สูญหายกลายเป็นอุ้มฆ่า | วงค์ ตาวัน

วงค์ ตาวัน

ทุกปลายเดือนสิงหาคม มีการจัดงานวันผู้สูญหายสากล เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับเหยื่อที่ถูกทำให้สูญหาย โดยส่วนใหญ่เหยื่อเหล่านี้เป็นผู้ขัดแย้งกับรัฐ เป็นผู้ขัดแย้งทางความคิดอุดมการณ์ต่อต้านอำนาจรัฐ ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยจำนวนมากเกิดในประเทศที่ยังไม่มีความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

ประเทศที่ผู้นำไม่ได้มาจากการเลือกตั้งอย่างสมบูรณ์แบบ ยังมีอำนาจนอกระบบ อำนาจกองทัพหนุนหลัง มีแนวโน้มเป็นพวกอำนาจนิยม และจัดการกับคนคิดต่างคนหัวแข็งด้วยการอุ้มไปฆ่า

สำหรับในไทยเรา มีทำเนียบผู้สูญหายซึ่งน่าเชื่อว่า เกิดจากน้ำมือของฝ่ายรัฐ จำนวน 86 ราย

ในจำนวนนี้มี “บิลลี่” พอละจี รักจงเจริญ แกนนำกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางกลอยบน รวมอยู่ด้วย โดยชัดเจนว่าเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการต่อสู้กับอำนาจของเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จากเหตุการณ์ถูกขับไล่และเผาบ้านเรือน

บิลลี่หายตัวไปเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 ในช่วงเริ่มต้นคดีเป็นไปอย่างมืดมน

จนกระทั่งในปี 2562 มีความคืบหน้าอย่างสำคัญ เมื่อกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ สืบสาวจนพบชิ้นส่วนกะโหลก ถังน้ำมัน 200 ลิตร และหลักฐานอื่นๆ จึงนำมาสู่การตั้งข้อหาฆาตกรรมกับ นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และลูกน้อง แต่เมื่อคดีไปถึงอัยการ คดีไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ เมื่ออัยการไม่เห็นพ้องกับพยานหลักฐานดังกล่าว

จากนั้นดีเอสไอรวบรวมพยานหลักฐานแย้งกลับไปยังอัยการ เพื่อยืนยันในคดีฆาตกรรม

มาล่าสุดต้นเดือนสิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา อัยการสูงสุดจึงมีคำสั่งฟ้องนายชัยวัฒน์กับพวก ในข้อหาฆาตกรรมบิลลี่ นำคดีขึ้นสู่ศาล กลายเป็นคดีอุ้มฆ่าไปในที่สุด

จากนี้ต้องไปพิสูจน์กันในชั้นศาลต่อไปว่า นายชัยวัฒน์กับลูกน้องเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ได้กระทำผิดในข้อกล่าวหาจริงหรือไม่

ประเด็นสำคัญก็คือ บิลลี่ เป็นลูกหลานชาวกะเหรี่ยงบางกลอยบน ที่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ จึงเป็นผู้มีความรู้ และเป็นหลักในการรวบรวมพยานหลักฐาน ภาพถ่าย ข้อมูลต่างๆ อย่างเป็นระบบ ในการต่อสู้คดีกับเจ้าหน้าที่อุทยานฯ จากเหตุการณ์ที่ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยบนโดนขับไล่จากที่อยู่อาศัยที่ทำกิน และเกิดความรุนแรง มีการทำลายข้าวของ มีการเผา

จู่ๆ บิลลี่ก็หายตัวไปเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 โดยนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานขณะนั้น ยอมรับว่านำตัวบิลลี่ไปจริง หลังจากเจ้าหน้าที่แจ้งว่าตรวจพบการครอบครองน้ำผึ้งป่า แต่หลังจากพูดคุยอบรมให้เลิกการกระทำ ก็ได้ปล่อยตัวไป แต่จากนั้นไม่มีใครพบเห็นบิลลี่อีกเลย

นายชัยวัฒน์ยืนยันว่า ปล่อยตัวไปแล้ว

กระทั่งวันที่ 3 กันยายน 2562 ดีเอสไอเปิดหลักฐาน กะโหลกมนุษย์ที่มีการเผาทำลาย ถูกทิ้งบริเวณสะพานแขวน เขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี และตรวจสอบสารพันธุกรรม ตรงกับแม่ของบิลลี่ ยืนยันได้ว่ากะโหลกศีรษะที่พบเป็นของบิลลี่ และเสียชีวิตจากเหตุฆาตกรรม แต่หนแรกอัยการไม่เห็นพ้องในคดีฆาตกรรม

จนคดีผ่านไป 8 ปี จึงมาถึงจุดที่อัยการสั่งฟ้องผู้ต้องหา ในข้อกล่าวหาฆาตกรรม

จากผู้สูญหาย จากคนที่ถูกอุ้มหาย มาถึงขณะนี้ บิลลี่กลายเป็นผู้ถูกอุ้มฆ่าแล้ว!!

 

นักสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ได้เคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อยกระดับกฎหมาย เพื่อให้มีมาตรการป้องกันการอุ้มหาย โดยถือว่าการอุ้มหายคืออาชญากรรมโดยรัฐ เพราะประชาชนถูกกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ หรือถูกบงการโดยผู้มีอำนาจ

มีการรวบรวมประวัติศาสตร์ผู้ถูกอุ้มหายในบ้านเรา โดยย้อนไปในช่วงปี 2490

การรัฐประหาร 2490 นำมาสู่เหตุการณ์อุ้มฆ่า นายเตียง ศิริขันธ์ อดีตเสรีไทย นักการเมืองแห่งอีสาน เป็นทั้ง ส.ส.และรัฐมนตรี 3 สมัย ในปลายปี 2495 แต่ผลสะเทือนจากการเข่นฆ่าเตียง ศิริขันธ์ นอกจากประจานการใช้อำนาจป่าเถื่อนของเผด็จการแล้ว ยังเป็นผู้ที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับคนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในยุคต่อๆ มาไม่ขาดสาย

กรณี หะยีสุหลง โต๊ะมีนา ผู้นำศาสนา และนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของชาวไทยมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งถูกจับกุมหลังการรัฐประหารปี 2490 ด้วยข้อหาคิดทำการกบฏ คิดแบ่งแยกดินแดน เนื่องจากเป็นตัวแทนกลุ่มชาวไทยมุสลิมยื่นข้อเรียกร้อง 7 ข้อ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการจัดการปกครองใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในเชื้อชาติศาสนา

หลังพ้นโทษ หะยีสุหลงกลับไปสอนหนังสือที่ จ.ปัตตานี แต่ยังถูกรัฐจับตาอย่างหวาดระแวง กระทั่งวันที่ 13 สิงหาคม 2497 ตำรวจเชิญตัวหะยีสุหลงไปพบ พร้อมเพื่อนอีกสองคน และลูกชาย ก่อนทั้งหมดจะหายสาบสูญไป

แต่เชื่อได้ว่าถูกอุ้มฆ่าแล้วอย่างแน่นอน และนี่เป็นอีกผลสะเทือน ที่ทำให้คนในพื้นที่จำนวนหนึ่งไม่เชื่อในสันติวิธีอีกต่อไป เกิดขบวนการต่อสู้ด้วยความรุนแรงในพื้นที่ไฟใต้ในเวลาต่อมา

อีกรายที่ประจานการใช้อำนาจมืดของคณะรัฐประหาร คือ การหายสาบสูญของนายทนง โพธิอ่าน ผู้นำแรงงานที่มีชื่อเสียง เป็นผู้นำองค์กรแรงงานที่มีสมาชิกมากมาย โดยหลังการรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534 ของคณะทหาร  “รสช.” ซึ่งทนงประกาศต่อต้าน คัดค้านคำสั่ง รสช. ที่ยุบเลิกสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งยังเตรียมตัวไปประชุมองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ ที่สวิตเซอร์แลนด์อีกด้วย แล้วก็หายตัวไปอย่างมืดมน

หลังการรัฐประหารคณะ คสช. เมื่อปี 2557 ได้มีเหตุการณ์อุ้มฆ่านักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่หนีการเรียกรายงานตัวของ คสช.และหนีคดี 112 ข้ามไปหลบซ่อนในประเทศเพื่อนบ้าน ต่อมากลายเป็นศพถูกฆ่าทิ้งแม่น้ำโขงหลายราย ไปจนถึงอุ้มฆ่าในดินแดนประเทศเพื่อนบ้านอีกหลายราย

โดยรายล่าสุดที่ยังพูดถึงกันมาก กรณีนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ถูกอุ้มตัวจากที่พักกลางกรุงพนมเปญ เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 กระทำอย่างอุกอาจ มีหลักฐานภาพจากกล้องวงจรปิด ทำให้พี่สาวทุ่มเทเรียกร้องการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด

รวมทั้งกลายเป็นนักต่อสู้เพื่อต่อต้านการอุ้มหายคนคิดต่างทางความคิดอย่างเป็นจริงเป็นจังในทุกวันนี้

 

ด้วยช่องโหว่ทางกฎหมายของประเทศไทย ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐเลือกใช้วิธีการอุ้มหาย นำไปฆ่าแล้วทำลายศพเพื่อไม่ให้มีหลักฐานหลงเหลือ เพราะหากพิสูจน์ไม่ได้ว่าคนที่ถูกอุ้มหายไปนั้น เป็นศพไปแล้ว หากพิสูจน์ไม่ได้ว่าพบศพแล้ว ก็จะไม่กลายเป็นคดีฆาตกรรม

ดังนั้น จึงมักเป็นเรื่องยาก ที่จะดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำการนอกกฎหมายเหล่านี้

ในกรณีของบิลลี่ นักเคลื่อนไหวชาวกะเหรี่ยง จึงเป็นคดีที่อาจจะกลายเป็นตัวอย่างได้ เมื่อเจ้าหน้าที่ดีเอสไอสามารถติดตามจนพบชิ้นส่วนกะโหลกที่ใช้การตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์จนเชื่อได้ว่าใช่บิลลี่ พร้อมถังน้ำมัน ที่คาดว่าน่าจะเป็นอุปกรณ์ในการเผาทำลายศพ

ทำให้ข้าราชการใหญ่ของกรมอุทยานฯ ตกเป็นผู้ต้องหา แต่ก็ต้องพิสูจน์กันต่อไปในชั้นศาล

จนกว่าจะมีคำพิพากษาตัดสินออกมา

แต่อย่างน้อยก็สร้างความหวังให้กับนักสิทธิมนุษยชน และนักต่อสู้เพื่อความถูกต้องเป็นธรรม ว่าอาจจะเป็นคดีที่สร้างบรรทัดฐานใหม่ได้

ผู้สูญหาย ผู้ถูกอุ้มหาย ถูกอุ้มฆ่า ไม่ควรเป็นคดีมืดมนอีกต่อไป!!