วัฒนธรรมจีนหลายพันปี ในภาษาและวรรณกรรมไทยเริ่มแรก / สุจิตต์ วงษ์เทศ

สุจิตต์ วงษ์เทศ

 

วัฒนธรรมจีนหลายพันปี

ในภาษาและวรรณกรรมไทยเริ่มแรก

 

ภาษาและวรรณกรรมไทยแบ่งกว้างๆ 2 ช่วง ได้แก่ ก่อนมีอักษรไทย และหลังมีอักษรไทย

ก่อนมีอักษรไทย เป็นที่รับรู้ทั่วไปเป็นสากลว่าวรรณกรรมทำได้ด้วยภาษาพูด เรียก “คำบอกเล่า” หรือ “เรื่องเล่า” สำหรับวรรณกรรมไทยพบหลักฐานเก่าสุดราว 3,000 ปีมาแล้ว อยู่ทางตอนใต้ของจีน บริเวณพรมแดนมณฑลกวางสีของจีนกับภาคเหนือของเวียดนาม แต่ไม่เป็นที่รับรู้ของวงวิชาการภาษาและวรรณกรรมในไทย

หลังมีอักษรไทย ยังกำหนดเวลาไม่ได้แน่นอน แต่เป็นที่รับรู้ว่าอักษรไทยมีวิวัฒนาการกลายจากอักษรเขมรและมอญบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาในช่วงหลัง พ.ศ.1700 ทำให้ภาษาและวรรณกรรมไทยมีลายลักษณ์เขียนด้วยอักษรไทย

นับแต่นั้นภาษาไทย, อักษรไทย และวัฒนธรรมไทยเป็นสัญลักษณ์ของพลังดึงดูดคนเผ่าพันธุ์ต่างๆ “ร้อยพ่อพันแม่” บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา พากันทยอยกลายตนเป็นไทย แล้วเรียกตนเองว่าคนไทย ดังนั้น ไทย, คนไทย เก่าสุดอยู่ภาคกลาง มีศูนย์กลางอยู่กรุงศรีอยุธยา ไม่พบที่อื่น จึงไม่มีเชื้อชาติไทยหรือไทยแท้สายเลือดบริสุทธิ์ (ซึ่งพิสูจน์ไม่ได้ด้วยวิทยาศาสตร์) เพราะไทยเป็นชื่อทางวัฒนธรรม ได้ชื่อไทยโดยสมมุติจากประสบการณ์ที่มีมาช้านาน เช่น จากคำว่า ไท-ไต เป็นต้น

[มีผู้ทรงเกียรติกล่าวว่า “วรรณกรรมไทยยุคต้นมีที่มาจากอินเดีย โดยเฉพาะหลักธรรมในพุทธศาสนา เช่น ไตรภูมิพระร่วง, มหาชาติคำหลวง และสมุทรโฆษ จากนั้นเป็นหลักธรรมของพราหมณ์-ฮินดู มีรามเกียรติ์ เป็นต้น” จากข้อความยกมานี้เข้าใจว่าผู้ทรงเกียรติกล่าวตามตำรา “ราชาชาตินิยม” กระแสหลักเรื่องวรรณกรรมไทยหลังมีอักษรไทย แต่ไม่ให้ความสำคัญวรรณกรรมก่อนมีอักษรไทย]

 

เริ่มแรกสุด

ภาษาและวรรณกรรมไทย (ก่อนมีอักษรไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา) มีรากฐานเริ่มแรกหลายพันปีมาแล้วจาก “คำบอกเล่า” หรือ “เรื่องเล่า” บริเวณโซเมีย (หมายถึงที่สูงแห่งเอเชีย มีทิวเขาสลับซับซ้อนกลางทวีปเอเชียค่อนลงทางใต้) เรียกรวมๆ ว่าทางลุ่มน้ำแยงซี อยู่ตอนใต้ของจีนต่อเนื่องถึงพื้นที่ส่วนมากบนภาคพื้นทวีปของอุษาคเนย์

ทางตอนใต้ของจีนเป็นที่ราบในหุบเขาสูง เป็นถิ่นของคนหลายชาติพันธุ์ “ร้อยพ่อพันแม่” อยู่ปะปนกัน คนหลายชาติพันธุ์เหล่านี้ถูกจีนเรียกอย่างรวมๆ โดยไม่จำแนกว่า “เยว่” ซึ่งมีรวมอยู่ด้วยก็คือคนในตระกูลภาษาไท-ไต

ตอนเหนือขึ้นไปของโซเมียเป็นดินแดนจีน (ลุ่มน้ำฮวงโห) ซึ่งเท่ากับโซเมียอยู่ใกล้ชิดติดกับจีน ดังนั้น เยว่บางกลุ่มถูกผนวกเป็นจีน แต่หลายกลุ่มแม้อยู่เป็นเอกเทศก็ยอมรับวัฒนธรรมจีน พบหลักฐานเก่าสุดคือหม้อสามขาที่คนหลายชาติพันธุ์รับจากจีนแล้วแพร่กระจายลงทางทิศใต้ไปตามเส้นทางคมนาคม ถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยาและคาบสมุทรมลายู มีลำดับความเป็นมาโดยสรุปดังนี้

หม้อดินเผาสามขา เป็นเครื่องเซ่นผีที่แสดงฐานะทางสังคมระดับชนชั้นนำของหัวหน้าเผ่าพันธุ์ที่ตายแล้วฝังไว้ มีต้นแบบอยู่ลุ่มน้ำฮวงโห แพร่หลายถึงดินแดนไทยโดยกลุ่มชาติพันธุ์ในโซเมีย [หม้อสามขาอายุราว 3,000 ปีมาแล้ว พบที่บ้านเก่า ต.บ้านเก่า อ.เมือง จ.กาญจนบุรี จากการขุดค้นโดยคณะสำรวจเรื่องราวก่อนประวัติศาสตร์ ไทย-เดนมาร์ก พ.ศ.2503-2505 จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า จ.กาญจนบุรี (ภาพจากพิพิธภัณฑ์ฯ โดย น.ส.ณุดา ปิ่นตัน)]
1. ในจีน หม้อสามขา คือ ภาชนะดินเผามีสามขา อายุมากกว่า 3,000 ปีมาแล้ว ขุดพบในหลุมศพบริเวณลุ่มน้ำฮวงโห ถูกจัดเป็นวัฒนธรรมลุงชาน หรือวัฒนธรรมหลงซาน (Longshan culture)

2. ในไทย หม้อสามขาอายุราว 3,000 ปีมาแล้ว ขุดพบในหลุมศพบริเวณที่ราบเชิงเขาทางตะวันตกตั้งแต่ภาคเหนือของไทยทอดยาวผ่านภาคกลางลงไปภาคใต้บริเวณคาบสมุทรมลายู (จากหนังสือ สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย ของ ชิน อยู่ดี กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2510 หน้า 42-47) หม้อสามขาเหล่านี้ไม่ได้นำลงมาจากลุ่มน้ำฮวงโหในจีน แต่ทำขึ้นในท้องถิ่นสำหรับฝังในหลุมศพเท่านั้น จึงไม่ได้ทำขึ้นใช้ในชีวิตประจำวัน

คนจากบริเวณโซเมียเชื่อมโยงวัฒนธรรมหม้อสามขาจากลุ่มน้ำฮวงโห (ทั้งรูปแบบและพิธีกรรมความเชื่อที่เกี่ยวข้องหม้อสามขา) ลงทางทิศใต้จนถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยา แม้ไม่พบหลักฐานโดยตรง แต่พยานหลักฐานแวดล้อมยืนยันว่ามีการโยกย้ายอพยพของคนหลายชาติพันธุ์จากโซเมียลงทางทิศใต้เข้าสู่ลุ่มน้ำโขง ลุ่มน้ำสาละวิน และลุ่มน้ำเจ้าพระยา

หม้อสามขาเป็นเครื่องเซ่นผีเพื่อแสดงฐานะทางสังคมของคนตายผู้เป็นชนชั้นนำระดับหัวหน้าเผ่าพันธุ์ที่ฝังในหลุม ดังนั้น เมื่อหัวหน้าเผ่าพันธุ์ตายก็เอาหม้อสามขาฝังรวมในหลุมฝังศพเพื่อใช้งานในโลกต่างมิติตามความเชื่อเรื่องขวัญทางศาสนาผี

วัฒนธรรมจีนสำคัญๆ มีอีกหลายอย่างที่กลุ่มไท-ไตรับมาสมัยแรกๆ โดยเฉพาะระบบปฏิทินแม่ปีลูกปีและระบบสิบสองนักษัตร เป็นต้น (สรุปจากหนังสือ “คนไท” ไม่ใช่ “คนไทย” แต่เป็นเครือญาติชาติภาษา ของ เจีย แยนจอง สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2548 หน้า 34-35) ซึ่งเกี่ยวข้องฤดูกาลกำหนดวิถีกสิกรรมทำนาทำไร่แบบพึ่งพาธรรมชาติ (เรียก “นาทางฟ้า” คือพึ่งพาน้ำฝน) แล้วยังเกี่ยวข้องโดยตรงกับภาษาและวรรณกรรมไทย เพราะสมัยเริ่มแรกมีอิทธิพลมากทางภาษาและวรรณกรรมในชีวิตประจำวันของคนล้านนา ครั้นปัจจุบันแม้จะลดความสำคัญลงไป แต่ยังอยู่ในประเพณีและในความทรงจำของคนจำนวนไม่น้อย นอกจากนั้นสิ่งที่กลุ่มไท-ไตรับจากจีนยังมีความเชื่อที่เรียกด้วยภาษาฮั่น เช่น แถน, ขวัญ เป็นต้น

สัตว์รอบวงใน ได้แก่ สัตว์ประจำทิศทั้ง 4 คือ มังกร, หงส์, เสือ และเต่า ถัดออกมาคือสิบสองนักษัตร และวงนอกเป็นสัตว์ 28 ตัว สลักบนคันฉ่องโลหะ ยุคราชวงศ์ถัง ค.ศ.618-905 (พ.ศ.1161-1448) (จากหนังสือ สิบสองนักษัตร ของ ส.พลายน้อย สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งที่สาม พ.ศ.2547 หน้า 2)]

แม่ปีลูกปี ในล้านนาได้ต้นแบบจากปฏิทิน “กานจือ” ของจีน ราว 3,000 ปีมาแล้ว

แม่ปี หมายถึง ศก มี 10 ศก ได้แก่ กาบ, ดับ, ลวาย, เมิง, เปิด, กัด, กด, ลวง, เต่า, ก่า

ลูกปี หมายถึง นักษัตร มี 12 นักษัตร ได้แก่ ใจ้, เป้า, ยี่, เม้า, สี, ใส้, สง้า, เม็ด, สัน, เล้า, เส็ด, ไก๊ [ปีนักษัตรทางภาคกลางเรียกชื่อด้วยคำจากหลายภาษา เช่น ชวด (ภาษาจีน), ขาล (ภาษาเขมร), จอ (ภาษากุย) เป็นต้น]

สิบสองนักษัตร ไท-ไตรับจากจีน นามปีมหาจักรในล้านนาตรงกับภาษาจีนโบราณ เช่น ล้านนา เรียก ปีกาบใจ้ ตรงกับจีนว่า กับจี้ (ภาคกลางเรียก ปีชวดเอกศก) ล้านนา เรียก ปีกัดเม้า ตรงกับจีนว่า กี่เม้า (ภาคกลางเรียก ปีเถาะฉศก) เป็นต้น

จีนเปลี่ยนปีนักษัตรตอนปีใหม่จีน (ตรุษจีน) ส่วนไทยเปลี่ยนปีนักษัตรตอนปีใหม่ไทย (ทางจันทรคติ) คือ เดือนอ้าย หรือเดือนที่ 1 (หลังลอยกระทง) ตรงกับปฏิทินสากลราวพฤศจิกายน-ธันวาคม

[แต่ถูกชนชั้นนำอำนาจรวมศูนย์ครอบงำว่าสิบสองนักษัตรเปลี่ยนตอนสงกรานต์ ซึ่งไม่ใช่ เพราะสงกรานต์เป็นพิธีขึ้นปีใหม่ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูที่ไทยรับจากอินเดีย ส่วนสิบสองนักษัตร ไม่มีในอินเดีย เนื่องจากสิบสองนักษัตรเป็นสิ่งเนื่องในศาสนาผีที่ไทยได้จากจีน]

แถน ได้จากภาษาฮั่นว่าเทียน, เตียน ซึ่งแปลว่าฟ้า หมายถึงผู้เป็นใหญ่บนฟ้า

ขวัญ ได้จากภาษาฮั่นว่าเฮวิ๋น, หวั๋น หมายถึงพลังแห่งชีวิตที่มีอำนาจเหนือธรรมชาติที่ีมีในคน, สัตว์, พืช, สิ่งของ, อาคารสถานที่ ฯลฯ •