KBANK เส้นทางธนาคารแห่งภูมิภาค / วิรัตน์ แสงทองคำ

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

วิรัตน์ แสงทองคำ

www.viratts.com

 

KBANK

เส้นทางธนาคารแห่งภูมิภาค

 

ธนาคารใหญ่ไทยอีกแห่งหนึ่ง กับความพยายาม มีบทบาทอย่างท้าทาย ในระดับภูมิภาค

“ถ้าเราอยากโตมากกว่านี้ การเติบโตในภูมิภาคเป็นโจทย์หนึ่งที่ท้าทาย ที่เราต้องเดินหน้าไปต่อให้ได้” ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย ได้กล่าวไว้ล่าสุด ในงานฉลองสาขาโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม อย่างเป็นทางการ (5 สิงหาคม 2565) อันที่จริงสาขาที่ว่า เปิดบริการมาตั้งเเต่ปลายปีที่แล้ว

เสียงสะท้อนข้างต้น ให้ภาพยุทธศาสตร์ธนาคารใหญ่ไทย เท่าที่เห็น คือหนึ่งในสองแห่งเท่านั้น มีความทะเยอทะยาน ด้วยแผนการอย่างจริงจัง เพื่อก้าวเป็นธนาคารระดับภูมิภาคในช่วงเวลาที่น่าสนใจ ช่วงเวลาระบบเศรษฐกิจไทยมีข้อจำกัดมากขึ้นๆ

ว่าไปแล้วธนาคารกสิกรไทย กับแผนการขยายเครือข่ายในภูมิภาค เกิดขึ้นจริงจังตั้งแต่ในยุคบัณฑูร ล่ำซำ ด้วยยุทธศาสตร์สำคัญ เปิดฉากขึ้นราวๆ ปี 2546 เขาเองเคยเรียกว่า “China card” จุดพลุแผ้วทางใหญ่ ซึ่งใช้เวลาค่อนข้างมาก ว่ากันว่าด้วยปัจจัยไม่ได้วางพื้นฐาน หรือมีภูมิหลังว่าด้วยสายสัมพันธ์ทางธุรกิจในภูมิภาคอย่างยาวนานต่อเนื่อง เมื่อเทียบเคียงกับอีกธนาคารหนึ่ง นั่นคือ ธนาคารกรุงเทพ

ความพยายามพัฒนาเครือข่ายที่มีอยู่เดิม จากสำนักงานตัวแทนที่มีอยู่หลายแห่งในจีนแผ่นดินใหญ่ มีมาตั้งแต่ก่อนวิกฤตการณ์ 2540 ไม่ว่าที่เซินเจิ้น (2537) เซี่ยงไฮ้ (2538) ปักกิ่ง (2538) และคุนหมิง (2538) ต่อมาสามารถยกระดับขึ้นอีกขั้นในระยะกระชั้น เมื่อสำนักงานตัวแทนเซินเจิ้นกลายเป็นสาขา (2539) ทั้งนี้ ตามยุทธศาสตร์ใหม่ มีเป้าหมายสำคัญมากกว่านั้น เพื่อเป็นธนาคารท้องถิ่น (LII : Locally Incorporated Institution) ในประเทศจีน

กว่าจะบรรลุแผนได้ใช้เวลานานถึง 15 ปี การเปิดธนาคารท้องถิ่นจีนจึงเกิดขึ้น นั่นคือ ธนาคารกสิกรไทย (ประเทศจีน) เมื่อ 1 ธันวาคม 2560 ณ นครเซินเจิ้น ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน

 

เทียบเคียงแล้ว ถือว่าธนาคารกรุงเทพมีที่ยืนในจีนแผ่นดินใหญ่อย่างมั่นคงมาก่อนธนาคารกสิกรไทยราวๆ หนึ่งทศวรรษเลยทีเดียว ทั้งมีสำนักงานตัวแทนที่ปักกิ่ง (2529) และสามารถเปิดเป็นสาขาแห่งแรกที่ซัวเถา (2535) และสาขาที่สองที่เซี่ยงไฮ้ (2536)

ตามมาด้วยแผนการใหญ่จริงๆ ช่วงคาบเกี่ยววิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจปี 2540 ธนาคารกรุงเทพปฏิบัติการมุ่งมั่นต่อเนื่อง ในปี 2541 เปิดสาขาเพิ่มเติมที่เซียะเหมิน ตามด้วยเปิดสาขาปักกิ่ง (2548) ต่อด้วยการย้ายสาขาจากซัวเถา มายังเซินเจิ้น 2550) และแล้วในปี 2552 ธนาคารกรุงเทพบรรลุเป้าหมายสำคัญ ถือว่าก่อนหน้าธนาคารกสิกรไทยเกือบๆ หนึ่งทศวรรษเช่นกัน เมื่อก่อตั้ง ธนาคารกรุงเทพ (ประเทศจีน) จำกัด

 

สําหรับธนาคารกสิกรไทย เป็นช่วงเวลานับว่าไม่สูญเปล่าเสียทีเดียว ระหว่างทางนั้นยุทธศาสตร์ทางธุรกิจตกผลึกมากขึ้น และมีความคืบหน้าอย่างที่ควร เป็นขั้นๆ ด้วย

ในจีนแผ่นดินใหญ่ ในปี 2556 ธนาคารกสิกรไทยได้เปิดสาขาเพิ่มเติมที่เฉิงตู และสาขาย่อยที่หลงกั่ง ในช่วงใกล้เคียงกัน ได้ขยายเครือข่ายในภูมิภาคอาเซียนอย่างครอบคลุมขึ้นด้วย จดทะเบียนธนาคารพาณิชย์ท้องถิ่นในลาวซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ท้องถิ่นแห่งแรกจากไทย (2557) ยกระดับสำนักงานตัวแทนเป็นสาขาในพนมเปญ กัมพูชา (2559) รวมทั้งชิมลาง เปิดสำนักงานผู้แทนที่ฮานอยและโฮจิมินห์ ในเวียดนาม กรณีหลังใช้เวลาอีกพอสมควร กว่าจะยกระดับเป็นสาขา อย่างที่กล่าวไว้ในตอนต้น

ว่าเฉพาะกรณีเวียดนาม ธนาคารกรุงเทพก็มาก่อนอีกเช่นกัน

“ธนาคารกรุงเทพเริ่มเปิดให้บริการในรูปแบบสำนักงานตัวแทนในเวียดนามมาตั้งแต่ปี 2504 ต่อมาในปี 2535 ธนาคารกรุงเทพเป็นธนาคารต่างชาติแห่งแรกที่ได้รับอนุญาตให้เปิดดำเนินการธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบ โดยสาขาโฮจิมินห์ ซิตี้ เปิดในปี 2535 และสาขาฮานอย เปิดในปี 2537 เพื่อดูแลบริษัทไทยและบริษัทต่างชาติที่เข้ามาเปิดธุรกิจในเวียดนาม….” (ข้อมูลของธนาคารกรุงเทพ)

อีกฉากหนึ่งที่สำคัญอย่างมาก แผนการใหญ่ขยายเครือข่ายในอินโดนีเซีย ถือว่าเป็นความเคลื่อนไหวของธนาคารกสิกรไทยกระชับกระชั้นกับธนาคารกรุงเทพพอสมควร แม้ว่าจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ทางธุรกิจจะมาทีหลังนานทีเดียว เชื่อกันว่ามุมมองว่าด้วยโอกาสทางธุรกิจของทั้งสองธนาคารในปัจจุบันคล้ายๆ กัน

“อินโดนีเซียเป็นตลาดสำคัญของธนาคารกรุงเทพมานานกว่าครึ่งศตวรรษ ซึ่งหลังจากที่ธนาคารตั้งสาขาแห่งแรก ณ กรุงจาการ์ตา ในปี 2511 ธนาคารยังคงเสริมสร้างความแข็งแกร่งของกิจการในตลาดอินโดนีเซียมาอย่างต่อเนื่อง และครั้งล่าสุดในปี 2563 ธนาคารประสบความสำเร็จในการเข้าถือหุ้นธนาคารเพอร์มาตา (Permata Bank)” ข้อมูลธนาคารกรุงเทพระบุไว้

 

ส่วนธนาคารกสิกรไทย มีดีลสำคัญผ่านบริษัทลูก มีขึ้นเมื่อไม่กี่เดือนมานี้ “กสิกรวิชั่นไฟแนลเชียล ลงนามซื้อหุ้น 67.50% ในธนาคารแมสเปี้ยน” ถ้อยแถลงทางการของธนาคาร (เมื่อ 30 พฤษภาคม 2565) มีความหมายขยายความตามคำอรรถาธิบายไว้ในอีกตอนหนึ่ง “การเข้าซื้อธนาคารแมสเปี้ยน (Bank Maspion) ในครั้งนี้ จะทำให้ธนาคารสามารถประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในประเทศอินโดนีเซียได้ ด้วยมูลค่าเงินลงทุนรวมไม่เกินที่ 220 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งต่ำกว่าการยื่นขอใบอนุญาตใหม่ที่ต้องใช้เงินลงทุนขั้นต่ำ 700 ล้านเหรียญสหรัฐ…”

โดยเปรียบเทียบแล้ว ดีลธนาคารกสิกรไทย ถือว่าเล็กกว่าดีลธนาคารกรุงเทพอย่างมาก

Bank Maspion บริษัทมหาชนด้านการธนาคารและบริการทางการเงินของอินโดนีเซีย ก่อตั้งขึ้นเมื่อไม่นานนัก ในปี 2532 ช่วงเศรษฐกิจขยายตัวทั้งภูมิภาค ตั้งอยู่ในเมืองสุราบายา มีพนักงานราว 700 คน ในเครือข่ายสาขาเพียง 10 แห่ง สาขาย่อยอีก 26 แห่ง (ข้อมูลของธนาคารเอง – https://www.bankmaspion.co.id/profil อ้างอิงข้อมูลสิ้นปี 2562)

ส่วน Bank Permata ก่อตั้งขึ้นจากรากเหง้าธนาคารเก่าแก่ ในกระแสคลื่นการเกิดขึ้นอย่างเป็นขบวนการธนาคารท้องถิ่นในภูมิภาค ถือว่าอยู่ในช่วงใกล้เคียงกับการก่อตั้งธนาคารกรุงเทพและธนาคารกสิกรไทยในไทยก็ว่าได้ ผ่านช่วงการเปลี่ยนแปลง และเผชิญมรสุมคล้ายๆ ธนาคารไทย จนมีสถานะปัจจุบันตามแผนการการควบรวมธนาคารท้องถิ่นเล็กๆ เข้าด้วยกัน ในช่วงปี 2545

Bank Permata ระบุว่ามีฐานลูกค้ากว่า 4 ล้านราย มีสาขาประมาณ 300 แห่ง มีขนาดพอๆ กับธนาคารขนาดกลางของไทย ดีลนี้มีมูลค่าสูงกว่ากรณีธนาคารกสิกรไทยถึง 10 เท่า ราวๆ 2.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 90,000 ล้านบาท

แม้ดีลมีขนาดเล็กๆ แม้บางช่วงจะเริ่มต้นค่อนข้างช้า แต่ธนาคารกสิกรไทยเชื่อว่า คือ “ชิ้นส่วน”หนึ่ง ดำเนินในจังหวะเวลาที่น่าสนใจ และเป็นไปได้ “สอดคล้องกับกลยุทธ์การเติบโตที่สำคัญในการมุ่งสู่ความเป็นธนาคารแห่งภูมิภาคที่แท้จริง ในการเชื่อมโยงธุรกิจของธนาคารกสิกรไทยใน AEC จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ (AEC+3) ที่จะมีพลวัตการเติบโตสูงต่อไปในอนาคต”

ไม่ว่าธนาคารกรุงเทพ หรือธนาคารกสิกรไทย กับแผนการก้าวสู่ธนาคารแห่งภูมิภาค ตามจังหวะก้าวกล่าวมาข้างต้น ยังคงต้องใช้เวลา •