วรศักดิ์ มหัทธโนบล : จักรวรรดิในกำแพง : โหมโรง (4)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

หลักคิดกับข้อจำกัด (ต่อ)

ส่วนประเด็นทะเลจีนใต้ที่กลายเป็นปัญหาเรื้อรังในปัจจุบันนั้น เป็นพฤติกรรมที่เกิดก่อนและหลังราชวงศ์ดังกล่าว ในขณะที่หมู่เกาะในทะเลจีนใต้ก็ไร้ผู้คนอาศัยอยู่ ไม่มีความเป็นรัฐดังที่ญี่ปุ่นและอินโดนีเซียเป็น

แต่เมื่อพฤติกรรมได้เกิดขึ้นด้วยการกล่าวอ้างว่าทะเลจีนใต้เป็นของตนแล้ว ในที่นี้จะพยายามศึกษาว่า จีนใช้หลักคิดอะไรในการอธิบายว่าทะเลจีนใต้เป็นของตน

หลักคิดนี้ไม่ได้หมายถึงหรือไม่มีอะไรที่เกี่ยวกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่จีนนำมาอ้างโดยหวังผลในทางกฎหมายระหว่างประเทศ

หากแต่หมายถึงตอนที่จีนแล่นเรือมาถึงทะเลจีนใต้ (ไม่ว่าจะแล่นมาด้วยเหตุผลใดก็ตาม) แล้วหลังจากนั้นจีนก็อ้างว่าทะเลจีนใต้เป็นของตนนั้น จีนอ้างบนพื้นฐานหลักคิดอะไร ในเมื่อจีนมิได้ใช้กำลังเข้าครอบครองดังจักรวรรดิยุโรปกระทำกัน

การพยายามศึกษาเพื่อค้นหาหลักคิดดังกล่าวในที่นี้จะขอเริ่มด้วยการอ้างถึงงานอีกชิ้นหนึ่งที่มี Susan E. Alcock, Terence N. D”Altroy, Kathleen D. Morrison, Carla M. Sinopoli เป็นบรรณาธิการ นั่นคือ Empire (2001) อันเป็นงานที่รวมงานศึกษาของนักวิชาการหลายท่าน

 

ในกรณีจีนงานชิ้นนี้ได้ให้ความสำคัญต่อปฏิสัมพันธ์ของชนชาติจีนกับชนชาติอื่น (ดังที่ จีนยุคบุราณรัฐ ได้ชี้ให้เห็นปฏิสัมพันธ์นี้เช่นกัน) งานศึกษานี้ได้เตือนให้เราระลึกอยู่เสมอว่า เมื่อกล่าวถึงจักรวรรดิจีนแล้วย่อมหมายถึงจักรวรรดิโดยชนชาติฮั่นบ้างและชนชาติอื่นบ้าง ใช่แต่โดยชนชาติฮั่นเพียงชนชาติเดียวไม่

กรณีหลังที่ว่าหมายถึงชนชาติอื่นนั้นหมายถึง ช่วงที่จีนถูกปกครองโดยชนชาติอื่น เช่น มองโกลในสมัยราชวงศ์หยวน หรือแมนจูในสมัยราชวงศ์ชิง เป็นต้น

แต่ที่โดดเด่นก็คือการที่งานชิ้นนี้ได้ประมวลให้เห็นว่า เมื่อแรกที่จักรวรรดิจีนได้เกิดขึ้นนั้น ราชวงศ์ผู้สร้างจักรวรรดิได้ดำเนินการสิ่งใดบ้างหลังจากนั้น ซึ่งผลการประมวลพบว่ามีอยู่ห้าด้านด้วยกันคือ

ด้านแรก จักรวรรดิสถาปนาขึ้นได้ด้วยการบริหารและผลประโยชน์อันหลากหลาย ไม่ว่าจะในทางเศรษฐกิจ การเมือง ศาสนา หรือชนชาติ

ด้านที่สอง จักรวรรดิมักจะสร้างระบบคมนาคม ระบบนี้ถูกออกแบบมาเพื่อรับใช้ทางการทหารและเศรษฐกิจในศูนย์กลางจักรวรรดิ

ด้านที่สาม จักรวรรดิมีความเชี่ยวชาญในระบบการติดต่อสื่อสาร อันมีขึ้นเพื่อการบริหารพื้นที่เป้าหมายที่ขึ้นตรงต่อศูนย์กลาง

ด้านที่สี่ จักรวรรดิมักจะประกาศการผูกขาดทางด้านกองกำลังในดินแดนที่ตนปกครอง และมักมีแผนที่จะใช้กองกำลังทางทหารรุกออกไปภายนอกเสมอ

ด้านที่ห้า จักรวรรดิมักมี “แผนการจักรวรรดิ” (imperial project) ในการกำหนดรูปแบบความเป็นเอกภาพผ่านระบบต่างๆ

และทั้งห้าด้านนี้เองที่ต่อไปจะได้กลายเป็นรากฐานสำคัญให้แก่จักรวรรดิในชั้นหลังต่อมา

 

ที่สำคัญคือ เมื่อ Empires ได้ประมวลภาพให้เห็นแล้ว พอมาถึงประเด็นเรื่องหลักคิดของจักรวรรดิโดยชนชาติฮั่นแล้ว งานชิ้นนี้ก็ระบุถึงหลักคิดเรื่อง เทียนจื่อ หรือโอรสแห่งสวรรค์ (Son of Heaven) เรื่อง เทียนมิ่ง หรืออาณัติแห่งสวรรค์ (Mandate of Heaven) เป็นต้น

โดยอธิบายบทบาทของราชวงศ์ฉินในฐานะผู้วางรากฐานให้แก่จักรวรรดิจีนในยุคเริ่มแรก ว่าจักรวรรดิของราชวงศ์นี้มีองค์ประกอบทั้งในทางความคิดและทางปฏิบัติอย่างไรบ้าง

การกล่าวถึงหลักคิดในเรื่องที่ว่านี้นับว่าที่ความสำคัญยิ่งในการศึกษาจักรวรรดิจีน

เพราะจีนไม่เพียงจะอ้างถึงหลักคิดนี้ตลอดประวัติศาสตร์ของตนเท่านั้น

หากในทางปฏิบัติแล้วไม่ว่าจีนจะทำอะไร เช่น การใช้ชีวิตที่หรูหราของจักรพรรดิเพื่อให้สมกับที่เป็นโอรสแห่งสวรรค์ การแผ่อิทธิพลไปยังชนชาติอื่นที่อาศัยอยู่ในแผ่นดินใหญ่จีน ความสัมพันธ์กับรัฐต่างๆ ที่อยู่นอกจักรวรรดิภายใต้ระบบบรรณาการ เป็นต้น ล้วนเป็นไปภายใต้หลักคิดโอรสแห่งสวรรค์หรืออาณัติแห่งสวรรค์ทั้งสิ้น

กล่าวอีกอย่าง หลักคิดนี้ทำให้เห็นว่า เมืองหลวงอันเป็นที่ตั้งของจักรวรรดินั้น เป็นศูนย์กลางอำนาจที่รัฐต่างๆ ที่อยู่ในจีนและนอกจีนจักต้องมาสวามิภักดิ์

หลักคิดที่มีลักษณะเฉพาะของจีนดังกล่าวจึงพึงได้รับการอธิบายพอสมควร ไม่ว่าจะในประเด็นที่มา พัฒนาการ และปัญหา

ซึ่งงานศึกษานี้จะได้กระทำเป็นลำดับถัดไป

 

เนื่องจากหลักคิดโอรสแห่งสวรรค์หรืออาณัติแห่งสวรรค์นี้มีคำสำคัญคือ สวรรค์ คำคำนี้ได้ปรากฏอยู่ในเอกสารโบราณของจีนมาช้านานแล้ว และทำให้รู้ว่าชาวจีนมีความเชื่อเกี่ยวกับอำนาจของสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติมาก่อน

กล่าวเฉพาะหลักฐานที่เป็นบันทึกที่กล่าวถึงการมีอยู่ของราชวงศ์เซี่ย ซาง และโจว อันเป็นราชวงศ์ในยุคต้นประวัติศาสตร์จีนแล้ว คำว่าสวรรค์ก็ได้มีอยู่ในบันทึกที่ว่าเช่นกัน

ตัวอย่างเช่น สมัยราชวงศ์เซี่ยมีการกล่าวถึงคำว่าสวรรค์เพื่อใช้อ้างถึงความชอบธรรมในการสืบสันตติวงศ์ว่า “สมบัติทั้งมวลในใต้หล้าย่อมเป็นของตระกูลของเขา” (takes all under heaven as his family possession) โดยผู้ที่กล่าวคำนี้เป็นโอรสของกษัตริย์ที่กล่าวขึ้นเพื่ออ้างว่า ราชสมบัติของกษัตริย์ย่อมต้องเป็นของวงศานุวงศ์ของกษัตริย์เท่านั้น จะเป็นของคนนอกวงศานุวงศ์ไม่ได้เป็นอันขาด

คำพูดนี้ได้กลายเป็นหลักคิดที่เรียกว่า “เจียเทียนเซี่ย” หรือ “ตระกูลแห่งใต้หล้า” ในเวลาต่อมา และคำว่า เทียน ในหลักคิดดังกล่าวก็คือ สวรรค์ จนกล่าวได้ว่าคำว่า สวรรค์ ได้ปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกก็ในสมัยนี้

ต่อมาเมื่อราชวงศ์เซี่ยล่มสลายโดยมีราชวงศ์ซางมาแทนที่ ราชวงศ์ซางได้ใช้คำว่า ตี้ มาเรียกกษัตริย์ของตน คำว่าตี้ หมายถึง เทพผู้สูงสุด (High God) อันรวมถึงปฐมบรรพชนของตนที่มิอาจระบุตัวตนได้ว่าคือผู้ใด ซึ่งบ้างก็บรรยายว่าเป็นผู้ที่อยู่บนสวรรค์ บ้างก็ว่าเป็นภาวะที่ว่างเปล่า บ้างก็ว่าเป็นเทพที่มีรูปลักษณ์เหมือนมนุษย์ หรือบ้างก็ว่าเป็นพิธีกรรมที่มีวัตถุประสงค์ที่แน่นอน

โดยรวมแล้วหมายถึงบรรดาวิญญาณบรรพชนของกษัตริย์หรืออำนาจที่เหนือกว่า ที่ซึ่งกษัตริย์ซางต่างก็แสวงหาเพื่อผลที่ดีในการปกครองของตน

เมื่อมีตี้อยู่ในฐานะที่สูงสุดก็ย่อมมีผู้ที่มีฐานะด้อยกว่าลดหลั่นลงมา และการอยู่ในฐานะสูงสุดนี้ทำให้กษัตริย์มีอำนาจในการชี้เป็นชี้ตายหรือสร้างความพินาศได้ (Di makes disaster)

ดังนั้น ตี้จึงมีศักยภาพเท่ากับสวรรค์ และใช้ศักยภาพนี้ในทางพิธีกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับธรรมชาติผ่านเวลาและปฏิทิน กำหนดเวลาในแต่ละวัน แต่ละฤดูของแต่ละปี เวลาประสูติของโอรสหรือธิดา เวลาในการล่าสัตว์ สงคราม การเกษตร หรือราชกิจอื่นๆ ที่ล้วนมีจารีตและพิธีกรรมที่พึงปฏิบัติทั้งสิ้น ทั้งนี้ ด้วยหวังในสิริมงคล โชคลาภ และความสำเร็จจากราชกิจ

การมีฐานะเช่นนี้ในด้านหนึ่งจึงเท่ากับกษัตริย์หรือตี้เป็นผู้รับมอบอำนาจมาจากสวรรค์อีกทอดหนึ่ง ซึ่งต่อไปจะได้กลายเป็นหลักคิดพื้นฐานเกี่ยวกับสวรรค์ให้แก่ราชวงศ์หลังๆ เช่นกัน

 

ต่อมาคือ ราชวงศ์โจว ซึ่งมาแทนที่ซางก็ได้สืบทอดหลักคิดดังกล่าว โดยโจวยังคงกล่าวอ้างเช่นเดียวกับซางในเรื่องของเทพผู้สูงสุด แต่ที่เปลี่ยนไปก็คือ คำกล่าวอ้างของโจวได้ใช้รูปคำที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น นั่นคือคำว่า อาณัติแห่งสวรรค์ (เทียนมิ่ง, Mandate of Heaven)

คำนี้ได้ปรากฏในคำประกาศของกษัตริย์ราชวงศ์โจวพระองค์หนึ่งก่อนที่จะปราบกบฏใหญ่ คำประกาศนี้ได้กล่าวอ้างว่า ตนหาได้ท้าทายต่อเทพผู้สูงสุดไม่ แต่ด้วยเหตุที่สวรรค์ได้เกื้อกูลรัฐเล็กๆ อย่างโจวให้เติบใหญ่ขึ้นมานั้น เท่ากับว่ากษัตริย์โจวเป็นผู้ได้รับอาณัติจากสวรรค์ และสวรรค์ย่อมต้องช่วยเหลือราษฎรด้วย

จากนั้นกษัตริย์พระองค์นี้ก็เปล่งถ้อยคำว่า “อูฮู…สวรรค์อันเจิดจ้าน่าเกรงขามนี้จักช่วยเราในการก่อร่างสร้างตัวครั้งใหญ่” (1)

แม้คำประกาศนี้จะระบุถึงเทพผู้สูงสุดก็ตาม แต่ที่ระบุมากกว่าคือสวรรค์ และเป็นสวรรค์ผู้ทรงอำนาจสูงสุดในอันที่จะมอบอาณัติแห่งอำนาจนั้นให้แก่ผู้ใดก็ได้

และในที่นี้ผู้ที่ได้รับมอบอาณัติก็คือ ราชวงศ์โจว

———————————————————————–
(1) คำว่า อูฮู (uhu) ที่อยู่หน้าประโยคดังกล่าวเป็นคำอุทานของจีน คำอุทานนี้อาจเป็นความรู้สึกเชิงบวก (ยินดี) หรือเชิงลบ (เสียใจ) ก็ได้ อาจเปรียบได้กับคำอุทานของไทยเราว่า โอ้โห หรือ อู้หู คำอุทานนี้มักปรากฏในงานเขียนของจีนในสมัยโบราณ ปัจจุบันไม่นิยมใช้กันแล้ว