‘นรอัปลักษณ์’ ‘ใบหน้า’ ใหญ่กว่าหลักการ?/เหยี่ยวถลาลม

เหยี่ยวถลาลม

 

‘นรอัปลักษณ์’

‘ใบหน้า’ ใหญ่กว่าหลักการ?

 

จะว่าไป สังคมไทยก็เหมือนชุมชนเล็กๆ ที่ผู้คนรู้จักมักคุ้นรู้อุปนิสัยใจคอกันดี

ผู้นำทางความคิด ผู้นำทางสังคม หรือถ้าจะเรียกรวมว่า “ชนชั้นนำ” ก็มีกันอยู่แค่หยิบมือ

หากกล่าวถึง “กลุ่มการเมือง” ด้วยแล้ว ยิ่งอยู่ในวงจำกัด แม้จะมีพรรคการเมืองและนักการเมือง จำนวนหนึ่งดูไปก็คล้ายไม้ประดับเพราะส่วนมาก “จำนน” อยู่ใต้อิทธิพลข้าราชการ

กล่าวได้ว่าเกือบ 100 ปีมานี้ ทุกระบบในสังคมไทยคุ้นชินกับการอยู่ในโอวาทของ “ปากกระบอกปืน” แต่ไม่คุ้นเคยกับความขัดแย้ง มักจะมองเห็นความแตกต่างทางความคิดเป็นความวุ่นวาย ยุ่งเหยิง ไม่สงบ “ทหารการเมือง” จำนวนหนึ่งจึงฉวยโอกาสอ้าง “ความสงบเรียบร้อย” หรืออ้าง “ความมั่นคง” ก่อการรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ ล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเฉลี่ยทุกๆ 6-7 ปี

แม้กฎหมายอาญาจะบัญญัติโทษการใช้กำลังอาวุธล้มล้างการปกครองเอาไว้รุนแรงถึงขั้น “ประหารชีวิต” หรือ “จำคุกตลอดชีวิต” ก็หายำเกรงไม่

ที่อาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ กล่าวว่า ประยุทธ์ไม่ควรเป็นนายกรัฐมนตรีตั้งแต่วินาทีแรกนั้นนับว่าถูกต้อง การถกเถียงเรื่องระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ “ประยุทธ์” เกิน 8 ปีจึงสะท้อนความผิดเพี้ยนในสังคมไทย

และยิ่งเพี้ยนหนักเข้าไปอีกเมื่อคนซึ่งได้ชื่อว่าเป็น “นักกฎหมาย” ออกมาอ้างเหตุผลข้างๆ คูๆ สนับสนุนให้ “ประยุทธ์” เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปจนถึงปี 2570

 

ที่ผ่านมา การเมืองไทยเละเทะด้วยมือของคน 3 จำพวก

หนึ่ง ทหารการเมือง สอง นักกฎหมายศรีธนญชัย และสาม นักการเมืองประเภทไม้ประดับในแจกันของทหารการเมือง

ถ้าหากเป็นคดีความ “คดีประยุทธ์” กับพวกที่ถูกเรียกว่า “3 ป.” ไม่มีความสลับซับซ้อนอันใด

เอาละ ถึงไหนก็ล่วงเลยมาถึงวันนี้แล้ว “โทษ” ที่เป็นข้าราชการแล้วชักชวนพรรคพวกพร้อมอาวุธเข้าล้มล้างการปกครองเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 นั้น “วางเอาไว้ก่อน” ก็ได้

มาพิจารณากันว่า ที่รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ บัญญัติว่า “นายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งรวมกันเกิน 8 ปีไม่ได้” นั้น

เป็นหลักที่ต้องใช้กับ “ทุกคน” อย่างไม่มีข้อยกเว้น หรือว่าต้องดูที่ “ใบหน้าคน”!

 

เหตุที่มาตรา 158 วรรคสี่ รัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติเอาไว้อย่างนั้น ปรากฏชัดแจ้งในคำอธิบายประกอบรัฐธรรมนูญ รายมาตราว่า การกำหนด “หลักการใหม่” เกี่ยวกับ “การนับระยะเวลา” การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนี้ก็เพื่อ “ให้เกิดความชัดเจนในการนับระยะเวลา”

ย้ำอีกทีว่า “เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการนับระยะเวลา”!

บทบัญญัตินี้จึงไม่ได้เขียนขึ้นเพื่อให้ “ตีความ” แต่บัญญัติชัดเจนเพื่อ “ตีกรอบ”

แม้ “บุคคลดังกล่าว” จะมิได้ดำรงตำแหน่งติดต่อกัน แต่หากรวมระยะเวลาทั้งหมดที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ “บุคคลดังกล่าว” แล้วเกิน 8 ปี “ก็ต้องห้าม”

ห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปอีก!

“ที่กำหนดเวลา 8 ปีก็เพื่อมิให้เกิดการผูกขาดอำนาจในทางการเมืองยาวนานเกินไป อันจะเป็นเหตุเกิดวิกฤตทางการเมืองได้”

มีตรงไหนที่ไม่ชัด

มีตรงไหนที่ “เอาสีข้างเข้าถู” แล้วสามารถเปลี่ยน “เจตนารมณ์” ของกฎหมายเพื่อสนองความต้องการอยู่ในอำนาจของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง

คำอธิบายประกอบรัฐธรรมนูญรายมาตรานี้สะท้อน “เจตนารมณ์” ของกฎหมายที่มุ่ง “ป้องกันการผูกขาดอำนาจทางการเมือง” กับมุ่ง “ป้องกันมิให้เกิดวิกฤตทางการเมือง”

คำอธิบายประกอบนี้อุตส่าห์บอกวิธีนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งเพื่อให้เกิด “ความชัดเจน” ในการนับระยะเวลา

แต่ถึงกระนั้นก็ยังคงมีความพยายามคิดหา “คำอธิบายใหม่”

 

“ชาติชาย ณ เชียงใหม่” อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เป็นคนหนึ่งที่พยายามจะอธิบาย ดังเช่นที่กล่าวว่า มีคนถามเหมือนกัน (ไม่รู้ใครถาม) ว่าจะยุติธรรมกับ พล.อ.ประยุทธ์หรือเพราะที่เป็นนายกฯ เมื่อปี 2557 นั้นเป็นรัฏฐาธิปัตย์ตั้งแต่รัฐธรรมนูญยังไม่เกิด แต่เขียนกฎหมายย้อนหลังให้มีผลเป็นโทษ

ไม่มีใครสักคนที่จะตั้งคำถามว่า การใช้กำลังทหารและอาวุธของกองทัพก่อการยึดอำนาจ ล้มล้างการปกครองและฉีกทำลายรัฐธรรมนูญนั้นทำไมไม่ถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

ไม่มีใครทวงถาม “ความยุติธรรม” ให้กับปวงชนชาวไทยผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย!

คำถามที่ว่า การนับเวลาดำรงตำแหน่งนายกฯ ของประยุทธ์ “ย้อนหลัง” เป็นโทษ-ทำได้หรือไม่ “นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ” รองหัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย ยกตัวอย่างให้ความกระจ่างว่า ตอนที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณี “ส.ส.สิระ เจนจาคะ” ที่ได้รับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560 นั้น รัฐธรรมนูญบัญญัติว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องไม่เคยถูกศาลพิพากษาจำคุกในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์

ส.ส.สิระ ทำผิดตั้งแต่ปี 2538 ก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 ถึง 22 ปี แต่ศาลรัฐธรรมนูญ “ย้อนหลัง” สั่งตัดสิทธิ์ไปถึงการกระทำผิดเมื่อปี 2538

การย้อนหลังนั้นเป็นเรื่อง “สิทธิทางการเมือง” ไม่ใช่โทษทางอาญา อย่าได้เอาไปปะปนเหมารวมชวนให้ผู้คนสับสน แต่การตีความจาก “ตัวอักษร” หรือวินิจฉัยคำกันเป็นวรรคเป็นประโยคอย่างยอกย้อนนั้นคือการทำลาย “เจตนารมณ์” หรือ “คุณธรรม” ที่บทบัญญัติของกฎหมายประสงค์จะ “คุ้มครอง”

 

จะว่าไปแล้วการถกกันเรื่อง 8 ปี ของผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้นไม่มีอะไรที่ซับซ้อนและสับสน แต่ “ความอยาก” ทำให้ไม่ต้องมียางอาย

หลายคนที่โผล่ออกมาอวดมุมมองส่งเสริมให้ประยุทธ์ไปต่อถึงปี 2570 จึงล้วนแต่ “หน้าเดิมๆ” ทั้งๆ ที่จอมขมังเวทย์ทางกฎหมายอย่าง “วิษณุ เครืองาม” ก็ยังยอมรับสภาพ กล่าวว่า รัฐบาลนี้ไม่ใช่คณะรัฐมนตรีที่รักษาการ แต่เป็นคณะรัฐมนตรีที่จะปฏิบัติหน้าที่ไปจนถึง ครม.ชุดใหม่มาปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้น จึงเป็นรัฐบาลที่มีอำนาจเต็ม

ประยุทธ์หมดเวลา!

ที่สังคมไทยควรจะตั้งคำถามกันอย่างจริงจังคือ ทำไมการใช้กำลังทหารและอาวุธของกองทัพเข้าก่อการยึดอำนาจ ล้มล้างการปกครอง ฉีกทำลายรัฐธรรมนูญ ในประเทศของเราจึงไม่ถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

ใช่หรือไม่ว่า ทุกระบบที่เป็น “เสาหลัก” ของประเทศควร “ทำหน้าที่” ให้ความยุติธรรมกับปวงชนชาวไทยผู้ซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยและเงินภาษีอากร!?!!