แพทย์ พิจิตร : การเปลี่ยนแปลงแบบแผนการยุบสภาของอังกฤษ (13)

จากการศึกษาปฏิสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างสถาบันการเมืองที่สำคัญอย่างสถาบันกษัตริย์กับรัฐสภาของอังกฤษผ่านการยุบสภาตลอดระยะเวลาอันยาวนาน ทำให้เห็นพัฒนาการและการปรับตัวของทั้งสองสถาบันในแต่ละยุคสมัยท่ามกลางบริบททางสังคมการเมืองที่เริ่มมีการกระจายอำนาจสู่ประชาชนมากขึ้น ก่อนจะตกผลึกลงตัวเป็นแบบแผนและจารีตประเพณีดังกล่าว

ซึ่งในตอนแรกนั้นทุกฝ่ายในสังคมต่างยอมรับจารีตประเพณีที่ยอบรับพระราชอำนาจของกษัตริย์ในการยุบสภาแต่เพียงผู้เดียวโดยเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

แต่ต่อมาเพื่อพระราชอำนาจดังกล่าวถูกท้าทายจากตัวแสดงทางการเมืองอื่นที่เริ่มมีอำนาจมากขึ้น สถาบันกษัตริย์ก็เริ่มเรียนรู้และปรับตัวยอมรับเงื่อนไขทางสังคมต่างๆ พร้อมๆ กับการตระหนักถึงสิทธิทางการเมืองของประชาชนมากขึ้น โดยเฉพาะสิทธิที่แสดงผ่านตัวแทนทางการเมืองของพวกเขาในสภา

เมื่อเป็นเช่นนี้จารีตประเพณีเรื่องพระราชอำนาจในการยุบสภาจะเป็นประเด็นสำคัญที่ถูกตั้งคำถามในสังคม และค่อยๆ ถูกถ่ายโอนไปอยู่ในมือของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง

แต่ก็ยังไม่อาจหาข้อสรุปร่วมกันได้

ที่สำคัญในสภาพโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองมีความสลับซับซ้อนมากขึ้นในปัจจุบัน ก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีการปรับปรุงกลไกต่างๆ เพื่อรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

และในกรณีนี้ สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดก็คือ การตราพระราชบัญญัติ “วาระที่ตายตัวของรัฐสภา” (Fixed-term Parliament Act) ในปี ค.ศ.2011

ซึ่งนับว่าเป็นนวัตกรรมทางสังคมที่แปลกใหม่อย่างยิ่งสำหรับประเทศที่สถาบันพระมหากษัตริย์ทรงครองอำนาจทางการเมืองมาหลายร้อยปีเช่นนี้และยังเป็นสถาบันที่ยังคงได้รับการยอมรับทางสังคมอยู่มาก

 

ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจและสามารถตีความกรณีการยุบสภาของไทยที่ผ่านมาได้อย่างครอบคลุมและลึกซึ้งมากขึ้น

ผู้เขียนเห็นถึงความจำเป็นในการศึกษากรอบแนวคิดเกี่ยวกับหลักการและเหตุผลของการยุบสภาผู้แทนราษฎรในระดับที่เป็นสากลมากขึ้น

ซึ่งเมื่อศึกษาเพิ่มเติมก็พบว่าไม่มีการเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการยุบสภาใดจะละเอียดและครอบคลุมไปกว่าการศึกษาของสถาบันนานาชาติเพื่อประชาธิปไตยและการช่วยเหลือส่งเสริมการเลือกตั้ง (International Institute for Democracy and Electoral Assistance : IDEA)

ซึ่งล่าสุดเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี ค.ศ.2016 เพิ่งเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการยุบสภาผู้แทนราษฎรไว้ดังนี้คือ

 

“อํานาจในการยุบสภาคืออำนาจในการยุติวาระการทำงานของสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่เกิดขึ้น สภาจะต้องถูกบังคับให้สิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดวาระ ในหลายประเทศ การยุบสภาก่อนสภาครบวาระเกิดขึ้นได้ในเงื่อนไขสถานการณ์บางอย่าง ความสามารถที่จะยุบสภาก่อนครบวาระถือเป็นการเปิดทางให้พ้นจากทางตันภายในสภา หรือระหว่างสภากับรัฐบาล โดยให้ประชาชนตัดสิน การยุบสภาก่อนครบวาระขึ้นอยู่กับกติกาที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญในแต่ละประเทศ การยุบสภาอาจจะเกิดขึ้นเพื่อเป็นการต่ออาณัติของรัฐบาล ตัวอย่างเช่น ยุบสภาหลังจากเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี”

การยุบสภาเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่ทรงอำนาจ การกำหนดให้อำนาจในการยุบสภาอยู่ที่ไหนและมีขอบเขตมากน้อยเพียงไร ย่อมจะส่งผลกระทบต่อสมดุลอำนาจในภาพรวมของระบอบการเมืองการปกครองนั้นๆ

ถ้ากรอบในการยุบสภากว้างและอยู่ในมือของประมุขของรัฐหรือประมุขฝ่ายบริหาร ก็กล่าวได้ว่า ระบบการเมืองนั้น อำนาจจะกระจุกรวมอยู่ที่สถาบันทางการเมืองดังกล่าว แต่ถ้าอำนาจในการยุบสภามีขอบเขตจำกัด หรือใช้โดยตัวสภาเอง สภาก็จะเป็นสถาบันที่มีอำนาจมากกว่า

ระบบรัฐสภาหรือกึ่งรัฐสภาโดยส่วนใหญ่ ยอมให้มีการยุบสภาก่อนครบวาระได้ในบางสถานการณ์- แม้ว่าสถานการณ์ที่จะเป็นไปได้ที่ว่านี้ จะอยู่ภายใต้กรอบที่ให้อำนาจในการยุบสภานั้นอย่างกว้างขวางมากจนเกือบจะไม่กรอบจำกัดใดๆ ไปจนถึงการวางกรอบที่จำกัดมากที่จะสามารถใช้ได้แต่ในกรณีเฉพาะ

 

เมื่อพิจารณาในเชิงประวัติศาสตร์จะพบว่า อำนาจในการยุบสภาสามารถย้อนหลังไปถึงแนวคิดเกี่ยวกับสภาในยุคกลางในฐานะที่เป็นสภาที่ปรึกษาใหญ่ (great councils of the “estates of the realm) ซึ่งถูกเรียกประชุมในบางครั้งบางคราวเพื่อถวายคำแนะนำหรือสนับสนุนพระมหากษัตริย์ในออกกฎหมายและเก็บภาษี

แม้ว่าสภาในยุคกลางในบางประเทศจะได้สถาปนาสิทธิ์ที่จะต้องมีการประชุมสภาอย่างสม่ำเสมอ และบางที่ถึงกับมีสิทธิ์ที่สภาจะไม่สามารถถูกยุบได้โดยปราศจากความยินยอมของสภา แต่ขณะเดียวกัน ในบางประเทศ ก็เป็นสิ่งปรกติที่พระมหากษัตริย์จะทรงเรียกและปิดสภาตามความต้องการของพระองค์

อำนาจอันกว้างขวางของพระมหากษัตริย์ในการยุบสภาดำรงอยู่ในรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรหลายแห่งในช่วงแรกเริ่มที่มีรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร เช่น the French Constitutional Charter of 1814, the Belgian Constitution of 1831, the Romanian Constitution of 1866 และ the Japanese Constitution of 1889 และโดยหลักการ รัฐธรรมนูญเหล่านี้ให้อำนาจพระมหากษัตริย์ในการยุบสภาเมื่อใดก็ได้ และด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม

ในรัฐธรรมนูญราชาธิปไตยแรกเริ่มนี้ อำนาจในการยุบสภาของพระมหากษัตริย์โดยเริ่มต้นถูกมองในฐานะที่เป็นอำนาจอนุรักษนิยมในการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างอำนาจของพระมหากษัตริย์กับอำนาจของสภา โดยมุ่งให้อำนาจนี้ถูกใช้ตามแต่พระราชวินิจฉัยของพระมหากษัตริย์

อย่างไรก็ตาม ในหลายประเทศในยุโรป ลักษณะหรือธรรมชาติของพระราชอำนาจได้ค่อยๆ เปลี่ยนไปในช่วงศตวรรษที่สิบเก้า จากการการเกิดและการเติบโตของพรรคการเมืองที่มีการจัดตั้งแข่งขันเพื่อให้มีผู้ลงคะแนนที่กว้างขวางมากขึ้นส่งผลให้ความรับผิดชอบและภาวะผู้นำได้เปลี่ยนไปสู่นายกรัฐมนตรีที่ขึ้นอยู่กับความไว้วางใจของเสียงข้างมากในสภา

พระมหากษัตริย์ไม่ได้เป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพของฝ่ายบริหารอีกต่อไป

และพระราชอำนาจถูกจำกัดมากขึ้นโดยแบบแผนทางประเพณีที่เปลี่ยนแปลงไปตามบริบททางการเมือง

ส่งผลให้พระราชอำนาจในการยุบสภาของพระมหากษัตริย์จะใช้ได้ก็ต่อเมื่อมีการถวายคำแนะนำของนายกรัฐมนตรี แม้ว่าพระราชอำนาจในการยุบสภาจะมีกรอบจำกัดดังกล่าว

ขณะเดียวกัน องค์พระมหากษัตริย์จะยังคงทรงมีบทบาทที่จะใช้พระราชวินิจฉัยในการยอมให้หรือปฏิเสธการยุบสภาได้

แต่ก็ต้องในสถานการณ์ที่พิเศษจริงๆ

รัฐธรรมนูญของระบบรัฐสภาของหลายประเทศในศตวรรษที่ยี่สิบได้แสดงออกอย่างเป็นทางการและเป็นลายลักษณ์อักษรต่อการจำกัดอำนาจของประมุขของรัฐในการยุบสภา

ในรัฐธรรมนูญต่างๆ ที่ได้รับอิทธิพลจากประเพณีของอังกฤษ (the British tradition) จะพบแบบแผนที่เป็นทางการว่า ประมุขของรัฐต้องให้มีการยุบสภาตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรี และอาจมีจะเจาะจงลงไปด้วย มีสถานการณ์เฉพาะใดที่ประมุขของรัฐสามารถปฏิเสธได้

 

ในปัจจุบันรัฐธรรมนูญในระบบรัฐสภากำหนดอำนาจในการยุบสภาไว้ จากกว้างๆ ที่รัฐบาลสามารถยุบสภาได้ตามต้องการจนถึงจะต้องได้รับความเห็นชอบจากสภา

หรืออาจจะยุบได้เพียงภายใต้สถานการณ์เฉพาะ เช่น เมื่อรัฐบาลใหม่ไม่สามารถจัดตั้งได้หลังจากการเลือกตั้งทั่วไปหรือไม่ได้รับความไว้วางใจ

นอกจากนี้ สถาบันนานาชาติเพื่อประชาธิปไตยและการช่วยเหลือส่งเสริมการเลือกตั้ง (IDEA, International Institute for Democracy and Electoral Assistance) ยังได้กล่าวถึงเป้าหมายและหลักการเหตุผลของอำนาจในการยุบสภาโดยทั่วไป

เหตุผลสำคัญประการแรกอันเป็นเหตุผลที่คลาสสิคมาก นั่นคือ การยุบสภาเป็นเครื่องมือในการบังคับวินัยพรรคและสร้างความเข้มแข็งให้กับฝ่ายบริหาร

ซึ่งในทางกลับกัน ข้อดีนี้ก็เป็นข้อเสียในเวลาเดียวกัน

มิฉะนั้นแล้ว อังกฤษในปี ค.ศ.2011 ก็คงไม่เปลี่ยนกติกายกเลิกไม่ให้นายกรัฐมนตรียุบสภาได้ตามใจชอบอีกต่อไป