หนุ่มเมืองจันท์ : นารายา

วันก่อนไปรับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการให้กับ “ประชาชาติธุรกิจ”

เขาจัดสัมมนารูปแบบใหม่ ชื่อว่า “Passion To Profit พลิกมุมคิด ธุรกิจติดลม”

สนุกมากครับ

ผมรับผิดชอบ “แขกรับเชิญ” ที่ไม่เคยสัมภาษณ์มาก่อน คือ “วาสนา ทาทูลัส” เจ้าของกระเป๋าแบรนด์ “นารายา”

อยากคุยมานานแล้วครับ

“นารายา” วันนี้ถือเป็นแบรนด์ที่โด่งดังมากในเอเชีย

นักท่องเที่ยวต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง เกาหลีใต้ และจีน ถ้ามาเที่ยวเมืองไทยต้องหิ้ว “นารายา” กลับบ้าน

ไม่เช่นนั้นถือว่ายังไม่ถึงเมืองไทย

วันนี้ “นารายา” ได้รับการยกย่องว่าเป็นแบรนด์ที่มีอิทธิพลของเอเชีย

ระดับเดียวกับ “ยูนิโคล่” ของญี่ปุ่น

ไม่ธรรมดาเลยใช่ไหมครับ

แต่ที่ไม่ธรรมดายิ่งกว่าคือ เรื่องราวและวิธีคิดของผู้หญิงคนนี้

ผมศึกษาเรื่องของคุณวาสนาอย่างละเอียด ทำการบ้านอย่างดี

ยิ่งอ่านยิ่งอยากคุย

ผู้หญิงอะไรเก่งจังเลย

ก่อนขึ้นเวที ผมนั่งคุยกับคุณวาสนาอย่างสนุกสนาน วางแผนเรื่องการคุยกันบนเวทีอย่างละเอียด

เพราะเวลาการสัมภาษณ์ 30 นาทีกับเรื่องราวที่น่าสนใจระดับนี้ถือว่าสั้นมาก

ผมวางแผนการตั้งคำถามใหม่

คำถามปลายเปิดแบบการสัมภาษณ์ทั่วไปที่เพื่อให้แขกรับเชิญค่อยๆ เล่าเรื่อง

ใช้ไม่ได้กับเวทีนี้

ผมจะเปลี่ยนมาเป็น “คำถาม” กึ่ง “ปลายปิด”

เช่น คุณวาสนามีหลักคิดว่า “อุปสรรค” ไม่ใช่ “อุปสรรค” แต่เป็นแค่ “ปัญหา” หมายความว่าอย่างไรครับ

เข้าประเด็นเลยแล้วค่อยอธิบาย

แบบนี้ค่อยเหมาะกับเวลา 30 นาที

ผมชอบการสัมภาษณ์ครั้งนี้มาก

เหมือนตัดต่อคลิปสัมภาษณ์ยาวๆ 2 ชั่วโมงให้กระชับเหลือแค่ 30 นาที

สนุกจริงๆ ครับ

วีทีอาร์แนะนำตัววิทยากรในงานสัมมนาครั้งนี้เป็นฝีมือของบริษัทยานแม่ ที่เคยทำรายการ “ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ” และ “Perspective” ในปัจจุบัน

เป็นวีทีอาร์ที่เท่และแนวมากๆ

อย่างวีทีอาร์แนะนำคุณวาสนา “โอ๋ ยานแม่” ทำเป็นภาพเหมือนการเดินแฟชั่นแนะนำกระเป๋าของ “วาสนา”

พร้อมเพลงประกอบเซ็กซี่สุดๆ

ผมเสนอคุณวาสนาว่าถ้าวีทีอาร์มาแนวนี้ ตอนเดินขึ้นเวทีเราควงแขนแบบเดินแฟชั่นกันไหม

เธอเล่นด้วยครับ

ภาพที่เห็นบนเวทีจึงเป็นการเปิดตัวการเสวนาทีแปลกมาก

แขกรับเชิญและผู้ดำเนินรายการควงแขนกันเดินแฟชั่นขึ้นเวที

จากนั้นก็ถึงเวลาไล่ล่า “เนื้อหา” ที่เข้มข้นในเวลาที่จำกัด

ผมเริ่มต้นด้วยคำถามว่า 30 ปีแรกของคุณวาสนาเป็นอย่างไร

ที่ใช้คำถามนี้เพราะ 30 ปีแรก เธอเป็นแม่ค้าที่ประตูน้ำ

ช่วยแม่ขายของ

ทั้งที่ใจไม่ชอบเลย

พอแม่เสีย เธอก็ทิ้งแผงที่ประตูน้ำให้พี่สาว

มาเรียนต่อจนจบ ม.ศ.3 ในสมัยนั้น

และไปเรียนภาษาอังกฤษที่ AUA

เพราะอยากเป็นแอร์โฮสเตส

วันเสาร์-อาทิตย์ จะไปที่วัดพระแก้ว เพื่อฝึกการใช้ภาษาอังกฤษคุยกับฝรั่ง

ฟังถึงตรงนี้ ผมนึกถึง “แจ๊ก หม่า” ขึ้นมาทันที

เขาใช้วิธีคุยกับนักท่องเที่ยวเพื่อฝึกภาษาอังกฤษ

เหมือนกันเลย

จากนั้นก็สมัครเป็นมัคคุเทศก์

จนมาเจอสามีชาวกรีกที่มาหาช่องทางการค้าในเมืองไทย

จากนั้นเส้นทางธุรกิจแบบระหกระเหินของเธอก็เริ่มต้นขึ้น

เคยลำบากเป็นหนี้จนคิดจะไม่มีชีวิตอยู่ในโลกใบนี้

แต่ตอนที่กราบพระเพื่อขอลา นึกได้ว่าเรายังมีร่างกายที่ครบ 32 ทำไมจะยอมแพ้ง่ายๆ

ฮึดสู้อีกครั้ง

นั่นคือ ที่มาของมุมคิดที่น่าสนใจ

เธอบอกว่าชีวิตของเธอไม่เคยมี “อุปสรรค”

มีแต่ “ปัญหา”

เพราะคำว่า “อุปสรรค” เหมือนกับสิ่งที่ขวางกั้นทำให้เราไปต่อไม่ได้

“อุปสรรค” ในชีวิตของเธอจึงไม่มี

มีแต่ “ปัญหา”

“ปัญหา” ที่มีไว้แก้ไข

“นารายา” เริ่มจากพื้นที่แค่ 2×3 ตารางเมตรที่ “นารายภัณฑ์”

ตอนนั้น “วาสนา” อายุเกือบ 40 ปีแล้ว

“อายุ” เป็นเพียงตัวเลขจริงๆ

“วาสนา” ไม่ใช่คนที่หลงใหล “กระเป๋า”

เธอแค่ชอบแต่งตัว

ประสบการณ์ขายของที่ประตูน้ำที่เธอไม่ชอบเลย กลายมาเป็น “อาวุธ” สำคัญที่ “วาสนา” นำมาใช้ในธุรกิจของเธอ

จุดเด่นของกระเป๋าผ้า “นารายา” อยู่ที่ “ราคาโรงงาน”

กระเป๋าของ “วาสนา” ถูกมากครับ

ราคาแค่หลักร้อย

แบบที่เธอดีไซน์ตรงกับรสนิยมชาวเอเชีย

โดยเฉพาะเอกลักษณ์ “โบ” กลายเป็น “ภาพจำ” ของนักท่องเที่ยว

“เส้นทางกระแสแฟชั่นจะเริ่มที่ญี่ปุ่น ไปไต้หวัน เกาหลี ฮ่องกง และจีน”

พอคนญี่ปุ่นนิยมก็เริ่มขยายวงไปเรื่อยๆ

จนถึงคนจีนในวันที่เงินหยวนใหญ่มาก

นักท่องเที่ยวจีนที่มาเมืองไทย แทบทุกคนต้องซื้อกระเป๋านารายากลับประเทศ

ผมถามว่าจุดไหนที่คิดว่า “นารายา” แจ้งเกิดแล้ว

คุณวาสนาบอกว่าวันที่คนเกาหลีบอกว่าเขาขาย “ใบจอง” กระเป๋านารายา

ขนาดมี “คนจอง” ล่วงหน้า

แสดงว่าความนิยมสุดๆ

ตลอดการสัมภาษณ์ คุณวาสนาจะพูดอยู่ 2 เรื่องตลอดเวลา

เรื่องแรก คือ “ราคาโรงงาน”

เธอเอากำไรไม่มาก

ราคาขายของ “นารายา” ทำให้แบรนด์อื่นแข่งขันได้ยาก

อีกเรื่องหนึ่ง คือ ความพึงพอใจของลูกค้า

วิธีการบริหารที่สำคัญ คือ ทุกร้านจะต้องส่งข้อมูลทุกวันว่าลูกค้ามีความเห็นอย่างไรบ้าง

ยิ่งมีแบบใหม่เปิดตัวในร้าน

ลูกค้าชอบหรือไม่ชอบตรงไหนให้ส่งข้อมูลมา

ไม่ใช่แค่ในเมืองไทย

สาขาในต่างประเทศก็ต้องส่งข้อมูลทุกวัน

ชอบหรือไม่ชอบตรงไหนจะได้นำมาปรับปรุงผลิตภัณฑ์

ไม่แปลกที่เธอจะแปลความหมายของคำว่า “แบรนด์ ลอยัลตี้” ไม่เหมือนคนอื่น

นักการตลาดทั่วไปจะคิดว่าเป็นเรื่องการจงรักภักดีต่อแบรนด์สินค้า

แต่ “วาสนา” บอกว่าไม่ใช่

“แบรนด์ ลอยัลตี้” ของเธอหมายถึงการจงรักภักดีต่อลูกค้าต่างหาก

เธอมีความสุขที่เห็นลูกค้าชอบกระเป๋า “นารายา”

เวลาของการสัมภาษณ์เดินทางมาถึงนาทีสุดท้าย

ผมสรุปจบสั้นๆ

…เรื่องราวในวันนี้สอนให้รู้ว่าชีวิตเริ่มต้นใหม่ได้เสมอ

อายุเป็นแค่ตัวเลข

อะไรที่เราไม่ชอบในวันนี้ อาจเป็นสิ่งที่เราต้องใช้ในวันหน้า

Passion ไม่จำเป็นต้องเป็นตัวสินค้า แต่อาจเป็นความพึงพอใจของลูกค้า

และอย่ายอมแพ้

“นั่นคือ สิ่งที่ผมเรียนรู้จากนารายา และ คุณวาสนา ทาทูลัส”