หลังเลนส์ในดงลึก ปริญญากร วรวรรณ / “สบู่ ไข่ไก่ และ มะขามเปียก”

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

“สบู่ ไข่ไก่ และ มะขามเปียก”

ผมรู้สึกบ่อยๆ ว่า ตัวเองไม่เหมาะกับ “เมือง”

ใช่ว่าจะอยากหลบลี้หนีหน้าคน หรือปฏิเสธความเจริญก้าวหน้า อะไรทำนองนั้น

แต่เพราะสิ่งที่ทำมาร่วม 30 ปีนั่นทำให้เวลาของชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในที่ห่างไกลเมือง

ทุกครั้งที่มีความจำเป็นต้องเข้ามาในเมือง หรือศูนย์การค้าใหญ่โตมหึมา สินค้าหรูๆ

ผมเดินไปอย่างค่อนข้างขัดเขิน

มีเรื่องแปลกแต่จริงอย่างหนึ่ง ในประเทศเรา คือ อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ดีๆ รวมทั้งเสื้อผ้า รองเท้า ซึ่งพัฒนาสำหรับการใช้ในป่า สมบุกสมบัน ได้รับการออกแบบทั้งรูปทรงและวัสดุ กันน้ำ แห้งเร็ว และอื่นๆ เหล่านี้มักขายอยู่ในร้านตามห้างหรู

เสื้อผ้า รองเท้า เปลนอน เต็นท์ ที่รองนอน ถุงนอน เสื้อกันฝน เสื้อกันหนาวที่พัฒนาสำหรับการใช้ชีวิตกลางแจ้งทุกวันนี้ ช่วยให้การอยู่ในป่าสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น

ผมนึกถึงยุคแรกๆ ต้องแบกถุงนอนใหญ่ๆ อันเดียวก็เต็มเข่ง จะปุ๊ ขึ้นดอยม่อนจอง และก็ไม่ได้ช่วยให้อุ่นเลย ในค่ำคืนที่อุณหภูมิลดต่ำกว่า 5 องศาเซลเชียส

เต็นท์ที่หากไม่ระวัง เอามือหรือส่วนใดของร่างกายไปโดน จะเปียกทันที

ขนอุปกรณ์ขึ้นดอย กระทั่งจะปุ๊ คู่หูชาวมูเซอ ยืนส่ายหน้าและถามว่า “ผมจะมีชีวิตอยู่ได้ไหมถ้าไม่มีของพวกนี้”

คำถามนั้น ทำให้ผมออกจากเต็นท์มานอนข้างกองไฟ ถึงวันนี้ ผมยังนึกถึงช่วงเวลานั้นบ่อยๆ

ขณะนอนในถุงนอน ที่พับเก็บแล้วเหลือขนาดเล็กๆ

แต่อบอุ่น แม้ว่าอุณหภูมิในป่าทุ่งใหญ่นเรศวรช่วงฤดูหนาวบางคืนไม่ถึง 10 องศาเซลเชียส

เดินอยู่ในห้างหรู ผมรู้ตัวว่าไม่เหมาะ

ขณะอยู่ในป่า ใช่ว่าผมจะคล่องแคล่วมากมายนัก

และจะกลายเป็นเงอะงะไปเลย เมื่อเทียบกับ อดิเทพ คู่หูชาวกะเหรี่ยง รวมทั้งเพื่อนๆ ที่ทำงานอยู่ตามหน่วยพิทักษ์ป่า

ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก

ปลายเดือนกันยายน พ.ศ.2560

สายฝนตกอย่างต่อเนื่อง ป่าเขียวชอุ่ม ระดับน้ำในลำห้วยข้างหน่วยเซซาโว่ หรือที่เรียกอย่างเป็นทางการว่า หน่วยลูกไม้แดง มีระดับเพิ่ม ไหลแรง ส่งเสียงดัง น้ำสูงเกือบท่วมตะเคียนต้นใหญ่ที่ล้มนอนขวางห้วยนี้ร่วม 20 ปี

ข้างห้วย คือครัวเล็กๆ ที่นี่คือที่ชุมนุม เพราะมีทีวีจอกว้าง 10 นิ้ว ซึ่งมักเปิดอยู่ในช่องที่มีมิวสิกวิดีโอตลอดวัน

หน่วยนี้ใช้พลังงานไฟฟ้าจากแรงน้ำปั่นมอเตอร์ ในเวลาที่ฝนตกอย่างนี้ กระแสไฟเดินไม่สม่ำเสมอเพราะมักมีเศษไม้ ใบไม้ ตกลงไปขวาง ต้องมีคนเดินไปตรวจสอบ

ฝนหยุดตกตั้งแต่บ่าย คืนข้างขึ้น 11 ค่ำ จึงเห็นดวงจันทร์โผล่พ้นเมฆดำ

แคร่ไม้ไผ่ริมน้ำมีกองไฟตรงกลาง เหนือกองไฟมีกาต้มน้ำดำๆ ต้มสมุนไพรหลายชนิด

เราดื่มน้ำสีชาขุ่นๆ นี้เพิ่มความอบอุ่นกับร่างกาย

ข้างกองไฟ มีผมนั่งอยู่กับเจ้าหมอก แมวตัวผู้สีตุ่นๆ ซึ่งนอนขดตัวอยู่ใกล้ๆ

ความคึกคักอยู่ในครัว นอกจากควันโขมง มีเสียงตำเป็นจังหวะ ผู้ชายหลายคนกำลังคร่ำเคร่งอยู่กับการเตรียมเสบียง ตำพริกแกง พรุ่งนี้พวกเขาจะออกเดินลาดตระเวนราว 7 วัน

นอกจากอุปกรณ์เครื่องใช้ส่วนตัว เปล ฟลายชีต อาวุธ

ข้าวสารถูกแบ่งใส่ถุง ของแห้ง บะหมี่สำเร็จรูป ปลากระป๋อง แยกไว้เป็นกองๆ กองละเท่าๆ กัน เพื่อแบ่งใส่เป้แต่ละคน

ข้าวสารสำคัญ สำคัญกว่า และขาดไม่ได้เลยคือ พริกแกง

หลายครั้งมีคนลืม แม้ว่าจะเดินไปเป็นวันแล้วก็ต้องกลับมาเอา

พริกแกง ช่วยเพิ่มรส ไม่ว่าจะเป็นบะหมี่ ปลากระป๋อง หรือน้ำพริกจิ้มผักต่างๆ ที่หาได้

นอกจากพริกแกง เสบียงสำคัญที่ต้องมีติดเป้ และไม่ควรลืมคือ มะขามเปียก

เดือนพฤศจิกายนปีก่อน

ผมพบกับทีมสำรวจประชากรเสือโคร่ง จากสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ

การสำรวจประชากรเสือโคร่ง ในป่าทุ่งใหญ่นเรศวร และป่าห้วยขาแข้ง ทำอย่างเป็นระบบติดต่อกันมาหลายปี

สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย ร่วมมือกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ในการเก็บข้อมูลนี้ นอกเหนือจากดูแลปกป้องแหล่งอาศัยของสัตว์ป่า ในผืนป่าด้านตะวันตกโดยใช้ระบบการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (SMART PATROL) เป็นเครื่องมือ

“เราได้กล้องเพิ่มขึ้นครับปีนี้ เลยตั้งพร้อมกันทั้งฝั่งนี้และฝั่งตะวันออก” เกริกพล หัวหน้าชุดให้ข้อมูล

การศึกษาเรื่องเสือโคร่ง ทำอย่างลึกซึ้งและละเอียดมากขึ้น นอกจากเพิ่มพื้นที่ในป่าห้วยขาแข้ง พวกเขาจับเสือโคร่งในป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออกด้วย

“เราได้ข้อมูลว่า เสือเดินไปทุ่งใหญ่ บางตัวทะลุไปถึงเขตประเทศพม่าเลยครับ” สมโภชน์ ดวงจันทราศิริ หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ เล่าให้ฟัง

ผืนป่ารอบๆ ป่าห้วยขาแข้ง มีความสำคัญ

“ห้วยขาแข้งเปรียบเสมือนแหล่งเพาะพันธุ์ ผืนป่ารอบๆ ทั้งทุ่งใหญ่ แม่วงก์ คลองลาน คือพื้นที่รองรับที่เสือจะไปอยู่นะครับ”

สมโภชน์ บอก

เกริกพล นำทีมมาพร้อมกับคนและรถสองคัน คันหนึ่งคือ “ป้าหมี” คู่ทุกข์คู่ยาก และ “ท่านแก่” รถคันแรกของสถานี ที่ได้รับการบูรณะใหม่

“เครื่องแรง บุกได้ดี แต่มีปัญหาจุกจิกนิดหน่อยครับ” เกริกพล พูดถึงท่านแก่ รถซึ่งมีประวัติโชกโชน ลุยกับหัวหน้าตั้งแต่ครั้งตั้งสถานีใหม่ๆ

วันนั้น พวกเขาจะออกไปซื้อเสบียง พร้อมกับผมที่จะออกไปที่สำนักงานเขต

“หม้อน้ำท่านแก่รั่วตั้งแต่เมื่อวานครับ จะเอาออกไปซ่อม” นิคม จะเป็นผู้ขับ เขาทำหน้าที่แทนน้าหมุด พ่อเขาที่ไม่ได้มา

ตั้งแต่เช้า ชัยพร หัวหน้าหน่วยลูกไม้แดง เปิดฝากระโปรงรถ เขาจะออกไปที่เขต เพื่อประชุมลาดตระเวนประจำเดือน

“ใครมีสบู่ก้อนๆ เอามาให้หน่อย” ชัยพร ใช้สบู่ถูๆ หม้อน้ำอุดจุดที่รั่ว

“ไอ้บอลเอาไข่ไก่ในครัวมาฟองนึง” ตอกไข่ใส่หม้อน้ำก็เป็นอีกวิธี

“มะขามเปียกด้วยนะโว้ยเอามาเยอะๆ” ชัยพรสั่ง เขาเอามะขามเปียกมาทาๆ หม้อน้ำช่วยอุดรูรั่ว

ผมยืนดูทักษะของคนในป่า

ผมแน่ใจว่า เก่งๆ แบบนี้ ถ้าไปเดินอยู่ในเมือง นอกจากจะเงอะงะ บางคนอาจถึงขั้นมือเปียกชื้น

เช่นเดียวกับ มัสบูด หะแว แห่งหมู่บ้านตาเปาะ ผู้เชี่ยวชาญการขึ้นต้นไม้ และเดินป่า ตามหานกเงือกบนเทือกเขาบูโด

ที่เหงื่อออกชุ่มมือ ตอนเราเดินข้ามถนนในกรุงเทพฯ

คราวนั้น เราใช้เวลาวันครึ่ง เดินทางถึงเขต หยุดดูน้ำและใช้มะขามเปียกอุดหม้อน้ำเป็นระยะๆ

ในเมือง สิ่งเล็กน้อยเหล่านี้ดูจะไม่สำคัญนัก

สบู่ใช้ทำความสะอาดร่างกาย

ไข่ไก่เป็นอาหาร

มะขามเปียกเป็นเพียงเครื่องประกอบ

ในเป้ หรือกล่องเสบียงเราไม่เคยขาดมะขามเปียก

สำหรับเรา มันไม่ใช่เพียงส่วนประกอบของอาหาร

เสียงตำในครัวเงียบลง พวกเขาเสร็จจากการเตรียมเสบียงเพื่อเดินป่าแล้ว

ผมขยับฟืน เปลวไฟลุก ลูกไฟแตกกระจาย เจ้าหมอกขยับตัวหลบ

ดวงจันทร์โดนเมฆดำบดบัง สายลมเย็นพัด อากาศเย็นราวกับช่วงฤดูหนาว

ผมแหงนหน้าดูดวงจันทร์ เห็นเพียงเมฆดำทะมึน

มองไม่เห็น

แต่รู้ว่าหลังเมฆดำนั่น มีดวงจันทร์ทอแสงนวล