจังทำงานได้ยากขึ้น
หนทางเดียวคือผู้มีอำนาจจะต้องสะสางเรื่องนี้อย่างจริงจัง
แต่ก็นั่นแหละ เมื่อเรื่องราวที่เกิดขึ้นกลายเป็นการแสวงหาประโยชน์ของเครือข่ายผู้มีอำนาจเสียเอง ผู้คนจึงรู้สึกสิ้นหวังกับการแก้ปัญหา
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022