การศึกษา สุดสัปดาห์/ตระการตา…มหรสพสมโภช งานออกพระเมรุ ‘ในหลวง ร.9’

การศึกษา สุดสัปดาห์

ตระการตา…มหรสพสมโภช
งานออกพระเมรุ ‘ในหลวง ร.9’

นอกจากการจัดสร้างพระเมรุมาศ และอาคารประกอบพระเมรุมาศ ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่มีความวิจิตร งดงาม สมพระเกียรติแล้ว
ส่วนสำคัญในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในหลวง รัชกาลที่ 9 อีกอย่างหนึ่งคือ การแสดงมหรสพสมโภช ถือเป็นสัญลักษณ์ของงานออกทุกข์ หรือการออกพระเมรุ…
โดยงานแสดงมหรสพสมโภชในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ เป็นแบบแผนราชประเพณีสืบทอดกันมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา
มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนได้ชมและถือว่าเป็นงานออกทุกข์ ครั้นมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์
การแสดงมหรสพสมโภชได้ถูกยกเลิกไปในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เหตุก็ด้วยพระองค์ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้ลดทอนความใหญ่โตในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระองค์เองออก
ซึ่งนั่นหมายรวมถึงการลดทอนงานมหรสพออกไปด้วย
กระทั่งปี 2539 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการรื้อฟื้นการประโคมดนตรีและการมหรสพอีกครั้งในการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบมา…

สําหรับงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้จัดให้มีการแสดงมหรสพสมโภชทั้งหมด 3 เวที ตั้งอยู่บริเวณทิศเหนือของสนามหลวง ดังนี้
เวทีที่ 1 ประกอบด้วยหนังใหญ่ 2 ชุด คือ หนังใหญ่เบิกหน้าพระ ชุดพากย์สามตระ (หนังพระฤๅษี หนังพระอิศวร หนังพระรามแผลงศร) อีกชุดเป็น หนังใหญ่เบิกโรง ชุดจับลิงหัวค่า มีเนื้อหาเน้นย้ำเรื่องการทำดีเพื่อประเทศชาติ และการแสดงโขน เรื่องรามเกียรติ์ ชุด พระรามข้ามสมุทร ศึกทศกัณฐ์ (ทัพสิบขุน-สิบรถ) ท้าวมาลีวราชว่าความ-มณโฑหุงนาทิพย์ และศึกทศกัณฐ์ สีดาลุยไฟ-พระรามคืนนคร
เวทีที่ 2 ประกอบด้วยการแสดงหุ่นหลวง ตอนหนุมานเข้าห้องนางวานรินทร์ การแสดงหุ่นกระบอก เรื่องพระอภัยมณี ตอนสุดสาครจับม้านิลมังกร การแสดงละครเรื่องพระมหาชนก ดำเนินเรื่องตามบทพระราชนิพนธ์ของในหลวง รัชกาลที่ 9 ซึ่งทรงเน้นย้ำเรื่องของความเพียร และความมีสติในการใช้ชีวิต การแสดงละคร เรื่องอิเหนา ตอนบุษบาชมศาล-อิเหนาตัดดอกไม้-ฉายกริช-ท้าวดาหาบวงสรวง และการแสดงละครเรื่องมโนราห์
การแสดงเวที 3 เป็นการบรรเลงวงดุริยางค์สากล “ธ คือ ดวงใจไทยทั่วหล้า” ประกอบด้วย การบรรเลงและขับร้องเพลงพระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บทเพลงเทิดพระเกียรติ บทเพลงที่ประพันธ์ขึ้นเพื่อถวายความอาลัย ซึ่งมีทั้งหมด 7 องก์ คือ
องก์ที่ 1 ดุจหยาดทิพย์ชโลมหล้า โดยวงดุริยางค์สากล กรมศิลปากร องก์ที่ 2 ใต้ฟ้าร่มเย็น เพราะพระบารมี โดยกรมดุริยางค์ทหารบก องก์ที่ 3 ทวยราษฎร์น้อมสดุดี โดยกองดุริยางค์ทหารเรือ องก์ที่ 4 ถวายภักดีองค์ราชัน โดยกองดุริยางค์ทหารอากาศ องก์ที่ 5 สถิตนิรันดร์ในใจราษฎร์ โดยฝ่ายดนตรี กองสวัสดิการ ดุริยางค์ตำรวจ องก์ที่ 6 ปวงข้าบาทบังคมถวาย โดยวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ และองก์ที่ 7 ธ สู่สวรรคาลัยในทิพย์วิมาน โดยวงดนตรีสากล สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์
นอกจากนี้ ยังมีการแสดงบัลเล่ต์ เรื่องมโนห์รา (KINARI SUITE) เป็นการแสดงประกอบบทเพลงพระราชนิพนธ์ ที่ถูกบรรจุอยู่ในการแสดงองก์ที่ 1 ของการบรรเลงดนตรีสากล “ธ คือ ดวงใจไทยทั่วหล้า” โดยบัลเล่ต์เรื่องมโนราห์ เป็นหนึ่งในการแสดงมหรสพ เพื่อรำลึกถึงพระอัจฉริยภาพของในหลวงรัชกาลที่ 9 การแสดงทุกเวทีพร้อมกันตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันที่ 26 ตุลาคม จนถึงเวลา 06.00 น. ของเช้าวันที่ 27 ตุลาคม
ทั้งนี้ การแสดงของทุกเวทีจะหยุดการแสดงเมื่อมีพระราชพิธีในพระเมรุมาศ

นอกจากเวทีด้านทิศเหนือแล้ว ยังมีการแสดงที่สำคัญหน้าพระที่นั่งทรงธรรม หรือพระเมรุมาศ ที่เรียกกันว่า โขนหน้าไฟ เรื่องรามเกียรติ์ ชุดพระรามข้ามสมุทร ยกรบ รำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ แสงอาทิตย์ และศรพรหมมาศจัดแสดงในวันที่ 26 ตุลาคม ใช้ผู้แสดงจากนาฏศิลปิน สำนักการสังคีต นักเรียน นักศึกษา วิทยาลัยนาฏศิลปทั่วประเทศ 12 แห่ง และสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์รวมกว่า 400 คน
นายชวลิต สุนทรานนท์ นักวิชาการละครและดนตรี ทรงคุณวุฒิ สำนักการสังคีต กรมศิลปากร ในฐานะประธานจัดการแสดงมหรสพสมโภช งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อธิบายว่า งานมหรสพสมโภชในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ใช้ผู้แสดงรวมกว่า 3,000 คน แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ การแสดงโขนหน้าพระเมรุมาศ และการแสดงมหรสพเวทีกลางแจ้ง 3 เวที การแสดงมหรสพสมโภชทุกเวทีมีจุดประสงค์เพื่อสื่อถึงพระองค์
“การแสดงในแต่ละชุดจะสื่อถึงในหลวง รัชกาลที่ 9 โดยชุดยกรบ เป็นชุดที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สำนักการสังคีตจัดแสดงเนื่องในงานต้อนรับพระราชอาคันตุกะอยู่เสมอ ชุดพระรามข้ามสมุทร เปรียบเสมือนพระองค์เสด็จอวตารลงมาโปรดอาณาประชาราษฎร์ ชุดรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ประพันธ์ขึ้นใหม่เพื่อเทิดพระเกียรติ และรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ มีเหล่าเทพบุตร เทพธิดา อัญเชิญกลับขึ้นสู่สรวงสวรรค์ ส่วนชุดแสงอาทิตย์ และศรพรหมมาศ เป็นการแสดงความยิ่งใหญ่ของการแสดงโขนเพื่อเทิดพระเกียรติในหลวง รัชกาลที่ 9 ในการนี้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีรับสั่งว่าภายในพระเมรุมาศจะต้องไม่เงียบ โดยต้องบรรเลงดนตรีตลอดงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพจนกว่าจะสดับกองฟอน” นายชวลิตกล่าว
งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในหลวง รัชกาลที่ 9 ถือเป็นงานที่พสกนิกรชาวไทย ต่างร่วมแรงร่วมใจถวายพระเกียรติสูงสุด เพื่อน้อมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย…