เชื่อใจในความฝัน / ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ : หนุ่มเมืองจันท์

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ

หนุ่มเมืองจันท์

www.facebook.com/boycitychanFC

 

เชื่อใจในความฝัน

 

วันก่อน ผมอ่านบทสัมภาษณ์ชิ้นหนึ่งจากเพจ “พักข่าวเล่ากีฬา”

เขาไปสัมภาษณ์ “บอล” ภราดร ศรีชาพันธุ์ สุดยอดนักเทนนิสของไทย

“ซูเปอร์บอล” เคยเป็นนักเทนนิสอันดับ 9 ของโลก

เป็นนักเทนนิสไทยคนเดียวที่เคยติด “ท็อป 10” ของโลก

ตอนแรกที่เล่นเทนนิส “บอล” ก็เหมือนนักเทนนิสไทยทั่วไทย อยากชนะ อยากได้เงินรางวัล

และอยากติดอันดับโลก

แต่ถามว่าเคยฝันไหมว่าจะติด “ท็อป 10”

คำตอบคือ “ไม่”

เพราะไม่คิดว่าจะทำได้

จนวันหนึ่ง ตอนที่ “ภราดร” ไปแข่งรายการเยาวชนที่ประเทศญี่ปุ่น

รอบชิงชนะเลิศ เขาเจอกับ “เซบาสเตียน โกรส์ฌอง” คู่ปรับร่วมรุ่นชาวฝรั่งเศส

“ภราดร” แพ้แบบฉิวเฉียด

หลังจบการแข่งขัน มีการสัมภาษณ์นักเทนนิสวัยรุ่นทั้ง 2 คน

คำถามหนึ่งที่พิธีกรถามทั้งคู่

“ตั้งเป้าหมายของตัวเองอย่างไร”

“ซูเปอร์บอล” ตอบคนแรก

“ผมหวังว่าจะติดท็อป 100 ของโลก”

สำหรับเด็กไทยคนหนึ่ง การฝันถึงติดอันดับ 1 ใน 100 ของโลกถือยิ่งใหญ่มากแล้ว

มาถึงคิว “เซบาสเตียน” ตอบ

“ผมต้องการเป็นผู้เล่นท็อป 10 ของโลก”

เพียงคำตอบสั้นๆ ของนักเทนนิสเยาวชนฝรั่งเศสคนนี้ประโยคเดียวเปลี่ยน “วิธีคิด” ของ “ภราดร” ไปตลอดกาล

คนไทยมักคิดแบบค่อยเป็นค่อยไป

ไม่กล้าคิดแบบ “ทะเยอทะยาน”

“บอล” คิดว่าเราเพิ่งแข่งกันเสร็จ ฝีมือก็สูสีกันมาก แทบจะเรียกว่าอยู่ในระดับเดียวกัน

แต่ทำไม “เซบาสเตียน” จึงกล้าฝันใหญ่กว่าเขา

พอฟังคำตอบของคู่แข่ง

“บอล” เปลี่ยนพิกัด “ความฝัน” ใหม่ทันที

“เอาวะ ขอเป็นท็อป 50 ของโลกละกัน”

ครับ ยังไม่กล้าไปถึง “ท็อป 10”

ขอขยับขึ้นมาครึ่งหนึ่งก่อน

เพราะเขายังรู้สึกว่า “ท็อป 10” มันยากเกินไป

แต่สุดท้าย “บอล” ก็มาถึงจุดสูงสุด คืออันดับที่ 9 ของโลก

“ผมเติบโตขึ้นจากบทสัมภาษณ์สั้นๆ ของคู่แข่ง”

“ภราดร” บอกว่าเขาชื่นชมที่คู่แข่งที่กล้าตั้งเป้าหมาย ทั้งที่ฝีมือไม่ได้เหนือกว่าตัวเขามาก

“ถ้าหากเรามีความกล้าแบบเขา มันน่าจะเพิ่มแรงขับได้”

“หากต้องการจะยกระดับตัวเองไปสู่ระดับโลก เราต้องออกจากสิ่งแวดล้อมเดิมๆ ฝึกซ้อมให้หนัก”

“และที่สำคัญคือต้องมีความคิดแบบมือท็อปของโลกเช่นกัน”

ครับ ต้องกล้าทะเยอทะยาน

และเชื่อมั่นในตัวเองว่า “เราทำได้”

 

ผมอ่านเรื่องนี้จบ ผมนึกถึงคน 2 คน

คนแรก คือ “โรเจอร์ เบนนิสเตอร์”

คนที่สอง คือ “โค้ชอ๊อด” เกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร

“เบนนิสเตอร์” คือ มนุษย์คนแรกในโลกที่สามารถวิ่งระยะทาง 1 ไมล์ได้เร็วกว่า 4 นาที

วันนี้อาจเป็นเรื่องปกติธรรมดา

เพราะสถิติต่างๆ ถูกทำลายแทบทุกวัน

แต่เมื่อ 68 ปี ทุกคนในโลกมีกำแพงความเชื่อว่าจะไม่มีมนุษย์คนใดจะวิ่ง 1 ไมล์ได้ต่ำกว่า 4 นาที

หรือ “four-minute barrier”

ทุกคนเชื่อ

แต่ “เบนนิสเตอร์” ไม่เชื่อ

อดีตนักวิ่งโอลิมปิกคนนี้ประกาศว่าเขาจะทำลาย “กำแพงความเชื่อ” นี้ลงให้ได้

วันที่ 6 พฤษภาคม ปี 1954

ที่ลานสนามหน้ามหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดมีผู้สนใจมาชมการวิ่ง 1 ไมล์ของโรเจอร์มากถึง 3,000 คน

มีเพื่อนมาร่วมวิ่งด้วย 5 วัน

เขาวิ่งผ่านรอบแรกด้วยเวลา 58 วินาที

ก่อนถึงรอบสุดท้าย เขาใช้เวลาไปแล้ว 3 นาที 02 วินาที

เหลืออีก 57 วินาทีในรอบสุดท้าย

“โรเจอร์ เบนเนสเตอร์” สับเท้าทุกแรง เสียงเชียร์ดังสนั่น

เขาเข้าเส้นชัยด้วยเวลา 3 นาที 59.4 วินาที

“เบนเนสเตอร์” ทำสำเร็จ

เป็นมนุษย์คนแรกที่วิ่ง 1 ไมล์ได้เร็วกว่า 4 นาที

ทำลาย “กำแพงความเชื่อ” ที่สืบทอดกันมายาวนาน

แต่ใครจะไปคิดว่าเพียงแค่เวลาแค่ 46 วันหลังจากนั้น

นักวิ่งคนที่สอง ที่ชื่อ “จอห์น แลนดี้” ก็สามารถวิ่งได้เร็วกว่า 4 นาที

และคนอื่นๆ ก็ตามมา

เพราะทุกคนมี “ความเชื่อใหม่”

เชื่อว่ามนุษย์สามารถวิ่งระยะทาง 1 ไมล์ได้เร็วกว่า 4 นาที

 

ส่วน “โค้ชอ๊อด” เป็นอีกคนหนึ่งที่กล้าคิด กล้าฝัน

ตอนที่เขามารับหน้าที่ “โค้ช” ทีมวอลเลย์บอลไทยเจอทีมระดับชั้นนำของเอเชียอย่าง “จีน-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้” เมื่อไร

ไทยแพ้ 3 เซ็ตรวดประจำ

แต่ “โค้ชอ๊อด” กลับกล้าฝันว่าจะพาทีมไทยไปโอลิมปิก

ในวันนั้น ฝันของเขาถือว่าไกลมาก

ไกลระดับเมืองไทยไปดวงจันทร์

แต่เพราะ “โค้ชอ๊อด” มี “ความเชื่อ”

และรู้จักวิธีจัดการความฝัน

เขาซอยเป้าหมายลงให้เป็นบันไดทีละก้าว

เริ่มจากต้องเอาชนะทีมอันดับต้นๆ ของเอเชียให้ได้ก่อน

4 ปีต่อมา ไทยชนะญี่ปุ่นสำเร็จ

ทีมนี้ไปแข่งกีฬามหาวิทยาลัยโลก

ชนะคิวบา-บราซิล

จากนั้นก็ไม่มีอะไรขวางกั้น ทีมไทยได้ไปเล่น “เวิลด์ กรังด์ปรีซ์”

และ “ดรีมทีม” ชุดนี้เกือบได้ไปโอลิมปิกมาแล้ว

วันนี้การลงสนามแข่งกับทีมญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา ฯลฯ กลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา

แข่งกันเมื่อไรได้ลุ้นทุกครั้ง

และเมื่อทีมชุดเก่าผลัดใบ เปลี่ยนเป็นนักตบสาวเลือดรุ่นใหม่

“ความเชื่อ” เก่าๆ ก็ผลัดใบตามไปด้วย

ที่เคยเชื่อว่าลงสนามเจอจีน-ญี่ปุ่น ฯลฯ เมื่อไรต้องแพ้แน่ๆ

วันนี้ไม่มีอีกแล้ว

 

บางครั้ง เราต้องกล้าฝัน

ฝันให้ไกล

ไปให้สุดๆ จนถึงเส้นขอบของความฝัน

แล้วใส่ “ความเชื่อ” ลงไป

จงเชื่อใจใน “ความฝัน”

เชื่อว่า “เราทำได้” •