ระวัง! โรคใหม่ TikTok Brain ในเด็ก Gen Alpha/บทความพิเศษ จักรกฤษณ์ สิริริน

บทความพิเศษ

จักรกฤษณ์ สิริริน

 

ระวัง! โรคใหม่ TikTok Brain

ในเด็ก Gen Alpha

 

สัปดาห์นี้เรามาทำความรู้จักกับ TikTok Brain หรือโรค “สมาธิสั้นในยุค Digital” กันสักตอนครับ

ชื่อ TikTok Brain มีที่มาจากแอพลิเคชั่น TikTok ที่เป็นการเผยแพร่ Video Clip ความยาวไม่เกิน 3 นาที

เมื่อมารวมกับ Brain ที่หมายถึง “สมอง” ก็แปลได้ว่า สมองเด็กที่คุ้นชินกับอะไร “สั้นๆ” แบบ “ไม่เกิน 3 นาที” เหมือน Video ของ TikTok นั่นเอง

ส่วนเด็ก Gen Alpha นั้นก็คือ ผู้ที่เกิดตั้งแต่ปี ค.ศ.2010 ถึงปี ค.ศ.2025 ปัจจุบันก็คือเด็กที่อายุ 12 ปีลงมา

แน่นอนว่า จุดเด่นของ TikTok ก็คือ “ความสนุกที่เข้าใจง่าย” มันจึงเป็น “ขนมหวานของสมอง” ที่ “ยิ่งกินก็ยิ่งชอบ”

ศาสตราจารย์ ดร. James Williams นักวิชาการด้านปรัชญาและจริยศาสตร์แห่ง University of Oxford บอกว่า TikTok Brain เสมือนการปล่อยเด็กๆ เข้าไปในร้านขนม และอนุญาตให้กินของหวานในร้านเท่าไหร่ก็ได้

“TikTok คือโรงงานผลิต และเป็นร้านลูกกวาดขนาดใหญ่ ที่มีทอฟฟี่ต่างๆ ให้เด็กๆ กินทุกวัน” ศาสตราจารย์ ดร. James Williams กระชุ่น

ปัญหาก็คือ เมื่อเด็กกินลูกกวาดจนชิน พวกเขาจะคุ้นเคยกับ TikTok Dopamine หรือ “สารความสุข 3 นาที” ศาสตราจารย์ ดร. James Williams กล่าว และว่า

“กว่าที่พวกเราผู้ใหญ่ จะชวนให้เด็กๆ หันกลับมากินผักแทนลูกกวาด หรือดึงเด็กให้กลับไปฝึกเสพสื่อแบบอื่น มันก็สายเสียแล้ว”

ศาสตราจารย์ ดร. James Williams กล่าวต่อไปว่า เห็นได้ชัดว่า หากผู้ปกครองปล่อยให้เด็กอยู่กับ TikTok มากจนเกินไปแบบนี้ พวกเขาจะไม่ชอบทำอะไรที่ใช้เวลานานกว่า 3 นาทีอีกเลย

“ไม่ว่าจะทำการบ้าน และเรียนหนังสือ หรือจดจ่ออยู่กับกิจกรรมที่นานกว่า 3 นาที เช่น อ่านหนังสือ เป็นต้น สิ่งนี้เรียกว่าสมาธิสั้นนั่นเอง” ศาสตราจารย์ ดร. James Williams สรุป

“สมาธิสั้น” หรือ ADHD (Attention Deficit Hyperactivity Disorder) เป็นภาวะบกพร่องของสมองอย่างหนึ่งซึ่งทำให้เกิดอาการผิดปกติ 3 ด้าน

1. ไร้สมาธิ (Inattention)

2. อยู่ไม่นิ่ง ซนเป็นพิเศษ (Hyperactivity)

3. หุนหันพลันแล่น ขาดสติ (Impulsivity)

ศาสตราจารย์ ดร. Jessica Griffin ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชศาสตร์ จาก University of Massachusetts Medical School ชี้ว่า เราไม่ควรปล่อยให้เด็ก Gen Alpha เสพติด Video Clip สั้นๆ แบบ TikTok

“การที่เด็กๆ เสพติด Video Clip สั้นๆ แบบ TikTok อย่างต่อเนื่อง จนเรียกได้ว่า ไม่สามารถที่จะหยุดดูได้ แน่นอนว่า มันจะส่งผลต่อปัญหาด้านสมาธิ การจดจ่อ และความทรงจำระยะสั้น หรือ Short-term Memory ได้” ศาสตราจารย์ ดร. Jessica Griffin กล่าว และว่า

“Video Clip สั้นๆ แบบ TikTok ก็เหมือนกับของว่าง ที่เด็กๆ ชอบกินจุบกินจิบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความยาว 3 นาที จะกระตุ้นให้เด็กอยากจะดู Clip ใหม่ๆ ต่อๆ ไปอย่างไม่รู้จบ เหมือนกับการนั่งกินของว่างไปเรื่อยๆ เพลินๆ แบบไม่รู้ตัว”

TikTok Brain ส่งผลต่อการทำงานของสมอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านการเรียนรู้อย่างแน่นอน สิ่งที่ต้องจับตาอย่างเร่งด่วนก็คือ ผลกระทบต่อสมองของเด็กวัยที่ยังไม่พัฒนาอย่างเต็มที่ ศาสตราจารย์ ดร. Jessica Griffin ทิ้งท้าย

 

เช่นเดียวกับศาสตราจารย์ ดร. Michael Manos ผู้อำนวยการคลินิกด้านการเรียนรู้ที่โรงพยาบาลเด็ก Cleveland รัฐ Ohio สหรัฐอเมริกา ซึ่งเผยว่า ถ้าพวกเราไม่รีบสอนให้เด็กหัดยับยั้งชั่งใจเรื่องการดู TikTok ก็จะส่งผลต่อพัฒนาการสมองของพวกเขาอย่างแน่นอน

“ถ้าสมองของเด็กชาชินกับ Video Clip สั้นๆ แบบ TikTok สมองของเด็กก็จะปรับตัวให้เข้ากับกิจกรรมที่อยู่บนโลกแห่งความเป็นจริงได้ยาก

“สิ่งต่างๆ บนโลกใบนี้ ไม่ได้มีความยาว 3 นาที และก็ไม่ได้เคลื่อนที่ไปยัง Clip ใหม่ๆ อย่างรวดเร็วเหมือน TikTok” ศาสตราจารย์ ดร. Michael Manos กล่าว และว่า

“โลกแห่งความเป็นจริง ไม่ได้เคลื่อนไหวเหมือน Video Clip สั้นๆ แบบ TikTok ที่เด็กๆ สามารถเลื่อนเพื่อเลือกดูสิ่งที่เขาสนใจได้ในทันที”

ศาสตราจารย์ ดร. Michael Manos ย้ำว่า เมื่อใดก็ตามที่สมองของเด็กชาชินกับ Video Clip สั้นๆ แบบ TikTok สมองก็จะเกิดอุปสรรคในการเรียนรู้โลกแห่งความเป็นจริง ที่สิ่งต่างๆ ไม่ได้เคลื่อนผ่านเร็วเหมือนอย่างกับในโลก Digital

“สิ่งที่น่าเป็นกังวลมากที่สุดในตอนนี้ก็คือ สมองส่วนหน้า หรือ Prefrontal Cortex ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมสมาธิ และมีผลต่อการ Focus ต่อสิ่งต่างๆ กำลังได้รับผลกระทบในเด็กจำนวนมาก” ศาสตราจารย์ ดร. Michael Manos กล่าว และว่า

แน่นอนว่า แม้จะยังไม่มีงานวิจัยที่ศึกษาถึงผลกระทบของ Video Clip สั้นๆ แบบ TikTok ต่อสมองส่วนนี้โดยตรง แต่พวกเราผู้เชี่ยวชาญกำลังตั้งข้อสังเกตกันว่า ผลกระทบของมันอาจจะรุนแรงมากกว่าที่เรากำลังคุยกันอยู่นี้ค่อนข้างมากเลยทีเดียว

“อย่างไรก็ดี งานวิจัยที่ผมกำลังทำอยู่ ชี้ว่า หากเด็กคนหนึ่งได้เข้าไปอยู่ในสภาวะเสพติด Video Clip สั้นๆ แบบ TikTok การทำงานของ Prefrontal Cortex หรือสมองส่วนกลาง จะถูกกระตุ้น ซึ่งจะมีผลทำให้ เด็กๆ ไม่จะสามารถเลิกดู Clip เหล่านั้นได้อีกเลย” ศาสตราจารย์ ดร. Michael Manos สรุป

 

ไม่เพียง TikTok จะมีส่วนทำให้เกิด TikTok Brain หรือโรค “สมาธิสั้น” เท่านั้น เพราะมันอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้อีกด้วย!

ดังรายงานที่ระบุถึงอัตราส่วนของเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ในสหราชอาณาจักรผู้คลั่งไคล้ TikTok ที่พากันเกิดความรู้สึกแปลกแยกในหมู่เพื่อนฝูงเพิ่มขึ้นมากถึง 3 เท่า นับตั้งแต่ปี ค.ศ.2000 หรือคิดเป็น 33%

แน่นอนว่า อาการดังกล่าวจะนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าในที่สุด

สถิติเหล่านี้เกิดขึ้นพร้อมกับ Smart Phone และ Social Media โดยเฉพาะอย่างยิ่ง TikTok ที่ทำให้เด็ก “พูดคุยกันน้อยลง” และหลายคนรู้สึกถูกว่ากีดกัน เมื่อเห็นภาพเพื่อนๆ ซึ่งกำลังสนุกสนานกันผ่านทาง Online โดยที่เขาเองไม่มีส่วนร่วม

เด็กกลุ่มนี้กำลังรู้สึกว่า ยิ่งโลกเป็น Digital มากขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งทำให้เขารู้สึกว่า “โลกแห่งความเป็นจริง” สุดแสนจะน่าเบื่อมากขึ้นเท่านั้น!

ทั้งนี้ ประเด็นเรื่องผลกระทบของ Video Clip สั้นๆ แบบ TikTok ที่มีต่อสมองของเด็ก Gen Alpha กำลังอยู่ในความสนใจในหมู่ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บรรดานักจิตวิทยาเด็กระดับนานาชาติ

ที่แม้จะยอมรับกันว่า ยังไม่มีงานวิจัยในเรื่องนี้ออกมามากนัก แต่ระดับปัญหาของมันก็เรียกได้ว่าอยู่ในขั้นที่ “ไม่สามารถปล่อยปละละเลยได้”

ทั้งนี้ บรรดาผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเด็ก เริ่มพากันกังวลว่า การที่เด็กจำนวนมากกำลังหลงเข้าไปในโลกแห่ง Video Clip สั้นๆ แบบ TikTok เมื่อเด็กๆ รู้ตัวอีกที ก็ไม่สามารถที่จะเลิกติดตาม TikTok ได้อีกเลย

แปลไทยเป็นไทยก็คือ เด็กดู TikTok กันตั้งแต่เช้ายันเย็นไปจนเข้านอนอย่างต่อเนื่องจนหลงลืมเวลา นี่คืออาการของ “การเสพติด” ที่เด็กหลายคนกำลังเผชิญอยู่!

อย่างไรก็ดี โฆษกของ TikTok ได้ออกมาแถลงว่า TikTok ได้พยายามควบคุมการใช้งานของเด็ก Gen Alpha โดยได้มีการ Block ผู้ใช้งานอายุต่ำกว่า 15 ปี ไม่ให้ดู Clips หลัง 21.00 น.

ทั้งนี้ TikTok ไม่ใช่ Platform เดียวที่มี “Video 3 นาที” เพราะ Reels ของ Facebook และ Shorts ของ YouTube ต่างก็มีส่วนร่วมในการให้กำเนิด TikTok Brain หรือโรค “สมาธิสั้น” ด้วยกันทั้งสิ้น