คำ ผกา | ยกเลิกหนี้ กยศ.?

คำ ผกา

ประเด็นเรื่องเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ที่ถกเถียงกันอยู่ในสังคมนั้นน่าสนใจมาก ขณะเดียวกันที่อเมริกา โจ ไบเดน ก็ประกาศล้างหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษาให้นักศึกษาอเมริกันคนละ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3.6 แสนบาท ที่มีรายได้ต่ำกว่าปีละ 125,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ประมาณ 4.5 ล้านบาท) ซึ่งคาดว่าจะช่วยเหลือนักศึกษาจำนวน 20 ล้านคนไม่มีหนี้ทางการศึกษาอีกต่อไป

ข้อถกเถียงเรื่องนี้สังคมไทยแบ่งออกเป็นหลายกระแสเสียง เช่น

หนึ่ง เห็นว่าควรยกเลิกหนี้ กยศ.ทั้งหมด และประกาศให้การศึกษาเป็นรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า ประชาชนไทยเรียนฟรีอย่างไม่มีเงื่อนไข

สอง เป็นกลุ่มที่เห็นว่า การศึกษาควรเป็นรัฐสวัสดิการ แต่หนี้ กยศ.เดิมที่มีอยู่แล้วจากนโยบายเก่าควรได้รับการใช้หนี้ตามที่ได้ทำสัญญาเอาไว้ โดยอธิบายว่ามันไม่เป็นธรรมแก่คนที่ใช้หนี้ไปแล้ว และดูเหมือนสปอยล์คนที่ไม่มีวินัยทางการเงิน ส่งเสริมให้คนเบี้ยวหนี้ทางอ้อม

สาม กลุ่มคนที่ไม่มีความเห็นเรื่องรัฐสวัสดิการเพื่อการศึกษา มองว่า ไม่ควรยกเลิกหนี้ กยศ. มองว่าเป็นความเห็นแก่ตัวของคนที่กู้ยืมเงินไปแล้วไม่รับผิดชอบ ไม่เป็นธรรมกับคนที่ยากจนจริงๆ ต้องการเงินกู้จริงๆ อุตสาหะ บากบั่น เรียนจริงๆ ซื่อสัตย์ ใช้หนี้ และคนจำนวนมากไม่จนจริง เอาเงินไปใช้ซื้อของ ดัดฟัน ศัลยกรรม จากนั้นก็เบี้ยวหนี้ไม่จ่าย

คน “ไม่ดี” จึงไม่ควรได้ “รางวัล” โดยนโยบายยกหนี้จากภาครัฐ

 

จากสามกลุ่มใหญ่ๆ ที่ถกเถียงกันนี้ ฉันคิดว่าคนไทยยังมองเรื่องนโยบายรัฐอันเป็นเรื่องมหภาคโดยใช้กรอบการคิดแบบจุลภาค

คือ มองเรื่องคนจน คนรวย คนดี คนไม่ดี คนมีวินัย คนไม่มีวินัย ในขณะที่การออกแบบนโยบายรัฐนั้นมองการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่ภาพใหญ่

ดังเช่นที่เกิดขึ้นกับนโยบายการกู้ยืมเพื่อการศึกษา เราต้องเริ่มต้นว่า นโยบายนี้มีสองสำนักคิด นั่นคือ สำนักคิดประชาธิปไตยสังคมนิยม รัฐสวัสดิการ ที่มองว่า การศึกษาคือบริการของรัฐต้องจัดให้ประชาชนฟรี ไม่มีเงื่อนไข ไม่มีค่าใช้จ่าย

ส่วนสำนักคิดเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่มองว่า การศึกษาระดับอุดมศึกษา เป็นการลงทุนของปัจเจกบุคคล ดังนั้น รัฐบาลมีหน้าที่ช่วยผ่านการ “กู้” จะได้ไม่ต้องไปกู้นอกระบบหรือสถาบันการเงินที่ดอกเบี้ยแพง

ไม่เพียงเท่านั้น ในสำนักคิดนี้ยังมองว่า รัฐไม่จำเป็นต้องอุดหนุนสถาบันการศึกษาอุดมศึกษาทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ และควรให้ออกจากระบบราชการ เพื่อป้องกันการทำงานแบบเช้าชามเย็นชามของอาจารย์มหาวิทยาลัย ไม่พยายามสร้างนวัตกรรม ไม่กระตือรือร้น เพราะถือว่ามีเงินอุดหนุนจากรัฐ จึงต้องการให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ พยายามหารายได้ สร้างกำไร เลี้ยงตัวเองให้ได้

มีระบบ KPI ประเมินการทำงานของพนักงานมหาวิทยาลัย

ไม่ใช่พอเป็นอาจารย์แล้ว เช้าชามเย็นชาม ปิ้งสไลด์ไปวันๆ มีเงินเดือน มีเงินเกษียณไปจนวันตาย ระบบการจ้างงานจึงควรเป็นการทำสัญญา และต่อสัญญาตามผลของการกระเมิน

 

ทั้งสองสำนักนี้ต่างมีจุดแข็งจุดอ่อนเป็นของตนเอง และเราไม่อาจบอกได้ว่าสำนักไหนดีกว่า เพราะมันต้องเชื่อมโยงกับเงื่อนไข บริบทของแต่ละประเทศ แต่ละสังคม ที่สำคัญ เงื่อนไขและบริบทนั้นก็เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาด้วย

ยกตัวอย่าง อเมริกาที่มองว่าเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่เริ่มตั้งแต่ ปี 1958 นั้นมีเพื่อบางสาขาวิชาที่ขาดแคลน เช่น วิทยาศาสตร์ วิศวกรรม และเชื่อว่าเป็นเครื่องมือลดความเหลื่อมล้ำ ขยายโอกาสทางการศึกษา เพิ่มความสามารถในการยกระดับทางชนชั้น เศรษฐกิจอเมริกาให้ยุคสงครามเย็นตอบโจทย์นโยบายการกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา เมื่อเมริกาเป็นมหาอำนาจทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ

แต่หลังจากนั้นในทศวรรษที่ 80s เป็นต้นมา เศรษฐกิจของอเมริกาชะลอตัว ยุคของเรแกนมีการตัดงบฯ เงินอุดหนุนมหาวิทยาลัย สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ค่าเล่าเรียนในระดับอุดมศึกษาทะยานตัวขึ้นสูงมาก และการตัดงบฯ อุดหนุนนี่เกิดขึ้นอีกครั้งในปี 2007

สรุปอย่างย่นย่อคือ เศรษฐกิจที่ชะลอตัว ค่าเรียนที่แพงขึ้น ทำให้หนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษาสูงขึ้น ขณะเดียวกัน คนที่เรียนจบก็หางานยากขึ้น และโอกาสที่จะใช้หนี้ต่ำลง หรือเอาเงินรายได้ไปใช้หนี้จนไม่มีความสามารถที่ “ใช้จ่าย”

ไม่อาจสร้างเนื้อสร้างตัว ไม่สามารถแต่งงาน มีลูก ซื้อบ้าน ซื้อรถ ได้เหมือนสมัยมีนโยบายนี้ในช่วงเริ่มต้น

 

ภาวะไร้ความสามารถที่ซื้อ ใช้จ่าย สร้างเนื้อสร้างตัว มีครอบครัว แต่งงาน มีลูก มีหมา สะท้อนภาวะถดถอยของความสามารถการบริโภค

ซึ่งท้ายที่สุดก็วนไปกระทบเศรษฐกิจระดับชาติอยู่นั่นเอง ความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น คนยิ่งมีการศึกษาก็ยิ่งจนลง คนไม่มีกำลังซื้อ เศรษฐกิจถดถอย วนไปวนมาอยู่อย่างนี้กว่าสองทศวรรษ

จนมีคำว่า Modern poverty คือคนจนสมัยใหม่อาจเรียนจนปริญญาโท ปริญญาเอก แต่ยังอาศัยคูปองอาหารฟรีจากรัฐบาล เพราะเอาเงินไปใช้หนี้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา หรืออัตราการไม่จ่ายหนี้ก็สูงขึ้น

เรื่องนี้เป็นปัญหาวิกฤตของทั้งอเมริกา อังกฤษ เพราะวิกฤตนี้กระทบต่อคนมีรายได้น้อยและรายได้ปานกลางที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ

นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมไบเดนจึงออกนโยบายล้างหนี้ให้คนที่ “เปราะบาง” ทางเศรษฐกิจที่สุดในสังคม

ไม่ใช่เพราะเขาเป็น “คนดี” หรือ “รักประชาชน” แต่เป็นเพราะพรรคเดโมแครตจะได้คะแนนนิยมจากนโยบายนี้อย่างแน่นอน

และที่สำคัญมันจะเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างเมื่อเผชิญภาวะวิกฤตถดถอยหลายระลอก ตั้งแต่วิกฤตซับไพรม์มาจนถึงวิกฤตของโควิด และพูดได้ว่า อเมริกาเจอกับปัญหาความเหลื่อมล้ำหนักที่สุดเท่าที่จะได้เจอมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง

มองในมุมมนี้ การยกเลิกหนี้ของไบเดนจึงเป็นการออกนโยบายที่ “ถูกที่ถูกเวลา”

ดังนั้น การมองว่า มาตรการทางเศรษฐกิจใด หรือนโยบายรัฐอันไหนมันดีหรือไม่ดี จึงไม่เพียงพอ แต่ต้องมองว่ามันดีในที่และในเวลานั้นๆ หรือไม่?

 

หันกลับมาดูเรื่อง กยศ.ไทย จะเห็นว่ามีความคล้ายกับของอเมริกาที่สุด และหากดูบริบท ถูกกาละ และดูเทศะของเรื่องนี้ ฉันเห็นว่า

– การยกเลิกหนี้ กยศ. ซึ่งในรายละเอียดจะแบ่งออกเป็นกี่กลุ่ม กี่ฐานรายได้ กี่หนี้คงค้างต่อบุคคล บวกลบกลบหนี้กับค่าบริหารจัดการติดตามหนี้ ต้องถามว่า การยกเลิกหนี้น่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มความสามารถการบริโภค ปลดพันธนาการคนจากหนี้สินเทียบกับการใช้เงินไปกับโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น คนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน การยกหนี้ กยศ. น่าจะส่งผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีกว่า มิพักต้องบอกว่า มันเป็นการใช้เงินที่คุ้มค่ากว่าการซื้ออาวุธ หรือจ่ายค่ารถประจำตำแหน่งข้าราชการชั้นสูง ค่าสวัสดิการต่างๆ ให้บรรดาผู้มียศมีตำแหน่งในประเทศนี้อย่างแน่นอน

– ประเทศอาจไม่มีความพร้อมทางการเงินในการจัดการศึกษาฟรีในระดับอุดมศึกษา แต่เราควรจริงจังในการจัดการศึกษาฟรีในระดับประถมศึกษาปีที่ 1 จนถึงมัธยมปลาย หรือ ปวช. ยกเลิกค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เช่น เสื้อผ้า เครื่องแบบ ชุดลูกเสือ ฯลฯ

– โดยฐานะทางเศรษฐกิจของเรา รัฐควรส่งเสริมให้ความสำคัญกับการเรียน กศน.อย่างยิ่งยวด และส่งเสริมการเรียนระดับอุดมศึกษาออนไลน์ที่มีต้นแบบเป็น ม. รามคำแหงและสุโขทัยธรรมาธิราช โดยปรับทางเลือกของการเรียนสายสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ให้สามารถเรียนออนไลน์ แบบที่เรียนในมหาวิทยาลัยเปิด ซึ่งเรามีอยู่แล้ว แต่ทำให้การเรียนเข้มข้น มีคุณภาพสูง แต่ค่าใช้จ่ายน้อย ผู้เรียนสามารถทำงานไปด้วยเรียนไปด้วยได้

– การออกแบบเงินกู้เพื่อการศึกษาในฐานะผลิตภัณฑ์ทางการเงินอย่างหนึ่ง ต้องมีนวัตกรรมในตัวของมันเอง ต้องได้รับการทบทวน หรือสามารถไฮบริดมันเข้ากับระบบการจ่ายภาษีรายได้บุคคลธรรมดา เช่น ผู้ที่เป็นหนี้ กยศ. อาจได้รับการลดหย่อนภาษี

– สุดท้าย กยศ. ต้องไม่มีการคัดกรองความจน แต่เป็น “สิทธิ” เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้กู้ออกแบบการบริหารอนาคตไปจนถึงการเงินของตนเอง

ดังนั้น เราจะไม่ใช้กรอบคุณธรรม ความดี มาคัดกรองหรือพิพากษาผู้กู้เงินนี้

 

สุดท้าย เราควรมองเรื่อง กยศ. ในฐานะนวัตกรรมทางนโยบาย ผลิตภัณฑ์ทางการเงินจากภาครัฐที่ทำงานไฮบริดร่วมกับผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นๆ เช่น ประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนการออมแห่งชาติ ฯลฯ

ที่สำคัญ มันไม่ใช่ “ความช่วยเหลือ” แต่มันเป็นนโยบายที่เป็นส่วนหนึ่งของทั้งปัญหาและทางออกของปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ

เบื้องแรก เราต้องมองให้เห็นว่านโยบายรัฐไม่ใช่การทำ “ทาน” และเป็นส่วนได้ส่วนเสียในระดับเศรษฐกิจมหภาคของเราทุกคนในฐานะประชาชน

ไม่ใช่ในระดับการสอดแนมคนข้างบ้านว่าเอาเงิน กยศ.ไปทำนมหรือเปล่า?

แต่ต้องมองให้เห็นว่าการทำนมก็เป็นการใช้เงินในระบบเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดการหมุนเวียนของรายได้เช่นกัน เป็นต้น