เมื่อสีหนุ (วิลล์) พิฆาต! และการกลับมาทวงคืน/อัญเจียแขฺมร์ อภิญญา ตะวันออก

อภิญญา ตะวันออก
สเตเดียมโอลิมปิก & มรดกเตโช

อัญเจียแขฺมร์

อภิญญา ตะวันออก

 

เมื่อสีหนุ (วิลล์) พิฆาต!

และการกลับมาทวงคืน

 

มันยังติดอยู่ในความรู้สึกนั้น สำหรับเมือง ตำบลในวัยเยาว์ที่เราเคยรู้จักพักอาศัย แลจนเมื่อได้ไปเยือนเห็นความเป็นอื่นที่เปลี่ยนแปลงอย่างลงลึกกระไร พลันความรู้สึกว่างโหวงถวิลหาอดีตกาลอันงดงามก็ตามมาในทุกคราเมื่อพูดถึงสีหนุวิลล์

หรือแม้แต่พนมเปญ

หลายปีมานี้ การได้เห็นเมืองเขมรเหล่านี้ประสบอุทกภัยในทุกฤดูฝน ฉันได้แต่ผวาคำทำนายต่ออนาคตถึงเมืองนี้ ชาวพนมเปญนัวส์ผู้อาศัยอยู่ในเขตแอ่งน้ำของเมืองเก่าที่ไม่อาจขยายตัวต่อไปได้อีก นี่คือข้อศึกษาที่ฝรั่งเศสทิ้งไว้

แต่คงไม่สลักสำคัญอะไรอย่างที่เห็นทั่วไป เมื่อบึงคลองหนองเปรียงมากมายที่คนจนอาศัยถูกเวนคืนและยึดครองโดยนายทุน ถมทำโครงการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เติบโตอย่างมากมาย

แต่ใครจะรู้ว่า นอกจากสภาพสิ่งแวดล้อมนั่นแล้ว ยังมีสภาพเศรษฐกิจถดถอยและปัจจัยอื่นๆ กำลังรุกคืบและฟาดโครมเป็นโดมิโนต่อโอเวอร์ซัพพลายที่ทำให้เกิดตึกร้างโครงการมากมาย

สำหรับชาวกัมพูชาที่ไม่เคยรู้จักวิกฤตนี้มาก่อน สีหนุวิลล์กำลังเป็นภาพหลอนนั้น ในการส่งสัญญาณ “สีหนุวิลล์เอฟเฟ็กต์” ที่ชะลอตัวมาตั้งแต่โควิดระบาด 2 ปีก่อนก็ที่สีหนุวิลล์-เมืองตากอากาศและกาสิโนนั่น กระทั่งภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย เงินเฟ้อ สินค้าแพงค่าเงินตกต่ำ สภาพหนี้สินล้นพ้นตัวแบบนั้นที่พังพินาศศรีลังกา แต่กัมพูชาคงไม่ใช่ตัวเลือกนั้น

เมื่อเพิ่งจะประกาศเมกะโปรเจ็กต์หมาดๆ ที่ฐานทัพเรือที่กำโปดไปไม่นาน เมืองที่ติดกับสีหนุวิลล์ที่เห็นชัดเทียวว่าจีนยังให้ความสำคัญ แต่ก็ไม่อาจทำให้สีหนุวิลล์กลับมาได้

มันคือ ชะตากรรมอันร่วมกัน เพราะไม่ใช่แต่สีหนุวิลล์หรอก ที่ประสบปัญหา แต่พื้นที่เศรษฐกิจใหม่ในเขตโพ้นทะเลที่จีนไปลงทุนนั้นต่างประสบปัญหาโอเวอร์ซัพพลายไม่อาจไปต่อได้ทั้งสิ้น แม้แต่จีนเองก็เจอกับวิกฤตนี้

สีหนุวิลล์ไม่เพียงแต่เป็นตัวอย่างของความเน่าในระบบทบทวีของการปั่นราคาที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ ที่บีโอไอเขมรไม่เคยว่างเว้นกับการสูบเงินนักลงทุนเข้าประเทศตลอด 20 ปีมานี้ หลายประเทศที่มาแรกๆ เกาหลี ญี่ปุ่นที่เคี่ยวกรำมาก่อนต่างถอนตัว

เหลือแต่นักลงทุนจีนที่เข้าใจว่ากำลังเซ็งลี้กัมพูชา ขณะที่ราคาที่ดินถูกปั่นราคาสูงเกินความจริงทั้งพนมเปญและสีหนุวิลล์ เมื่อไม่มีแรงไปต่ออีกความผันผวนในจีน ก็เก็บเงินสดกลับบ้าน ทิ้งกิจการไว้ข้างหลัง ส่งผลให้อาคารที่ยังสร้างไม่เสร็จนับพันๆ แห่งถูกทิ้งร้างราวกับเมืองป่าช้า

ชาวเขมรที่ไม่เคยนึกฝันมาก่อนว่าจะได้เห็นตึกสูงมากมายในสีหนุวิลล์ ที่วันนี้กลายเป็นเพียงตึกร้างราวกับเมืองโขมด

สเตเดียมโอลิมปิก & มรดกเตโช

พระเจ้า นี่มันเป็นแบบทดสอบของใครกัน? อย่างที่ครั้งหนึ่ง สำหรับคำทำนายดวงชะตาผู้นำกัมพูชาที่ไม่อาจก้าวผ่านและหลีกเลี่ยงได้ในหลุมดำมืดมิดที่ว่า ซึ่งฉันก็ขบคิดตลอดมาว่ามันคืออะไรกัน สิ่งที่จะส่งผลต่อชีวิตผู้นำและชาวเขมรอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก

อ่า มันคือคราวดาวมฤตยูของชาวสายมูฯ นี่เอง!

ทั้งที่ สมเด็จฮุน เซนนั้น ดวงแข็งผ่านวิกฤตมาทุกช่วง ตั้งแต่โควิด-19 (1) ตามด้วยสงครามยูเครน (2) ที่ประคองมาได้แถมยังโชคดีมีตำแหน่งประธานอาเซียนค้ำบัลลังก์ในการใช้โอกาสนี้แสวงหาพันธมิตรที่จะพยุงเศรษฐกิจกัมพูชาแต่กลับพบกับความจริงในทางร้ายที่ส่อแววซ้ำเติมความล่มสลายในอสังหาริมทรัพย์ (3) ที่สีหนุวิลล์หลายดอกไปอีก!

ไม่ว่าจะเป็นสหภาพยุโรปที่จะยกเลิกสินค้าปลอดภาษีทุกรายการ ยกเว้นอาวุธ เพื่อลงโทษรัฐบาลกัมพูชาที่ยังละเมิดร้ายแรงด้านสิทธิมนุษยชนและเป็นปัญหาซ้ำเติมที่กระทำโดยสมเด็จฮุน เซน (4)

นี่จึงไม่ใช่ “Long-Covid” ทั่วไปเช่นประเทศอื่นที่อาจฟื้นตัวได้ เมื่อการผูกเศรษฐกิจเขมรไว้กับจีนซึ่งกำลังเผชิญกับความผันผวนของโอเวอร์ซัพพลายในประเทศเช่นกันแถมยังเป็นโดมิโนตัวแรก จึงไม่แปลกที่สีหนุวิลล์ซึ่งใช้โมเดลเดียวกัน จะล้มครืนตามไปด้วย

ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมส่งออก ที่เคยออกดอกผลหล่อเลี้ยงจีดีพีกัมพูชามาตลอด 2 ทศวรรษแห่งระบอบฮุนเซนนั้น ก็กำลังมาถึงจุดวินาศ หากอียูใช้กฎยกเลิกสินค้าปลอดภาษีตอบโต้ความอหังการ์ของฮุน เซน ซึ่งแม้จะยังไม่ลงดาบแต่ภาคส่งออกของเขมรก็ตกต่ำเกินกว่าจะหยุดได้

เมื่อซ้ำเติมด้วย “สีหนุเอฟเฟ็กต์” ที่ทุนนอกไม่เข้าและทุนในไม่มี ความเชื่อมั่นไม่มา การท่องเที่ยวยังซึม กัมพูชาจึงมีสภาพที่เลือดไหลออกไม่หยุด ยากจะฟื้นตัวในระยะอันใกล้ ขณะที่ประเทศกำลังมีโครงการใหญ่อันมากมายโดยเฉพาะการเลือกตั้งทั่วไปในปีหน้า

แต่นั่นก็ยังไม่เท่ากับการเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาซีเกมส์ที่กัมพูชาร่นเข้ามาเป็นเดือนพฤษภาคมเพื่อหวังผลทางการเมือง แต่ช้าก่อน อาจส่งผลลัพธ์ในทางสะเทือนหากการอัดฉีดภาคเอกชนที่อ่อนกำลังและรัฐเองนั้นไม่มีเม็ดเงินเพียงพอ

ยิ่งชาติตะวันตกกดดันมากก็จะยิ่งเห็นวิบากอันท้าทายสมเด็จฮุน เซน ถึงขั้นอาจต้องเดิมพันชีวิตครั้งสุดท้ายในทางการเมือง?

สเตเดียมโอลิมปิก & มรดกเตโช

เมื่อย้อนไปให้เห็นถึงแนวทางสร้างชาติของฮุน เซนตลอดสองทศวรรษนั่นที่เกี่ยวกับการได้มาซึ่งผลงาน ตั้งแต่การแบ่งขายสัมปทานแก่นายทุนในปลาย ’90 ในพื้นที่หลายแห่งของกรุงพนมเปญ ในที่นี้มีพื้นที่รอบสนามกีฬาโอลิมปิกสเตเดียมอยู่ด้วย

โอลิมปิกสเตเดียมเป็นเสมือนมรดกของตระกูล “สีหนุ” ที่สร้างไว้สมัยเป็นประมุขแห่งรัฐในยุค ’60 ที่ผลาญงบไปมากจนประเทศไม่อาจไปต่อ สู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยและประสบความยากลำบากในการบริหาร

แต่องค์นโรดม สีหนุก็ยังฟุ่มเฟือยก่อสร้างอาคารสวยงามทั้งโรงแรม นั่นคือกำปงโสมที่ลงทุนให้เป็นริเวียร่า-เมืองตากอากาศของเจ้านายและทูตานุทูตที่มาเยือนกัมพูชา ตั้งแต่นั้นมาจึงเปลี่ยนชื่อเป็นสีหนุวิลล์แทนชื่อเก่าที่แปลว่าท่าพระจันทร์

อย่างควบกันไปในกิจกรรมของผู้นำ โอลิมปิกสเตเดียมจึงถูกใช้เพื่อประกาศศักดาในมหกรรมกีฬาแหลมทองของภูมิภาค ทว่า ไม่ถึงฝั่งฟาก นอกจากพลาดเป็นเจ้าภาพแล้ว ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองและการคลังขณะนั้นจึงนำให้ถูกรัฐประหาร/1970

นั่นคือประเด็น “สีหนุวิลล์กับสนามกีฬาแห่งชาติ” ของนโรดม สีหนุ-อดีตผู้นำซึ่งมีอำนาจล้นฟ้าของกัมพูชาองค์หนึ่ง

แต่เมื่อสมเด็จฮุน เซนซ้ำรอยทางนี้บ้างด้วยการทำให้สีหนุวิลล์เป็นเมืองแห่งการเล่นแร่แปรอำนาจเงิน อีกด้านหนึ่ง การสร้างพหุกีฬาสถานแห่งใหม่ “มรดกเตโซ” นั้น ฮุน เซนก็ได้เปล่าจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ลงทุนให้ถึง 272 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นเมกาโปรเจ็กต์ที่กัมพูชาภาคภูมิใจ แต่แลกมาด้วยอะไรนั้น ล้วนมีคำถาม ด้วยทุกๆ ตารางนิ้วของสีหนุวิลล์ คือส่วนหนึ่งในความทะเยอทะยานของผู้นำกัมพูชาที่ได้มาแต่ไม่ยอมควักกระเป๋าตัวเอง

จึงไม่แปลกที่ในช่วงเวลาเพียงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทุนจีนมากมายจึงไหลไปที่สีหนุวิลล์ทั้งอสังหาริมทรัพย์ภาคเอกชนและสัมปทานเขตอุตสาหกรรมพิเศษ จนทำให้เมืองนี้แทบไม่มีที่หายใจ

เมื่อสีหนุวิลล์ล่มสลาย อาคารมากมายนับพันแห่งของเมืองมีอันเป็นไปไม่ต่างจากตึกร้างของเมืองโขมดจากโอเวอร์ซัพพลายทันที สีหนุวิลล์เอฟเฟ็กต์จึงขยายตัวออกเหมือนโดมิโนโรคระบาดที่ลามไหลในภาคเศรษฐกิจและส่งผลต่อกัมพูชาในวงกว้างอีกไม่ช้า

โดยน่าสงสัยว่าในอีก 8 เดือนข้างหน้า กัมพูชาจะมีกำลังในการเป็นเจ้าภาพซีเกมส์ที่พนมเปญหรือไม่? สำหรับความภาคภูมิใจของฮุนเซนระบอบที่ตักตวงผลประโยชน์ตลอดมาจากสีหนุวิลล์ แต่วันนี้ เขากำลังถูกปมอดีตตามหลอกหลอนและย้อนรอยมาเล่นงานจากยุคสีหนุราชถึงระบอบฮุนเซนที่ยาวนานและต่างกันด้วยเวลา

ประสาอะไรในวันนี้ เมื่อตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา “ระบอบฮุนเซน” ที่ก็เสพกินซากร่างของความเป็น “สีหนุ (วิลล์)” ในคราบของทุนจีนและ “สี จิ้นผิง” ตลอดมา

แล้ว “ฮุน เซน” ล่ะเป็นใคร?

ทำไม “สีหนุ” (วิลล์) เมือง! จะย้อนรอยเอาคืนบ้างไม่ได้?