คุยกับทูต : เดวิด เดลี อียู สานสัมพันธ์ไทย อย่างสร้างสรรค์ สมดุล เป็นรูปธรรม (จบ)

รายงานพิเศษ

ชนัดดา ชินะโยธิน

[email protected]

 

คุยกับทูต : เดวิด เดลี

อียู สานสัมพันธ์ไทย

อย่างสร้างสรรค์ สมดุล เป็นรูปธรรม (จบ)

 

ในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่าง ไทยและสหภาพยุโรป

นายเดวิด เดลี (H.E. Mr. David Daly) เอกอัครราชทูตแห่งสหภาพยุโรป (อียู) ประจำประเทศไทย

กล่าวถึงความคืบหน้าในแง่มุมต่างๆ

เอกอัครราชทูตแห่งสหภาพยุโรป หรืออียู ประจำประเทศไทย

ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy-CE)

เป็นเรื่องของการปรับวิธีคิดให้สามารถจัดการทรัพยากรเพื่อเพิ่มผลประโยชน์ทางการเงิน สิ่งแวดล้อม และสังคม ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ให้เชื่อมโยงและสัมพันธ์กับการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ การไม่มีของเสีย และแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ

“เรามองว่าเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นองค์ประกอบสำคัญในความร่วมมือของเรา โดยมีนโยบายสามด้านคือ สร้างเงินออมสำหรับธุรกิจ สร้างงาน และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม”

“ความร่วมมือก่อให้เกิดความสำเร็จอย่างต่อเนื่องภายใต้โครงการคิดทบทวนการใช้พลาสติก (Rethinking plastics) เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงสู่การบริโภคและการผลิตพลาสติกที่ยั่งยืน และอย่างไม่สูญเปล่า (Unwaste) ทั้งนี้ ก็เพื่อต่อสู้กับการค้าขยะอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้รับผลประโยชน์”

การคิดทบทวนการใช้พลาสติก (Rethinking plastics) สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับพลาสติก เพื่อลดการรั่วไหลของขยะพลาสติกลงสู่ทะเลและทำให้เกิดขยะในทะเล (Circular Economy Solutions to Marine Litter)

ทั้งนี้ โดยอาศัยความร่วมมือระหว่างสหภาพยุโรปและเจ็ดประเทศในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันสอดคล้องกับความพยายามและการริเริ่มในระดับประเทศและระดับภูมิภาคในการลดขยะพลาสติกในทะเล ร่วมกับพันธมิตร โครงการทำงานเพื่อปรับปรุงการจัดการขยะพลาสติก ส่งเสริมการบริโภคและการผลิตพลาสติกอย่างยั่งยืน ตลอดจนการลดขยะจากแหล่งที่มาจากทะเลและเสริมสร้างความเข้มแข็งในการจัดซื้อและจัดจ้างสีเขียว (Green Procurement)

“เราต้องให้ความสำคัญในศักยภาพที่ยังไม่ได้นำมาใช้ในเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อแก้ปัญหาการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนการสร้างงาน”

“มีความคืบหน้าที่สำคัญเกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียนในช่วงการประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 5 ช่วงที่ 2 (UN Environment Assembly – UNEA 5.2) เมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งเรายินดีกับมติที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมถึงการสนับสนุนของประเทศไทย”

โดยที่ประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 5 ช่วงที่ 2 (UNEA 5.2) ได้รับรองข้อมติด้านการจัดการมลพิษจากขยะพลาสติก ที่ประเทศไทยมีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็งในการเจรจา เพื่อมุ่งสู่การจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อการเจรจาระหว่างรัฐบาล (Intergovernmental Negotiating Committee : INC) เป็นการสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของสหภาพยุโรปและความคิดริเริ่มที่จะเกิดขึ้นเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน

“เรามีความยินดีที่ประเทศไทยจะเข้าร่วมโครงการพหุภาคีเกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยเป็นพันธมิตรระดับโลกด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนและประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร (Global Alliance on Circular Economy and Resource Efficiency – GACERE)”

เอกอัครราชทูตแห่งสหภาพยุโรป หรืออียู ประจำประเทศไทย

โครงการอียู นำร่องร่างนโยบาย

การบูรณาการการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว

(Green Integration Policy Project)

สำหรับประเทศไทย

“โครงการส่งเสริมการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืนในทวีปเอเชีย (SWITCH-Asia) สหภาพยุโรปได้ช่วยสนับสนุนประเทศไทยในการดำเนินงานตามแผนขับเคลื่อนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ปี 2017-2037 (Sustainable Consumption and Production Roadmap-SCP 2017-2037) มีเป้าหมาย 3 ด้านหลัก ได้แก่ 1) เพื่อส่งเสริมสังคมไทยสู่การผลิตที่ยั่งยืน 2) สู่การบริโภคที่ยั่งยืน และ 3) ที่สำคัญที่สุดคือการใช้ปัจจัยสนับสนุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน”

“โครงการการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อบูรณาการสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสู่การปฏิบัติ (Mainstream Green Integration of Thailand : Transformation from Policy to Implementation) ซึ่งประเทศไทยร่วมกับ EU SWITCH-Asia ในระยะที่ 2 เริ่มในเดือนมิถุนายน 2021-เดือนพฤศจิกายน 2023 ด้วยเป้าหมายของการเปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน การบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน (SCP) ไปสู่การปฏิบัติและการดำเนินการในประเทศไทย”

เมื่อปี 2020 โครงการส่งเสริมการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืนในทวีปเอเชีย (Switch-AsiaSCP Facility) ได้ริเริ่มโครงการการขับเคลื่อนโยบายเพื่อบูรณาการสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสู่การปฏิบัติโดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสหภาพยุโรป

หน่วยงานหลักในประเทศไทยที่ร่วมดําเนินการมี 3 หน่วยงาน ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ กรมควบคุมมลพิษ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม สํานักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

เอกอัครราชทูตแห่งสหภาพยุโรป หรืออียู ประจำประเทศไทย

ระบบลงทะเบียนผู้ค้าสีเขียว

(Green Vendor Registration system)

“ต่อจากโครงการนโยบายบูรณาการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม EU SWITCH-Asia ได้นำระบบการลงทะเบียนผู้ค้าสีเขียวมาใช้ โครงการนี้เปิดตัวเมื่อเดือนมกราคม 2022 และจะดำเนินต่อไปจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคมนี้”

“โครงการนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาและส่งเสริมระบบการลงทะเบียนผู้ค้าทางเว็บเพื่อสนับสนุนแนวคิดของการนำการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐสีเขียว (Green Public Procurement – GPP) มาปฏิบัติในประเทศไทย ร่วมกับ National Green Directory ของประเทศ การพัฒนาฐานข้อมูลผู้ขายและระบบการลงทะเบียนจะช่วยผู้จัดหาสินค้าในการค้นหาผลิตภัณฑ์/บริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นประโยชน์สำหรับซัพพลายเออร์ของผลิตภัณฑ์และการบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในการขยายธุรกิจและเพิ่มตลาดสีเขียว”

“เศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นส่วนสำคัญของนโยบายของเราเพื่อให้มีการพัฒนาที่ยั่งยืนมากขึ้น เพื่อให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ประหยัดพลังงานมากขึ้นในแง่ของวิธีการผลิตสิ่งต่างๆ พลาสติกเป็นรูปแบบหนึ่งของมลพิษโดยเฉพาะในมหาสมุทร มลพิษทางทะเล พลาสติกเป็นปัญหาใหญ่มาก แน่นอนว่ายิ่งเราเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งได้มากเท่าไหร่ก็ยิ่งดีเท่านั้น ยิ่งเราใช้ผลิตภัณฑ์หมุนเวียนได้มากเท่าไหร่ก็ยิ่งดีเท่านั้น ยิ่งเราพบพลาสติกทดแทนมาทดแทนได้มากเท่าไร ก็ยิ่งดีเท่านั้น”

“ผมคิดว่าระหว่างข้อตกลงสีเขียวของเรากับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของประเทศไทย มีความทับซ้อนกันมากและมีศักยภาพมากมายที่เราจะทำงานร่วมกันในเรื่องเหล่านี้ แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนจึงเป็นอีกแนวคิดหนึ่งที่เราสามารถทำร่วมกันและสนับสนุนซึ่งกันและกันได้มากขึ้น”

ทูตอียูเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายอักษรสาส์นตราตั้ง เป็นเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนา

ชีวิตของทูตอียูในไทย

“ผมมาถึงประเทศไทยเมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2021 และได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายอักษรสาส์นตราตั้ง เป็นเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย เมื่อวันเสาร์ที่ 6 พฤศจิกายน 2021 สำหรับประเทศไทยผมมีโอกาสได้มาหลายครั้งแล้วทั้งโดยราชการและส่วนตัว”

“ในทุกประเทศที่ผมได้ไปประจำการ มีความท้าทายที่แตกต่างกันไป ถ้าปราศจากความท้าทาย การลุกจากเตียงในตอนเช้า จะเป็นเรื่องที่ไม่สนุกเลย ความท้าทายอย่างมืออาชีพในฐานะเอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปนั้นมีทุกวัน จากการเจรจาที่แตกต่างกัน และขอบเขตความร่วมมือที่แตกต่างกัน ด้วยความพยายามในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและสหภาพยุโรปให้แข็งแกร่งขึ้น แข็งแกร่งขึ้น และแข็งแกร่งขึ้น นั่นคือความท้าทายของเรา นักการทูต”

“เมื่อมาถึงที่นี่ เราจึงปรับตัวเข้ากับชีวิตในกรุงเทพฯ ได้อย่างง่ายดาย เราโชคดีมากที่เรามีความสุข เพราะทุกคนสุดแสนจะใจดีกับเรามากๆ และเรายังโชคดีพอที่จะได้ไปท่องเที่ยวบ้าง ซึ่งถือว่าสมบูรณ์แบบ ยิ่งไปกว่านั้น คนขับรถในเมืองก็สุภาพมาก จนเราแทบไม่ได้ยินเสียงแตรรถ… บีพ! บีพ! ผมขอแสดงความยินดีกับมารยาทไทย”

“แต่อีกแง่มุมหนึ่งในการขับขี่ของไทยซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นปัญหา เพราะมีผู้เสียชีวิตบนท้องถนนจำนวนมากเกินไป ความปลอดภัยทางท้องถนนยังเป็นปัญหาและผมทราบว่ารัฐบาลเป็นห่วงเรื่องนี้มาก นั่นคือสิ่งที่เราสามารถทำงานร่วมกันได้ ในขณะที่ผมชื่นชมมากว่าคนไทยขับรถสุภาพ แต่ในทุกอุบัติเหตุเป็นเรื่องน่าเศร้า ฉะนั้น No drink and drive จงอย่าดื่มแล้วขับ”

“ท่ามกลางความยุ่งเหยิงและปัญหามากมายที่ผมต้องรับมือทุกวันเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก และผมได้พบปะผู้คนที่ยอดเยี่ยมมากหน้าหลายตา รู้สึกเป็นเกียรติและยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาทำงานที่นี่ แม้จะต้องเผชิญกับความท้าทายต่างๆ นานาก็ตาม”

เอกอัครราชทูตเดวิดรับราชการในสำนักงานต่างๆ ของสหภาพยุโรปมามากกว่า 30 ปี ความรู้สึกเมื่ออยู่ไกลบ้านเป็นอย่างไร เมื่อใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศหลายปี

“สำหรับทุกคนที่เป็นนักการทูต โดยปกติจะคิดถึงญาติพี่น้องในครอบครัว รวมทั้งสถานที่พิเศษที่บ้าน หรืออาจจะเป็นทะเล อาจจะเป็นภูเขา แต่ก็นับว่าโชคดีที่เราสามารถเดินทางกลับบ้านไปพักผ่อนได้ในบางโอกาส แม้จะยังมีโควิดที่เป็นอุปสรรคสำคัญในเรื่องนี้”

“ส่วนในยามว่าง ผมกับภรรยาชอบเล่นแบดมินตัน ชอบดนตรี ชอบไปดูหนัง เป็นปกติธรรมดาเหมือนคนอื่นๆ ถ้าต่างจังหวัด เราก็เคยไปภูเก็ต หัวหิน มาแล้ว สหภาพยุโรปมีบางโครงการที่ภูเก็ต เกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืนและการทิ้งขยะในทะเลซึ่งเป็นประโยชน์ ทางภาคเหนือ ผมเคยไปร่วมงานสงกรานต์ที่เชียงใหม่ที่สวยงามมาก ดังนั้น เราจึงพยายามออกไปดูที่โน่น ที่นี่”

ส่วนงานอดิเรก ผมชอบสะสมหนังสือทุกประเภท”

ทูตอียู และ มาดาม

ท้ายสุด เป็นข้อความจากเอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปถึงผู้อ่าน

“ผมขอให้ผู้อ่านทุกท่านมีความสุข มีสุขภาพแข็งแรงตลอดไป และหวังว่าการอ่านบทสัมภาษณ์นี้จะช่วยทำให้ท่านเข้าใจดีขึ้นว่าสหภาพยุโรปคืออะไร”

“สหภาพยุโรปเป็นสิ่งที่พิเศษมาก เพราะ 27 ประเทศในยุโรปมารวมตัวกันเป็นสหภาพ เพื่อร่วมกันทำงานที่หลากหลาย และเป็นตลาดเดียวขนาดใหญ่ นับเป็นเรื่องที่น่าทึ่งมาก”

“ประเทศในสหภาพยุโรป ที่ร่ำรวยกว่า ช่วยเหลือประเทศที่ยากจนกว่า เพราะเรามีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันไม่ว่าจะรวยหรือจน”

“สหภาพยุโรปแสดงให้เห็นถึงวิธีการทำงานร่วมกันโดยเฉพาะในฐานะประเทศเพื่อนบ้านที่ออกแบบมาเพื่อให้เราหลุดพ้นจากวัฏจักรสงครามที่เรามีทุกๆ 50 ปีตลอดศตวรรษในยุโรป ดังนั้น จึงมีความสลับซับซ้อนในโครงสร้างเชิงสถาบันของสหภาพยุโรป เราประสบความสำเร็จอย่างมากในโครงการสันติภาพ จึงต้องทำงานอย่างหนักเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้”

สหภาพยุโรปมีความรับผิดชอบที่จะต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการปัญหาความขัดแย้งในโลก รักษาสถานะของการเป็นตัวแสดงที่มีบทบาทนำ และได้รับความเคารพในสังคมระหว่างประเทศ

“ผมกำลังหัดพูดภาษาไทย แต่ยังได้ไม่กี่คำ ตอนนี้ ขอพูดก่อนว่า ขอบคุณครับ” •

เอกอัครราชทูตแห่งสหภาพยุโรป หรืออียู ประจำประเทศไทย

ประวัติ

นายเดวิด เดลี

(H.E. David Daly)

เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย

การศึกษา

1987 : ปริญญาโทเศรษฐศาสตร์สาขาวิชา ยุโรปศึกษา (European Studies) จาก Dublin University, Trinity College

1984 : ปริญญาตรีสาขารัฐประศาสนศาสตร์ เกียรตินิยม จาก University College Dublin

1984 : สมาชิกบัณฑิตศึกษา สถาบันการบริหารงานบุคคลแห่งลอนดอน (Institute of Personnel Management, London)

ประสบการณ์การทำงาน

09/2021-ปัจจุบัน : เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย

2016-2021 : ผู้อำนวยการกองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ตำแหน่งเทียบเท่าอธิบดี) กระทรวงต่างประเทศ แห่งสหภาพยุโรป (EEAS)

2013-2016 : เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรป ประจำศรีลังกา และมัลดีฟส์

2009-2013 : เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรป ประจำออสเตรเลียและนิวซีแลนด์

08/2008-12/2008 : รักษาการอธิบดีกิจการโครเอเชีย ตุรเคีย และมาซิโดเนีย อดีตส่วนหนึ่งของยูโกสลาเวีย กรมกิจการการขยายสมาชิกภาพสหภาพยุโรป (Enlargement) คณะกรรมาธิการยุโรป

05/2005-12/2008 : หัวหน้าฝ่ายเจรจาเพื่อให้โครเอเชียเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป กรมกิจการการขยายสมาชิกภาพสหภาพยุโรป คณะกรรมาธิการยุโรป

10/2000-01/2005 : ผู้อำนวยการกองกิจการอัลแบเนีย บอสเนีย และเฮอร์เซโกวินา โครเอเชีย และมาซิโดเนีย อดีตส่วนหนึ่งของยูโกสลาเวีย กรมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะกรรมาธิการยุโรป

09/1996-09/2000 : หัวหน้าฝ่ายการเมืองและเศรษฐกิจ คณะผู้แทนคณะกรรมาธิการยุโรป กรุงบูดาเปสต์

01/1991-08/1996 : เจ้าหน้าที่ฝ่ายเจรจาทางการค้า กรมกิจการการค้า คณะกรรมาธิการยุโรป

02/1989-01/1991 : เจ้าหน้าที่ฝ่ายตรวจสอบบัญชี กรมกิจการการเกษตร คณะกรรมาธิการยุโรป

09/1987-01/1989 : เลขานุการโท สถานเอกอัครราชทูตไอร์แลนด์ ประจำกรุงนิวเดลี

01/1986-07/1987 : เลขานุการตรี กระทรวงต่างประเทศไอร์แลนด์

01/1980-01/1986 : เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริการ กระทรวงเกษตรไอร์แลนด์

ครอบครัว : สมรสกับนาง Aideen มีบุตรธิดา 3 คน •