เดดไลน์/ชกคาดเชือก วงค์ ตาวัน

วงค์ ตาวัน

ชกคาดเชือก

วงค์ ตาวัน

 

เดดไลน์

 

ใครจะนึกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้นำกองทัพที่ยึดอำนาจเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 โดยมีเครือข่ายอนุรักษนิยมการเมืองหนุนหลัง ขุนศึกขุนนางเป็นฐานสนับสนุน และเป็นผู้นำรัฐประหาร ที่มากด้วยความมั่นใจ ก้าวขึ้นเป็นผู้นำรัฐบาลเอง โดยได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2557

แล้ววันที่ 24 สิงหาคมนี่แหละ ที่กำลังเป็นเส้นตายทางการเมืองที่ร้อนระอุในขณะนี้

ด้วยผลจากการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 มาตรา 158 ที่ห้ามมิให้นายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปี

มีคำอธิบายจากหลายฝ่ายที่บ่งชี้ว่า ต้องนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 เท่ากับว่าจะครบตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ในเวลาเที่ยงคืน วันที่ 23 สิงหาคม 2565 นี้

นี่จึงเป็นเส้นตายทางการเมือง ที่กำลังรอลุ้นกันว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะชี้ออกมาเช่นไร หรือ พล.อ.ประยุทธ์จะตัดสินใจหาทางออกทางอื่นก่อนถึงเส้นตายนี้!?

เช่น ประกาศลาออก ขอวางมือทางการเมือง แต่ทางออกนี้น่าจะเป็นไปได้ยากยิ่งสำหรับ พล.อ.ประยุทธ์

นอกจากนี้ก็มีหนทางยุบสภา ก่อนถึงวันเดดไลน์ เพื่อจะได้ทำหน้าที่รักษาการต่อไป อย่างน้อยก็เพื่อได้ทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพเวทีเอเปคตามที่ใฝ่ฝัน

หรืออาจจะมั่นอกมั่นใจในฐานอำนาจ ในเครือข่ายอนุรักษนิยมการเมือง ตัดสินใจเดินหน้ารอฟังคำชี้ขาดจากศาลรัฐธรรมนูญ จึงได้ไม่หาทางออกอื่นก่อนถึง 24 สิงหาคม

อันที่จริงประเด็นการนับระยะเวลา 8 ปีการเป็นนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์นั้น กล่าวขวัญกันมานานพอสมควรแล้ว แต่ไม่เป็นที่น่าตื่นเต้นอะไรนัก เมื่อมองในแง่ที่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่เคยกระทำผิดเลย ไม่ว่าจะพลาดอะไรเรื่องไหน สุดท้ายก็จะได้รับการชี้ว่าไม่เป็นอะไร

เพราะเชื่อว่า มือที่โอบอุ้ม พล.อ.ประยุทธ์จะช่วยให้พ้นผิดได้ทุกครั้ง

แต่เมื่อมีการเปิดเอกสารบันทึกการประชุมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน กรธ. ซึ่งก็คือผู้ร่างรัฐธรรมนูญที่ใช้ในปัจจุบัน โดยหารือกันถึงบทบัญญัติในมาตรา 158 กรณีการนับเวลา 8 ปีของนายกฯ โดยมีการถามในที่ประชุมว่า ผู้ที่เป็นนายกฯ อยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้บังคับ สามารถนับรวมระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ ดังกล่าว เข้ากับวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่

นายสุพจน์ ไข่มุกด์ รองประธานกรรมการคนที่หนึ่ง กล่าวว่า ควรนับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าว รวมเข้ากับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ด้วย

นายมีชัยเองยังกล่าวย้ำว่า เมื่อพิจารณาบทเฉพาะกาลในมาตรา 264 ที่ว่า ให้คณะรัฐมนตรีบริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ แสดงให้เห็นว่าแม้จะดำรงตำแหน่งนายกฯ อยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ก็สามารถนับรวมระยะเวลาดังกล่าว รวมกับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ ซึ่งเป็นการนับรวมระยะเวลาต้องไม่เกิน 8 ปี

บันทึกฉบับนี้เป็นการเปิดเผยถึงเจตนารมณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ในกรณีการนับระยะเวลา 8 ปีอย่างชัดเจน จึงทำให้กระแส 8 ปีของประยุทธ์เริ่มร้อนแรง

 

ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนถึงเส้นตาย 24 สิงหาคม ได้มีจดหมายเปิดผนึกของ 51 อาจารย์นิติศาสตร์ จาก 15 มหาวิทยาลัย เขียนถึงศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อแสดงความเห็นทางข้อกฎหมายต่อกรณีการนับเวลา 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์

ได้หยิบยกบทเฉพาะกาล มาตรา 264 มายืนยันว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 โดยเป็นมาก่อนที่รัฐธรรมนูญจะประกาศบังคับใช้ เท่ากับว่าต้องนับตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 แน่นอน

จดหมายของ 51 อาจารย์นิติศาสตร์ยังได้โต้แย้งความพยายามของฝ่ายสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ที่อ้างอิงถึงการใช้กฎหมายย้อนหลังเป็นโทษแก่บุคคลเป็นสิ่งที่ไม่อาจทำได้ เพื่อโยงให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 ดังนั้น จะไปมีผลย้อนหลังถึง 24 สิงหาคม 2557 ไม่ได้ จึงต้องเริ่มนับเวลาของ พล.อ.ประยุทธ์ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 นั่นเอง

ประเด็นนี้ 51 อาจารย์อธิบายว่า การใช้กฎหมายย้อนหลังเป็นโทษแก่บุคคลไม่อาจทำได้นั้น เป็นหลักการที่ถูกต้องถ้าเป็นเรื่องสิทธิและเสรีภาพของประชาชน แต่รัฐธรรมนูญมาตรา 158 ที่ห้ามมิให้นายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งรวมกันเกินกว่า 8 ปีนั้น เป็นเรื่องการควบคุมและการจำกัดอำนาจ ซึ่งการตีความจะตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง

นั่นคือหากเป็นเรื่องอำนาจ การตีความจะมุ่งควบคุมŽ ขณะที่ถ้าเป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพ การตีความจะมุ่งคุ้มครองŽ และเพื่อที่จะคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน จะต้องมีการควบคุมและจำกัดอำนาจรัฐบาล

นอกจากนี้เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 158 วรรคสี่นั้น ผู้ร่างรัฐธรรมนูญคือคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้ระบุไว้ว่า การกำหนดระยะเวลาแปดปีไว้ก็เพื่อมิให้เกิดการผูกขาดอำนาจในทางการเมืองยาวเกินไปอันจะเป็นต้นเหตุเกิดวิกฤตทางการเมืองได้Ž

ดังนั้น การตีความในเรื่องการห้ามมิให้นายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปี ซึ่งเป็นเรื่องการควบคุมนายกรัฐมนตรีไม่ให้อยู่ในอำนาจนานเกินไปจนเกิดการผูกขาดอำนาจในทางการเมืองŽ จึงต้องตีความในทางควบคุมอำนาจ

นั่นคือต้องเป็นไปตามบทบัญญัติที่เขียนไว้โดยเคร่งครัด ดังนั้น เมื่อรัฐธรรมนูญบัญญัติให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ไม่เกิน 8 ปี และไม่ได้ยกเว้นให้กับนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งมาก่อนวันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ ก็ต้องเป็นไปตามนั้น นั่นคือต้องนำระยะเวลาดำรงตำแหน่งก่อนรัฐธรรมนูญประกาศใช้รวมเข้าไปด้วย

จดหมายเปิดผนึกดังกล่าวยังอธิบายข้อกฎหมายในอีกหลายมุม เพื่อยืนยันว่าเวลาของ พล.อ.ประยุทธ์จะต้องหมดลงในวันที่ 24 สิงหาคมนี้

ที่น่าสนใจก็คือ การที่ฝ่ายประยุทธ์อ้างอิงประเด็นกฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง ได้รับการโต้แย้งอย่างหนักแน่นจาก 51 อาจารย์นิติศาสตร์ ว่าไม่ควรใช้กฎหมายย้อนหลังนั้นก็เพื่อการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน แต่ตรงกันข้ามถ้าเป็นการควบคุมและการจำกัดอำนาจของรัฐบาลสามารถใช้ย้อนหลังได้

ระหว่างคุ้มครองกับควบคุม มีความหมายสำคัญอย่างมาก!

 

สถานการณ์การเมืองจึงดำเนินมาถึงห้วงระทึกอีกครั้ง โดยมีวันเดดไลน์หลังเที่ยงคืน 23 สิงหาคมจนถึงวันที่ 24 สิงหาคมนี้แหละ ที่จะร้อนระอุอย่างมาก เป็นเส้นตายที่ พล.อ.ประยุทธ์จะต้องพิจารณาให้รอบคอบว่าจะยอมหยุด จะยอมหาทางออกอื่น หรือจะเดินหน้าฝ่าวันเดดไลน์ เพราะความเชื่อมั่นในฐานสนับสนุน

ทั้งนี้ จากเดิมไม่มีความคาดหวังว่าใครจะทำอะไร พล.อ.ประยุทธ์ได้

แต่พอมีบันทึกการประชุมของนายมีชัยและนายสุพจน์ ซึ่งเปิดเจตนารมณ์ของคนเขียนรัฐธรรมนูญมัดแน่น พอมีจดหมายเปิดผนึกจาก 51 อาจารย์นิติศาสตร์ ที่อธิบายข้อกฎหมายทุกมุม เพื่อปิดประตูปิดช่องออกอย่างครบถ้วน ทำให้สถานการณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์เริ่มแปรเปลี่ยน

จนเกิดกระแสยุบสภาก่อนวันเดดไลน์ เพื่อชิงหาทางออกให้ตัวเองรักษาการนายกฯ ต่อไป

ไปจนถึงเกิดประเด็นทางออกอื่นๆ

ขณะเดียวกัน พรรคการเมืองฝ่ายค้านที่ได้ยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญไปแล้ว เพื่อให้ชี้ขาดการนับระยะเวลา 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมกับได้ยื่นบันทึกการประชุมของนายมีชัยและนายสุพจน์แนบไปด้วย

ในคำร้องนั้นยังได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์พักงานก่อนวันที่ 24 สิงหาคม ในระหว่างการพิจารณาคำร้อง

เพราะหากปล่อยให้เลยวันที่ 24 สิงหาคม แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ยังทำหน้าที่ตามปกติ อาจจะเกิดปัญหาทางกฎหมายตามมามากมายได้

การเมืองเรื่องอายุเก้าอี้นายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์จึงเป็นประเด็นใหญ่ในวันนี้ เป็นที่ถกเถียงและติดตามของประชาชนกันทั้งประเทศ

อีกทั้งดูเหมือนสถานการณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ในเรื่องนี้ไม่ง่ายดายสดใสราบรื่นเหมือนที่ผ่านมาสักเท่าไร!!