จบ 5 ปี ปฏิรูปการเมือง ได้อะไร ไปถึงไหนกัน/บทความพิเศษ สมชัย ศรีสุทธิยากร

สมชัย ศรีสุทธิยากร

บทความพิเศษ

สมชัย ศรีสุทธิยากร

ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต

 

จบ 5 ปี ปฏิรูปการเมือง

ได้อะไร ไปถึงไหนกัน

 

ความโดดเด่นที่เป็นราคาคุยของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 คือ มีหมวด 16 ว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ เป็นหมวดใหม่ที่ไม่เคยปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ โดยในมาตรา 258 ก. ได้กล่าวถึงการปฏิรูปด้านการเมือง โดยกล่าวถึงประเด็นสำคัญที่ต้องปฏิรูป 5 ด้านคือ

1) ให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

2) ให้การดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองเป็นไปโดยเปิดเผยและตรวจสอบได้

3) มีกลไกกำหนดความรับผิดชอบของพรรคการเมือง ในการประกาศนโยบายที่มีการวิเคราะห์ผลกระทบ ความคุ้มค่าและความเสี่ยงอย่างรอบด้าน

4) มีกลไกให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทำหน้าที่ด้วยความสุจริตและรับผิดชอบ

และ 5) มีกลไกแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองโดยสันติวิธี

ในมาตรา 259 กำหนดให้เริ่มดำเนินการปฏิรูปภายใน 1 ปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ โดยต้องกำหนดผลสัมฤทธิ์ที่คาดหวังจะบรรลุในระยะเวลา 5 ปี นอกจากนี้ ในมาตรา 270 ยังกำหนดให้คณะรัฐมนตรียังมีหน้าที่ต้องแจ้งความคืบหน้าในการดำเนินการปฏิรูปประเทศต่อรัฐสภาเพื่อทราบทุก 3 เดือน

วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ.2560 มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ รวม 11 คณะ หลังจากนั้นผ่านไปเกือบ 3 ปี วันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ.2563 ก็มีประกาศฉบับใหม่ยกเลิกคณะกรรมการชุดเดิมทั้งหมดและแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ 13 คณะ โดยให้มีวาระการดำรงตำแหน่งถึง 14 สิงหาคม พ.ศ.2565 อันเป็นครบกำหนด 5 ปีของการปฏิรูปประเทศในรัฐธรรมนูญ

5 ปี ของการทำงานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ เป็น 5 ปีที่เปี่ยมด้วยผลงานเป็นที่น่าพึงพอใจ หรือเป็น 5 ปีของการทำงานอย่างสะเปะสะปะไร้ทิศทางและเลือกทำแต่ในสิ่งที่ไร้แก่นสาร

หากมาดูเฉพาะความสำเร็จในการปฏิรูปด้านการเมืองที่ปรากฏในรายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ ฉบับล่าสุดที่เผยแพร่ คือฉบับที่ 15 (มกราคม-มีนาคม 2565) และจากรายงานการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์แห่งชาติ ครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ.2565 จะเห็นถึงภาพความสำเร็จของการปฏิรูปการเมืองที่เกิดขึ้นว่า 5 ปี เราได้อะไร ไปถึงไหนกับการปฏิรูปการเมือง

 

ชื่นชมกับรายงานความสำเร็จจอมปลอม?

ในรายงานการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ครั้งที่ 2/2565 วาระที่ 4.3 หน้าที่ 13 รายงานว่า “การดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศทั้ง 13 ด้าน ได้ทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามที่กำหนดในรัฐธรรมนูญฯ แล้ว โดยมีตัวอย่างความสัมฤทธิ์ อาทิ ด้านการเมือง มีการจัดทำแอพพลิเคชั่น Civic Education เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการเข้าถึงข้อมูลของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ข้อมูลพรรคการเมือง ข้อมูลที่เผยแพร่ประชาสัมพันธ์การเลือกตั้ง”

การรายงานต่อที่ประชุมของกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานนั้น หน่วยราชการที่รับผิดชอบต้องเลือกสรรถึงตัวอย่างงานที่เป็นหน้าเป็นตาที่สุดต่อความสำเร็จที่ต้องการนำเสนอ จึงแปลความหมายว่า โครงการจัดทำแอพพลิเคชั่นดังกล่าวน่าจะเป็นผลงานที่ภาคภูมิใจที่สุดของการสัมฤทธิ์ผลในด้านการปฏิรูปการเมืองเรื่องหนึ่ง

แต่หากกรรมการยุทธศาสตร์ได้มีโอกาสเข้าไปดูการทำงานของแอพพลิเคชั่นดังกล่าวจริงน่าจะไม่ปลื้มไปกับรายงานที่นำเสนอและยังอาจมีคำถามตามมามากมายถึงความสำเร็จในการปฏิรูปด้านต่างๆ อีก 12 ด้านว่า จะมีความคล้ายคลึงกันในการรายงานผลปลอมๆ แบบนี้หรือไม่

แอพพลิเคชั่น Civic Education น่าจะเป็นผลงานของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ชื่อ Civic ที่หากเราเข้าไปดูแล้วจะพบว่า ในระบบ IOS. ของ Apple มีผู้ให้คะแนน 2 คน ด้วยค่าเฉลี่ย 1.5 จาก 5 คะแนน ส่วนในระบบ Android มีผู้ให้คะแนน 33 คน ด้วยค่าเฉลี่ย 2.75 จาก 5 คะแนน (ข้อมูลเมื่อ 4 กันยายน 2565)

เมื่อดูเนื้อหาภายในก็เป็นเรื่องการให้ความรู้ประกอบหลักสูตรการอบรมประชาชน เช่น หลักสูตรพลเมืองคุณภาพ เยาวชนพลเมืองวิถีใหม่ ลูกเสืออาสา กกต. นักศึกษาวิชาทหาร ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ กกต.เคยจัดร่วมกับหน่วยราชการอื่นๆ ในอดีตแล้วมารวมไว้ที่เดียวกันในแอพพลิเคชั่นดังกล่าว ไม่ใช่เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการเข้าถึงข้อมูลของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ข้อมูลพรรคการเมือง ข้อมูลที่เผยแพร่ประชาสัมพันธ์การเลือกตั้ง ตามที่รายงานต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์แต่ประการใด

เห็นเท่านี้ คงเป็นเรื่องน่าเศร้าที่เข้าใจว่า ทำแบบนี้คือปฏิรูปการเมืองแล้ว

 

คัดออก ตัดทิ้ง เหลือแค่ Big Rock

ก็ยังไม่เห็นความคืบหน้า

แผนการปฏิรูปประเทศฉบับแรก ประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2561 ประกอบด้วยแผนงานและโครงการจำนวนมาก แต่เมื่อเวลาผ่านไปมีความคืบหน้าช้ามากและคาดว่าน่าจะไม่สามารถดำเนินการให้สำเร็จได้อย่างแน่นอน เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564 จึงมีการประกาศใช้แผนปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) โดยเน้นเฉพาะโครงการกิจกรรมที่จะมีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ หรือเรียกว่ากิจกรรม Big Rock โดยเหลือกิจกรรมที่ต้องทำให้สำเร็จเพียง 62 กิจกรรมจาก 13 แผนงานปฏิรูปประเทศ 13 ด้าน หรือเฉลี่ยด้านละ 4-5 กิจกรรมเท่านั้น

กิจกรรม Big Rock ในแผนปฏิรูปด้านการเมือง มี 5 กิจกรรม คือ

1) การส่งเสริมความรู้ทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

2) การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการนโยบายสาธารณะทุกระดับ

3) การสร้างความสามัคคีปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติ

4) การส่งเสริมการพัฒนาพรรคการเมือง

และ 5) การปรับปรุงโครงสร้างและเนื้อหาของรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูป

จากรายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ ฉบับล่าสุด คือฉบับที่ 15 (มกราคม-มีนาคม 2565) ที่เสนอต่อรัฐสภา ระบุว่า กิจกรรมที่ 3 และ 4 อยู่ในขั้นล่าช้ากว่ากำหนดโดยเป็นความล่าช้าที่ต่อเนื่องจากรายงานในรอบที่ผ่านมา

กิจกรรมเสริมสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติ รับผิดชอบโดยสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูป ยุทธศาสตร์ชาติและเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติซึ่งเป็นหน่วยงานที่ตั้งเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 19/2561 และปัจจุบัน คณะรัฐมนตรีมีมติให้ยุบเลิกและหาทางโยกย้ายบุคลากรภายในสิ้นปี พ.ศ.2565

เป้าหมายที่ตั้งแล้วไม่สำเร็จก็หาใช่เป้าหมายที่สูงส่ง แต่เป็นแค่การผลิตชุดความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ ยังไม่ได้ไปไกลถึงขั้นสังคมปรองดองสมานฉันท์ไร้ความขัดแย้ง

ส่วนกิจกรรมการส่งเสริมการพัฒนาพรรคการเมือง รับผิดชอบโดยสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ก็เป็นเรื่องการยังไม่สามารถจัดพิมพ์คู่มือปฏิบัติงานของพรรคการเมือง โดยอ้างว่าการแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองยังไม่แล้วเสร็จ และกิจกรรมสัมมนาต่างๆ ก็ยังไม่มีการดำเนินการ

ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดนี้ เป็นเพียงกระบวนการ (Process) หาใช่ผลสัมฤทธิ์ (Results) ของการพัฒนาพรรคการเมืองแต่อย่างใด

 

ผลการปฏิรูปทางการเมืองเมื่อครบ 5 ปี

เมื่อคนปฏิรูปไม่เข้าใจเรื่องปฏิรูปแต่ทำงานแบบขอไปที เมื่อผู้บริหารประเทศได้แต่นั่งหัวโต๊ะรับเบี้ยประชุมครั้งละ 20,000 บาท ประชุมครั้งละ 2 ชั่วโมง เริ่ม 09.30 น. เลิกประชุม 11.30 น. นั่งฟังสิ่งที่ข้าราชการประจำบรรยายด้วยข้อมูลอัดแน่นแบบเข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง

การปฏิรูปประเทศที่อาจจะเป็นเพียงข้ออ้างหรือแม้จะเป็นความตั้งใจสำคัญที่อยากเปลี่ยนแปลงก็ตาม แต่หากขาดผู้บริหารประเทศที่มีความสามารถในการกำกับดูแล ผลของการปฏิรูปก็จะเป็นเพียงคำพูดที่ให้เกิดความรู้สึกดีว่าสำเร็จแล้ว บรรลุผลสัมฤทธิ์แล้วโดยจริงๆ แล้ว หาเป็นเช่นนั้นไม่

อย่าถามหาสิ่งที่เป็นแก่นสาร เพราะแม้แต่กระพี้หรือเปลือกก็ยังไปไม่ถึง