กิติมา อมรทัต ไรน่าน อรุณรังษี สองปัญญาชนมุสลิมร่วมสมัย (5)/มุมมุสลิม จรัญ มะลูลีม

จรัญ มะลูลีม

มุมมุสลิม

จรัญ มะลูลีม

 

กิติมา อมรทัต

ไรน่าน อรุณรังษี

สองปัญญาชนมุสลิมร่วมสมัย (5)

 

กิติมา อมรทัต กับงานแปลชุดวรรณกรรมเยาวชน (ต่อ)

เสียงกระซิบจากสุสาน

กิติมา อมรทัต แปลจากงานของเธเรซา เบรสลิน จากเรื่อง Whisper in the Graveyard กิติมา อมรทัต มอบให้ผมด้วยคำว่าให้มะห์-นิงที่รัก พร้อมลายเซ็นลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2540

เรื่องนี้ได้รับการโปรยเอาไว้ในปกหลังว่าเรื่องลี้ลับ ไสยศาสตร์ มิใช่เป็นเพียงเรื่องเหลวไหล ยังมีบางสิ่งบางอย่างที่รอการพิสูจน์ในความเป็นไปได้และมีทีท่าจะเป็นไปได้สูง

สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพาณิชย์ จัดพิมพ์โครงการหนังสือสร้างสรรค์เยาวชน ในปี 2540 จำนวน 5,000 เล่ม ความยาว 176 หน้า

ราคา 70 บาท

แด่คุณครูที่รัก

แด่คุณครูที่รัก (To Sir with Love) E.R. – Braithwaite เขียน

เรื่องนี้ กิติมา อมรทัต แปลเอาไว้ในปี 2533 กรมวิชาการกระทรวงศึกษาธิการจัดพิมพ์ จำนวน 11,500 เล่ม เป็นหนังสือส่งเสริมการอ่านสำหรับระดับมัธยมศึกษา

โกวิท ประวาลพฤกษ์ ได้เขียนคำนำถึงหนังสือเรื่องนี้เอาไว้ว่า มีคำเปรียบเทียบคุณค่าของครูไว้หลายสถาน เช่น แม่พิมพ์บ้าง เรือจ้างบ้าง

แต่ในหนังสือเรื่องแด่คุณครูที่รักเล่มนี้ ซึ่งแปลจากฉบับภาษาอังกฤษชื่อ To Sir with Love ครูเบรธเวทเปรียบเสมือนช่างปั้นที่ตบแต่งรูปทรงอันบูดเบี้ยวของศิษย์ให้ดูงดงามทั้งร่างกายและจิตใจ

แม้ว่าในยามแรกพบกันนั้น ทั้งครูและศิษย์ต่างมีอคติต่อกันอย่างรุนแรง แต่ด้วยปณิธานอันบริสุทธิ์ของครูที่ต้องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของศิษย์ให้เป็นพลเมืองดีของสังคม เขาจึงต้องใช้ความอดทนอย่างสูงในการอบรมสั่งสอนให้ความรักความเข้าใจ เอื้ออาทรแม้ในเรื่องส่วนตัวเล็กๆ น้อยๆ ของศิษย์ ซึ่งล้วนแต่เป็นปัญหาที่เกิดจากครอบครัวและสังคมทั้งสิ้น

จนในที่สุดอคติทั้งหลายมลายสูญไป กลายเป็นความผูกพันและศรัทธาต่อกัน

ด้วยเหตุนี้ แด่คุณครูที่รัก จึงเป็นนวนิยายที่ได้รับความนิยมสูงสุดตลอดมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้รับการถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์ออกเผยแพร่ทั่วโลก

กิติมา อมรทัต มอบหนังสือเล่มนี้ให้ผมโดยเขียนว่า สำหรับ ดร.จรัญ ด้วยความปรารถนาดี พร้อมลายเซ็นและวันที่มอบหนังสือให้คือ 16 พ.ค. 91

 

บทกวีแอฟริกา

บทเพลงของลาวิโน

กิติมา อมรทัต แปลจากงานของโอก๊อต ปิเต็ก เป็นบทกวีสรรเสริญแอฟริกาว่าด้วยชะตากรรมของชาวแอฟริกันเมื่ออำนาจของคนขาวแผ่กระจายในแผ่นดิน เมื่อผู้คนต่างถูกกลืนกลายเป็นทาส พวกเธอจึงแซ่ซ้อง บทเพลงแห่งแผ่นดินแม่

สำนักพิมพ์เจนเดอร์เพรส ตีพิมพ์ในปี 2537 ราคา 85 บาท ความยาว 188 หน้า

เป็นบทกวีบันทึก มูลนิธิเพื่อนหญิงสนับสนุนการพิมพ์

อาจเป็นบทกวีแอฟริกาที่ตีพิมพ์ในประเทศไทยไม่กี่เล่มที่สื่อสารถึงช่วงหนึ่งของแอฟริกาภายใต้การปกครองของคนขาว

 

กิติมา อมรทัต

กับงานแปลวรรณกรรมญี่ปุ่น

กิติมา อมรทัต มีความสนใจวรรณกรรมญี่ปุ่นเสมอมา รวมทั้งศิลปกรรมของญี่ปุ่น

เมียหมอ ซึ่งเป็นงานของอาริโยชิ ชาวาโกะ เล่มนี้ นอกจากจะแปลโดยกิติมา อมรทัต แล้วยังมีอาทร ฟุ้งธรรมสาร ผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นและจีนศึกษา แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นบรรณาธิการให้อีกด้วย

เป็นงานที่จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ธรรมศาสตร์ ร่วมกับโครงการแปลไทย-ญี่ปุ่น มูลนิธีโครงการตำราสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ มูลนิธิโตโยต้า 2529 ราคา 40 บาท

นวนิยายเรื่องเมียหมอ (The Doctor’s Wife) นี้เคยลงพิมพ์เป็นตอนๆ ในนิตยสารฉบับหนึ่งของญี่ปุ่นและได้รับความสำเร็จในทันที ชื่อเสียงของนวนิยายเล่มนี้ได้แพร่หลายไปเป็นอย่างมากเสียจนในไม่ช้าได้ถูกนำไปแสดงเป็นละครและภาพยนตร์

เรื่องราวของมันเกี่ยวกับชีวิตของฮานาโอกะ เซอิชิว (Hanaoka Seishu) ซึ่งอาศัยอยู่ในจังหวัดคิชิว (Kishu) หรือจังหวัดกายามา (Wakayama) ในปัจจุบัน จากปี ค.ศ.1760 ถึง 1835 จากบันทึกข้อความส่วนตัวของเขารวมทั้งสมุดบันทึก หนังสือ ตำรับตำราและชีวประวัติ ซึ่งได้รับการเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์พิเศษนั้น ผู้เขียนซึ่งเป็นชาวเมืองในเขตนั้นได้นำเอาส่วนประกอบทั้งที่เป็นความจริง และแต่งขึ้นเองมาถักสานกันเข้าเพื่อสร้างเรื่องราวอันน่าติดตาม ซึ่งบรรยายถึงการเจริญขึ้นของครอบครัวหนึ่งอันมีต้นกำเนิดเป็นชาวไร่ชาวนาจนกระทั่งมาอยู่ในตำแหน่งที่ร่ำรวยและมีชื่อเสียง

เป็นประเภทหนังสือ : ทั่วไป – แปล ความยาว 221 หน้า

นางแห่งเนินทราย (Woman in the Dune) เป็นวรรณกรรมเหนือจริงแนวเอ็กซิสตองเชียลลิสม์ โกโบะ อาเบะ เขียน กิติมา อมรทัต แปล สำนักพิมพ์เจนเดอร์เพรส ตีพิมพ์ในปี 2535 ชุดวรรณกรรมแปล มูลนิธิเพื่อนหญิงสนับสนุนการพิมพ์

โกโบะ อาเบะ เป็นนักประพันธ์ยุคหลังสงครามโลกที่นำเสนองานแนวเหนือจริงได้อย่างน่าติดตาม

นางแห่งเนินทราย ราคา 72 บาท หนังสือมีความยาว 197 หน้า

กิติมา อมรทัต กับงานแปลจิตรกรเอกของโลก

วิถีเถื่อน

เป็นงานของปอล โกแกง นักสู้อินเพรสชั่นนิสต์ เป็นชีวิตของนายหน้าค้าหุ้นสู่จิตรกรเร่ร่อน

ชาร์ลส์ กอร์แฮม เขียน จากฉบับภาษาอังกฤษ The God of Their Bordies กิติมา อมรทัต มอบหนังสือเล่มนี้ให้พร้อมลายเซ็น โดยเขียนว่ามาอีกแล้ว หนังสือฟรีให้อ่านกันทั้งบ้านเลย เป็นผลงานอันดับสอง ชุดคนกับศิลปะ ของสำนักพิมพ์เรไร ไม่ปรากฏปีที่ตีพิมพ์ ราคา 168 บาท ความยาว 273 หน้า

โดยเมื่อพูดถึงโกแกง สำนักพิมพ์เรไรได้บอกกล่าวถึงเขาเอาไว้ว่า ใครจะคิดฝันกันเล่า… ว่าชายหนุ่มสำอางผู้มีชีวิตอย่างหรูหราฟุ้งเฟ้อในสังคมชาวปารีเชียง เป็นที่โจษขานทั้งในฐานะนักดาบ นักดื่ม และนักสะสมงานศิลปะ ชายหนุ่มผู้มีอนาคตรุ่งโรจน์ในฐานะนายหน้าค้าหุ้นที่ประสบความสำเร็จสูงสุด จะผละหนีจากความมั่งคั่ง-ก้าวหน้าในชีวิตการงานของเขา เมินเฉยต่อทรัพย์ศฤงคารอันจะพึงได้ ด้วย “ใจ” ที่สยบยอมแล้วต่อการสร้างสรรค์งานศิลปะ

ปอล โกแกง…จิตรกรอิมเพรสชั่นนิสต์ผู้อื้อฉาวที่สุดแห่งศตวรรษที่ 19… จากสังคมชั้นสูงของกรุงปารีส ครอบครัวแตกสลาย… เขาร่อนเร่อย่างไร้ที่ซุกหัว สู่หมู่เกาะตาฮิติ “ดงเถื่อนแดนดิบ” ในสายตาของชาวยุโรปยุคนั้น เพื่อถ่ายทอดพลังรุนแรงแห่งอารมณ์สร้างสรรค์ในงานจิตรกรรมแบบอิมเพรสชั่นนิสม์ท่ามกลางดงไม้ สายลม แสงแดดและเกลียวคลื่น

เหนืออื่นใด คือความอบอุ่นเยี่ยงญาติมิตรจากชาวพื้นเมืองโพลีนีเซียน ผู้เติมความหมายให้กับชีวิตที่ผกผันลุ่มๆ ดอนๆ ของเขา ให้หนักแน่นแกล้วกล้า ทั้งในการสร้างงานศิลป์ และมั่นในความถูกต้องยุติธรรม

และนี้เอง…คือ ชีวิตที่เต็มสมบูรณ์ซึ่งโกแกงเลือกเดิน… “จิตรกรนักสู้” อย่างมิเคยลังเลเสียดายกับความหรูหราของชีวิตนายหน้าค้าหุ้นแม้สักส่วนเสี้ยว

…โกแกงจบชีวิตลงท่ามกลางชาวโพลีนีเซียน ผู้ถูกรุกรานจากคนขาว พวกเขาพิลาปร่ำอาลัยอาวรณ์…

วิถีเถื่อนเป็นงานของโกแกงที่มีภาพประกอบที่มาจากฝีมือของเขาอยู่ด้วยทำให้การอ่างงานของเขาได้อรรถรสจากภาพดังกล่าวไปพร้อมๆ กัน ต่อมาบริษัท ไทยควอลิตี้บู๊ค (2006) จำกัด ตีพิมพ์อีกครั้งในปี 2558 ความยาว 399 หน้า ราคา 320 บาท

 

ไฟชีวิต

เป็นตำนานแห่งงานศิลป์ที่ได้รับการตีพิมพ์หลายครั้ง ทั้งในชื่อไฟศิลป์และไฟชีวิต หนึ่งในสำนักพิมพ์ที่พิมพ์งานของวินเซนต์ แวนโกก์ คือสำนักพิมพ์เรไร โดยไฟชีวิต ตีพิมพ์ครั้งที่ 1 ในปี 2525 ครั้งที่ 2 ในปี 2537 โดยสำนักพิมพ์เรไร

มีภาพเขียนจากฝีมือแวนโกก์ อยู่ 9 ภาพ ซึ่งเป็นภาพที่เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ผู้สนใจงานของเขา

ไฟชีวิตแปลจาก Lust for Lye ของเออร์วิ่ง สโตน เป็นงานที่กิติมา อมรทัต ทุ่มเทฝีมือการแปลอย่างเต็มที่โดยสำนักพิมพ์เรไรบอกกล่าวถึงชีวิตของแวนโกก์ เอาไว้ว่า

อา…แสงที่ฉายฉานจากภาพภูมิทัศน์ชนบทอันงดงงาม เรื่องราวของสายน้ำ…หมู่ไม้…ผู้คน…และบ้านเรือน จัดจ้าอยู่เบื้องหน้าสายตา… ปลุกเร้าอารมณ์ให้แล่นโลด นั้นคือ…พลังแห่งศิลปิน

เราจะใคร่รู้บ้างมั้ยว่า เบื้องหลังผืนผ้าใบ… บนลายริ้วของพู่กัน ซุกซ่อนเรื่องราวใดไว้บ้างเล่า

บางที…เราอาจจะได้ตระหนกตกตื่น หรืออาจจะโศกสลดหดหู่กับชีวิตเบื้องหลังทัศนศิลป์อันวิจิตรอลังการ ดังตำนานของวินเซนต์ แวนโกก์ “จิตรกรอาภัพ” เจ้าของผลงานที่ถูกประเมินราคาสูงกว่าสามสิบล้านดอลลาร์

ทั้งๆ ที่ครั้งหนึ่ง คนขายเนื้อเคยปฏิเสธที่จะรับแลกภาพเขียนของเขาแทนค่าเนื้อ

แต่นั่นไม่เคยทำให้แวนโกก์ถ่ายทอดพลังแห่งจินตนาการของเขา ในแต่ละครั้งที่ป้ายสีลดน้อยถอยลงเลย

ไฟชีวิตมีความยาว 234 หน้า ราคา 105 บาท (ในปี 2558 ไทยควอลิตี้บุครี ได้ตีพิมพ์งานของแวนโกก์ ด้วยคำสะกดว่า แวนโก๊ะ ในชื่อไฟศิลป์ ราคา 320 บาท ความยาว 200 หน้า)