‘ณัฏฐภัทร จันทวิช’ ต้นแบบ ‘ครูภัณฑารักษ์’ ของกรมศิลปากร (1) / ปริศนาโบราณคดี : เพ็ญสุภา สุขคตะ

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ปริศนาโบราณคดี

เพ็ญสุภา สุขคตะ

 

‘ณัฏฐภัทร จันทวิช’

ต้นแบบ ‘ครูภัณฑารักษ์’

ของกรมศิลปากร (1)

ข่าวการจากไปของคุณ “ณัฏฐภัทร จันทวิช” ตำแหน่งสุดท้ายคือ นักโบราณคดี 10 ชช. (ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์) ของกรมศิลปากร ด้วยโรคมะเร็งปอดระยะสุดท้าย ในวัย 74 ปี เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา ยังความโศกเศร้าเสียใจอาลัยอาวรณ์ให้แก่เพื่อนพ้องน้องพี่ชาว “กรมศิลป์” และเครือข่ายเพื่อนพิพิธภัณฑ์ อย่างหาที่เปรียบมิได้

โดยเฉพาะดิฉัน มีความผูกพันรักใคร่สนิทสนมกับ “อาจารย์ณัฏฐภัทร” (ตามคำเรียกของคนทั่วไป) มากเป็นพิเศษ

ในที่นี้ขออนุญาตเรียกท่านว่า “พี่แอ๊ว” ตามสรรพนามที่ท่านเรียกแทนตัวเองกับดิฉันตลอดระยะเวลาที่เรารู้จักกันแบบรุ่นพี่รุ่นน้องคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร มานานกว่า 40 ปี

ปริศนาโบราณคดีฉบับนี้และฉบับหน้าจึงขอแทรกบทความชิ้นนี้เพื่อร่วม “คารวาลัยต่อการจากไปของอาจารย์ณัฏฐภัทร จันทวิช” ก่อน ฉบับถัดไปจะกลับมาต่อเรื่องราวของ “นางพญาวิสุทธิเทวีตอนสาม” ซึ่งเนื้อหากำลังเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ

รูปสวย สำรวยสมอง

ดิฉันรู้จักกับ “พี่แอ๊ว” ณัฏฐภัทร ตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาปี 1 คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรแล้ว เพราะการเรียนการสอนของคณะนี้ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะทุกวิชา ต้องพาไปศึกษานอกสถานที่ เข้าเรียนรู้โบราณวัตถุ โบราณสถานจริงตามวัดและพิพิธภัณฑ์ของกรมศิลป์

โดยเฉพาะพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร คือเป้าหมายอันดับต้นๆ ที่พวกเรานักศึกษาต้องเดินเข้าเดินออกไม่ต่ำกว่าร้อยรอบ

ในช่วงระหว่างปี 2524-2527 ที่ดิฉันเรียนระดับปริญญาตรี และระหว่างปี 2529-2532 ที่เรียนระดับปริญญาโท คณะโบราณคดีนั้น ทุกครั้งที่ไปศึกษาโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร มักได้พบรุ่นพี่ที่จบจากคณะโบราณคดี แล้วเข้ารับราชการเป็น “ภัณฑารักษ์” คอยทำหน้าที่บรรยายนำชมให้ความรู้แก่พวกเรา

หนึ่งในบรรดาภัณฑารักษ์ของกรมศิลปากรนั้น มี “พี่แอ๊ว” ณัฏฐภัทรรวมอยู่ด้วย

รูปลักษณ์ภายนอกที่สะดุดตาของพี่แอ๊วคือ เป็นคนรูปร่างผอมบาง เพรียว สะโอดสะอง ใบหน้าเรียวยาว จมูกโด่งเป็นสันคม

เรื่องการรักษาหุ่นให้งามคงเส้นคงวาของพี่แอ๊ว มีมาแล้วตั้งแต่วัยสาวจนวัยกลางคน พี่แอ๊วไม่เคยปล่อยตัวให้เสียรูปเสียทรง

สุภาพสตรีที่ใครเห็นก็ย่อมสะดุดตาท่านนี้ ยังมีรสนิยมในการแต่งกายอย่างพิถีพิถันอีกด้วย พูดแบบภาษาสมัยใหม่คือ “เสื้อผ้าหน้าผมเป๊ะมาก” เดินเยื้องกรายแช่มช้าดั่งนางพญา พูดจาไพเราะอ่อนหวาน ยิ้มเก่ง ใจดี

ท่านเรียกดิฉันว่า “สาวน้อยคนงาม” มาตั้งแต่ดิฉันเรียนปี 1 อายุ 16-17 จวบจนกระทั่งดิฉันเออร์ลี่รีไทร์เมื่อปี 2553 อายุ 45 ปี ท่านก็ยังเรียกดิฉันว่า “สาวน้อยคนงาม” อยู่เช่นเดิม (ดิฉันแอบดีใจกึ่งอาย อายุอานามเราปาไปเลข 4 จะเข้าเลข 5 แล้ว แต่พี่แอ๊วยังเรียกเราว่า “สาวน้อย” ทุกคำ)

คุณสมบัติสำคัญที่สุดของอาจารย์ณัฏฐภัทร หาใช่บุคลิกภายนอกที่ดูสำรวยสะอางศรี ดูเป็นกุลสตรีชาววังเท่านั้น เหนือสิ่งอื่นใดท่านเป็นคนที่มี “กึ๋น” มี “มันสมอง” มีความเป็นเลิศทางวิชาการด้านโบราณคดีชนิดที่หาตัวจับได้ยากอีกด้วย

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในรัชกาลที่ 9 พาคณะสมาคมครูภาษาฝรั่งเศสเยี่ยมชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุณไชย ปี 2545 คุณณัฏฐภัทร จันทวิช ยืนซ้ายสุด ผู้เขียน (เพ็ญสุภา) เป็นผู้บรรยาย

อะไรไม่รู้อย่าบรรยาย

ณ จุดนี้ไม่มีใครรู้ข้อมูลเท่าเรา

ปี 2545 ทางกรมศิลปากรส่วนกลางแจ้งมาทางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย ว่า คณะสมาคมครูภาษาฝรั่งเศส จำนวน 30 คน ภายใต้พระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในรัชกาลที่ 9 จะพาคณะมาเยือนลำพูน เชียงใหม่ ขอเข้าชมโบราณวัตถุ โบราณสถานที่กรมศิลปากรดูแล

ทางกรมศิลป์ได้ส่งอาจารย์ณัฏฐภัทรให้มาดูแลความเรียบร้อยเบื้องต้นว่า ใครจะต้อนรับจุดไหน ควรพาคณะไปวัดไหนบ้าง ใช้เวลาบรรยายจุดไหนกี่นาที ร้านอาหารมื้อเที่ยงควรจัดเตรียมร้านไหน

ทำให้ช่วงนั้นพี่แอ๊วได้เดินทางมาลำพูนอยู่หลายวัน แนะนำให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชยปรับปรุงสภาพห้องน้ำใหม่ เปลี่ยนป้ายคำบรรยายในห้องจัดแสดงใหม่ให้ดูงามตา

พอมาถึงวันงานจริง ดิฉันเกิดประหม่าที่ต้องถวายคำบรรยายแด่สมเด็จพระพี่นางฯ ก่อนท่านเสด็จมาถึง 5 นาที ดิฉันแอบถามพี่แอ๊ว ในฐานะที่พี่เธอก็เคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชยมาก่อนว่า

“พี่แอ๊วคะ หนูลืมไปแล้วว่ารัชกาลที่ 7 มีพระราชดำริให้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ประจำมณฑลพายัพที่ลำพูนปีไหนแน่นะคะ 2470 หรือ 2472?”

โอ! ไม่น่าเชื่อเลย ว่าคำถามเพียงคำเดียวของ “สาวน้อยผู้ตื่นตระหนก” จักได้รับคำตอบที่ทรงค่ายิ่ง คำตอบนั้นกลายเป็น “คัมภีร์ที่หาซื้อจากไหนไม่ได้อีกแล้ว กลายเป็นทฤษฎีที่ดิฉันจำไปใช้สอนถ่ายทอดต่อให้อนุชนรุ่นหลังอีกได้ชั่วชีวิต”

“เดี๋ยวตีตายเลย แม่สาวน้อย อุตส่าห์รู้นู่นนี่นั่นสารพัดเป็นแสนเป็นล้านเรื่อง ซึ่งคนอื่นไม่รู้ ทำไมจะต้องบีบบังคับให้ตัวเองต้องมาตกม้าตายในเรื่องที่ตัวเองเผลอลืม พึงเตือนตนไว้เสมอนะคะสาวน้อยว่า ผู้ฟังเขามาจากที่อื่น ไม่มีใครรู้อะไรดีเท่าเราหรอก

“น้องเพ็ญจำไว้นะคะ หน้าที่ของผู้บรรยาย ไม่ว่าภัณฑารักษ์ มัคคุเทศก์ หรือครูบาอาจารย์ ไม่จำเป็นต้องนำเสนอข้อมูลทั้งหมดทุกสิ่งทุกอย่าง โดยเฉพาะประเด็นปลีกย่อย เช่นการกำเนิดพิพิธภัณฑ์ ยิ่งเป็นเรื่องที่ไม่ได้มีคนถาม น้องอย่าเอาสมองไปพะวักพะวนกับเรื่องเหล่านี้

“ภัณฑารักษ์ที่ดีต้องโฟกัสยิงศรให้ตรงเป้า พุ่งประเด็นไปที่จุดเด่นของงานประติมากรรม มาสเตอร์พีซชิ้นเยี่ยมที่น้องดูแลและอยากนำเสนอเท่านั้นเลยค่ะ น้องต้องไม่ประหม่าไปรู้สึกหนักใจกับปีศักราชที่น้องลืม ในยามหน้าสิ่วหน้าขวานเช่นนี้ น้องห้ามลดความสมาร์ต สง่างามลงเด็ดขาด ตัดทุกอย่างทิ้งไปให้หมดนะคะ เรื่องพอศงพอศออะไรนั่น น้องดึงเอาความน่าสนใจของโบราณวัตถุแต่ละชิ้นขึ้นมาตีแผ่ แล้วสาธยายให้คนฟังเห็นคล้อยด้วยภาษาที่สนุกสนานของน้องเท่านั้นพอ จบ”

ดิฉันรู้สึกหายเครียด ผ่อนคลายมากๆ เลย ดูสิ! พอจะต้องเตรียมบรรยายให้ “พระองค์ท่าน” จู่ๆ สมองก็ไม่ทำงานชะงั้น ลืมแม้กระทั่งปี 2470 ที่ล้นเกล้ารัชกาลที่ 7 เสด็จเลียบมณฑลพายัพ เสด็จมาพระราชทานพระแสงราชศาสตราที่นครลำพูน และมีพระราชดำริให้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ประจำมณฑลพายัพขึ้นที่จังหวัดลำพูนเฉยเลย

สิ่งที่ดิฉันบรรยายนำชมวันนั้น จึงเต็มไปด้วยความอาจหาญ ไม่ประหม่าอีกต่อไป เน้นเรื่องราวที่สนุกสนาน เช่น ถวายคำบรรยายว่ากองทัพศิลาจารึกเหล่านี้ เปรียบไปก็เสมือนใบอนุโมทนาบัตร ขึ้นต้นก็แจ้งการบุญกุศลที่ตนทำ ใคร ชื่ออะไร ทำบุญอะไรบ้าง

แต่เขียนไปเขียน ตอนท้ายๆ จารึกเหมือนบุญจะหล่นหาย เพราะล้วนเต็มไปด้วยคำสบถ สาปแช่ง เช่นว่า หากใครเอาคนที่ข้ากัลปนาไว้ให้ดูแลพระธาตุไปใช้งานอื่น ขอให้บุคคลผู้นั้นมีอันเป็นไป เข้าป่าก็ขอให้เสือขบ ลงน้ำก็ขอให้จระเข้กัดตาย เดินริมฝั่งน้ำก็ขอให้ทรายดูดดั่งเทวทัต ซะงั้น จำได้ว่า คณะสมาคมครูภาษาฝรั่งเศสหัวร่องอก่องอขิงกันยกใหญ่

ต้องขอขอบพระคุณพี่แอ๊วผู้เป็น “เทรนเนอร์” หรือ “ภัณฑารักษ์มืออาชีพตัวแม่” จริงๆ ช่วยคลี่คลายสถานการณ์ฉุกเฉินให้สาวน้อยภัณฑารักษ์ป้ายแดงมือใหม่หัดขับ ผ่านพ้นความยุ่งยากนี้ไปได้ หากไม่มีพี่แอ๊ววันนั้น ดิฉันคงเอ้อๆ อ้าๆ เวียนวนถามตัวเองจนหัวแทบระเบิดร้อยรอบว่า

เอ! ร.7 เสด็จลำพูนปีไหนหนอ 2470 หรือ 2472 ดีไม่ดีเผลอไปบรรยายว่า 2475 อีกจะยุ่งไปกันใหญ่

ประวัติศาสตร์ต้องมีหลายเวอร์ชั่น

เท่านั้นยังไม่พอ พี่แอ๊วทวงถามว่า

“ตามที่ตกลงกันแบ่งหน้าที่บรรยาย ไม่ใช่แค่ห้องกองทัพศิลาจารึกและวัดจามเทวีเท่านั้น แต่น้องเพ็ญต้องถวายคำบรรยายเรื่องพระรอด พระคง ในเวอร์ชั่นของกรมศิลปากรเราด้วยไม่ใช่หรือคะ”

ดิฉันตอบพี่แอ๊วไปว่า “คงไม่ต้องแล้วค่ะคุณพี่ เพราะเมื่อวานหนูเอาข้อมูลของเราทั้งหมดไปให้ปราชญ์ชาวบ้านวัดมหาวันบรรยายแทนเรื่องนี้แล้ว เพราะเดี๋ยวพระองค์ท่านก็ต้องเสด็จไปวัดมหาวันด้วยอยู่แล้วมิใช่หรือคะตามโปรแกรม”

“ตายแล้ว น้องเพ็ญทำงี้ได้ไง ไม่ได้นะ ไม่ได้เด็ดขาด จริงอยู่พระองค์ท่านจะเสด็จไปวัดมหาวันด้วย แต่ทางวัดมหาวันเขาก็มีข้อมูลของเขา จะผิดจะถูก จะพิสดารอย่างไรก็เรื่องของเขา

“ประวัติศาสตร์มีหลายเวอร์ชั่นนะ ไม่ใครถูกใครผิด น้องเพ็ญต้องเคารพท้องถิ่น ปล่อยให้เขาเชื่อและบรรยายตามความเชื่อของเขา ไม่ใช่ให้เขาต้องมาเปลี่ยนแก้ไขตามเวอร์ชั่นหลวงของกรมศิลป์ น้องเพ็ญรีบโทร.หาพ่อน้อยพ่อหนานเดี๋ยวนี้เลย ว่าให้เขาพูดตามที่เขาเคยรับรู้ แล้วตัวน้องเพ็ญเองนั่นแหละที่ต้องบรรยายความเป็นมาของพระรอดพระคง ตามการศึกษาแบบสาย Academy ของพวกเรา”

โอ้โห! ดิฉันได้รับบทเรียนราคาแพงอีกแล้วหนึ่งบท “ประวัติศาสตร์มีหลายเวอร์ชั่น ไม่มีใครถูกใครผิด” ทันทีที่ดิฉันรีบโทร.ไปหาวัดมหาวัน ปราชญ์ชาวบ้านเขาบอกว่า

“เฮ้อ! โล่งอกแต๊ๆ นอ” เพราะเขาจำเรื่องราวที่เราส่งไปให้เขาท่องตามไม่ได้เลย

อะไรก็ไม่รู้ พระรอดไม่เก่าถึงสมัยพระนางจามเทวีบ้างล่ะ (แค่นี้เขาก็หัวใจสลายแล้ว เพราะชาวบ้านเชื่อว่าพระรอดเก่าแก่มากถึง 1,400 ปีเป็นผลงานของพระนางจามเทวี) พระรอดสร้างสมัยพุทธศตวรรษที่ 15 บ้างล่ะ รับอิทธิพลจากศิลปะปาละ ของอินเดียเหนือ ผ่านอาณาจักรพุกาม ในพุทธศาสนานิกายเถรวาทปนมหายานเรียกว่า “นิกายสรวาสติวาทิน” บ้างล่ะ ลักษณะการทำปางมารวิชัยหมายถึงอะไรบ้างล่ะ

พ่อน้อยพ่อหนานบอกว่า “ถ้าให้พ่ออุ๊ยเล่าเรื่องความเป็นมาของพระรอดมหาวัน ตามที่พ่ออุ๊ยรับรู้มา ก็ม่วนน่ะสิ ดร. พ่ออุ๊ยสามารถปิดตาเล่าได้ชัดเจนว่าปีไหนกรุเจดีย์ถล่ม ล้มไปทิศไหน ใครลักขุดได้พระรอดกี่องค์ตรงจุดไหน ใครเอาไปแล้วฝันร้าย ใครถูกหวย ใครต้องเอาพระรอดมาคืน ม่วนแต๊ม่วนว่า สบายอ๊กสบายใจ๋ ไม่ต้องจำศักราชกับชื่อภาษาบาลีสันสกฤตอะไรยากๆ ของ ดร. แล้ว”

เป็นอันว่า สองคลิกของพี่แอ๊ว ช่วยปลดล็อกให้ทั้งดิฉันและพ่ออุ๊ยวัดมหาวันไม่ต้องเกร็งเรื่องกลัวลืมปีศักราชในการบรรยาย

ข้อสำคัญผลประโยชน์ทั้งหมดทั้งมวลจะตกอยู่แก่ผู้ฟังเต็มๆ อีกด้วย ที่ได้รับรู้เรื่องราวอะไรสนุกๆ ถึงสองเวอร์ชั่น โดยฝ่ายหนึ่งไม่ต้องไปข่มเหงยำเยงอีกฝ่ายว่าเขาผิด

ลำพูนเมืองเล็ก แต่วัฒนธรรมใหญ่

ต้องได้คนจริง คนใจใหญ่ทำงาน

พี่แอ๊วเป็นแบบอย่างของ “ภัณฑารักษ์” ที่ขยันลงพื้นที่เก็บข้อมูลสำรวจโบราณวัตถุ โบราณสถาน และสัมภาษณ์บุคคล อย่างไม่ระย่อ เป็นภัณฑารักษ์ที่ขยันขันแข็งที่สุดแล้ว ในสายตาของดิฉัน

“ไปสาวน้อย ไปลงเก็บข้อมูลสัมภาษณ์แม่ครูเรื่องผ้าไหมยกดอกลำพูนด้วยกันกับพี่แอ๊ว”

ละอายใจเหลือเกิน ดิฉันนั่งทำงานในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชยได้ 2-3 ปีแล้ว ยังไม่เคยมีความคิดที่จะลงพื้นที่เก็บข้อมูลสัมภาษณ์ช่างทอพ่อครูแม่ครูด้านผ้าไหมยกดอกเลย นั่งอยู่ในลำพูนแท้ๆ ต้องรอพี่แอ๊ว ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์จากส่วนกลางมาชวนลงพื้นที่

“ช่วงที่พี่แอ๊วเป็นหัวหน้าพิพิธภัณฑ์ลำพูนได้ 1 ปีเศษๆ นะน้องเพ็ญ แทบไม่มีวันไหนที่พี่แอ๊วนั่งอยู่ในออฟฟิศเลย ลำพูนเป็นเมืองใหญ่รุ่มรวยทางวัฒนธรรม วัดมากกว่า 400 แห่ง วัดร้างอีกพันแห่ง ภูมิปัญญาพ่อครูแม่ครู ด้านไม้แกะสลัก ผ้าทอ เครื่องเงิน เครื่องเขิน จักสาน อาหาร ดนตรีพื้นบ้าน ศิลปินร่วมสมัย ฯลฯ

“ภัณฑารักษ์ไม่ได้มีหน้าที่แค่นั่งทำทะเบียนโบราณวัตถุ หรือนั่งรอรับใครเอาโบราณวัตถุมาบริจาคเข้าพิพิธภัณฑ์ให้เราเท่านั้นนะคะสาวน้อย ไปเร้ว ไปกับพี่แอ๊ว เดี๋ยวจะพาลุย น้องเพ็ญเตรียมเครื่องอัดเทปคาสเส็ตมาด้วย

“น้องเพ็ญน่าจะรู้ดีอยู่แล้วนะคะ ว่าลำพูนเป็นเมืองเล็ก แต่วัฒนธรรมใหญ่ ยิ่งใหญ่ที่สุดในล้านนาเลยก็ว่าได้ เมืองนี้ต้องการคนจริง คนใจใหญ่ คนขยันค่ะ ต้องทำงานเชิกรุก ไม่ใช่แค่ตั้งรับ น้องเพ็ญต้องช่วยสืบทอดเจตนารมณ์ต่อจากพี่แอ๊วนะคะ พี่แอ๊วรักลำพูนมาก เสียดายที่พี่อยู่ที่นี่เพียงแค่ปีเศษๆ เท่านั้น พี่แอ๊วดีใจมากนะที่รู้ว่าน้องเพ็ญมาอยู่ลำพูน”

ค่ะพี่แอ๊ว จากการที่พี่สอนหนูให้ดูตัวอย่างของการขยันลงพื้นที่สัมภาษณ์บุคคล ที่ผ่านมา “สาวน้อยของพี่แอ๊ว” ก็ได้ทุ่มตัวรับใช้งานด้านโบราณคดี วัตถุสถาน วัฒนธรรมภูมิปัญญา ศิลปหัตถกรรม ภาษาจารึก ฯลฯ ให้แก่เมืองลำพูนชนิดหามรุ่งหามค่ำ ถวายหัวอย่างสุดความสามารถแล้ว

ดวงวิญญาณพี่ในสัมปรายภพย่อมสำเหนียกรู้ได้อย่างลึกซึ้งที่สุด •