ป้อมมหากาฬ สวนสาธารณะอันว่างเปล่า บนผืนดินต้นกำเนิดลิเกไทย / On History : ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
ภาพประกอบ : ป้อมมหากาฬ โดย Supanut Arunoprayote / https://th.wikipedia.org/

On History

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

 

ป้อมมหากาฬ

สวนสาธารณะอันว่างเปล่า

บนผืนดินต้นกำเนิดลิเกไทย

 

“ลิเก” มีที่มาจากการสวดแขกที่เรียกว่า “ดิเก” (หรือ “ดจิเก”) ตามประเพณีในศาสนาอิสลาม ซึ่งบางท่านก็ว่าเข้ามาพร้อมกับมุสลิม นิกายชีอะห์ หรือที่เรียกกันว่า แขกเจ้าเซ็น จากเปอร์เซีย (คืออิหร่าน) ตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว

แต่บางท่านก็ว่าเพิ่งรับมาพร้อมการกวาดต้อนแขกมุสลิมปัตตานี ขึ้นมาที่กรุงเทพฯ (พร้อมปืนใหญ่พญาตานี ที่ปัจจุบันตั้งอยู่หน้ากระทรวงกลาโหม) เมื่อสมัยรัชกาลที่ 1 เท่านั้นเอง

จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ระบุว่า เมื่อ พ.ศ.2423 ได้จัดให้มีการสวดดิเกถวายหน้าพระที่นั่ง เนื่องในงานพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศล พระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ (พระนางเรือล่ม)

อย่างไรก็ตาม การสวดดิเกในครั้งนั้นก็ไม่ใช่ลิเกแบบที่เราคุ้นชินกันในปัจจุบัน เพราะไม่ได้เล่นเป็นเรื่อง แต่เล่นเป็นจำอวดชุด เหมือนกับ “ลำตัด” ที่ก็มีต้นกำเนิดมาจากการสวดแขกเช่นกัน

ดังนั้น “ลิเก” แบบไทยๆ ที่กลายรูปมาจากการสวดแขก “ดิเก” นั้น แต่ดั้งเดิมจึงไม่ได้มีรูปแบบหรือวิธีการเล่นเหมือนอย่างในปัจจุบันหรอกนะครับ

ข้อความในจดหมายที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีโต้ตอบกับสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ซึ่งถูกนำมารวบรวม แล้วตีพิมพ์ในภายหลังภายใต้ชื่อ “สาส์นสมเด็จ” ได้เคยกล่าวถึงพัฒนาการของลิเกอย่างชัดเจนเอาไว้ว่า

“เล่นยี่เกเป็นเรื่องต่างๆ เหมือนอย่างละคร ไม่เล่นเป็นชุดๆ เหมือนเมื่อแรกเกิดขึ้น การเกี่ยวกับแขกก็เป็นเพียงตีรำมะนา ตอนแขกรดน้ำมนต์เบิกโรงแล้วก็ใช้ปี่พาทย์เครื่องใหญ่ แต่ชื่อที่เรียกว่า ยี่เก นั้น พวกมลายูเมืองปัตตานีเขาเรียกว่า ดิเก หมายถึงการขับร้องลำนำต่างๆ ไม่เกี่ยวแก่การรำเต้น พวกที่เล่นรำเต้นเขาเรียกว่า มายง เห็นจะตรงกับพวกที่เรียกว่า ละครแขก มาแต่ก่อน เรื่องตำนานยี่เกมีมาดังนี้”

พูดง่ายๆ ว่า “ลิเก” เมื่อแรกมีในกรุงเทพฯ ไม่ได้มีลักษณะอย่างที่เราคุ้นเคยกันเลยสักนิด ไอ้การเล่นเป็นเรื่องอย่างละครนั้นเพิ่งจะมามีเอาภายหลัง โดยทั้งหมดเพิ่งเริ่มมีในสมัยรัชกาลที่ 5 เท่านั้นเอง

 

เมื่อแรกที่การละเล่นชนิดนี้แพร่หลายเข้าสู่สังคมคนกรุงเทพฯ ในวงกว้าง จึงเกิดขึ้นหลายโรง หลายคณะ คล้ายๆ กับคณะตลกในปัจจุบัน แต่โรงลิเกที่ได้ชื่อว่าสร้างสรรค์ และมักจะเชื่อกันว่าเป็นวิกลิเกเก่าแก่ที่สุดของสยาม แถมยังนำสมัยจนทำให้ลิเกเกิดพัฒนาการมาจนมีรูปแบบที่เราคุ้นหูคุ้นตากันในปัจจุบันนี้ มีชื่อว่า “วิกลิเกพระยาเพ็ชรปาณี”

วิกพระยาเพ็ชรปาณี ณ ขณะจิตนั้น โดดเด่นขึ้นมาจากเสื้อผ้าหน้าและผมของตัวละคร ซึ่งต่างไปจากลิเกคณะอื่น

เพราะเดิมทีลิเกแต่งตัวธรรมดามีเสื้อคอกลม นุ่งโจงกระเบน มีผ้าคาด เป็นเจ้าก็สวมสังเวียนปักขนนก

แต่ลิเกวิกพระยาเพ็ชรปาณีได้ประดิษฐ์เครื่องแต่งกายเสียใหม่ให้ชิคๆ คูลๆ เสียจนโดนใจผู้คนในสมัยนั้น

พระยาเพ็ชรปาณีได้นำเครื่องแต่งกายข้าราชการในสมัยรัชกาลที่ 5 มาดัดแปลง เครื่องแต่งกายแบบนี้ลิเกต้องสวมเครื่องยอดที่เรียกว่า ปันจุเหร็จยอด สวมเสื้อเยียรบับ นุ่งผ้ายก สวมถุงเท้าขาว ประดับนพรัตน์ราชวราภรณ์กำมะลอ ใส่สังวาล แพรสายสะพายและโบแพรที่บ่า เป็นต้น

จึงไม่แปลกอะไรที่บางทีก็มีคนเรียกลิเกของพระยาเพ็ชร์ปาณี (และลิเกในยุคหลังลงมา จนกระทั่งปัจจุบันนี้) ว่า “ลิเกทรงเครื่อง”

เกี่ยวกับเรื่องเครื่องแต่งตัวนี้ พระยาเพ็ชรปาณีทูลกรมดำรงฯ ที่ต้องให้ตัวลิเกทรงเครื่องเสียจนเว่อร์วังเป็นเพราะว่า

“แต่งอย่างนั้นผู้หญิงเห็นว่าสวย มักติดใจชอบไปดู มีผู้หญิงไปดูมาก พวกผู้ชายก็มักพากันไปดูผู้หญิง ก็การตั้งโรงยี่เกเป็นข้อสำคัญอยู่ที่อยากให้มีคนชอบไปดูมาก จึงต้องคิดแต่งตัวยี่เกไปทางนั้น”

แต่สิ่งที่พระยาเพ็ชรปาณีสร้างสรรค์เอาไว้ จนเป็นมรดกตกทอดมาให้กับลิเกยุคหลังๆ ไม่ได้หมดเพียงแค่นี้ เพราะท่านยังได้นำเอาดนตรีเดิมๆ ของดิเกที่มีเฉพาะรำมะนา มาผสมกับปี่พาทย์เป็นเจ้าแรก

จนกรมดำรงฯ ต้องตรัสถามต่อไปด้วยว่า ทำไมลิเกวิกของพระยาเพ็ชรปาณีจึงใช้แต่เพลงเชิดเป็นทั้งบทร้อง และกระบวนฟ้อนรำดูก็ไม่เอาใจใส่ให้เป็นอย่างประณีต ซึ่งพระยาเพ็ชรปาณีก็ทูลตอบแบบไม่มีเม้มกันเลยว่า

“คนที่ชอบดูยี่เกไม่เอาใจใส่ในการขับร้องฟ้อนรำหรือปี่พาทย์ ชอบแต่ 3 อย่าง คือ ให้แต่งตัวสวยอย่าง 1 ให้เล่นขบขันอย่าง 1 กับเล่นให้เร็วทันใจอย่าง 1 ถ้าฝืนความนิยมก็ไม่ชอบดู”

ทั้งเสียงดนตรีที่กลมกล่อม เข้ากับเสียงร้องของตัวละคร และเสื้อผ้าหน้าผมไปจนกระทั่งถึงเครื่องแต่งกายที่ฉูดฉาดบาดตา ของลิเกทั้งหลายในยุคปัจจุบันนี้ จึงล้วนแต่มีกำเนิดมาจากวิกลิเกของพระยาเพ็ชร์ปาณีทั้งสิ้น

 

วิกลิเกถาวรของพระยาเพ็ชรปาณีตั้งอยู่ที่หน้าวัดราชนัดดา ซึ่งก็คือบริเวณบ้านของท่านเอง ดังมีหลักฐานปรากฏในลายพระหัตถ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ดังความที่ว่า

“เมื่อพระยาเพชรปาณี (ตรี) ตั้งโรงเล่นยี่เกให้คนดูอยู่ที่บ้านหน้าวัดราชนัดดา แกเชิญหม่อมฉันไปดูครั้งหนึ่ง และมานั่งอยู่ด้วยตลอดเวลาเล่น”

ดังนั้น เมื่อผมอ้างถึงข้อความที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอ้างถึงพระยาเพ็ชรปาณี พระองค์ทรงทราบด้วยการเสด็จไปที่วิกลิเก ที่บ้านของพระยาคนนี้ ด้วยตัวของพระองค์เองเลยทีเดียวนะครับ

ส่วนที่ว่า “บ้านหน้าวัดราชนัดดา” นั้น คือพื้นที่หลังกำแพงเมือง ที่อยู่ติดกับคลองโอ่งอ่าง หลักฐานอยู่ในหนังสือ “กรุงเทพฯ เมื่อ 70 ปีก่อน” ของขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธ์, พ.ศ.2440-2523) ที่เขียนขึ้นจากความทรงจำและประสบการณ์ส่วนตัวของท่านว่า เคยมีอะไรอยู่ที่ไหนในกรุงเทพฯ บ้าง โดยในหนังสือเล่มนี้ได้กล่าวถึงที่ตั้งของวิกลิเกพระยาเพ็ชร์ปาณีเอาไว้ว่า

“ที่กำแพงเมืองใกล้ๆ กับป้อมมหากาฬนั้น มีประตูช่องกุฏ (หมายถึงประตูที่ไม่มีซุ้มยอด-ผู้เขียน) เข้าประตูช่องกุฏไปเป็นโรงยี่เกพระยาเพ็ชร์ปาณี เป็นโรงใหญ่”

หนังสือของขุนวิจิตรมาตราเล่มนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2520 เล่าถึงเรื่องเมื่อ 70 ปีก่อน ก็ตรงกับสมัยที่ท่านมีอายุราวสิบขวบคือ พ.ศ.2450 คือช่วงปลายยุครัชกาลที่ 5 นั่นเอง โดยขุนวิจิตรมาตรายังได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิกลิเกแห่งนี้ต่อไปอีกด้วยว่า

“ได้ยินว่าเมื่อแรกตั้งโรงยี่เกนั้น ตัวยี่เกเป็นผู้หญิงทั้งสิ้น และเขาว่าเป็นเมียพระยาเพ็ชร์ก็มาก

ข้าพเจ้าได้อ่านและได้ดูละครปรีดาลัยของเสด็จในกรมพระนราธิปฯ เรื่องอะไรจำไม่ได้ แต่จำชื่อตัวแสดงในเรื่องคนหนึ่งว่าชื่อขุนไชย เป็นเจ้าของบ้านมีภรรยาแล้ว ในเรื่องว่าขุนไชยทำเจ้าชู้กับสาวใช้ในบ้าน ภรรยาจับได้ มีกลอนที่ภรรยาร้องคำหนึ่งยังจำได้ว่า ‘เขาว่าแต่พระยาเพ็ชร์ปาณี แต่ขุนไชยกาลีก็มีเรื่อง’ แสดงว่าทรงแต่งเคาะเอาพระยาเพ็ชร์ปาณีเจ้าของยี่เกเข้าด้วย

ยี่เกพระยาเพ็ชร์นี้ต่อมาเป็นผู้ชายแสดงหมด มีพระเอกชื่อ ‘สังวาลย์’ เรียกกันว่า ‘พ่อสังวาลย์’ สมัยนั้นชื่อผู้ชายนำหน้าเป็น ‘พ่อ’ ทั้งนั้น ชื่อผู้หญิงก็เป็น ‘แม่’ ไม่ได้เรียก ‘นาย’ เรียก ‘นาง’ หรือ ‘คุณ’ อย่างปัจจุบันนี้ พ่อสังวาลย์พระเอกยี่เกพระยาเพ็ชร์คนนี้สวยหล่อ แต่ผมค่อนข้างบางมาก จนเรียกกันว่า ‘หัวล้าน’ ก็มี พ่อสังวาลย์เวลาเข้าเครื่องใส่ชฎาแล้ว ดูสวยงามจริงๆ ข้าพเจ้าได้ไปดูหลายครั้ง” (จัดย่อหน้าใหม่เพื่อให้อ่านง่ายโดยผู้เขียน)

ที่สำคัญก็คือขุนวิจิตรมาตราท่านยังย้ำอีกด้วยว่า ที่บริเวณวิกลิเกพระยาเพ็ชร์ปาณีนั้น “กำแพงเมืองตอนนี้มีช่องกุฏ 2-3 แห่ง ซึ่งข้างในเป็นบ้านเรือนคนทั้งนั้นติดอยู่กับคลองโอ่งอ่างเป็นคลองเดียวกันกับคลองบางลำภู”

ชุมชนและบ้านเรือนที่เคยอยู่เคียงคู่กับวิกลิเกเพ็ชร์ปาณีมาอย่างน้อยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เหล่านี้ ปัจจุบันถูกทางการสั่งรื้อ และจัดทำเป็นสวนสาธารณะไปเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ พ.ศ.2561 แน่นอนว่านี่เป็นการทำลายทั้งวิถีชีวิต และประวัติศาสตร์สังคมของความเป็นกรุงเทพฯ ไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ

ท่ามกลางกระแสการจัดกิจกรรมในสวนสาธารณะประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการฟังดนตรี การดูหนังกลางแปลง หรือแม้กระทั่งกิจกรรมอ่านหนังสือในปัจจุบันนี้ จึงเป็นโอกาสอันดีในการสร้างกิจกรรมในสวนสาธารณะที่แลกมาด้วยประวัติศาสตร์ และหยาดน้ำตาของชาวบ้านผู้เคยอาศัยอยู่ในชุมชน ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งก็จะดียิ่งขึ้นถ้ากิจกรรมเหล่านั้นมีความเกี่ยวข้องผูกพันกับประวัติศาสตร์ของชุมชน •