‘ประยุทธ์ effect’ เกิดแน่! หลังคำวินิจฉัยการดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี รศ.ยุทธพร อ่านกลเกมการเมือง/รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ

พิชญ์เดช แสงแก่นเพ็ชร์

 

‘ประยุทธ์ effect’ เกิดแน่!

หลังคำวินิจฉัยการดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี

รศ.ยุทธพร อ่านกลเกมการเมือง

 

รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ฉายซีเนริโอทางการเมืองไทย ถึงการวินิจฉัยการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จะครบ 8 ปีว่า มองได้ 2 แนว

1. บางฝ่ายมองว่า ต้องนับตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 ที่คุณประยุทธ์รับตำแหน่งเป็นครั้งแรกต่อเนื่องมาจนครบ 8 ปีในปีนี้

2. นับตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่กำหนดเอาไว้ว่าห้ามดำรงตำแหน่งไม่ว่าจะติดต่อกันหรือไม่ติดต่อกันเกิน 8 ปี ซึ่งต้องนับตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลใช้บังคับ แล้วมีการกำหนดเอาไว้ว่านายกรัฐมนตรีจะต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งเกินกว่า 8 ปีติดต่อกัน (ในวรรค 4) ซึ่งหมายความว่าเป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกของสภาผู้แทนราษฎร (ตามมาตรา 158/1 วรรค 1) โดยนับจากการเลือกตั้งปี 2562 เป็นต้นมา จึงจะถือว่าเข้าข่าย 8 ปี

ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้เท่ากับว่า พล.อ.ประยุทธ์จะอยู่ได้ถึงปี 2570 ถึงจะครบ 8 ปีในวาระนั้น

ดังนั้น การวินิจฉัยมีหลากหลายแนวว่าจะยึดตามข้อเท็จจริง หรือยึดหลักกฎหมายอย่างเคร่งครัด

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ส่วนตัวค่อนข้างเชื่อมั่นว่าโอกาสที่เราจะเห็นคุณประยุทธ์ผ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่น่าจะยากนัก คล้ายกับหลายกรณีที่ผ่านมา เช่น กรณีการอยู่บ้านพักหลวง

เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ก็ไม่น่าจะกังวลสักเท่าไหร่

สิ่งที่ต้องกังวลมากกว่าในสายตส รศ.ยุทธพรคือ หลังคำวินิจฉัยกรณีนี้จะมีเรื่องของผลที่ตามมา “ประยุทธ์ effect” จะเกิดผลตามมา เช่น ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของมวลชน แล้วจะส่งผลกระทบไปถึงเรื่องของการเลือกตั้งที่รออยู่ข้างหน้าซึ่งก็เป็นไปได้เหมือนกัน

จึงเป็นจุดที่ต้องติดตามดูว่าหลังคำวินิจฉัยกรณีดำรงตำแหน่งครบ 8 ปีการเมืองจะมีทิศทางไปอย่างไร แต่ยืนยันอีกครั้งว่าส่วนตัวมองว่ามีโอกาสน้อยมากที่ผลจะออกมาเป็นโทษกับคุณประยุทธ์ เพราะว่าท้ายที่สุดแล้วศาลอาจจะหยิบยกรัฐธรรมนูญปี 2560 มาเป็นหลักในการวินิจฉัย ทำให้เริ่มนับที่ปี 2562 หลังการเลือกตั้ง เชื่อว่าจะออกมาแนวทางนี้

แล้วแน่นอนว่าจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์และเกิดการตั้งคำถามต่อคำวินิจฉัย จนไปเกี่ยวโยงกับกลเกมทางการเมืองหลังจากนี้และอาจจะส่งผลให้การเลือกตั้งอาจจะยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หรืออาจจะมีความวุ่นวายทางการเมืองอีกครั้งหนึ่ง

แต่ถ้าจินตนาการว่า พล.อ.ประยุทธ์ “หลุด” ขึ้นมา สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือจะเป็นผลให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัว ซึ่งการสิ้นสุดลงเฉพาะตัวนี้คณะรัฐมนตรีที่เหลืออยู่ก็ต้องเลือกผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนขึ้นมา 1 ท่าน และเนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรยังไม่ครบวาระ ซึ่งก็จะเข้าสู่มาตรา 272 โดยหยิบยกเอาแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่เหลืออยู่ในบัญชีมาพิจารณาร่วมกันทั้งสองสภา หมายความว่าจะมีเสียงของสมาชิกวุฒิสภาหรือ ส.ว. เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แล้วกระบวนการในการเลือกจะต้องใช้เสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของทั้งสองสภาที่มีอยู่ ก็จะวนเข้าสู่ลูปเดิม

เว้นเสียแต่ว่าถ้าเกิดสภาขอให้ปลดล็อกอันเนื่องมาจากเห็นว่าบรรดาแคนดิเดตทั้งหมดที่มีอาจจะไม่มีความเหมาะสมจะต้องยื่นญัตติต่อประธานสภาโดย ส.ส.ขอให้ปลดล็อก ซึ่งกรณีนี้ พล.องประยุทธ์ไม่สามารถจะรับตำแหน่งได้อีกต่อไป

และถ้าสมมุติว่ามีท่านไหนเสนอ พล.อ.ประยุทธ์เป็นแคนดิเดต นั่นก็หมายความว่า พล.อ.ประยุทธ์จะขาดคุณสมบัติด้วย

ส่วนการโฟกัสที่ท่าที พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รศ.ยุทธพรเห็นว่าในห้วงที่ผ่านมา เราก็พบว่าไม่จำเป็นต้องมีตำแหน่งทางการเมืองอะไรก็ได้ เพราะดูจากผลการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมาชัดเจนว่า พล.อ.ประวิตรเป็นผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญตัวจริงในยุคปัจจุบัน สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่า พล.อ.ประวิตรได้คะแนนที่ออกมาสูงที่สุด ทั้งที่การตอบไม่ได้ลงลึกรายละเอียดในการตอบข้อซักถามของฝ่ายค้าน แต่ได้คะแนนสูงสุด ทั้งจากงูเห่าฝากเลี้ยงและขั้วของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ในขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ได้คะแนนต่ำกว่า โดยเฉพาะ พล.อ.อนุพงษ์ได้ต่ำกว่า 250 คือได้ 249 อย่างไรก็ตาม แม้จะมีเสียงเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐมนตรีมหาดไทย (มท.1) จากในฝั่งของพลังประชารัฐ แต่ส่วนตัวไม่เชื่อว่าจะเกิดขึ้นเพราะด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง

ถ้าเรามอง พล.อ.อนุพงษ์ที่อยู่ในตำแหน่งมานาน ตั้งแต่ยุค คสช.แล้ว เราดูโครงสร้าง 3 ป.แบ่งงานกันทำ นายกฯ ดูภาพรวมภาพใหญ่ พล.อ.ประวิตรดูฝ่ายการเมืองและการสานสัมพันธ์กับอดีตนักการเมือง ในขณะที่ พล.อ.อนุพงษ์ดูกลไกข้าราชการประจำโดยเฉพาะข้าราชการกระทรวงมหาดไทย การอยู่มาถึง 8 ปีกับกลไกที่วางเอาไว้ไม่ว่าจะเป็นกลไกส่วนภูมิภาคและกลไกท้องที่ลงลึกไปถึงกำนันผู้ใหญ่บ้าน สายสัมพันธ์นี้รวมไปถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆ ยังคงมีปัจจัยทำให้การเลือกตั้งครั้งหน้าฝ่ายที่อยู่ในอำนาจรัฐคงความได้เปรียบ

จึงไม่คิดว่าจะมีการเปลี่ยนตำแหน่งปรับคณะรัฐมนตรีเพราะว่าเป็นโค้งสุดท้ายที่กำลังจะเข้าสู่การเลือกตั้งแล้ว

และในแง่ของการเคลื่อนไหวจาก ส.ส.กลุ่มปากน้ำ ถ้ามีการตอบสนองต่อกลุ่ม ส.ส.สมุทรปราการกลุ่มนี้อาจจะทำให้เกิดแรงกระเพื่อมไปสู่การเรียกร้องของกลุ่มอื่นๆ ที่อยู่ในพลังประชารัฐเอง ดังนั้น การปรับคณะรัฐมนตรีจึงจะไม่เกิดขึ้นโดยง่าย ถ้าไม่มีเหตุผลความจำเป็นที่เพียงพอ จึงไม่คิดว่าการปรับ ครม.หรือการโยกย้ายจะเกิดขึ้นเพราะทำให้กระทบต่อเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาล ซึ่งวันนี้ถือว่าไปได้ และนอกจากมีการขยับเขยื้อนในมุ้งต่างๆ จะทำให้เกิดการต่อรองมากมาย พรรคเล็กพรรคจิ๋วหลายคนก็ไม่ได้ตำแหน่งรัฐมนตรีทั้งที่ก่อนหน้านี้มีการเรียกร้องต่อเนื่อง และยังมีมุ้งต่างๆ เคลื่อนไหว

สิ่งเหล่านี้จึงเป็นภาพที่สะท้อนให้เราได้เห็นว่าการที่จะปรับเปลี่ยนบุคลากรตั้งแต่หัวหน้ารัฐบาลไปจนถึง ครม.คงจะไม่เกิดขึ้นง่ายๆ ถ้าไม่มีเหตุผลจำเป็นมากเพียงพอ

 

ขณะที่สูตรการคิดคำนวณหา ส.ส.บัญชีรายชื่อ รศ.ยุทธพรบอกว่า ณ ตอนนี้ ส่วนตัวให้น้ำหนักในการหาร 500 ว่ามีความเป็นไปได้ว่าจะออกมาในรูปแบบนี้ ความโกลาหลที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากการแก้รัฐธรรมนูญที่ไม่สะเด็ดน้ำ นี่คือสิ่งที่เป็นปัญหาใหญ่ เพราะว่าเมื่อมีการแก้รัฐธรรมนูญเกิดขึ้น แต่ตอนนั้นแก้เพียง 2-3 มาตรา แต่บทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่ถูกออกแบบมาที่จะรองรับระบบเลือกตั้งระบบจัดสรรปันส่วนผสมยังคงตกค้างอยู่ จึงเกิดผลที่จะทำให้มีการแก้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส่วนที่มีคนบอกว่าจะกลับไปสู่การใช้บัตรใบเดียวนั่นหมายความว่าจะต้องกลับไปแก้รัฐธรรมนูญและเป็นเรื่องใหญ่

ปัญหาตอนนี้เผอิญว่ามี กมธ.เสียงข้างน้อยที่สงวนคำแปรญัตติเอาไว้ว่าจะต้องหารด้วย 500 นี่คือสิ่งที่กลายเป็นประเด็น นี่คือกลเกมทางการเมืองอย่างหนึ่งที่ถูกวางไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่าจะต้องมีการสงวนคำแปรญัตติเอาไว้นานแล้ว โดยสังเกตได้จากการที่กรรมาธิการท่านนี้เป็นหัวหน้าพรรคจิ๋วที่ได้เข้ามาในสัดส่วนของ ครม. ก็มองได้ว่ามีการวางเกมไว้ตั้งแต่ต้น

ซึ่งถ้ามองความได้เปรียบเสียเปรียบ กรณีที่หาร 500 แน่นอนว่าพรรคใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทยจะเสียเปรียบเนื่องจากเขามี ส.ส.ระบบเขตเลือกตั้งที่แข็งแกร่ง ส่วนพรรคที่จะได้เปรียบจะกลายเป็นพรรคขนาดกลางและพรรคขนาดเล็กบางส่วนที่อาจจะมีฐานกระจายอยู่ทั่วประเทศ เช่น พรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย

แต่ก็เป็นที่น่าแปลกใจสำหรับพรรคภูมิใจไทยที่อาจจะไม่ได้ประโยชน์จากเรื่องนี้เท่าไหร่ เพราะภูมิใจไทยจะมีฐานที่กระจุกตัวอยู่ในอีสานใต้เป็นหลัก ขณะที่ประชาธิปัตย์อาจจะได้ประโยชน์จากกรณีนี้ แต่ตรงกันข้ามพรรคแกนหลักของรัฐบาลอย่างพรรคพลังประชารัฐจะเสียเปรียบ

ส่วนการกลับไปหาร 100 พรรคที่จะได้ประโยชน์แน่ๆ คือพรรคเพื่อไทย ส่วนพรรคขนาดกลางอาจจะไม่ได้ประโยชน์สักเท่าไหร่ และพรรคขนาดเล็กไม่ได้ประโยชน์ แต่พรรคพลังประชารัฐก็ไม่ได้ประโยชน์เช่นเดียวกัน ตรงนี้คือภาวะปัจจุบันเหลียวซ้ายแลขวาไม่ว่าจะมองทางไหนผู้ที่อยู่ในอำนาจรัฐในปัจจุบันมีความเสียเปรียบด้วยกันทั้งสิ้นไม่ว่าจะหารด้วยอะไรก็ตาม ส่วนบรรดาพรรคจิ๋วไม่ว่าจะหารด้วยสูตรไหนพรรคจิ๋วสลายตัวแน่นอนถ้าใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ

สำหรับเส้นทางของการหารอะไรก็ตาม ก็จะจบได้ 3 แบบ 1.จบที่หาร 500 แล้วก็ประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ต่อไปทันที 2.จะมีการโหวตคว่ำในวาระที่ 3 จะเป็นผลให้กฎหมายเลือกตั้งฉบับนี้ตกไปและต้องเสนอเข้ามาใหม่ และ 3.ไม่สามารถหาข้อสรุปได้ทอดยาวเกินกว่า 180 วันตามกรอบที่รัฐธรรมนูญกำหนด (ซึ่งจะครบวันที่ 15 สิงหาคมนี้) ก็จะมีผลให้กฎหมายตกไปเหมือนกัน

พอกฎหมายตกไปก็จะทำให้ไม่มีบทบัญญัติว่าจะเอาอะไรไปใช้ในการเลือกตั้ง บทขยายตรงนี้อาจจะนำไปสู่ปัญหาที่ทำให้เราไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้

ชมคลิป