คนพันธุ์ใหม่ กับวิชาชีพที่ฝึกได้ด้วย AR/Cool Tech จิตต์สุภา ฉิน

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

Cool Tech

จิตต์สุภา ฉิน

@Sue_Ching

Facebook.com/JitsupaChin

 

คนพันธุ์ใหม่

กับวิชาชีพที่ฝึกได้ด้วย AR

 

การได้ต้อนรับแขกด้วยคุกกี้ช็อกโกแลตชิปอุ่นๆ ที่เพิ่งออกจากเตาใหม่ๆ และส่งกลิ่นหอมอบอวลไปทั่วบ้านเป็นแรงจูงใจที่ทำให้ฉันอยากอบขนมเป็นให้ได้แม้ว่าตัวฉันจะไม่มีความรู้พื้นฐานหรือแม้กระทั่งคอมมอนเซนส์ในด้านการทำอาหารหรือขนมแม้แต่นิดเลยก็ตาม

ประสบการณ์การอบขนมที่ฉันสั่งสมมาทั้งหมดจึงมาจากการลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ ทั้งจากการอ่านสูตรที่เป็นตัวอักษรล้วนๆ และการเปิดคลิป YouTube ดู

คนทำขนมรู้ดีว่าการอบขนมนั้นต้องมีความเป๊ะในทุกขั้นตอน หากไม่เข้าใจโครงสร้างทางวิทยาศาสตร์ก็อาจจะทำให้ขนมพังไม่เป็นท่า

และเมื่อเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น จากกิจกรรมยามว่างที่ฉันทำเพื่อผ่อนคลายก็จะกลายเป็นความเครียดที่ดันให้เส้นเลือดบนหน้าผากปูดโปนขึ้นมาได้ทันควัน

สัปดาห์ที่ผ่านมาฉันได้ทดลองเรียนอบขนมที่โรงเรียนสอนทำอาหารโดยได้ลองทำเมนูเค้กที่ฉันชอบกินมากแต่ไม่เคยทำเองมาก่อน

นับเป็นครั้งแรกที่ฉันได้เรียนรู้วิธีการทำเมอแรง การตะล่อม การบีบครีม และขั้นตอนอื่นๆ แบบผิดพลาดไม่ได้เพราะมีครูคอยประกบ

พอได้เห็นเค้กออกมาเป็นรูปเป็นร่างก็ส่งผลให้มีกำลังใจ อยากจะลองทำเมนูใหม่ๆ เพิ่ม

ติดตรงที่ไม่รู้เมื่อไหร่จะหาเวลาไปเรียนได้อีกเพราะนอกจากตารางงานจะยุ่งขิงในช่วงปลายปีแล้วฉันก็ยังขี้เกียจขับรถออกจากบ้านไปเจอกับการจราจรที่แสนสาหัสด้วย

ฉันเคยเขียนถึงการใช้เทคโนโลยี Augmented Reality (AR) ในการช่วยตำรวจ ทหาร หรือนักผจญเพลิงในการฝึกซ้อมเสมือนจริงก่อนต้องเผชิญสถานการณ์คับขันเฉพาะหน้า

เทคโนโลยีเดียวกันนี้ก็น่าจะเข้ามาช่วยให้ฉันและคนอื่นๆ ที่ต้องการฝึกฝนทักษะใหม่ๆ อย่างการอบขนม การเล่นกีฬา หรือการฝึกซ้อมดนตรีได้ด้วยเหมือนกัน

เปียโนเป็นเครื่องดนตรีที่ได้รับฉายาว่าเป็นราชาแห่งเครื่องดนตรีและมักจะเป็นเครื่องดนตรีแรกๆ ที่คนสนใจอยากจะเรียน

ตัวฉันเองก็เคยลองเรียนเปียโนตอนเด็กๆ และพบว่าเป็นเครื่องดนตรีที่ฝึกฝนยากเพราะนอกจากคอร์สเรียนจะราคาสูงแล้ว เปียโนเองก็แพงเกินกว่าจะหาซื้อมาวางไว้ที่บ้านเพื่อฝึกซ้อมทุกวันได้

นับตั้งแต่ Apple เปิดตัว iPad ในปี 2010 iPad ก็ถูกคนหลากหลายวงการนำมาใช้สร้างสรรค์งานในรูปแบบใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อน

ฉันเชื่อว่าคุณผู้อ่านน่าจะเคยเห็นโฆษณาแอพพลิเคชั่นที่สอนให้คนเรียนเปียโนได้ผ่านทางหน้าจอ iPad ซึ่งได้กลายเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกของการเรียนเปียโนในทศวรรษนี้ไปแล้ว

การฝึกเปียโนบน iPad ช่วยแก้ปัญหาการไม่มีเปียโนให้ฝึกจริงที่บ้านได้ในระดับหนึ่ง

แต่ความสมจริงก็อาจจะยังห่างไกลจากการได้จับเปียโนจริงๆ

ช่องว่างตรงนี้แหละที่ฉันคิดว่าการฝึกเปียโนด้วย AR จะเข้ามาเสียบได้อย่างเหมาะเจาะ

 

แอพพลิเคชั่นอย่าง PianoVision เปิดโอกาสให้คนที่สนใจเรียนเปียโนสามารถฝึกเล่นเปียโนได้ราวกับมีเปียโนวางอยู่ตรงหน้าจริงๆ ผ่านอุปกรณ์สวมศีรษะที่จะซ้อนภาพเปียโนหลังใหญ่เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่เราอยู่

ผู้เรียนสามารถเรียนโน้ตดนตรีและการวางมือในตำแหน่งต่างๆ ได้ด้วยกราฟิกที่มีความใกล้เคียงกับของจริง

นอกจากนี้ ก็ยังเลือกระดับความยากง่ายได้ตามพื้นฐานที่มี มีโน้ตเพลงที่รวบรวมเป็นแคตตาล็อกขนาดใหญ่ และปรับแต่งการเรียนได้ตามความต้องการ

ลองนึกภาพว่าเราสามารถเรียนเล่นเปียโนได้แบบข้ามขั้นตอนยุ่งยากของการเก็บของออกจากบ้าน ขับรถ รถติด หาที่จอด ฯลฯ

แต่สามารถหยิบอุปกรณ์ขึ้นมาสวมศีรษะ แล้วเปียโนหรือคีย์บอร์ดก็ปรากฏขึ้นตรงหน้า จะดีดผิดถูกอย่างไรก็มีเพียงเราเท่านั้นที่ได้ยิน

พอเรียนไปได้จนเริ่มคล่องเราก็ยังสามารถจัดคอนเสิร์ตเสมือนจริงของตัวเราเองได้อีกด้วย

ใครมีเปียโนหรือคีย์บอร์ดอยู่แล้วก็ไม่จำเป็นต้องใช้ของเสมือนจริงก็ได้ แต่สามารถต่อคีย์บอร์ดตัวเองเข้ากับแอปแล้วเรียนได้เลย

ฟีเจอร์ที่ฉันชอบซึ่งไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลยในโลกความเป็นจริงก็คือการซ้อนภาพโน้ตและคีย์ที่เราจะต้องดีดเอาไว้ให้เราเห็นก่อนล่วงหน้า มันจะค่อยๆ ลอยเข้าหาเราตามจังหวะเพื่อเป็นสัญญาณบอกว่าเราจะต้องดีดคีย์นั้นเมื่อไหร่และยาวแค่ไหน คล้ายๆ กับเกมเต้นที่ฮิตๆ กันนั่นแหละค่ะ

ฟีเจอร์แบบนี้ช่วยให้มือสมัครเล่นเปิดใจให้กับการเรียนเปียโนมากขึ้นเพราะรู้สึกว่าไม่ยากเหมือนที่คิด

 

มาที่โจทย์ตั้งต้นของฉันคือการเรียนทำอาหารบ้าง เมื่อลองค้นดูว่ามีแอพพลิเคชั่นอะไรไหมที่น่าจะเป็นตัวช่วยให้ฉันเรียนทำอาหารหรืออบขนมได้ผ่านทางการซ้อนภาพเสมือนจริงก็พบว่ามีตัวเลือกแอปมากมายเลยทีเดียว บางแอพพ์ก็เรียนผ่านสมาร์ตโฟนได้เลย ในขณะที่บางแอพพ์ก็ต้องใช้อุปกรณ์สวมศีรษะมาร่วมด้วย

นอกจากเราจะสามารถเรียนทำอาหารได้ด้วยตัวเองแล้วก็ยังมีแอพพ์อย่าง Digital AdvisAR ที่คิดคอนเซ็ปต์ออกมาได้แปลกใหม่ คือเป็นแอพพ์ที่จะช่วยเชื่อมต่อคนเรียนทำอาหารเข้ากับผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยแก้ปัญหาที่เจอในระหว่างการทำอาหารได้ราวกับวาร์ปมาอยู่ข้างๆ

ผู้อำนวยการของบริษัท Puratos เจ้าของแอพพ์ซึ่งทำธุรกิจเกี่ยวกับนวัตกรรมด้านเบเกอรี่บอกว่าได้ไอเดียนี้มาจากการอ่านบทความที่พูดถึงกลยุทธ์การใช้ AR มาช่วยในธุรกิจประเภทต่างๆ

โดยบทความได้พูดถึงว่า AR สามารถช่วยให้ธุรกิจมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าของตัวเองได้ดีขึ้น

เขาก็เลยปิ๊งไอเดีย เปิดตัวแอพพลิเคชั่นให้ลูกค้าดาวน์โหลดมาติดตั้งเอาไว้ เมื่อไหร่ที่ลูกค้าประสบปัญหาในระหว่างการทำขนมก็สามารถขอความช่วยเหลือผู้เชี่ยวชาญของแบรนด์ได้เลย

ผู้เชี่ยวชาญที่คลิกลิงก์เข้าไปช่วยก็จะมองเห็นสิ่งที่ผู้ใช้งานเห็นตรงหน้าราวกับอยู่ด้วยกัน และจะสามารถวาดภาพบนจอหรือช่วยสาธิตวิธีแก้ปัญหาแบบชัดเจนและเข้าใจง่ายได้อย่างรวดเร็ว

ฉันยังไม่เคยได้ทดลองใช้แอพพ์นี้หรอก แต่หากคอนเซ็ปต์ทำได้จริงและทำได้ง่ายเหมือนที่แบรนด์กล่าวอ้างก็จะมีประโยชน์กับมือสมัครเล่นอบขนมอย่างฉันมาก

เพราะมีหลายครั้งเหลือเกินที่ฉันอ่านขั้นตอนเสร็จแล้วก็เก้ๆ กังๆ ไปต่อไม่ถูก หรือทำอะไรผิดพลาดบางอย่างแล้วล่กลนไม่รู้จะแก้อย่างไร

การมีผู้รู้เข้ามาช่วยแก้ปัญหาผ่านทาง AR ได้แบบปัจจุบันทันด่วนก็คงคล้ายกับในคลาสเรียนวันก่อนที่ครูเดินมาดูและบอกฉันว่าเมอแรงของฉันเริ่มจับกันเป็นก้อนแล้ว พร้อมชี้ทางแก้ปัญหาว่าฉันจะต้องกอบกู้ด้วยการตีด้วยความเร็วที่ต่ำกว่านี้

 

เป็นเรื่องที่น่าคิดเหมือนกันว่าที่ผ่านมาเราชินกับการที่หากใครสักคนจะฝึกฝนทักษะได้เชี่ยวชาญจนสามารถยึดเป็นอาชีพได้ คนคนนั้นก็จะต้องมีเส้นทางการเรียนรู้ในแบบที่เรารู้กันดี อย่างการเข้าเรียนตามสถาบันต่างๆ เป็นระยะเวลาตามที่หลักสูตรกำหนด

แต่ในอนาคตข้างหน้าเราอาจจะได้เห็นคนรุ่นใหม่ในกลุ่มอาชีพต่างๆ ที่เริ่มต้นฝึกฝนทักษะอาชีพด้วย AR มาตั้งแต่ขั้นพื้นฐานขึ้นไปจนถึงขั้นสูงโดยที่ไม่ต้องผ่านกระบวนการเรียนรู้แบบดั้งเดิมเลยก็ได้ คนกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มเจเนเรชันใหม่เอี่ยมที่ไม่เคยมีมาก่อน

เมื่อถึงวันนั้นก็น่าคิดว่ากลุ่มอาชีพที่ฝึกฝนด้วย AR ล้วนๆ กลุ่มนี้จะมีรูปแบบการคิดและกระบวนการทำงานที่แตกต่างจากการเรียนรู้แบบเดิมไหม จะเปลี่ยนโฉมหน้าของแต่ละอุตสาหกรรมไปอย่างไรบ้าง และนิยามความเป็นครูในอนาคตจะยังเหมือนเดิมหรือไม่

บางทีคำตอบอาจจะอยู่ไม่ไกลเกินรอก็ได้