จับสัญญาณปรับ ครม. ส.ส.พปชร.เคลื่อนไหว หวังพึ่งอำนาจเด็ดในมือ ‘บิ๊กป้อม’/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

จับสัญญาณปรับ ครม.

ส.ส.พปชร.เคลื่อนไหว

หวังพึ่งอำนาจเด็ดในมือ ‘บิ๊กป้อม’

 

ถือเป็นช่วงนาทีทองของ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โดยเฉพาะในกลุ่ม ส.ส.ภาคใต้ ที่ส่งสัญญาณสนับสนุนให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรักษาการนายกรัฐมนตรี ที่สวมหมวกอีกใบ คือหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ใช้อำนาจเต็มที่มีในมือในฐานะรักษาการนายกฯ ปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในตำแหน่งที่ว่างลง หลังจาก “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุติปฏิบัติหน้าที่นายกฯ ไปจนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยในคำร้องเรื่องการดำรงตำแหน่งนายกฯ ครบ 8 ปี หรือไม่

โดย “สัณหพจน์ สุขศรีเมือง” ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะหนึ่งใน 13 ส.ส.ภาคใต้ของพรรคพลังประชารัฐ เปิดหน้าสนับสนุน พล.อ.ประวิตรให้ตัดสินใจปรับ ครม.

เนื่องจากมีความเหมาะสม เพราะถือเป็นช่วงสุดท้ายที่จะปรับรูปแบบของการบริหารใหม่ ควรกระจายสัดส่วนของรัฐมนตรีให้ทั่วถึง เพื่อให้ครอบคลุมการทำศึกยุทธหัตถีในการเลือกตั้งครั้งหน้า

อีกทั้งขณะนี้มีรัฐมนตรีต้องยุติปฏิบัติหน้าที่ไปหลายตำแหน่ง คิดว่าหากปรับ ครม.เสร็จ ในหลายภาคส่วนจะดีขึ้น ทั้งมุมของด้านการเมือง สัดส่วนของพรรคการเมือง การโยกย้ายของคนในพรรคการเมืองก็จะนิ่งขึ้น

พร้อมกับยกเหตุผลที่กลุ่ม ส.ส.ภาคใต้ พรรคพลังประชารัฐ ยังไม่มีรัฐมนตรีมาดูแลพื้นที่ภาคใต้ เหมือนกับในภาคอื่นๆ ที่มีรัฐมนตรีดูแลพื้นที่และฐานเสียงของพรรคพลังประชารัฐ

อีกทั้งไม่ควรปล่อยให้มีโควต้ารัฐมนตรีแค่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และพรรคภูมิใจไทย (ภท.) แต่ในส่วนของพรรคพลังประชารัฐกลับไม่มี ซึ่งจะมีผลต่อการทำพื้นที่และสร้างคะแนนนิยมในการเลือกตั้งครั้งหน้า

 

หากดูเงื่อนไขและปัจจัยในการปรับ ครม.ในขณะนี้ ในมุมของนักการเมืองโดยเฉพาะในส่วนของพรรคพลังประชารัฐ ถือว่ามีข้ออ้างและเหตุผลที่เหมาะสม เนื่องจากศาลฎีกามีคำสั่งให้ “ครูโอ๊ะ” กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หยุดปฏิบัติหน้าที่ จากคดีรุกป่าเขาใหญ่ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิด

รวมทั้งยังมีกรณีของ “นิพนธ์ บุญญามณี” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัยคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160(6) และมาตรา 98 หรือไม่ เนื่องจากผู้ถูกร้องเคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ทำให้เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.

เมื่อครั้งนายนิพนธ์ดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา และถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิดนายนิพนธ์ กรณีกล่าวหาว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่เบิกจ่ายเงินค่ารถอเนกประสงค์ซ่อมบำรุงทาง 2 คัน วงเงินรวม 50 ล้านบาท ให้แก่บริษัท พลวิศว์ เทค พลัส จำกัด เมื่อปี 2556

หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ในกรณีของนายนิพนธ์ ออกมาในแนวทางลบ คือ พ้นจากการเป็นรัฐมนตรี จะทำให้มีตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยว่างอีก 1 ตำแหน่ง

เมื่อรวมกับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ยังว่างมาตั้งแต่ปลายปี 2564 ภายหลัง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน ถูกปรับออกจากตำแหน่ง ทาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยังไม่แต่งตั้งใครให้เข้ามาทำหน้าที่แทน

ซึ่ง ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ทั้งจากกลุ่มปากน้ำ 6 คน รวมทั้งกลุ่มภาคใต้ 13 คน ที่ยังไม่มีตัวแทนจากกลุ่มของตัวเองขึ้นมาเป็นรัฐมนตรี จะถือโอกาสส่งสัญญาณถึง พล.อ.ประวิตร ให้มีการปรับ ครม.ในส่วนที่ว่าง แม้ผู้มีอำนาจในกลุ่ม 3 ป.ไม่คิดจะปรับ ครม. เนื่องจากไม่อยากให้มีแรงกระเพื่อมในทางการเมืองภายในพรรคพลังประชารัฐ

 

ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ที่มี “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ที่มีโควต้าเก้าอี้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้ง “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่ยังมีโควต้ารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ของพรรค ปชป.อยู่

ซึ่งโควต้าเก้าอี้รัฐมนตรีของพรรคร่วมรัฐบาล อย่างพรรค ภท. และพรรค ปชป. แต่ละพรรคคงต้องรักษาโควต้าเอาไว้ตามเงื่อนไขการเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรค พปชร.ที่เคยมีสัญญาให้กันไว้ตั้งแต่แรก หากแกนนำพรรค พปชร.ส่งสัญญาณการปรับ ครม.มายังพรรคร่วมรัฐบาล ทั้งสองพรรคร่วมย่อมต้องเสนอบุคคลเข้าไปทำหน้าที่เป็นรัฐมนตรีตามโควต้าเดิม

ยิ่งในช่วงปีสุดท้ายของรัฐบาล ก่อนจะครบวาระ 4 ปีในเดือนมีนาคม 2566 ทุกพรรคย่อมต้องเตรียมความพร้อมทั้งขุนพล และงบประมาณ ในการทำพื้นที่ให้ได้เปรียบต่อการเลือกตั้งครั้งต่อไปให้มากที่สุด

การมีรัฐมนตรีที่มีอำนาจเต็มของแต่ละพรรค ไปควบคุมกลไกอำนาจรัฐระดับพื้นที่ย่อมเป็นผลดี ในการสร้างโอกาสและความได้เปรียบมากกว่าคู่แข่งขันในทางการเมือง โดยเฉพาะพรรคร่วมฝ่ายค้าน ทั้งพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล ที่หลายฝ่ายประเมินว่าจะเป็นคู่ต่อสู้ในสนามการเมืองที่จะแย่งชิงเสียง ส.ส. ชี้ขาดผล “แพ้-ชนะ” ในการเลือกตั้งครั้งต่อไปอย่างแน่นอน

รวมทั้งมีผลต่อการจับมือจัดตั้งรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งครั้งหน้าอีกด้วย หากพรรคร่วมรัฐบาลชุดปัจจุบันไม่สามารถฝ่าด่านการเลือกตั้งกลับมาจัดตั้งรัฐบาลกันอีกครั้ง

 

กลยุทธ์ทางการเมือง โดยเฉพาะอำนาจเต็มของ “พล.อ.ประวิตร” ในฐานะรักษาการนายกฯ ที่สามารถปรับ ครม.ได้นั้น

เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมเชื่อว่า “พี่ใหญ่” แห่งกลุ่ม 3 ป. ย่อมกล้าที่จะใช้อำนาจการปรับ ครม. เพื่อจัดทั้งขุนพลเข้าไปควบคุมในทุกกลไกของอำนาจรัฐ ในการสร้างความได้เปรียบทางการเมืองกับพรรค พปชร. และพรรคร่วมรัฐบาลให้มากที่สุด

เพื่อไปสู่เป้าหมายการกลับมาจับมือจัดตั้งรัฐบาล เข้ามาบริหารอำนาจทางการเมืองอีกครั้ง