เวทีไทย : มิตินอก มิติใน/โลกทรรศน์ อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

โลกทรรศน์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

 

เวทีไทย

: มิตินอก มิติใน

 

Keith Zhai นักข่าวจาก Wall Street Journal รายงานว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนมีแผนจะเดินทางเยือนอินโดนีเซียและไทยปลายปีนี้ หลังจากไม่ได้เดินทางเยือนต่างประเทศมานานกว่า 3 ปี1

แค่นี้ก็ว่าน่าสนใจมากแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่า ผู้นำชาติไหนจะอ้างความสำคัญของตัวเองจนใช่เหตุ เพื่ออยู่เป็นเจ้าภาพงานประชุมแล้วได้พบกับผู้นำจีน

หากแต่มีสาระสำคัญที่นักข่าวท่านนี้นำเสนอต่อมาคือ นักข่าวสอบถามไปที่สถานทูตจีนประจำกรุงวอชิงตันเรื่องการเดินทางของผู้นำจีน เจ้าหน้าที่ทูตจีนเขาได้ความเห็นน่าสนใจว่า

“…จีนสนับสนุนอินโดนีเซียและไทย ในฐานะเจ้าภาพการประชุมทั้งสอง และเต็มใจที่จะทำงานร่วมกันกับทุกฝ่ายเพื่อส่งเสริมให้การประชุม เกิดผลเชิงบวก…”2

หมายความว่า การเดินทางของผู้นำจีนมาอินโดนีเซียและไทยสัมพันธ์กับปัญหาของโลก โรคระบาดโควิด-19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครน แล้วผู้นำจีนยังเดินทางมาเพื่อยกระดับการจัดการวิกฤตการณ์ไต้หวัน เพื่อผลประโยชน์จีนอย่างสำคัญ แล้วแผนงานด้านความมั่นคงอย่างเป็นระบบและสนองตอบความต้องการของจีนที่ทันต่อสถานการณ์ก็อุบัติขึ้น ด้วยการจัดการซ้อมรบทางอากาศจีน-ไทย วันที่ 14-24 สิงหาคมนี้

 

มิตินอก

กระทรวงกลาโหมจีนแถลงชัดเจนถึง จุดมุ่งหมายของการซ้อมรบทางอากาศ วันที่ 14 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า

‘…เพื่อเพิ่มความไว้วางใจ และสร้างมิตรภาพระหว่างกองทัพอากาศของทั้ง 2 ประเทศ กระฉับความร่วมมือของการปฏิบัติและส่งเสริมการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของหุ้นส่วนความร่วมมือทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านระหว่างจีน-ไทย…’

การจัดการซ้อมรบระหว่างกองทัพอากาศทั้ง 2 ฝ่าย ได้มีความเห็นร่วมกันที่จะจัดการซ้อมรบครั้งใหม่ ในรหัส “Falcon Strike 2022” ที่ฐานทัพอากาศไทย จ.อุดรธานี ในวันที่ 14 สิงหาคม และเป็นการซ้อมรบครั้งที่ 5 นับตั้งแต่การซ้อมรบดังกล่าวเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2015 (2558)

ในแง่มิตินอกนี้มีความน่าสนใจดังนี้

อุปกรณ์ซ้อมรบ จีนได้นำเครื่องบินขับไล่ทิ้งระเบิดแบบ JH-7 A ซึ่งเป็นเครื่องบินรบที่มีพิสัยทำการบิน ประมาณ 1,700 กิโลเมตร ใช้ในการโจมตีเป้าหมายภาคพื้นดิน และเครื่องบินขับไล่แบบ J-10 C/S เรือพิฆาต3 ซึ่งมีพิสัยทำการบินประมาณ 2,500 กิโลเมตร พร้อมด้วยเครื่องบินเตือนภัยทางอากาศแบบ KJ-500 ซึ่งมีพิสัยทำการบินประมาณ 5,700 กิโลเมตร

ส่วนกองทัพอากาศไทยใช้เครื่องบิน Gripen ของสวีเดน แทนที่จะเป็นเครื่องบิน F16 ของสหรัฐอเมริกา4 อีกแหล่งข่าวหนึ่งอ้างว่ากองทัพอากาศไทยจะใช้ Saab JAS-39 และ Alpha Jet ของเยอรมนี5

น่าสนใจ การเลือกอุปกรณ์ของกองทัพอากาศไทย แสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่เครื่องบินของสหรัฐอเมริกาตามข่าวที่อ้างไว้แล้ว เป็นการเอาใจทางการจีนที่กำลังระเบิดสงครามการเมืองระหว่างประเทศกับจีนในกรณีการเดินทางไปเยือนไต้หวัน ของ Nanci Pelosi ประธานสภาผู้แทนราษฎร สหรัฐอเมริกาหรือไม่ ด้วยความเป็นคนนอกและไม่สันทัดกับเทคโนโลยีด้านยุทธปกรณ์ ผู้เขียนจึงไม่แน่ใจเหตุผลของกองทัพไทย

ส่วนฝ่ายจีน นอกจากหยิบยกประเด็นความละเอียดอ่อนของประเด็นไต้หวัน จีนและสหรัฐอเมริกา แล้วกระทรวงกลาโหมจีนได้กล่าวพึงพอใจต่อความร่วมมืออันดีของกองทัพไทย รัฐบาลไทยไปพร้อมกันกับการประกาศเยือนอินโดนีเซียและไทยในลำดับต่อไปของผู้นำสูงสุดจีน

 

การซ้อมรบในการเมืองระหว่างประเทศ

การซ้อมรบในความเห็นคิดของผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง ศาสตราจารย์ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข เห็นว่า6

หนึ่ง การซ้อมรบของจีน เป็นการแสดงให้เห็นถึงขีดความสามารถของกำลังรบทางอากาศของจีนอีกครั้งหนึ่ง และเป็นการแสดงในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พื้นที่ที่เกี่ยวพันกับข้อพิพาทระหว่างประเทศของจีนกับหลายประเทศ ซ้ำยังมาตอกย้ำพื้นที่อ่อนไหวทางการทหารและความมั่นคงเมื่อไต้หวันและช่องแคบไต้หวันลุกเป็นไฟด้วยการซ้อมรบด้วยกระสุนจริง พร้อมการปะทะกันในเวทีทางการทูตชนิดตาต่อตา ฟันต่อฟัน อีกด้วย

สอง การซ้อมรบ ช่วยให้นักบินรบจีนมีความคุ้นเคยกับอากาศ ภูมิประเทศและสภาพแวดล้อมด้านต่างๆ ที่อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันเป็นพื้นที่ความขัดแย้งของปัญหาหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ได้อีกด้วย

 

มิติใน

ลําพังไม่มีวิกฤตการณ์ไต้หวัน การเมืองภายในของไทยก็ยุ่งเหยิงและดูคล้ายมีเสถียรภาพ แต่ไม่สงบ เพราะมีความไม่แน่นอนทางการเมืองสูงทีเดียว การตีความ ไม่ว่าเป็นคุณหรือเป็นโทษต่อการดำรงตำแหน่งวาระนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ครบ 8 ปีเมื่อไหร่กันแน่ ระหว่างแง่มุมทางนิติศาสตร์ ทางรัฐศาสตร์ และผลประโยชน์ของฝ่ายสนับสนุนและต่อต้าน พล.อ.ประยุทธ์ ก่อผลต่อความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในของไทยแน่นอน ไม่มากก็น้อย

ดูเหมือนว่า ด้วยเหตุผลฝ่ายจีนเป็นหลัก แม้วางแผนงานมานานแล้วว่า จะมีการซ้อมรบระหว่างกองทัพอากาศจีนและกองทัพอากาศไทย ที่เมืองไทยเป็นเวลานานถึง 14 วัน การเลือกไม่ใช้เครื่องบินรบ F16 ของสหรัฐอเมริกา ร่วมซ้อมรบครั้งนี้ น่าจะเป็นอะไรที่มากกว่าความลับทางเทคโนโลยีการบิน

แต่เป็นประเด็นไพ่การทูตมากกว่า การไม่ใช้เครื่องบิน F16 เข้าร่วมซ้อมรบครั้งนี้ เป็นไปได้หรือ ที่นายกรัฐมนตรีในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของไทยจะไม่ทราบการตัดสินใจของฝ่ายราชการ โดยที่รัฐมนตรีกลาโหมไม่รับรู้

ที่สำคัญ หากย้อนดูการซ้อมรบทางอากาศจากเอกสารทางการทั้งฝ่ายจีนและฝ่ายไทย ก็จะเห็นได้ว่า เริ่มเมื่อปี ค.ศ.2015 หรือ พ.ศ.2558 นั่นคือ หลังการรัฐประหารพฤษภาคม พ.ศ.2557 ที่หัวหน้าคณะรัฐประหารชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พอดี

ในช่วงนั้น รัฐบาลสหรัฐอเมริกายกเลิกความช่วยเหลือทางทหารที่มีต่อไทยทั้งการส่งเสริมด้านการศึกษา การฝึกผสมร่วมระหว่างเหล่าทัพของสหรัฐอเมริกาและไทย และการขายอาวุธให้กับไทย เรื่องนี้ใหญ่มากสำหรับไทย โดยเฉพาะรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร ที่ผู้นำชาติตะวันตกอย่างสหรัฐอเมริกาตัดความช่วยเหลือทางการทหาร ซึ่งจริงๆ ก็คือ ตัดความสัมพันธ์ทางการเมือง โดยลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตลง

ด้วยช่องว่างอันนี้ ทางการจีนเริ่มเปลี่ยนเป็นขายอาวุธให้ไทย ที่ไม่ใช่ราคามิตรภาพดังแต่ก่อน อย่างไรก็ตาม จีนก็ยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอจะเป็นผู้ผลิตและผู้ขายอาวุธรายใหญ่ให้กับไทย รวมทั้งที่อื่นๆ ในโลก ตลาดอาวุธในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดให้แก่หลายประเทศโดยเฉพาะรัสเซีย ที่เข้าไปมากที่เมียนมา อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม กัมพูชา ลาว และไทยในบางส่วน

และแล้วการแลกเปลี่ยนนักศึกษาทางทหาร การร่วมซ้อมรบ การฝึกผสมระหว่างกองทัพจีนและไทยก็ได้เพิ่มขึ้นจนน่าสังเกตและจับต้องได้ รวมทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ที่มีมูลค่าสูง แต่ก็ยังไม่เท่าเรือดำน้ำจีน (เครื่องยนต์จีน) ที่มีมูลค่าสูงที่สุดของการขายอาวุธจีนในประเทศไทย

ดังนั้น รถไฟจีน-ไทย เรือดำน้ำจีน การซ้อมรบทางอากาศไทย-จีน จึงอยู่ในพลวัตของการเมืองภายในไทย ที่มีอนาคตทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นจุดพลิกผันเลยทีเดียว

1Keith Zhai, “China’s Xi Jinping Plans to meet With Biden in Frist Foreign Trip in Nearly Three Years” Wall Street Journal 12 August 2022, : 1.

2Ibid.,

3Suthichai, tweeter 12 August 2022.

4Wassana Twitter 12 August 2022

5Unrulycat 2511 tweeter 12 August 2022

6สุรชาติ บำรุงสุข “ซ้อมรบจีน ซื้อเครื่องบินอเมริกัน” มติชนออนไลน์ 13 สิงหาคม 2565, 1.