ในนามของผู้สูงวัย…ที่ไม่ยอมชรา/กาแฟดำ สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

 

ในนามของผู้สูงวัย…ที่ไม่ยอมชรา

 

ถ้าผมจะประกาศว่าคนในวัย 70 ขึ้น (7-Up) คือคนที่กำลังมีความมันส์ในชีวิตยิ่งกว่าคนวัยอื่น จะมีใครหาว่าผมเพี้ยนไหม?

เหตุผลที่ผมต้องออกมายืนยันเช่นนี้เพราะผมผ่านเส้นนั้นมานานโขแล้ว (ฮา) และยังไม่ยอม “หายไปเฉยๆ”

ผมได้พลังเพิ่มขึ้นอีกเยอะเลยจากคนวัยเดียวกันนี้ (และมากกว่า) ที่ยังโลดแล่นทำกิจกรรมที่ตัวเองอยากทำเพราะไม่มีโอกาสได้ทำในวัยก่อนหน้านั้น

ใครจำเพลง The Beatles อันโด่งดัง When I’m 64 ได้ต้องเปลี่ยนชื่อเพลงเป็น When I’m 94 แล้ว

เพราะใครได้เห็น Paul McCartney (พอล แม็กคาร์ตนีย์) วัย 80 ปี ขึ้นแสดงที่ Glastonbury ซึ่งเป็นเทศกาลดนตรีสดชั้นนำของสหราชอาณาจักรเมื่อเร็วๆ นี้คงจะต้องทึ่งกับความร้อนแรงของเขาแม้ในช่วงจังหวะชีวิตนี้

อีกมุมหนึ่งของลอนดอนที่ไฮด์ปาร์ก วง Rolling Stones ที่นำโดย Mick Jagger และ Keith Richards ก็คึกคักไม่แพ้กัน

ทั้งคู่อายุ 78 ปีเท่ากัน

ใครที่ชื่นชมนักร้องรุ่นเก๋าก็ยังเห็นภาพของ Bruce Springsteen (72), Elton John (75) และแน่นอน Bob Dylan (81)

ผู้ซึ่งมองโลกในแง่สวยงามด้วยการตั้งชื่อกิจกรรมของตนในวัยทะลุ 80 ว่าเป็น “ทัวร์ที่ไม่มีวันสิ้นสุด”

Paul McCartney วัย 80 ที่งานเทศกาลดนตรีประจำปี Glastonbury ที่ Pilton, Somerset, อังกฤษ

แต่มิใช่เฉพาะคนในวงการบันเทิงเท่านั้นที่ยังไม่ปฏิเสธที่จะ “จางหายไป” เมื่อเข้าสู่วัยที่เคยเรียกแบบยอมจำนนง่ายๆ ว่า “วัยเกษียณ”

วันนี้คนวัยนี้จำนวนไม่น้อยกำลังลุกขึ้นมา “ก่อขบถ” ด้วยการไม่ยอมให้ใครเชิญให้ไปนั่ง “เลี้ยงหลาน” เฉยๆ

หนังสือเล่มใหม่ที่เพิ่งวางตลาดภายใต้ชื่อ “Leadership : Six Studies in Strategy” เขียนโดย Henry Kissinger ในวัย 99 ปี

เขาเคยเป็นที่ปรึกษาความมั่นคงของทำเนียบขาวและรัฐมนตรีต่างประเทศที่มีบทบาทสำคัญที่กำหนดทิศทางการเมืองระหว่างประเทศอยู่ยาวนาน

วันนี้ คิสซิงเจอร์ยังคิด, อ่าน, เขียน และแสดงความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์โลกอย่างคล่องแคล่ว

เขาเป็นอีกคนหนึ่งที่ไม่ยอมให้ใครเชิญลงจากเวทีง่ายๆ

Rupert Murdoch เจ้าพ่อวงการสื่อกลับมาสู่ “ตลาดการแต่งงาน” อีกครั้งในวัย 91 ปี

เพิ่งมีข่าวว่าเขาหย่าภรรยาดารานางแบบ Jerry Hall หลังจากอยู่กินกันมาหกปี

เธอเป็นภรรยาคนที่ 4 ของเมอร์ดอก

ในแวดวงการเมืองระหว่างประเทศ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน วัย 79 กำลังออกข่าวว่าเขาจะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีอีกสมัยหนึ่งในปี 2024

ถ้าเขาทำได้ตามแผนการชีวิตนี้ ไบเดนจะเป็นประธานาธิบดีอายุมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกาที่เข้ารับตำแหน่งสูงสุดของประเทศในวัย 82

และอดีตนายกรัฐมนตรีอิสราเอล Benjamin Netanyahu เพิ่งแจ้งให้ผู้คนในประเทศได้ทราบว่าเขาหวังจะกลับมาทางการเมืองอีกครั้งในวัย 72 ปี

Mick Jagger ในวัย 78

ก่อนนี้คนวัยนี้จะพูดถึงเรื่องของความโรยรา ต้องเจียมเนื้อเจียมตัวเข้าสู่ “วัยสนธยา”

แต่เมื่อมาตรฐานสาธารณสุขได้รับการยกระดับและเทคโนโลยีการแพทย์เปิดทางให้คุณภาพทั้งกายและใจผลักดันให้ผู้คนสามารถใช้ชีวิตที่กระชุ่มกระชวยได้ใกล้ๆ 100 สังคมจึงต้องนิยามคำว่า “วัยชรา” กันใหม่

ความจริง ก่อนหน้านี้ก็มีตัวอย่างของคนที่ไม่ยอมให้อายุกำหนดว่าทำอะไรได้หรือไม่ได้ในวัยไหน

เช่น Ray Kroc มีอายุ 50 เริ่มสร้างระบบแฟรนไชส์ของ McDonald

ในขณะที่ผู้พัน Harland Sanders ก็เข้าวัย 62 ปีแล้วตอนที่สร้างไก่ทอดเคนตักกี้ที่ต่อมาโด่งดังทั่วโลก

ครั้งหนึ่งเราเคยมีความหมกมุ่นอยู่กับเรื่องของวัย

คำว่า “หนุ่มสาว” วันนี้ไม่ได้หมายถึงเฉพาะกลุ่มสมาชิกสังคมใน “วัยเอ๊าะๆ” อีกต่อไป

ฝรั่งบอกว่า 80 is the new 40

แปลว่าทุกวันนี้ใครมีอายุ 80 ก็คือคนวัย 40 เมื่อก่อน

ผลงานวิจัยหลายชิ้นชี้ว่าเด็กที่เกิดในตะวันตกทุกวันนี้มีมากกว่า โอกาส 50% ที่จะมีชีวิตอยู่เกิน 105

พระราชินีอลิซาเบธแห่งสหราชอาณาจักรซึ่งทรงมีพระชนมายุ 96 ชันษา ได้ทรงส่งข้อความแสดงความยินดีถึงชาวอังกฤษทุกคนที่อายุครบร้อย

 

หลายคนกังวลว่าอายุที่มากขึ้นหมายถึงความฝืดทางใจหรือความอ่อนแอทางร่างกาย

กลัวกันตั้งแต่โรคอัลไซเมอร์ หรือโรคกระดูกเปราะบาง หรือถูกลูกหลานแสดงความรำคาญ

แต่ผมอ่านหนังสือหลายเล่มช่วงหลังๆ ที่ยืนยันจากผลการวิจัยว่าทุกวันนี้คนส่วนใหญ่มีชีวิตที่มีสุขภาพดีขึ้นและมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น

หนังสือเล่มนี้ชื่อ Lifespan โดยคุณหมอ David A. Sinclair ยืนยันว่า “คนเราอาจจะอายุมากขึ้น แต่ไม่ได้แปลว่าร่างกายต้องเสื่อมทรามตามวัย”

ว่ากันว่าหนังสือเล่มนี้สามารถเปลี่ยนวิธีคิดเพราะกระบวนทัศน์จากนักวิทยาศาสตร์ที่คุณหมอจากโรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดผู้นี้นำเสนอ

จนนิตยสาร Time ระบุให้เป็นบุคคลผู้ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งในแง่การคิดค้นหลักฐานใหม่ๆ เกี่ยวกับกระบวนการวิวัฒนาการของร่างกายและสมองของมนุษย์

ก่อนหน้านี้ดูเหมือนจะมีคนเชื่อว่า “ความชรา” เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

คุณหมอตั้งคำถามว่า “แต่ถ้าทุกสิ่งที่เราได้รับการสอนให้เชื่อเกี่ยวกับความชรานั้นผิดล่ะ? ถ้าเราเลือกที่จะขยายอายุขัยได้ล่ะ?”

หะแรก ผมก็คิดว่าคุณหมอซินแคลร์คงจะแค่เล่นคำเพื่อจะดึงดูดให้คนมาอ่านหนังสือของแก

แต่พอลงรายละเอียดก็เห็นว่าสิ่งที่แกนำเสนอนั้นเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์

 

ดร.เดวิด ซินแคลร์ เป็นผู้นำระดับโลกด้านพันธุศาสตร์และศาสตร์แห่งการมีอายุยืนยาว

แกเปิดทฤษฎีใหม่ที่ชัดเจนว่าทำไมมนุษย์จึงมีอายุยาวนานขึ้นด้วยคุณภาพของชีวิตที่ดีขึ้น

ประเด็นที่คุณหมอตั้งนั้นท้าทายความเชื่อเก่าๆ เกือบทั้งหมด

แกบอกว่า “ความแก่ชราเป็นโรคและโรคนั้นสามารถรักษาได้”

หลายคนที่อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วบอกว่าผลงานของแกช่วยเปิดหูเปิดตาและเร้าใจสำหรับวงการแพทย์และสังคมโลกทั่วไป

เพราะเป็นบทสรุปที่มาจากงานวิจัยที่ก้าวข้ามข้อจำกัดทางวิทยาศาสตร์ที่เราท่านเรารับรู้มาก่อน

ผลงานจากห้องทดลองสะท้อนถึงความก้าวหน้าที่ท้าทายทฤษฎีดั้งเดิมในหัวข้อนี้มากมาย

ที่ว่าถ้าความชราเป็นโรค และโรคย่อมรักษาได้นั้นตอกย้ำถึงความรู้ใหม่ๆ ที่มาจากการศึกษาค้นคว้าที่นำไปสู่การดูแลรักษาคนวัยที่ล่วงเลย “กลางคน” ได้อย่างน่าสนใจ

กุญแจสำคัญคือการกระตุ้นยีนพลังชีวิตที่ค้นพบใหม่ ซึ่งเป็นลูกหลานของวงจรการอยู่รอดทางพันธุกรรมในสมัยโบราณ

อันเป็นทั้งสาเหตุของความชราและกุญแจสำคัญในการย้อนกลับกระบวนการเสื่อมทรุดของร่างกายมนุษย์

การทดลองล่าสุดในการตั้งโปรแกรมใหม่ทางพันธุกรรมชี้ให้เห็นว่าในอนาคตอันใกล้นี้ เราอาจไม่เพียงแต่สามารถรู้สึกอ่อนกว่าวัยเท่านั้น แต่ยังทำให้มนุษย์สามารถมีอายุยืนยาวได้ถึง 100 ปีแบบสบายๆ อีกด้วย

การทดลองวิทยาศาสตร์ประกอบกับการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมสามารถสร้างความมหัศจรรย์ที่ว่านี้ได้

แต่นั่นหมายถึงการที่ผู้ที่ต้องการยกระดับมาตรฐานคุณภาพชีวิตของตนต้องปรับแปลงวิถีชีวิตที่ไม่ได้สลับซับซ้อนอะไรมากนัก

เช่น การอดอาหารเป็นช่วงๆ การสัมผัสความเย็น การออกกำลังกายด้วยความถี่และเข้มข้นที่เหมาะสม และการกินเนื้อสัตว์ให้น้อยลง

ใครบอกว่าสูตรนี้ก็เป็นที่ “รู้ๆ กันอยู่” แสดงว่ายังไม่ได้ปฏิบัติจริงและต่อเนื่องจริงจัง

ถามเหล่าบรรดาผู้อาวุโสที่ยังกระชุ่มกระชวยในวัยเกิน 70 ทั้งหลายจะได้รับคำตอบตรงกันว่า

“วินัย” กับ “ความเสมอต้นเสมอปลาย” และ “ปล่อยวาง” คือกุญแจของ “ความยืนยง” ที่แท้ทรู