นิติ WAR ทวีความดุเดือด หลัง ‘ตู่’ ถูกสั่งยุติหน้าที่ กลางแรงกดดัน ‘มวลชน-คนรุ่นใหม่’/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

นิติ WAR

ทวีความดุเดือด

หลัง ‘ตู่’ ถูกสั่งยุติหน้าที่

กลางแรงกดดัน ‘มวลชน-คนรุ่นใหม่’

 

ประเด็นการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเกิน 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

แม้ฝั่งฟากรัฐบาลจะพยายามจำกัดวงให้จบที่ “ศาลรัฐธรรมนูญ”

แต่กระนั้น ดูเหมือนว่า หลายฝ่ายแลเห็นว่า ความมั่นคงในอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ผ่านมานั้น

มีรากฐานมาจากรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ และใช้กระบวนการอย่างที่เรียกว่า “นิติสงคราม” โดยมีเหล่าเนติบริกรเป็นมือไม้เคลื่อนไหว กำหนดเกม เพื่อเอาชนะหรือได้เปรียบมาโดยตลอด

นี่เอง ทำให้เมื่อประเด็น 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นปัญหาขึ้นมา ฝั่งฟากฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์ก็พยายามตีกรอบให้อยู่ในการชี้ขาดของศาลรัฐธรรมนูญ โดยละเว้น ไม่คำนึงถึงเจตนารมณ์ หรือเป้าหมายที่มีการกำหนดเรื่องนี้เอาไว้ เพื่อไม่ให้ผูกขาดอำนาจ โดยหาช่องทางกฎหมายเพื่อจะได้ไปต่อ ไม่ว่าจะเป็นปี 2568 หรือ 2570 ที่จะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ครองอำนาจจริงๆ นานกว่าทศวรรษ

ส่งผลให้อีกฝั่งฟากที่มีจุดยืนตรงข้ามกับ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ยินยอมเป็นเพียงผู้ดูหรือสังเกตการณ์อีกต่อไป

หากแต่ขอก้าวเข้าไปใน “นิติวอร์”

เพื่อมีส่วนร่วมในการแสดงความเห็น กดดัน มิให้พิจารณาอยู่ในฝ่าย “เนติบริกร” ฝั่งฟากรัฐบาลเป็นฝ่ายกำหนดเท่านั้น

 

โดยในฝั่งตรงข้าม พล.อ.ประยุทธ์ แน่นอนที่สุดด้านหนึ่ง นำโดยพรรคฝ่ายค้าน อย่างพรรคเพื่อไทย ก้าวไกล เป็นต้น ที่นอกจากจะเข้าชื่อกัน 171 เสียง ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ตีความการอยู่ในตำแหน่งเกิน 8 ปีแล้ว

ยังชูสปิริต เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ยึดมั่นการปฏิรูปการเมือง เคารพรัฐธรรมนูญ ยอมรับการเมืองตามวิถีทางและจารีตประเพณีแบบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ด้วยการไม่อยู่ในตำแหน่งยาวนานเกินแปดปี เพื่อมิให้เกิดการผูกขาดอำนาจ สร้างอิทธิพลทางการเมืองขึ้น อันจะเป็นต้นเหตุให้เกิดวิกฤตทางการเมืองขึ้น

คำถามที่พรรคฝ่ายค้านตั้งขึ้นคือ พล.อ.ประยุทธ์จะดำเนินการโดยประการใด กับกรณีที่เป็นนายกรัฐมนตรีมาแปดปีแล้ว อันอาจนำมาซึ่งความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมืองดังกล่าว

การปฏิรูปการเมือง ที่กล่าวไว้ตั้งแต่ยึดอำนาจการปกครองประเทศเรื่อยมา เป็นความจริงใจ หรือเป็นเพียงวาทกรรมคำพูดที่ให้ดูดีเท่านั้น

 

นอกจากฝ่ายพรรคการเมืองในสภาข้างต้นแล้ว นอกสภายังปรากฏมีกลุ่มมวลชนออกมามีส่วนร่วมแชร์ในนิติวอร์ด้วย

เฉพาะเพียงเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ก่อนที่จะครบการครองอำนาจ 8 ปีนั้น

ปรากฏว่า มีนักกิจกรรมกลุ่มต่างๆ ออกมาเคลื่อนไหวมากหน้าหลายตา

อาทิ ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล กลุ่มเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชนนัดหมายชุมนุม “พอกันทีนายกฯ เถื่อน”

นอกจากเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออกทันที ยังมีข้อเรียกร้องอื่นร่วมด้วย อาทิ ลดราคาน้ำมัน ควบคุมราคาสินค้า, ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 425 บาทเท่ากันทั่วประเทศด้วย

ขณะที่ที่หน้ารัฐสภา ฝั่งประตู ส.ส. (วัดแก้วฟ้า) เครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย และเครือข่ายใต้มูฟออน (South Move on) จัดกิจกรรม “มรสุม 8 ปี พอกันที คนดีย์ จันทร์โอชา” #8ปีก็เกินพอถ้าไม่พอก็เกินไป!

นอกจากนี้ มีกลุ่มมวลชนอิสระ รวมพล “เดินไล่” ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แล้วมุ่งหน้าไปทำเนียบรัฐบาล

ส่วนที่ลานคนเมือง นายจตุพร พรหมพันธุ์ และนายนิติธร ล้ำเหลือ หรือทนายนกเขา จัดกิจกรรม “หยุด! 8 ปี ประยุทธ์”

เช่นเดียวกับที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนินกลาง กรุงเทพฯ กลุ่มโรนินฝั่งธน ไม่เอาเผด็จการ และอาชีวะพิทักษ์ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นัดหมายชุมนุมขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ เช่นกัน

 

ขณะที่ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม

มีการเคลื่อนไหวที่น่าจับตามองด้วยเป็นการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ ในนามกลุ่มราษฎรและประชาชน 4 ภาค

ประกอบด้วย 1.แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม 2.กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) 3.We Volunteer 4.คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) 5.คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) 6.ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) 7.เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน 8.สหภาพคนทำงาน 9.People Go Network 10.เครือข่ายคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม

11.สลัมสี่ภาค 12.เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม We Fair 13.เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ 14.กรองข่าวแกง 15.เฟมินิสต์ปลดแอก 16.FemFoo 17.นักเรียนเลว 18.ขอนแก่นพอกันที 19.ราษฎรโขงชีมูน 20.ดาวดิน สามัญชน 21.ขบวนการอีสานใหม่ 22.พรรคโดมปฏิวัติ 23.Nu-movement 24.ชุมชนนักกิจกรรมภาคเหนือ (CAN) 25.Cafe Democracy 26.พรรคปฏิวัติมอดินแดง 27.องค์การบริหารสโมสรนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) 28.พิราบขาวเพื่อมวลชน ลำปาง 29.KNACK กลุ่มสนับสนุนสังคมประชาธิปไตยที่เป็นธรรมและเท่าเทียม 30.Supporter Thailand (SPT)

31.ทะลุวัง 32.Nurses Connect 33.แดนดินถิ่นขบถ 34.กลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชนภาคใต้ (Law Long Beach) 35.โมกหลวงริมน้ำ 36.Secure Ranger 37.สหพันธ์นักเรียนเพชรบูรณ์ 38.กอผือ รื้อ เผด็จการ

 

น.ส.ปนัสยา “รุ้ง” สิทธิจิรวัฒนกุล กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เป็นตัวแทนกลุ่มดังกล่าวอ่านแถลงการณ์ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยตอนหนึ่งว่า

“เราเหล่าราษฎรได้มารวมตัวกัน ณ ที่แห่งนี้ เพื่อประกาศแก่พี่น้องประชาชนทั้งหลายว่า ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้ไร้ความชอบธรรมในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามระบอบประชาธิปไตยนับตั้งแต่วันแรกที่เข้าสู่อำนาจ จะต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 ดังนั้น ประยุทธ์ จันทร์โอชา จงลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามหลักเกณฑ์แห่งรัฐธรรมนูญเสียแต่บัดนี้ และจงอย่าคิดสร้างสุญญากาศทางกฎหมายด้วยการประกาศยุบสภาในขณะที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรยังไม่ได้ถูกประกาศใช้ อันจะเป็นการเปิดช่องให้บรรดาพลพรรคสามารถสร้างกฎหมายการเลือกตั้งที่เอื้อประโยชน์แก่พวกพ้องของตน”

“ในกาลนี้ เราราษฎรขอส่งสารไปยังประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ศาลมีคำวินิจฉัยประเด็นการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง 8 ปี ของนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ให้แล้วเสร็จ ภายในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 หาไม่แล้ว ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ประยุทธ์ จันทร์โอชา หยุดการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นับตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2565 จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยแล้วเสร็จ”

“และขอยืนยันข้อเรียกร้อง 1. ให้ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยทันที

2. หากประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ยอมลงจากอำนาจ ศาลธรรมนูญต้องมีคำวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 24 สิงหาคม 2565

3. ให้รัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ตัดอำนาจวุฒิสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรีให้เสร็จสมบูรณ์ก่อนการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง”

สอดคล้องกับท่าทีคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)

ที่ระบุว่า 1. อายุ 8 ปีของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์เต็มไปด้วยความแปดเปื้อน นี่คือจังหวะเวลาที่เหมาะสมที่นายกฯ ต้องลาออกโดยไม่มีเงื่อนไข เพื่อเป็นการแสดงสปิริตทางการเมือง และเป็นการเคารพกฎหมายและหลักนิติรัฐ

2. ในระหว่างนี้ต้องมีการดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีความเป็นประชาธิปไตยที่เต็มรูปแบบขึ้น โดยเฉพาะการยกเลิกอำนาจของสมาชิกวุฒิสภา ในการเลือกนายกฯ นี่คือสิ่งที่จะนำไปสู่การสืบทอดอำนาจของกลุ่มอำนาจเดิม

3. ขอเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวกลุ่มคนที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งอาจจะต้องนำไปสู่การยกเลิกการดำเนินคดีด้วย และการปล่อยตัวเป็นสิ่งแรกที่รัฐบาลสามารถทำได้ เพื่อสร้างบรรยากาศทางการเมืองที่ดีขึ้น

 

นี่คือความเคลื่อนไหวของกลุ่มมวลชน ที่ส่วนสำคัญหนึ่ง เป็นคนรุ่นใหม่ ซึ่งออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านการอยู่ในอำนาจเกิน 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์

ซึ่งแม้ดูจะไม่เป็นไปอย่างมีเอกภาพ ต่างคนต่างทำ ต่างเคลื่อนไหว

แต่กระนั้นก็เป็นสัญญาณว่า คนรุ่นใหม่เหล่านี้ พร้อมจะส่งเสียงไม่ยินยอมให้ประเด็นการเมือง อย่างกรณี 8 ปีจำกัดวงอยู่ในเหล่าเนติบริกร ที่ทำนิติสงครามเพื่อประโยชน์ของฝ่ายตนเพียงอย่างเดียว

และดูเหมือนจะสร้างแรงกดดันได้ไม่น้อย

ซึ่งไม่รู้ว่าหากไม่มีความเคลื่อนไหวของมวลชนเหล่านี้

มติคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะออกมาเช่นนี้หรือไม่

คือมีมติเป็นเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 รับคำร้องไว้วินิจฉัย

และที่เซอร์ไพรส์ เหนือความคาดหมาย เมื่อตุลาการมีเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 เสียง ให้ พล.อ.ประยุทธ์หยุดปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม เป็นต้นไป จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย

คำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่นี้สอดคล้องกับข้อเรียกร้องของเหล่ามวลชน

มติของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มิได้ออกมาเป็นคุณกับฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์ อย่างที่มีการคาดหมายกันไว้

นี่ย่อมทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ และฝ่ายสนับสนุนที่แสดงท่าทีมั่นใจ ว่าจะผ่านด่านกรณี 8 ปีได้ เหมือนกรณีอื่นๆ อาจจะต้องตั้งหลักใหม่

และคงต้องเพิ่มฤทธานุภาพ ใน “นิติวอร์” หรือ “นิติสงคราม” มากขึ้น

จะมามั่นใจหรือรอปาฏิหาริย์ทางกฎหมายช่วยเหมือนในอดีตคงไม่ได้

ด้วยขณะนี้ แรงกดดันจากทั้งพรรคฝ่ายค้านและมวลชนทั้งรุ่นใหญ่และรุ่นใหม่ กำลังถาโถมเข้าใส่ทั้งองค์กรที่เป็นผู้วินิจฉัยและทั้งฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์

จนทำให้สถานการณ์มีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งเหล่าเนติบริกรทั้งหลายจะต้องออกแรงสู้มิให้ พล.อ.ประยุทธ์พ้นจากเก้าอี้นายกฯ

อันจะทำให้ “นิติวอร์” ทวีความเข้มข้นขึ้นหลายเท่า ท่ามกลางป้าย “ประยุทธ์พอเถอะ-ประยุทธ์ออกไป” ที่ถูกมวลชนชูขึ้นกดดัน