ศาล รธน.ลงดาบแรก สั่งพักงาน “ประยุทธ์” ลุ้นผลวินิจฉัยอีก 1 เดือน/ศาล รธน.ลงดาบแรก สั่งพักงาน ประยุทธ์ ลุ้นผลวินิจฉัยอีก 1 เดือน/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

ศาล รธน.ลงดาบแรก

สั่งพักงาน ประยุทธ์ž

ลุ้นผลวินิจฉัยอีก 1 เดือน

 

เกิดแรงกระเพื่อมในกลุ่มอำนาจฝ่ายรัฐบาล เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี ระหว่างรอศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยประเด็นวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี

เมื่อเป็นดังนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ จะเป็นผู้ทำหน้าที่รักษาการแทน ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ยังปฏิบัติหน้าที่ รมว.กลาโหม ได้ตามปกติ

จากนี้สังคมยังต้องเฝ้าติดตามผลวินิจฉัยว่า ถึงที่สุดแล้ว พล.อ.ประยุทธ์จะต้องพ้นเก้าอี้นายกฯ ไปแบบถาวร ไม่มีวันกลับมาอีกหรือไม่

ทั้งนี้ เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 24 สิงหาคม ศาลรัฐธรรมนูญประชุมพิจารณาจะรับหรือไม่รับคำร้อง กรณีประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องของ 172 ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน

ที่ขอให้ศาลวินิจฉัยความเป็นนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์สิ้นสุดลง เนื่องจากดำรงตำแหน่งรวมระยะเวลาเกิน 8 ปี พร้อมขอให้มีคำสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย

ช่วงเที่ยงเศษ มีรายงานข่าวยืนยัน ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์รับคำร้อง และมีมติ 5 ต่อ 4 ให้ พล.อ.ประยุทธ์หยุดปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม เพื่อรอคำวินิจฉัย

ต่อมาช่วงบ่าย สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญแจกเอกสารสรุปผลประชุมพิจารณา กรณีประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่หรือไม่

ทั้งนี้ ศาลพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้อง และเอกสารประกอบคำร้องแล้ว เห็นว่า กรณีเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 7 (9)

จึงมีมติเอกฉันท์รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย ให้ผู้ถูกร้องยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง

สำหรับคำขอของผู้ร้อง ที่ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรคสอง

ศาลพิจารณาคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้ว เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่ามีกรณีตามที่ถูกร้อง จึงมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4

ให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2565

 

รายงานข่าวเปิดเผยมติศาลรัฐธรรมนูญ 5 ต่อ 4 ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี

เสียงข้างมาก 5 คน ประกอบด้วย นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ นายจิรนิติ หะวานนท์ นายวิรุฬห์ แสงเทียน และนายนภดล เทพพิทักษ์

อีก 4 เสียง ได้แก่ นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ และนายปัญญา อุดชาชน

จากมติดังกล่าวส่งผลให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เข้าทำหน้าที่รักษาการแทนนายกรัฐมนตรี ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 237/2563 ซึ่งระบุว่า ในกรณีที่นายกฯ ไม่อาจปฏิบัติราชการได้

คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รองนายกฯ เป็นผู้รักษาราชการแทนตามลำดับ 1.พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ 2.นายวิษณุ เครืองาม 3.นายอนุทิน ชาญวีรกูล 4.นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ 5.นายดอน ปรมัตถ์วินัย 6.นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์

ขอบเขตอำนาจรักษาการนายกฯ จะเหมือนกับนายกฯ ทุกอย่าง ทั้งการแต่งตั้งโยกย้าย กระทั่งยุบสภา

ในส่วนคณะรัฐมนตรีจะอยู่ตามปกติ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ยังไม่พ้นตำแหน่ง เพียงแต่หยุดปฏิบัติหน้าที่

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ รมว.กลาโหมต่อไปได้ เพราะไม่มีกำหนดวาระ 8 ปีเหมือนนายกฯ โดย พล.อ.ประยุทธ์จะมาเป็นลูกน้อง พล.อ.ประวิตร ใน ครม.

 

แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะให้คำตอบแรกกับสังคมไปแล้ว โดยสั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยวาระ 8 ปี

แต่ก็ยังมีคำถามสำคัญคือ ระยะเวลาพิจารณาคดีหลังรับคำร้องไว้วินิจฉัยจะนานกี่เดือน รู้ผลก่อนหรือหลังประชุมเอเปค เดือนพฤศจิกายน หมุดหมายสำคัญของรัฐบาล หรือจะยืดเยื้อไปจนใกล้สิ้นสุดวาระ 4 ปีรัฐบาล เดือนมีนาคม 2566

มีกระแสข่าวไม่ยืนยัน คาดการณ์กระบวนการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเรื่องนี้ว่าอาจรู้ผลเสร็จสิ้นในเดือนกันยายน หรืออีกไม่เกิน 1 เดือน

ประเด็นระยะเวลาพิจารณาคดี เป็นที่จับตาของสังคมอย่างกว้างขวาง

ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการผู้เชี่ยวชาญ จากสำนักงานอัยการสูงสุด อธิบายให้ความเห็นทางวิชาการข้อกฎหมาย ผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว ตอนหนึ่งว่า

คดีที่วินิจฉัยเรื่องความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเนื่องจากดำรงตำแหน่งครบกำหนดเวลาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสี่ และมาตรา 170 วรรคสองหรือไม่

รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดกรอบเวลาในการพิจารณาคดีไว้

แตกต่างจากคดีบางประเภทที่รัฐธรรมนูญกำหนดกรอบเวลาในการพิจารณาคดีไว้ 15 วัน 30 วัน หรือ 60 วัน เป็นต้น

 

ดร.ธนกฤตยังอธิบายว่า คดีคำร้องขอให้วินิจฉัยระยะเวลาดำรงตำแหน่งของนายกฯ ซึ่งไม่ได้กำหนดกรอบเวลาไว้

มีปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อระยะเวลาพิจารณาคดี หลักๆ คือ ศาลต้องส่งสำเนาคำร้องให้แก่ผู้ถูกร้องคือ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งจะมีระยะเวลาในการยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วันนับแต่วันได้รับสำเนาคำร้อง หรือภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด

ในคดีสำคัญเร่งด่วน ศาลอาจกำหนดระยะเวลายื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาให้น้อยกว่า 15 วัน เพื่อให้การพิจารณาคดีรวดเร็วขึ้นก็ได้

นอกจากนี้ การพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญใช้ระบบไต่สวน ทำให้ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจพิจารณาพยานหลักฐานได้อย่างกว้างขวาง

และหากศาลเห็นว่าคดีใดเป็นปัญหาข้อกฎหมาย หรือมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ ศาลมีอำนาจพิจารณาและวินิจฉัยคดีโดยไม่ทำการไต่สวนก็ได้

ดังนั้น หากศาลเห็นว่า ประเด็นระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี เป็นปัญหาข้อกฎหมาย หรือมีพยานหลักฐานเพียงพอจะพิจารณาวินิจฉัยได้ ศาลมีอำนาจพิจารณาและวินิจฉัยคดีได้โดยไม่ต้องไต่สวน

ซึ่งจะทำให้ขั้นตอนกระบวนพิจารณาคดีหลายอย่างถูกตัดออก

ส่งผลให้ระยะเวลาการพิจารณาคดีสั้นและรวดเร็ว กว่าคดีที่ต้องไต่สวนตามขั้นตอนปกติ

อีกหนึ่งความเห็นของนายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คาดว่า การวินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ อาจต้องใช้เวลาพิจารณาอย่างน้อย 2 เดือน

ปัญหานี้ไม่ง่าย เพราะกฎหมายไม่ชัดเจน ไม่ระบุวาระ 8 ปีนับตั้งแต่เมื่อใด เปิดช่องให้ถกเถียง ขัดแย้งกันและไม่เคยมีบรรทัดฐานมาก่อน เรื่องนี้เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก จึงต้องฟังความให้ครบทุกด้าน

แต่จะอย่างไรก็ตาม นายจรัญมองว่าเรื่องนี้ต้องหาข้อยุติให้เร็วที่สุด เพราะประชาชนกำลังจะขัดแย้งกันรุนแรงมากขึ้นถ้าหาข้อยุติไม่ได้ ถ้าไม่มีกระบวนการยุติธรรมทางศาลรัฐธรรมนูญเข้ามา

จะนำไปสู่ความแตกแยก แตกสามัคคีในหมู่ประชาชนอีกรอบ ประเทศจะเสียหายมาก

 

ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ แต่ความเคลื่อนไหวของฝ่ายค้านในสภา และกลุ่มเคลื่อนไหวนอกสภา ไม่หยุดไปด้วย

ฝ่ายค้านยึดมั่นในความคิดที่ว่า สถานภาพ พล.อ.ประยุทธ์พ้นจากการเป็นนายกฯ แล้วตั้งแต่หลังเที่ยงคืน 23 สิงหาคม ทางออกคือ พล.อ.ประยุทธ์ควรประกาศลาออก เพื่อเข้าสู่กระบวนการสรรหาและเลือกนายกฯ คนใหม่โดยเร็ว

ถ้าท่านลาออก กระบวนการเลือกนายกฯ จะเร็วขึ้น เราจะได้นายกฯ คนใหม่ และจะช่วยลดภาระหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ เชื่อว่าประชาชนจะชื่นชอบแนวทางนี้Ž นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ผู้นำฝ่ายค้าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย แถลงตอนหนึ่ง

ด้านนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊ก เชิญชวนประชาชนจับตาผลวินิจฉัยอย่างใกล้ชิด พร้อมเรียกร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้เร่งวินิจฉัยปมวาระนายกรัฐมนตรีโดยไม่รอช้า

เพื่อจำกัดการผูกขาดอำนาจทางการเมือง รักษาหลักนิติรัฐ นิติธรรมในการปกครองของประเทศ ป้องกันต้นเหตุที่อาจนำพาประเทศไปสู่วิกฤตการเมือง และแก้ไขวิกฤตสุญญากาศภาวะผู้นำของประเทศ ในช่วงเวลาที่ประชาชนกำลังเดือดร้อนจากปัญหาหลายเรื่อง

ประเทศไทยตอนนี้ต้องการผู้นำ ต้องการนายกฯ ที่กระฉับกระเฉง พร้อมทำงานเพื่อประชาชน ไม่ได้ต้องการพายเรือในอ่างของระบอบสืบทอดอำนาจ

การนับระยะเวลาดำรงตำแหน่งของนายกฯ ต้องเป็นไปตามเจตนารมณ์หรือความมุ่งหมาย การกำหนดระยะเวลา 8 ปี ก็เพื่อมิให้เกิดการผูกขาดอำนาจในทางการเมืองยาวเกินไป อันจะเป็นต้นเหตุเกิดวิกฤตทางการเมืองได้

สอดรับกับที่กลุ่มคณาจารย์นิติศาสตร์ได้เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่า การตีความกฎหมายต้องเป็นไปเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน และจะต้องควบคุมและจำกัดอำนาจรัฐบาล

รัฐบาลปัจจุบันสืบทอดอำนาจเผด็จการ ขึ้นครองอำนาจได้ด้วยการบิดเบือนเสียงประชาชน ผ่านการออกแบบกติกาอันบิดเบี้ยว ซึ่งวางรากฐานมาโดยการรัฐประหารปี 2557

การเปลี่ยนตัวผู้กุมอำนาจสูงสุดของรัฐบาล โดยที่เครือข่ายอำนาจเดิมยังฝังแน่น ผูกขาดอำนาจทางการเมืองต่อไป ถึงที่สุดจะเป็นต้นเหตุนำไปสู่วิกฤตทางการเมืองของประเทศอีกครั้ง

จึงขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลได้พิจารณาตัวเองโดยไม่รอช้า พิจารณายุติการผูกขาดอำนาจทางการเมือง พิจารณาถึงความชอบธรรมทางการเมืองที่ตกต่ำลงทุกวัน

สะท้อนผ่านการที่ภาคประชาชน องค์กรต่างๆ องค์การนักศึกษา สภานักศึกษา สโมสรนักศึกษาทั่วประเทศ ร่วมกันแสดงเจตจำนงในการขับไล่นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง

 

ทั้งหมดนำไปสู่การประเมินสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน เป็นการเมืองภายใต้รูปแบบ นิติสงครามŽ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ แต่กระแสกดดันภายนอก ที่ต้องการขุดรากถอนโคนอำนาจเผด็จการผูกขาดทางการเมือง ยังดำเนินต่อไป ในห้วงเวลาการรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ต่อเนื่องไปจนถึงสมรภูมิเลือกตั้งครั้งหน้า