‘กฎ’ ไม่ซับซ้อน ที่ซับซ้อนคือคน/เหยี่ยวถลาลม

เหยี่ยวถลาลม

 

‘กฎ’ ไม่ซับซ้อน

ที่ซับซ้อนคือคน

 

ประเทศจะเดินไปทางไหนนอกจากจะขึ้นอยู่กับความต้องการแท้จริงของประชาชนในประเทศนั้นๆ แล้ว การกำหนดทิศทางหรือชะตากรรมที่แท้จริงมักจะขึ้นอยู่กับ “ชนชั้นนำ” ผู้ซึ่งกุมอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ

พิธีกรรมทางการเมืองที่เห็นๆ เป็นเพียงเครื่องมือโน้มน้าวนำพาอารมณ์ผู้คนให้เคลิบเคลิ้มคล้อยตาม

นับจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มาถึงวันนี้ เวลาที่ล่วงผ่านไป 90 ปี ผู้กำหนดทิศทางการเมืองไทยส่วนใหญ่เป็นชนชั้นนำที่มาจาก “รัฐประหาร” กล่าวให้กระชับ คือทหาร

เกือบ 1 ศตวรรษนี้จึงยังคงมีคนจำนวนหนึ่งที่โฆษณาโน้มน้าวให้ผู้คนเห็นดีเห็นงามกับวิถีทางของ “ทหารการเมือง”

ถามว่า พฤติกรรมของ “นักรัฐประหาร” ต่างอะไรกับ “นักเรียนนักเลง” ที่ยกพวกตีกัน

“เนื้อหา” ของพฤติกรรมคือการใช้ความรุนแรง!

แต่ “จุดแตกต่าง” อยู่ที่อาวุธหรือเครื่องมืออุปกรณ์ใช้ทำร้ายฝ่ายตรงข้าม

“นักเรียนนักเลง” ต่างก็หาเครื่องทุ่นแรงและอาวุธกันมาเอง ไม่ได้เอาสมบัติของโรงเรียนหรือสถาบันมาใช้ทำร้ายฝ่ายตรงข้าม

ส่วน “นักรัฐประหาร” นั้นใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพ!

“จุดต่าง” อีกข้อ

“นักเรียนนักเลง” ถูกดำเนินคดีอย่างเคร่งครัดและแน่นอน

ส่วน “นักรัฐประหาร” ใช้ปืนจี้ให้มี “กฎหมายนิรโทษกรรม” พร้อมกับเขียนกติกาเพื่อสืบทอดอำนาจต่อไป

นี่ทำให้นึกคำพูดของ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ที่เคยกล่าวภายหลังชนะเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ว่า

“8 ปีรัฐประหารคือความทรงจำเตือนใจว่า เมื่อไหร่ที่ประชาชนทะเลาะเกลียดกลัวซึ่งกันและกัน สุดท้ายจะมีกลุ่มคนที่ได้ผลประโยชน์ คนเราแม้เห็นต่างกันได้ แต่อย่าสร้างความเกลียดชังซึ่งกันและกัน”

 

ถ้ามองย้อนกลับไปเกือบ 2 ทศวรรษมานี้มีแต่ใบหน้าของ “นักจุดไฟ” กับ “ทหารการเมือง” ผลุบโผล่

บทเรียนสำคัญในระดับโลกก็มีให้เรียน

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติ ญี่ปุ่นกับเยอรมนีเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยซากปรักหักพัง สภาพจิตใจประชาชนย่ำแย่ยับเยิน แต่สองประเทศเรียนรู้บทเรียนแล้วไม่ถอยหลัง

ระบบความคิดแบบ “ลัทธิทหาร” นำมาซึ่งหายนะ!

กองทัพกับผู้นำทหารต้องอยู่ให้เป็นที่เป็นทาง

ทหารไม่มีวันเสื่อมถ้าไม่เป็น “ทหารการเมือง”!

แต่ “ความไม่รู้จักพอ” จะนำไปสู่ความหายนะ

ถามว่า “เปรม ติณสูลานนท์” กับ “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ต่างกันที่ตรงไหน

“เปรม” มาด้วยไพร่ทางการเมืองส่งเทียบไปเชิญ

ส่วน “ประยุทธ์” มาตามวิถีทางที่ “ประวิตร” ชี้ตัวกลางสภาว่า

“นี่ครับ คนปฏิวัติ ท่านนายกฯ คนเดียว”!

“ประยุทธ์” เป็นนายกรัฐมนตรีมา 8 ปีจึงเป็นประเด็นที่คนปกติไม่ต้อง “ตีความ” เช่นเดียวกับที่นายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่มีข้อเท็จจริงซับซ้อน คงเหลือแต่ “ความเห็นทางกฎหมาย”

ข้อเท็จจริงปราศจากข้อสงสัย

แต่มีคำถามต่อไปว่า “ความเห็นทางกฎหมาย” ที่จรัญว่านั้นมีอะไรอยู่เบื้องหลังหรือไม่

ต้องตอบว่า มี!

ทุกความเห็นของคนเรา ไม่ว่าจะเรียก “ความเห็นทางกฎหมาย” หรือจะเรียกอะไรก็ตามย่อมต้องมี “เบื้องหลัง”

เบื้องหลังที่ว่านั้นกับผู้คนทั่วไปอาจเรียกว่า “อคติ”

แต่สำหรับ “นักกฎหมาย” เบื้องหลังที่ต้องค้นหาและพิจารณาคือ “เจตนารมณ์”!

เบื้องหลังบทบัญญัติของกฎหมายคือ “เจตนารมณ์”

ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “อภินิหาร” ในเจตนารมณ์ของกฎหมาย

เช่น เมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดว่า “นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่”

เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่บัญญัติอย่างนั้นก็เพื่อที่จะป้องกันการอยู่นาน ผูกขาด และสร้างสมอิทธิพลของผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

เจตนารมณ์ไม่ได้อยู่ที่ “ความชอบ” หรือ “รังเกียจ” บุคคลหนึ่งบุคคลใด

โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดขึ้นในยุคสมัย “คสช.” ที่ก่อรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลพลเรือนด้วยกำลังทหารและอาวุธ ย่อมไม่ “รังเกียจ” อดีตหัวหน้า คสช.แต่อย่างใด

แต่ความเป็น “นายกรัฐมนตรี” ของ “ประยุทธ์” ต้องถูกพิจารณาด้วย “เจตนารมณ์” ของบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ

“ประยุทธ์” ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาตั้งแต่ 24 สิงหาคม 2557 เป็น “ข้อเท็จจริง” ที่ไม่มีความซับซ้อน

น่าสนใจก็ที่ “จรัญ ภักดีธนากุล” ทิ้งปริศนาแบบปลายเปิดเอาไว้ว่า “เหลือแต่ความเห็นทางกฎหมาย”

“ความเห็นทางกฎหมาย” ต้องแสดงออกผ่าน “การตีความ” ที่อวดอ้างว่าต่างคนต่างมีอิสระ ไม่ถูกครอบงำหรือทำตามบัญชาใดๆ

ต้องไม่ลืมว่าการตีความคือ “เนื้อหา” ไม่ใช่ “พิธีกรรม” เพื่อการโน้มน้าวจูงใจให้คล้อยตาม

เนื้อหาของเรื่องนี้คือ เจตนารมณ์ของกฎหมาย

อย่างน้อยๆ “เจตนารมณ์” ของรัฐธรรมนูญ 2560 นี้ก็มองไกลไปในอนาคต มุ่งที่จะป้องกันไม่ให้สังคมต้องอึดอัดขัดข้องใจ ถ้าบังเอิญมีใครสักคนเสพติดอำนาจขึ้นมาแล้วอยากจะนั่งเก้าอี้นายกฯ จนรากงอก

บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 264 จึงกำหนดว่า ให้คณะรัฐมนตรี (รวมถึงนายกรัฐมนตรี) ที่บริหารราชการมาตั้งแต่ก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้

 

เช่นนี้แล้ว ถึงแม้ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลกับกองเชียร์ “ประยุทธ์” จะพยายามยื้อยุดให้ใช้วิธี “นับเวลา” การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประยุทธ์ โดยเริ่มจากภายหลังเลือกตั้งคือวันที่ 9 มิถุนายน 2562 เพื่อจะดันประยุทธ์ไปต่อให้ถึงปี พ.ศ.2570 แต่นั่นคือ “อคติ” ที่เกิดจากความชอบหรือความมักมากอยากได้อยากเป็น

สังคมไทยจึงต้องเลือกเอา ระหว่างการฉ้อฉล พลิ้วๆ พร้อมที่จะทำลาย “หลักการ” เพื่อรักษาอำนาจให้กับ “ตัวบุคคล” กับการยึดถือกติกา เคารพกฎหมาย

การตีความกฎหมายไม่ต้องอาศัยอภินิหาร!

สังคมไทยสูญเสียกับประยุทธ์มากและนานเกินไป

ทั้งรัฐธรรมนูญ 2560 นี้ พรรคพวกก็ช่วยกันบัญญัติให้มีเจตนารมณ์ชัดแจ้งอยู่แล้วว่า การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเกิน 8 ปีของบุคคลใดก็ตาม-นานเกินไป

ไม่มี “ข้อยกเว้น” ให้แม้แต่กับประยุทธ์นั้นก็เพื่อให้ประเทศได้ก้าวเดินต่อไปบนหลักการ “เปลี่ยนถ่ายอำนาจด้วยวิถีทางสันติ”

ประยุทธ์หมดเวลา นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีมา 8 ปี คนปกติไม่ต้อง “ตีความ” เพียงแต่พฤติการณ์ของนักการเมืองกับทหารการเมืองกำลังพยายามจะดันทุรัง

ประเทศจะพัฒนาขึ้นมาบ้าง ถ้าคราวนี้ “การตีความ” ยึดถือ “เจตนารมณ์” ของกฎหมาย

บังคับใช้กฎให้เป็นกฎ ไม่ใช่ทุกกฎต้องยกเว้นทุกครั้งให้กับ “ทหารการเมือง”!?!!