สุดยอดลำโพง จากการทำงาน 50 ปี / เครื่องเสียง : พิพัฒน์ คคะนาท

PSB Speakers’ Passif 50 Standmount Loudspeaker Anniversary Edition

เครื่องเสียง

พิพัฒน์ คคะนาท

[email protected]

 

สุดยอดลำโพง

จากการทำงาน 50 ปี

 

ที่จ่าหัวเอาไว้นั่น หาใช่ผมว่าของผมเองดอกนะครับ แต่เพราะไปสะดุดเข้าจากพาดหัวข่าวของ Forbes สำนักสื่อด้านธุรกิจมะกัน ที่ชอบจัดอันดับคนรวย (หุ้น) ให้ชาวโลกรับรู้นั่นแหละครับ ซึ่งความเต็มๆ ของข่าวพาดหัวที่ว่า บอกทำนอง PSB ได้เปิดตัวลำโพงใหม่ที่เป็นสุดยอดการทำงาน 50 ปี ของผู้ที่ก่อตั้งแบรนด์นี้ขึ้นมา ซึ่งก็คือเจ้าของตัวอักษรสองในสามที่นำมาใช้เป็นชื่อยี่ห้อลำโพง อันได้แก่ Paul Barton หนึ่งในตำนานของยุทธจักรนี้ที่ยังมีลมหายใจ และยังคงมุ่งมั่นรังสรรค์ผลงานใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง

ส่วนอักษรตัวกลาง คือ S นั้น ในแวดวงเป็นที่ทราบกันดีกว่ามาจากชื่อของคุณ Sue คู่ชีวิตคุณพอลเขานั่นเอง

กับช่วงเวลาการทำงานร่วมครึ่งศตวรรษของคุณพอล บาร์ทัน นั้น กล่าวได้ว่าเขาเริ่มต้นก้าวเข้ามาในช่วงที่เป็นยุคทองของวงการเครื่องเสียง ประมาณทศวรรษที่ 60s-70s ที่ระบบเสียงแบบสเตอริโอกำลังเป็นที่นิยมและแพร่หลายไปทั่วโลก ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่ระบบเศรษฐกิจเริ่มเฟื่องฟู หลังจากใช้ระยะเวลาพอสมควรในการตั้งหลักหลังจากสงครามโลกยุติลง และเป็นช่วงที่เทคนิควิทยาการใหม่ๆ ได้รับการพัฒนาให้ก้าวหน้ามากขึ้น อุตสาหกรรมเครื่องเสียงเริ่มขยายตัวอย่างรวดเร็ว

ซึ่งในห้วงเวลานั้นแหล่งโพรแกรมสำคัญที่นักเล่นเครื่องเสียงใช้เป็นหลักก็คือเครื่องเล่นแผ่นเสียงกับแผ่นไวนีล ในขณะที่จูนเนอร์ก็ยังคงเป็นขวัญใจนักฟังทั้งของคนบ้านไกลและคนในเมือง เพราะหัวใจหลักของระบบเสียงที่ผู้คนส่วนใหญ่เลือกใช้ในเวลานั้นก็คือ รีซีฟเวอร์ มีน้อยรายมากที่จะใช้ชุดเครื่องเสียงแบบแยกชิ้น

เป็นที่รับรู้กันอยู่ในที ว่าคนเล่นเครื่องเสียงแบบแยกชิ้นเป็นพวกแอมป์กับแหล่งโปรแกรมนั้น คือพวกที่เอาจริงเอาจังในเรื่องนี้ขึ้นไปอีกระดับ

แต่ก็ออกจะเป็นเรื่องแปลกนะครับ ที่ในห้วงวงการเครื่องเสียงได้รับความนิยมสูงมากช่วงทศวรรษที่ 80s-90s หัวใจหลักของระบบที่คนเล่นเครื่องเสียงแถบตะวันตกนิยมใช้ ก็ยังคงเป็นรีซีฟเวอร์ ในขณะที่คนเล่นเครื่องเสียงทางตะวันออก หรือที่นักเล่นแถบเอเชียนิยมใช้กันกลับเป็นพวกแอมปลิไฟเออร์

แม้กระทั่งมือใหม่ที่ฝรั่งจัดให้อยู่ในกลุ่ม Entry Level ก็มักจะเริ่มต้นด้วยอินติเกรตเต็ด แอมป์ ที่หลังจากสั่งสมประสบการณ์ได้พอตัว ก็จะขยับขึ้นไปเล่นแอมป์แยกชิ้นแบบปรีแอมป์กับเพาเวอร์-แอมป์

ซึ่งในยุคนั้นเป็นพฤติกรรมการเล่นเครื่องเสียงที่พวกตะวันตกออกจะทึ่งเอามากๆ เลยนะครับ

Paul Barton

กลับมาที่คุณพอล บาร์ทัน ผู้ก่อตั้งลำโพงแบรนด์ PSB กันต่อ สมัยที่ยังเป็นละอ่อนแคนาเดียนน้อยในวัยประมาณสิบขวบ ได้ชื่อว่าเป็นเด็กที่มีทักษะทางด้านดนตรีสูงมาก โดยเฉพาะการสีไวโอลินนั้นนับว่าเป็นอัจฉริยะมากเมื่อเทียบกับวัย เมื่อคราวอายุได้ 11 ปี คุณพ่อของเขา (ซึ่งเป็นนักดนตรี) ถึงกับสร้างไวโอลินขึ้นมาเองเพื่อมอบให้กับบาร์ทันน้อย เนื่องเพราะไวโอลินที่มีวางขายในเวลานั้นด้วยราคาที่เขาพอจะรับได้ มันยังไม่ดีพอสำหรับฝีมือลูกชายของเขา, ขนาดนั้นเลย

ในภาพที่เห็นนั่นคือคุณพอล บาร์ทัน วันนี้, กับไวโอลินที่คุณพ่อทำให้เมื่อวันวาน

ฝีไม้ลายมือในการสีไวโอลินของบาร์ทันน้อยในยุคนั้นเป็นที่ลือเลื่องมาก เขาคว้ารางวันชนะเลิศจากการแข่งขันรายการต่างๆ มากมาย กระทั่งในที่สุดก็ได้รับคำเชิญให้เข้าร่วมในวง National Youth Orchestra อันทรงเกียรติของแคนาดา

พอย่างเข้าวัยรุ่นก็ตามประสาหนุ่มเหน้าชาวตะวันตกนั่นแหละครับ ที่มักจะอาศัยวันหยุดช่วงสุดสัปดาห์ และช่วงหยุดเทอมหารายได้พิเศษ หนุ่มพอลในช่วงนั้นก็ใช้เวลาช่วงดังกล่าวไปทำงานในร้านขายเครื่องเสียงรายใหญ่ที่มีสาขาทั่วแคนาดา และทำให้ค้นพบตัวเองว่าเขาหลงใหลในเสียงดนตรีจากการ ‘ทำซ้ำ’ อย่างถอนตัวไม่ขึ้น

พร้อมๆ กับเรียนรู้ในเรื่องของระบบเสียงและความแตกต่างของเสียงจากการทำซ้ำผ่านเครื่องและลำโพงที่แตกต่างกันได้อย่างรวดเร็ว

และนั้นเองที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของเขา จากที่เคยคิดจะเดินไปบนถนนสายศิลปินเป็นนักดนตรีแบบเดียวกับบิดา เมื่อจบการศึกษาชั้นมัธยมปลาย เขาจึงได้ตัดสินใจเรียนต่อระดับปริญญาตรีทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ด้วยความมุ่งมั่น

และก็เป็นที่ University of Waterloo นี้เอง ที่ทำให้เขาเข้าถึงแก่นแท้ที่เป็นศาสตร์ของเสียงอย่างแท้จริง ทั้งยังสามารถผสานเข้ากับประสบการณ์เกี่ยวกับระบบเสียงไฮ-ไฟ สเตอริโอ ที่สั่งสมจากร้านขายเครื่องเสียงไว้ด้วยกันได้อย่างลึกซึ้ง จากนั้นก็หารายได้พิเศษอีกทางเพื่อมาใช้จ่ายเป็นค่าเล่าเรียนได้ จากการประกอบลำโพงแล้วขายให้แก่เพื่อนนักศึกษาด้วยกัน

ซึ่งจะว่าไป, นั้นคือต้นกำเนิดที่แท้จริงด้านการออกแบบและทำลำโพงของเขา ก่อนการมาถึงของแบรนด์ PSB

PSB Passif 50 Front-3-4 Pair on Stands – Left Grill on, Right Grille off

แบรนด์ที่หากจะมองย้อนกลับไปแล้ว พบว่ามีวิวัฒน์ที่เป็นพัฒนาการในการออกแบบและการผลิตมาอย่างต่อเนื่อง เป็นลำโพงที่บ่งบอกให้รับรู้ได้ถึงความก้าวหน้าไปอีกระดับเมื่อมีรุ่นใหม่ๆ ออกมาทุกครั้ง

นั้น, เป็นการแสดงให้รับรู้ได้อยู่ในที ว่าตลอดระยะเวลาครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ชายผู้นี้ไม่เคยหยุดนิ่งในการเข้าถึงศาสตร์และศิลป์แขนงนี้เลย

เพราะตั้งแต่ครั้งยังอยู่มหาวิทยาลัย เมื่อเขาจะทำลำโพงรุ่นใหม่ออกมาให้ดีกว่า หรือให้สุ้มเสียงที่ยอดเยี่ยมกว่ารุ่นก่อนหน้านั้น เขาจะต้องศึกษาทุกอย่างเกี่ยวกับลำโพงรุ่นที่ผ่านมาอย่างรอบด้าน พร้อมกับวางแนวทางการออกแบบลำโพงรุ่นใหม่อย่างรอบคอบ รัดกุม

และออกจะโชคดีที่เขาได้รับความเมตตาจากศาสตราจารย์ Floyd Toole แห่ง Canada’s National Research Council ที่เป็นแหล่งรวมนักฟิสิกส์ชั้นเลิศ และวิศวกรระดับเยี่ยม ของแคนาดาเอาไว้ทั้งมวล ทำให้เขาสามารถเข้าไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม รวมทั้งใช้เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ในสถาบันแห่งนี้ได้เต็มที่

และอุปกรณ์สำคัญหนึ่งที่ NRC ของแคนาดามีให้เขาได้ใช้ประโยชน์อย่างมากก็คือ ห้องไร้เสียงสะท้อน หรือ Anechoic Chamber ซึ่งทำให้เขาสามารถทดสอบการออกแบบลำโพงรุ่นใหม่ๆ และวัดประสิทธิภาพการทำงานผ่านเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ได้อย่างแม่นยำตลอดมาตราบจนทุกวันนี้

การออกแบบและทดสอบประสิทธิภาพของลำโพงก่อนนำไปสู่กระบวนการผลิตนั้น นอกจากคุณพอลจะใช้ศาสตร์จากเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ผ่านการคิดคำนวณและวัดค่าแล้ว คุณเขายังใช้ศิลป์จากการฟังอย่างเป็นสำคัญด้วย ด้วยการให้ผู้คนได้เข้ามาฟังลำโพงตัวอย่างต่างๆ ที่ผ่านการปรับแต่งให้แตกต่างกันแบบที่เรียกว่า Blind Test คือคนฟังไม่รู้ว่ากำลังฟังลำโพงคู่ไหนอยู่ ได้ยินแต่เพียงเสียงเท่านั้น แล้วให้คำตอบมาว่าชอบเสียงของคู่ไหน ด้วยเหตุผลอะไร จากนั้นจึงนำผลที่ได้จากการฟังทดสอบนี้ไปปรับปรุง แล้วนำมาทำการฟังทดสอบใหม่ครั้งแล้ว ครั้งเล่า กระทั่งได้คำตอบสุดท้ายที่เป็นความพึงพอใจสูงสุด ลำโพงรุ่นใหม่จึงค่อยได้ถูกผลิตออกมา

ซึ่งกรรมวิธีที่กล่าวไปข้างต้นนั้น อาจจะเป็นกุญแจสำคัญที่ไขไปสู่ความสำเร็จของลำโพงแบรนด์นี้ก็เป็นได้

และเพื่อเป็นการรำลึกถึงห้าทศวรรษของการโลดแล่นอยู่ในยุทธจักรนี้ คุณพอล บาร์ทัน ได้นำเสนอลำโพงรุ่นพิเศษออกมา ภายใต้โครงสร้างภาพลักษณ์เสมือนย้อนกลับไปยังวันแรกๆ ที่กำเนิดขึ้นมาช่วงต้นทศวรรษที่ 70s

เป็นลำโพง Retro Style ที่บรรจุไว้ด้วย Modern Technology แบบอัดแน่นจริงๆ

นั่นก็คือ PSB Passif 50 ซึ่งจะนำมาเล่าสู่กันฟังต่อเที่ยวหน้าครับ •