มองทวนสวนกระแสรัสเซีย : บอริส คาการ์ลิตสกี (2)/การเมืองวัฒนธรรม เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม

เกษียร เตชะพีระ

 

มองทวนสวนกระแสรัสเซีย

: บอริส คาการ์ลิตสกี (2)

 

Boris Kagarlitsky ปัญญาชนสาธารณะมาร์กซิสต์ชาวรัสเซียผู้มีประวัติยืนหยัดต่อสู้เผด็จการในประเทศมาตั้งแต่สมัยโซเวียตถึงปูติน ได้ให้สัมภาษณ์ ลอเรน บัลฮอร์น บก.วารสาร Jacobin เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

โดยชี้แจงเชื่อมโยงสงครามรุกรานยูเครนเข้ากับการเมืองภายในรัสเซียภายใต้ระบอบปูติน (https://jacobin.com/2022/07/russia-ukraine-war-media-public-apolitical-vladimir-putin) ด้วยมุมมองทวนสวนกระแสหลักได้น่าสนใจ

ซึ่งผมขอเรียบเรียงนำมาเล่าต่อดังนี้ :

บัลฮอร์น : คุณถูกจับกุมสมัยประธานาธิบดีเลโอนิด เบรสเนฟ ข้อหาตีพิมพ์สิ่งพิมพ์ฝ่ายค้านใต้ดิน (samizdat) แล้วก็มาถูกจับสมัยประธานาธิบดีปูตินข้อหาเข้าร่วมการชุมนุมผิดกฎหมายอีก คุณว่าการปราบปรามทุกวันนี้ เลวร้ายกว่าในสมัยสหภาพโซเวียตไหมครับ?

คาการ์ลิตสกี : มันเปรียบเทียบกันยากครับเพราะบางแง่ก็เลวร้ายลง แต่แง่อื่นก็ดีขึ้น มันเลวร้ายลงแน่ๆ ในความหมายที่ว่าเดี๋ยวนี้คนถูกจับกุมด้วยข้อหามโนสาเร่ที่ถ้าเป็นสมัยเบรสเนฟคงปล่อยผ่านไปไม่มีใครใส่ใจ สหภาพโซเวียตนั้นเน้นเรื่องเสถียรภาพครับ พวกเขาไม่ชอบให้ใครมาบ่อนทำลายมัน ในทางกลับกัน ขืนเล่นงานกันเหี้ยมเกรียมไปก็อาจกลับส่งผลเสียได้ ดังนั้น การปราบปรามจึงเป็นแบบกิจวัตรจำเจและไม่หนักหนานัก

ทุกวันนี้มีนักโทษการเมืองเยอะกว่าสมัยเบรสเนฟเสียอีกครับ อีกอย่างเดี๋ยวนี้ต้องจ่ายค่าปรับด้วยซึ่งไม่เคยปฏิบัติกันสมัยโซเวียต ค่าปรับน่ะเป็นวิธีลงโทษความเห็นต่างแบบทุนนิยมเอามากๆ แต่อย่างหนึ่งที่เดี๋ยวนี้ดีกว่าแต่ก่อนแน่คือเรามีอินเตอร์เน็ตซึ่งทำให้เรามีสมรรถภาพเพิ่มขึ้นกว่าตอนที่เรามีสิ่งพิมพ์ฝ่ายค้านใต้ดินนับพันเท่า

บัลฮอร์น : ถ้าคนรัสเซียส่วนใหญ่ไม่มีจุดยืนเรื่องสงครามรุกรานยูเครนแล้ว พวกเขาวิตกกังวลเรื่องอะไรกันหรือครับ? พวกเขาน่าจะวิตกเรื่องผลกระทบของการแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจแน่ๆ ใช่ไหมครับ?

คาการ์ลิตสกี : สถานการณ์เศรษฐกิจกำลังย่ำแย่ลงและเราคงจะรู้สึกมันจริงจังได้ราวปลายเดือนสิงหาคมหรือกันยายนนี้แหละครับ มันเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป บริษัทหนึ่งปิดตัวลง ผู้คนต้องหางานทำกันใหม่ แล้วอีกบริษัทก็ปิดลงบ้าง ฯลฯ สินค้าบางอย่างกำลังหายไปจากร้านรวง แต่ไม่ใช่ทุกอย่างนะครับ

อย่างที่ผมบอกแหละครับว่าคนรัสเซียส่วนใหญ่ไม่เอาการเมือง พวกเขาแคร์เรื่องอาชีพการงาน ครอบครัว เพื่อนสนิทมิตรสหาย และบางทีก็รวมถึงบ้านช่องและสัตว์เลี้ยงของตัวเองด้วย คนรัสเซียไม่เคร่งศาสนา เช่นกันแม้ว่าคริสตจักรจะมีบทบาทสำคัญในฐานะสถาบันการเมืองก็ตาม

เรื่องสำคัญคือทำไงให้ชีวิตครอบครัวของคุณอยู่รอดปลอดภัย ที่เหลือเป็นสิ่งที่คุณพอทนไหว

ปัญหาอยู่ตรงมันจะไม่เป็นอย่างนั้นต่อไปเรื่อยๆ ตลอดกาลน่ะซีครับ สงครามจะกระทบครอบครัว การงาน และแม้กระทั่งสัตว์เลี้ยงของคุณแน่ๆ และพอมันเริ่มกระทบชีวิตส่วนตัวของผู้คนเข้า สิ่งต่างๆ อาจพลิกเปลี่ยนอย่างฉับพลันทันใดก็ได้ ผมคิดว่าการต่อต้านอาจเริ่มก่อตัวขึ้นได้รวดเร็ว ยิ่งเมื่อใดที่รัฐบาลทำอะไรกระทบชีวิตครอบครัวเข้า

นั่นแหละครับคือเหตุผลที่ทำไมรัฐบาลถึงไม่ได้ประกาศสงครามอย่างเปิดเผย

 

บัลฮอร์น : มีข้อถกเถียงกันมากว่าการแซงก์ชั่นเป็นเครื่องมือชะลอจักรกลสงครามของรัสเซียที่ได้ผลและสร้างปัญหาให้ปูตินในบ้านจริงหรือเปล่า ฟังดูเหมือนคุณกำลังบอกว่ามันใช้การได้อย่างนั้นใช่ไหมครับ?

คาการ์ลิตสกี : คือมันมีแซงก์ชั่นแบบนี้และก็แบบอื่นๆ บางแบบกำลังกลายเป็นเล่นเข้าเกมของปูตินไปเสียฉิบอย่างเช่นการริเริ่มที่จะ “เท” วัฒนธรรมรัสเซีย เป็นต้น เพราะการโดดเดี่ยวน่ะคืออุดมการณ์ของระบอบนี้เผงเลยครับ และยิ่งไปโดดเดี่ยวมันเพิ่มขึ้นก็รังแต่จะเป็นผลดีกับมัน

บัลฮอร์น : แล้วแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจล่ะครับได้ผลไงบ้าง อย่างการห้ามส่งก๊าซธรรมชาติ?

คาการ์ลิตสกี : เครื่องมือได้ผลที่สุดที่ผ่านมาคือการที่บริษัทต่างชาติพากันถอนตัวจากรัสเซียครับ เพราะมันนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ อีกโดยเฉพาะอย่างยิ่งการห้ามส่งซัพพลายเฉพาะเจาะจงบางอย่างเช่นชิ้นส่วนอะไหล่

ตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมรถยนต์รัสเซียตอนนี้ต้องระงับกิจการไปก่อนแล้วครับ มันไม่อาจทำการผลิตออกมาได้อีกเพราะมันพึ่งพาชิ้นส่วนจากเยอรมนี ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เหลือเกิน กลุ่มอุตสาหกรรมทหารก็พลอยลำบากไปด้วยเพราะมันไม่ได้ชิ้นส่วนมาเพียงพอ

อุตสาหกรรมการบินก็เหมือนกัน บริษัทในประเทศหลายแห่งล้มละลายไปแล้ว และตอนนี้ก็กำลังถูกสายการบินที่ใหญ่กว่าอย่างแอโรฟลอตและ S7 ถอดรื้อเครื่องบินเอาชิ้นส่วนมาใช้เป็นอะไหล่แทน

 

บัลฮอร์น : คุณคิดว่าเศรษฐกิจรัสเซียจะทนอึดไปได้สักกี่น้ำครับ?

คาการ์ลิตสกี : มันน่าจะทนอึดต่อไปได้อีกสักสองหรืออาจจะสามเดือนครับ ขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมแต่ละแขนง อย่างไรก็ตาม เรื่องสำคัญคือการที่ไอ้พวกที่เป็นเจ้าของทุกสิ่งทุกอย่างจริงๆ น่ะมันเริ่มเข้าเนื้อขาดทุน ไม่มีใครแยแสเรื่องอุตสาหกรรมหรือผู้คนหรอกครับ ทุกคนแคร์แต่กำไรทั้งนั้น

ชนชั้นกระฎุมพีบางส่วนไม่แฮปปี้ขึ้นทุกทีกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นและสนใจเรื่องข้อตกลงสันติภาพในบางแบบอย่างจริงจัง ปัญหาอยู่ตรงพวกเขาไม่มีปากเสียงทางการเมืองมากเท่าไหร่เนื่องจากการตัดสินใจทำกันโดยทีมแคบเล็กยิ่งที่อยู่รอบตัวปูติน แม้แต่พวกคณาธิปัตย์ก็ใช่ว่าทุกคนจะเข้าถึงปูตินได้นะครับ

ผมเรียกอาการนี้ว่า “การรวมศูนย์อำนาจที่ไร้เหตุผล” มันดำเนินมานมนานแล้วและส่วนหนึ่งเกิดจากรัฐไร้ประสิทธิภาพ ระบบราชการท้องถิ่นนั้นขาดไร้ประสิทธิภาพและทุจริตฉ้อฉลเสียจนกระทั่งเพื่อจะทำให้อะไรสักอย่างบังเกิดขึ้น ส่วนกลางต้องกวาดโกยอำนาจมากองรวมเอาไว้ที่หน้าตักมากขึ้นๆ ทุกที ส่วนกลางไม่ไว้ใจพวกข้าราชการท้องถิ่นหรอกครับด้วยเหตุว่าพวกนี้บ่อนทำลายส่วนกลางอย่างเป็นระบบ

สรุปคือ มันเป็นกระบวนการผลิตซ้ำตัวเองถาวรที่กลายมาเป็นไร้เหตุผลสิ้นดีและไปไกลกว่าอะไรก็ตามแต่ที่เราเคยพบเห็นมาในสมัยโซเวียตอักโข

 

บัลฮอร์น : ถ้าหากพวกกระฎุมพีรัสเซียไม่พอใจสงครามมากขึ้นทุกทีอย่างที่คุณว่าแล้ว มันเปิดโอกาสความเป็นไปได้ที่ชนชั้นนำรัสเซียหรือตัวรัฐเองจะปริแยกแตกร้าวกันไหมครรับ?

คาการ์ลิตสกี : ปูตินกุมอำนาจตัดสินใจไว้คนเดียวครับแม้ว่าทุกวันนี้เขาจะโดดเดี่ยวอย่างยิ่งก็ตาม กลุ่มเล็กๆ ที่ล้อมรอบตัวปูตินอยู่ก็โดดเดี่ยวยิ่งเหมือนกันแม้แต่ภายในหมู่ชนชั้นนำด้วยกันเอง ทหารก็ดูเหมือนไม่แฮปปี้เท่าไหร่ น่าจะมีความแตกแยกกันในหมู่ทหาร เราไม่รู้แน่หรอกครับ แต่มีสัญญาณบอกการแตกแยกกันขนานใหญ่อยู่

ที่เหลือหนุนหลังปูตินอยู่ด้านหลักแล้วคือกำลังตำรวจและกลุ่มผู้มีอภิสิทธิ์สูงสุดในพวกคณาธิปัตย์ มันเป็นกลุ่มเล็กกระจิริดภายในชนชั้นนายทุน และนั่นคือเหตุผลที่ทำไมผมไม่คิดว่าพวกเขาจะอยู่รอดได้ยืนนาน เพราะมันขัดแย้งกับตรรกะระยะยาวของสังคมทุนนิยมครับ คุณต้องมีฐานกว้างกว่านี้อย่างน้อยก็ภายในหมู่ชนชั้นปกครองเพื่อปกครองประเทศครับ

นั่นช่วยอธิบายอาการอัมพาตในรัฐบาลช่วงสี่เดือนหลังนี้ครับ กลุ่มเล็กแคบยิ่งที่ไม่แม้แต่เป็นตัวแทนชนชั้นนำอีกต่อไปแล้วนี้ไม่สามารถสถาปนาฉันทามติล้อมรอบการริเริ่มใดๆ ขึ้นมาและตัดสินใจอะไรได้

บัลฮอร์น : พวกเขามีแผนอะไรไหมครับ? เป้าหมายคือการทำข้อตกลงสันติภาพในที่สุดแล้วบูรณาการเข้ากับโลกตะวันตกใหม่จากฐานะที่เข้มแข็งขึ้นใช่ไหมครับ หรือว่าเรากำลังเห็นจุดเริ่มต้นของการปักหมุดเข้าหาเอเชียในระยะยาว?

คาการ์ลิตสกี : นั่นแหละครับปัญหา กล่าวคือ มันไม่มีแผนการอะไรเลย พวกเขารู้ว่าทำพลาดสาหัสสากรรจ์และอาจถึงฆาตได้ ประมาณนั้นแหละครับ ความจริงที่ว่าได้ทำพลาดไปนั้นเป็นสิ่งที่ปูตินกับทีมของเขารับไม่ได้ รัฐบาลไม่เคยยอมตระหนักรับความล้มเหลวใดๆ ต่อสาธารณะหรือแม้แต่อย่างไม่เป็นทางการ ทว่า หากไม่ตระหนักรับว่าทำพลาดแล้ว คุณก็เดินหน้าต่อไม่ได้ พัฒนายุทธศาสตร์อะไรขึ้นมาก็ไม่ได้

พวกนักวิเคราะห์ตะวันตกทึกทักว่าเรากำลังดีลกับคนสติดีมีเหตุผลที่ทำการเลือกด้วยเหตุผลหรืออย่างน้อยก็ดีลกับคนที่กำลังหาทางเลือก แต่เอาเข้าจริงมันไม่มีทางเลือกนะครับ ไม่มีใครกำลังเลือกห่าเหวอะไรเลย! ต่อให้มีข้อเสนอต่างๆ นานามาก็ตามที ไม่มีข้อเสนอไหนใช้การได้หรอกครับเพราะไม่มีอันไหนเป็นที่ยอมรับ โดยคนจำนวนมากพอภายในหมู่ชนชั้นนำที่จะทำให้มันเป็นจริงได้

บัลฮอร์น : อ้าว ถ้าหากไม่มีแผน งั้นอะไรที่ผลักดันปูตินให้ข้ามแม่น้ำรูบิคอน (สำนวนอิงประวัติศาสตร์โรมัน สมัยจูเลียส ซีซาร์ หมายถึงการล่วงละเมิดบัญญัติข้อห้ามซึ่งจะนำไปสู่สงครามแตกหักกัน) แล้วรุกรานยูเครน หลังตรึงกำลังชะงักงันกันอยู่ในเขตดอนบาสตั้งแปดปีล่ะครับ?…

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)