‘ป้อม’ รักษาการนายกฯ จับตาเกมการเมืองพลิก สัญญาณยุบสภา ไพ่เด็ดในมือ ‘บิ๊กตู่’ เปลี่ยน/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

‘ป้อม’ รักษาการนายกฯ

จับตาเกมการเมืองพลิก

สัญญาณยุบสภา

ไพ่เด็ดในมือ ‘บิ๊กตู่’ เปลี่ยน

 

วาระร้อนทางการเมือง ดูจะถอดสลักไปเปราะหนึ่ง

เมื่อที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ รับคำร้องของพรรคร่วมฝ่ายค้านไว้วินิจฉัย ในกรณีการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หรือไม่ พร้อมกับมีคำสั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์หยุดปฎิบัติหน้าที่นายกฯ นับตั้งแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไปจนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยในกรณีดังกล่าว

ระหว่างนี้ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 237/2563 กำหนดให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ขึ้นมาทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรี ตามลำดับของรองนายกฯ

ซึ่งคอการเมืองต่างวิพากษ์วิจารณ์ พร้อมกับวิเคราะห์กันว่า ในช่วงที่มีนายกฯ รักษาการ

จะเกิดอะไรในทางการเมือง หรือไม่

โดยเฉพาะในดุลอำนาจของกลุ่มผู้กุมอำนาจ อย่างกลุ่ม 3 ป. เมื่ออำนาจการบริหารมาอยู่ในมือของ พล.อ.ประวิตร ในฐานะรักษาการนายกฯ การเมืองจะเปลี่ยนไปอย่างไร

 

ก่อนจะไปถึงจุดนั้น ย้อนทวนไปดูการทำหน้าที่รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี

เป็นไปตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 237/2563 เรื่องมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี และปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ในกรณีนายกรัฐมนตรีไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติราชการได้

ในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีระบุว่า ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีไม่อาจปฏิบัติราชการได้ คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรีตามลำดับ ดังนี้

1.พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ 2.นายวิษณุ เครืองาม 3.นายอนุทิน ชาญวีรกูล 4.นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ 5.นายดอน ปรมัตถ์วินัย 6.นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์

นอกจากนี้ ในคำสั่งยังระบุว่า ในระหว่างการรักษาราชการแทนนายกฯ ผู้รักษาราชการแทนข้างต้น จะสั่งการใดเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลและการอนุมัติเงินงบประมาณอันอยู่ในอำนาจของนายกฯ ได้ต้องได้รับความเห็นชอบจากนายกฯ เสียก่อน

 

มือกฎหมายรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ขยายความกรณีนี้ว่า พล.อ.ประวิตรเป็นนายกฯ รักษาการเพราะได้จัดลำดับเรียงไว้ก่อนหน้านี้แล้ว

โดยมีอำนาจเต็ม “เหมือนกับนายกฯ ทุกอย่าง”

รวมถึงอำนาจในการยุบสภาที่นายวิษณุบอกว่า “ทำได้ แต่จะทำทำไม”

ที่มีการจี้ถามเรื่องการยุบสภากับนายวิษณุนั้น

เนื่องจากก่อนหน้านี้ มีสัญญาณและกระแสข่าวการยุบสภาแรงอย่างมาก

แม้ในข้อเท็จจริงความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายบริหาร กับฝ่ายนิติบัญญัติ อย่างสภาผู้แทนราษฎร ยังไม่มีปรากฏการณ์ของความขัดแย้งจนถึงขั้นเดินหน้าต่อไปไม่ได้

แต่เมื่อมีประกาศระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐ เพื่อกระทำการใดซึ่งจะมีผลต่อการเลือกตั้ง พ.ศ.2563 ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา

สาระสำคัญของระเบียบ กกต.ฉบับดังกล่าว เป็นการแจ้งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) หมายรวมถึง นายกรัฐมนตรี ในกรณีการพ้นจากตำแหน่ง จากเหตุยุบสภา และจัดให้มีการเลือกตั้ง จะสามารถปฏิบัติทำอะไรได้บ้างไม่ได้บ้าง ต่อบุคลากรภาครัฐ ทรัพยากรหน่วยงานรัฐ เพื่อไม่เป็นการเอื้อประโยชน์หรือเอาเปรียบในช่วงที่มีการเลือกตั้ง

ทั้งการห้ามใช้ทรัพยากรของรัฐ หรือบุคลากรของรัฐ ออกนโยบาย โครงการ แผนงาน โดยให้มีผลบังคับใช้ในทันทีมีลักษณะเป็นการสร้างโอกาสให้เกิดความไม่ทัดเทียมกันในการเลือกตั้ง

ไม่ควรจัดให้มีการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ นอกเหนือจากการประชุมตามปกติ แม้แต่การมอบหมายให้มีการประชุม อบรม หรือสัมมนาบุคลากรของรัฐ หรือเอกชน โดยใช้เงินงบประมาณของหน่วยงานของรัฐหรือเงินของกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ โดยอาจให้มีการแจกจ่ายทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด

รวมไปถึงการใช้ทรัพยากรของรัฐ เช่น คลื่นความถี่ หรือเครื่องมือ อุปกรณ์ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม หรือใช้งบประมาณด้านการประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานของรัฐ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่เพื่อประโยชน์ในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ที่จะเป็นการสร้างโอกาสให้เกิดความไม่ทัดเทียมกันในการเลือกตั้ง

นอกจากนี้ นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้จัดประชุมผู้บริหารทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทั้ง 77 จังหวัด เมื่อวันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่โรงแรมเมอเวนพิค อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เพื่อมอบแนวทางและข้อเสนอแนะเตรียมความพร้อมการจัดการเลือกตั้ง ส.ส. ที่สภาผู้แทนราษฎรจะครบวาระในวันที่ 23 มีนาคม 2566

จึงทำให้มีการประเมินว่านี่คือสัญญาณจะมีการยุบสภาใช่หรือไม่

 

สอดคล้องกับการวิเคราะห์ของฝ่ายการเมืองเกี่ยวกับทางเลือกของ พล.อ.ประยุทธ์

ที่ประเมินผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในกรณีการดำรงตำแหน่งนายกฯ ครบ 8 ปีไว้ว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์ประเมินผลคำตัดสินอาจจะไม่รอด ทำให้ต้องหลุดจากอำนาจ การปล่อยให้สถานการณ์เลยตามเลย ถือว่าเสี่ยงเกินไป

อาจต้องรีบตัดไฟแต่ต้นลมให้รีบยุบสภาก่อนศาลตัดสิน

ตัวเองอยู่รอดปลอดภัย เป็นนายกฯ รักษาการ ประคองอำนาจไปอีก 5-6 เดือน จนกว่าจะมีการเลือกตั้ง และฟอร์มทีมจัดตั้ง ครม.ชุดใหม่ ซึ่งกลุ่ม 3 ป. และเครือข่ายอำนาจ ย่อมต้องรักษาอำนาจไว้ให้อยู่กับฝ่ายของตัวเองให้ยาวนานที่สุด

สอดคล้องกับ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ที่มองเกมการเมืองว่า พล.อ.ประยุทธ์มีไพ่เด็ดในมือ คือการยุบสภา เพื่อให้ตัวเองเป็นรัฐบาลรักษาการ

ขณะเดียวกันถ้ายุบสภาในห้วงไม่มีกฎหมายเลือกตั้ง เพราะร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ยังไม่เรียบร้อย การเมืองจะเข้าสู่สุญญากาศ นายกฯ จะอยู่ยาว

นี่จึงทำให้กระแสยุบสภาถูกพูดถึงมาตลอดในห้วงเวลานี้

อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ได้ออกมาส่งสัญญาณ ผ่านคำชี้แจงของ “ธนกร วังบุญคงชนะ” อดีตโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ยืนยันว่า ไม่มีการยุบสภา และจะเดินหน้าทำงานให้กับประชาชนอย่างเต็มที่ในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ต่อไป

ทำให้กระแสยุบสภาลดทอนลง

ประกอบกับสถานการณ์เปลี่ยนไปเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่

การรักษาการนายกรัฐมนตรีตกอยู่ในมือของ พล.อ.ประวิตร

ซึ่งคาดหมายว่า เกมการเมืองต่างๆ อาจต้องเปลี่ยนไป

และอยู่ในแนวทางของ พล.อ.ประวิตร นายกฯ รักษาการ มากขึ้น

โดยคงต้องจับตากันต่อไปว่า พล.อ.ประวิตรที่มีอำนาจในมือเพิ่มขึ้น

จะพลิกเกม และกระชับอำนาจทางการเมืองอย่างไร ทั้งในคณะรัฐมนตรีและสภา เพื่อปูทางไปสู่การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น