1 ทศวรรษ ‘มติชนทีวี’ จาก ‘จอโทรทัศน์’ สู่สื่อคุณภาพใน ‘โลกออนไลน์’/เปลี่ยนผ่าน ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี

เปลี่ยนผ่าน

ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี

 

1 ทศวรรษ ‘มติชนทีวี’

จาก ‘จอโทรทัศน์’

สู่สื่อคุณภาพใน ‘โลกออนไลน์’

 

ปี2555 สื่อในเครือมติชนได้เข้าสู่การเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญอีกหน โดยก้าวจากการเป็นผู้ผลิตหนังสือพิมพ์และสื่อสิ่งพิมพ์ตั้งแต่ปี 2521 และผู้ผลิตเว็บไซต์ข่าวออนไลน์ในทศวรรษ 2540 มาสู่การเป็นผู้ผลิตรายการโทรทัศน์

จุดกำเนิดแรกของทีมงาน “มติชนทีวี” คือ การเริ่มต้นผลิตรายการ “มติชนข่าวค่ำ” ให้กับช่อง “เวิร์คพอยท์ ทีวี” โดยออกอากาศครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2555

ด้วยเนื้อหาเข้มข้นทั้งข่าวการเมือง ข่าวเชิงลึกเกาะติดสถานการณ์ บทวิเคราะห์ข่าว ข่าวสร้างอาชีพแนวเส้นทางเศรษฐี ข่าวบันเทิงและกีฬา จากประสบการณ์ที่เชื่อมผสานกันระหว่างคนทำสื่อสิ่งพิมพ์-ออนไลน์ ซึ่งมีมาแต่เดิม กับคนผลิตสื่อภาพเคลื่อนไหว ที่เข้ามาบุกเบิกงานชนิดใหม่

ก่อนจะเดินหน้าผลิตรายการ “มติชนสุดสัปดาห์” ช่วงค่ำวันเสาร์-อาทิตย์ รวมทั้งรายการข่าวเที่ยง ข่าวต้นชั่วโมง ข่าวเช้า ครอบคลุมตารางออกอากาศตลอดทั้งวัน

 

ปี2557 ทีมงานมติชนทีวีได้ริเริ่มผลิตสารคดีขนาดสั้นชื่อ “เช็กอิน ถิ่นสยาม” เป็นรายการความรู้เชิงประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม และสังคม เพื่อออกอากาศทางฟรีทีวีช่อง 5 และ 7 ตามลำดับ

เข้าสู่ปี 2559 ทีมข่าวมติชนทีวีได้ย้ายไปผลิตรายการข่าวให้กับสถานีโทรทัศน์ช่อง “วอยซ์ทีวี” โดยจัดทำรายการ “มติชน วีกเอ็นด์” ขับเน้นเนื้อหาการเมืองเชิงลึก รวมทั้งประเด็นทางสังคมต่างๆ ออกอากาศวันเสาร์-อาทิตย์ และรายการข่าวเศรษฐกิจ “มติชนสมาร์ตบิซ” ออกอากาศวันจันทร์-ศุกร์

ในปี 2560 มติชนทีวีได้ผลิตซีรีส์สารคดี “สู่ฟ้าเสวยสรรค์” เพื่อร่วมบันทึกประวัติศาสตร์ นำเสนอเรื่องราว ความหมาย และคติสัญลักษณ์ต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในพระเมรุมาศ เพื่อร่วมน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์และโซเชียลมีเดียของสื่อทั้งหมดในเครือมติชน

คู่ขนานกับเส้นทางการเป็นผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ ทีมงานนิวมีเดียของมติชนยังได้เดินหน้าเปิดที่ทางใหม่ๆ ในโลกโซเชียล เริ่มต้นด้วยการทำช่องยูทูบ “มติชนทีวี” เพื่อรองรับความต้องการบริโภคข้อมูลข่าวสารแบบไม่มีข้อจำกัด ทั้งทางด้านเวลาในการออกอากาศและเวลาในการรับชม

ปัจจุบัน ยูทูบ “มติชนทีวี” มีผู้ติดตามมากกว่า 4 ล้านคน ถือเป็นหนึ่งในช่องยูทูบรุ่นแรกๆ ของสำนักข่าวกระแสหลัก ที่ได้รับรางวัล “โล่ทอง” จากเจ้าของแพลตฟอร์ม

ตลอดหลายปีหลัง จึงได้มีการโยกย้ายรายการทั้งหมดของทีมข่าว “มติชนทีวี” มาเผยแพร่ในโลกออนไลน์อย่างเต็มตัว ท่ามกลางสภาพภูมิทัศน์ที่เปลี่ยนแปลงไปของอุตสาหกรรมสื่อ

ปัจจุบัน โปรแกรมระดับ “เรือธง” ของช่องยูทูบ “มติชนทีวี” คือ “The Politics ข่าวบ้านการเมือง” รายการแนวคุยข่าวเจาะลึกการเมืองรอบวัน (ไลฟ์ในเพจเฟซบุ๊ก The Politics ด้วยอีกหนึ่งช่องทาง) ที่แพร่ภาพทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 18.30 น.

ดำเนินรายการโดย “เอ็กซ์-กุลพัทธ เพิ่มพูล” และ “อ๊อก-เอกภัทร์ เชิดธรรมธร”

นอกจากนั้น คนเล่าข่าว-นักสัมภาษณ์หนุ่มคู่นี้ ยังมีรายการ “เอ็กซ์-อ๊อก talk ทุกเรื่อง” เพื่อสนทนาว่าด้วยแนวคิดและตัวตนของบุคคลในแวดวงการเมือง เผยแพร่ทุกช่วงค่ำวันเสาร์

ส่วนค่ำวันอาทิตย์ พิธีกรหญิงอย่าง “ศิริกุล ไวนิยมพงศ์” ก็จะพาผู้ชมไปสัมผัสมุมคิด-ประสบการณ์อันหลากหลายของผู้คนหลายหลากกลุ่มในสังคม ผ่านรายการสนทนา “เอื้อยทอล์ก”

ทุก 14.00 น. ในวันธรรมดา ทีมข่าว “มติชนทีวี” ยังผลิตรายการ “News Live ข่าวเด่นประเด็นฮอต” ซึ่งคอยทำหน้าที่จับกระแสข่าวร้อนๆ ประจำวัน (เผยแพร่ในเพจเฟซบุ๊กข่าวสดอีกหนึ่งช่องทาง)

ปิดท้ายด้วยอีกหนึ่งโปรแกรมคลาสสิคที่มีแฟนคลับเป็นทั้ง “ผู้ชมรุ่นเก่า” และ “ผู้ชมรุ่นใหม่” อย่าง “ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว”

ในรายการนี้ เจ้าของฉายา “สองกุมารสยาม” จะพาผู้ชมทุกรุ่นไปเดินทางทอดน่องท่องเที่ยวเพื่อเรียนรู้เกร็ดประวัติศาสตร์ โบราณคดี และศิลปวัฒนธรรม ที่น่าสนใจมากมาย

โดยจะแพร่ภาพทุกวันพฤหัสบดีสุดท้ายของเดือน (ผ่านยูทูบมติชนทีวี พร้อมทั้งช่องพันธมิตร ไม่ว่าจะเป็นเพจเฟซบุ๊กศิลปวัฒนธรรม, เพจเฟซบุ๊กขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว, เพจเฟซบุ๊กข่าวสด และเพจเฟซบุ๊กมติชนออนไลน์)

ในวาระครบรอบ 10 ปี ของการทำงาน “ทีวี (ออนไลน์)” นอกจากการมีฐานที่มั่นในแพลตฟอร์มยูทูบแล้ว ทีมข่าว “มติชนทีวี” ยังขยับขยายไปติดต่อสื่อสารกับผู้ชมผ่านโซเชียลมีเดียชนิดอื่นๆ เช่น เฟซบุ๊ก (เพจ The Politics ข่าวบ้านการเมือง และเพจ Matichon TV – มติชนทีวี) ทวิตเตอร์ Matichon TV และติ๊กต็อก MatichonTV

พวกเรามีจุดหมายในการมุ่งมั่นเปิดพื้นที่ของการพูดคุยและรับฟังทางการเมือง มุ่งเชื่อมต่อองค์ความรู้ของนักคิด-นักวิชาการไปสู่สามัญชนคนธรรมดา ผ่านการผลิตบทสัมภาษณ์ดีกรีเข้มข้นและการวิเคราะห์สถานการณ์อย่างรวดเร็วรอบด้าน

ในอีกทศวรรษข้างหน้า เราจะยังเดินหน้าพัฒนาตนเอง ในฐานะแหล่งข้อมูลสำคัญของผู้บริโภคยุคใหม่

รวมทั้งทำหน้าที่เป็น “สื่อแห่งอนาคต” และ “แหล่งพลังความคิด” ใน “โลกดิจิทัล” อย่างไม่ยอมหยุดนิ่ง