วิกฤติศตวรรษที่21 : ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นล่างกับชนชั้นบน

มองโลกปี 2017 และหลังจากนั้น (37) 

ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นล่างกับชนชั้นบน : อ่อนแอลงทั้งสองฝ่าย

กล่าวกันว่าความขัดแย้งระหว่างชนชั้นล่างกับชนชั้นบนเป็นความขัดแย้งพื้นฐาน ที่ขับเคลื่อนให้สังคมรุดหน้า เกิดคุณภาพใหม่

นับแต่วิกฤติเศรษฐกิจปี 2008 ปรากฏความขัดแย้งทางชนชั้นนี้รุนแรงและชัดเจนขึ้น

บทความในนิตยสารไทม์ที่ทรงอิทธิพลของอเมริกา ชี้ให้เห็นการต่อสู้ทางชนชั้นในระบบทุนนิยมตามที่มาร์กซ์กล่าวไว้ว่า ระบบทุนนิยม “สะสมความมั่งคั่งที่ขั้วหนึ่ง ในขณะเดียวกันที่อีกขั้วหนึ่งก็สะสมความทุกข์ยาก ความเจ็บปวดจากการทำงานหนัก ความเป็นทาส ความโง่เขลา ความโหดทารุณและความเสื่อมทางจิตไว้”

ความตึงเครียดทางชนชั้นทางเศรษฐกิจในสหรัฐพุ่งขึ้นสูง มีการมองเห็นว่าสังคมอเมริกันแตกเป็นสองขั้ว ระหว่างมวลชน “ร้อยละ 99” เป็นสามัญชนที่ดิ้นรนเพื่อการอยู่รอด กับพวก “ร้อยละ 1” ที่เป็นมหาเศรษฐีมีเอกสิทธิ์และร่ำรวยขึ้นทุกวัน

ความขัดแย้งนี้ได้เข้าครอบงำการเมืองของอเมริกาในปัจจุบัน

การต่อสู้ทางชนชั้นครั้งนี้ยังเห็นได้ชัดในฝรั่งเศส จากวิกฤติเศรษฐกิจและการตัดลดงบประมาณ ทำให้ความขัดแย้งทางชนชั้นระหว่างคนรวยกับคนจนรุนแรงขึ้น

บทความชี้ว่าผู้กำหนดนโยบายควรจะได้ปรับแก้สถานการณ์นี้ไม่ให้รุนแรงจนถึงขั้นระเบิดขึ้น (ดูบทความของ Michael Schuman ชื่อ Marx”s Revenge : How Class Struggle Is Shaping the World ใน business.time.com 25.03.2013)

ในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ มีการสำรวจของสหภาพผู้ออกอากาศแห่งยุโรป (เดือนเมษายน 2017) ในหมู่คนหนุ่มสาวเกือบล้านคนทั่วยุโรปเสรี

พบว่าคนหนุ่มสาวกว่าครึ่งหนึ่งคือร้อยละ 53 พร้อมที่จะเข้าร่วมการลุกขึ้นสู้ครั้งใหญ่

บางตัวเลขของการสำรวจ พบความไม่พอใจของคนหนุ่มสาวเหล่านี้ค่อนข้างสูง คือ

ก) ร้อยละ 89 เห็นด้วยว่าธนาคารและทุนการเงินปกครองโลก

ข) ร้อยละ 84 เห็นด้วยว่าช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยขยายตัว

ค) ร้อยละ 34 เห็นว่านักการเมืองเกือบทั้งหมดฉ้อฉล ร้อยละ 58 เห็นว่าบางคนฉ้อฉล ร้อยละ 8 เห็นว่าไม่ฉ้อฉล

ง) ในเยอรมนีต่อคำถามว่า ในยามสงคราม จะเต็มใจไปรบเพื่อประเทศของคุณหรือไม่ ร้อยละ 67 ตอบว่าไม่ ร้อยละ 33 ตอบว่าจะไป

โทมัส กรอนด์ ประธานสหภาพผู้ออกอากาศฯ ให้สัมภาษณ์ว่าตัวเลขเหล่านี้แสดงถึง “หายนะ” ของความเชื่อถือต่อสถาบันสังคม “ความเชื่อถือในสื่อ ในนักการเมือง ในศาสนาทั้งหมดนี้ล้มเหลว… ประชากรหนุ่มสาวจำนวนมากไม่รู้สึกว่าระบบการเมืองเห็นความสำคัญของพวกเขา มันเป็นเพียงเพื่อการรักษาระบบไว้เท่านั้น” (ดูบทความของ Andre Damon ชื่อ More than half of young people in Europe would join a “large-scale uprising” ใน wsws.org 10.05.2017)

การต่อสู้ทางชนชั้นดังกล่าวนี้ มีลักษณะพิเศษสองประการควรกล่าวถึงได้แก่

(ก) เป็นการเกิดขึ้นทั่วโลก ชนชั้นนำสร้างเป็นเครือข่ายทุนนิยมเรียกว่าลัทธิเสรีนิยมใหม่-โลกาภิวัตน์ สร้างระบบสอดส่องควบคุมประชากรใน ขอบเขตทั่วโลก รวมทั้งการแทรกซึมของขบวนการเคลื่อนไหวของชาวรากหญ้าเรียกว่า “การสร้างรากหญ้าเทียม”

(ข) ส่วนทางด้านชนชั้นล่างอาศัยโครงสร้างการผลิต การค้าและการลงทุนที่มีลักษณะทั่วโลก ได้สร้างสื่อสังคมของตน ช่วยในการรับรู้ การสร้างขวัญกำลังใจ การรวมตัวและการเคลื่อนไหวได้เป็นอย่างมาก สามารถแทรกซึมเข้าไปในพื้นที่ที่มีความมั่งคั่งและอำนาจมากกว่าได้ เช่น โดยการอพยพลี้ภัย ทั้งอาศัยข้อได้เปรียบจากการมีจำนวนประชากรมากกว่าและยังอยู่ในวัยหนุ่มสาว สามารถดำเนินการต่อสู้อย่างหลากหลายและยึดเยื้อ ไม่จำเป็นต้องเร่งเข้ายึดอำนาจรัฐ

(ข) เป็นการต่อสู้ที่ทั้งสองฝ่ายล้วนประสบความยากลำบาก ด้านชนชั้นนำเกิดความแตกแยกระส่ำระสายทางนโยบาย ไม่สามารถปกครองในแบบเดิมได้อีกต่อไป โลกาภิวัตน์ปริร้าว มีศูนย์อำนาจใหม่ผุดขึ้นท้าทายอำนาจเดิม เครื่องมือการปกครองชราภาพ แต่ก็หาเครื่องมือใหม่ยังไม่ได้ แต่ชนชั้นล่างก็อ่อนแอลงเช่นกัน กล่าวคือ ยิ่งต่อสู้ยิ่งยากจน ขณะที่ชนชั้นบนมั่งคั่งขึ้น ชาวบ้านถูกยึดบ้าน ยึดรถ ยึดที่ดิน ตกงานหรือมีรายได้ไม่เพิ่มขณะที่ของแพงขี้น เกิดความแตกแยกในหมู่ชาวรากหญ้าเอง ขบวนการเคลื่อนไหวไม่ออก ผู้นำถูกซื้อไม่ยอมนำอีกต่อไป

ในบรรยากาศของความอ่อนแอทั้งสองฝ่าย ได้สร้างความสิ้นหวัง โหมความเกลียดชัง กระพือความหวาดระแวง ความหวาดกลัวคนต่างชาติ เกิดอคติที่ฟอกไม่ออก ก่อความตึงเครียดทางการเมืองทั้งภายในและระหว่างประเทศ นำไปสู่การใช้กำลังความรุนแรง จนถึงเกิดการจลาจลและสงครามโดยได้ง่าย

ในฉบับนี้จะกล่าวถึงการเคลื่อนไหวด้านชนชั้นนำก่อน

โลกาภิวัตน์-จากการปฏิวัติทางเทคโนโลยี

สู่การปะทะกันทางอารยธรรม

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เทคโนโลยีข่าวสารและการสื่อสารได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว มีนักวิชาการและนักธุรกิจจำนวนมากเห็นว่าเทคโนโลยีนี้จะส่งผลกระทบสูงยิ่ง สร้างสังคมใหม่ เศรษฐกิจใหม่ อำนาจใหม่และแบบวิถีการดำเนินชีวิตใหม่ขึ้นได้ มีนักอนาคตศาสตร์และนักยุทธศาสตร์ชาติชาวสหรัฐ 2 คน ที่มีบทบาทสูงในการชี้ให้เห็นผลจากเทคโนโลยีดังกล่าวและการเตรียมรับมือ ได้แก่ อัลวิน ทอฟฟ์เลอร์ และ ซบิกนิว เบรซซินสกี

ทอฟฟ์เลอร์ (1928-2016) เขียนหนังสือชุดสามเล่มที่ติดอันดับขายดี มีการแปลเป็นต่างภาษาจำนวนมาก รวมทั้งภาษาไทย มีอิทธิพลสูงต่อนักการเมือง เช่น จ้าวจื่อหยาง อดีตนายกรัฐมนตรีจีน มิคาอิล กอร์บาชอฟ ผู้นำแห่งสหภาพโซเวียต และ นิวต์ กิงริช อดีตประธานสภาผู้แทนฯ สหรัฐ พรรครีพับลิกัน นักการทหาร ผู้บริหารระดับสูง เช่น เทด เทอร์เนอร์ ผู้ก่อตั้งซีเอ็นเอ็น

หนังสือทั้ง 3 เล่มได้แก่

ก) “ฟิวเจอร์ช็อก” (1970) กล่าวถึงความก้าวหน้าทางสังคมและเทคโนโลยีว่าจะนำพาสังคมไปสู่ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงใหญ่ในทุกมิติ ซึ่งก่อความกังวลอย่างสูงต่อผู้คนทั่วโลก จากคลื่นความเปลี่ยนแปลงที่เร็วขึ้นทุกที จำเป็นต้องสร้างรากใหม่

ข) “คลื่นลูกที่สาม” (1980) กล่าวถึงพัฒนาการสังคมมนุษย์จากสังคมเกษตรกรรม สู่สังคมอุตสาหกรรมและสังคมความรู้ เป็นยุคของการเชื่อมโยงและเข้าถึงข้อมูลจากทุกแห่งหน

ค) “การเปลี่ยนอำนาจ” (1990) พยากรณ์การเปลี่ยนอำนาจในศตวรรษที่ 21 จากปืนหรือความรุนแรงสู่ทุน และสู่ความรู้ในที่สุด

ในปี 1996 ทอฟฟ์เลอร์ร่วมก่อตั้งบริษัทที่ปรึกษาทางข่าวสาร เพื่อให้คำแนะแก่รัฐบาลและองค์กรธุรกิจ เพื่อแปรโฉมองค์กรใหม่ให้ทนทานต่ออนาคต

งานเขียนของทอฟฟ์เลอร์นั้นเป็นที่จับใจของผู้คน แต่มีจุดอ่อนสำคัญที่เขาให้ความสำคัญแก่ความก้าวหน้าและเทคโนโลยีมากไป และประเมินอำนาจทุนต่ำไป

ปรากฏว่าทุนสามารถควบขี่เทคโนโลยีดิจิตอลได้อย่างสบายมือ เพราะว่าเป็นผู้สร้างและขับเคลื่อนเทคโนโลยีนี้ขึ้นมาเอง ยังคุมอำนาจเหนือความรู้และตลาดไว้ได้เพราะว่าการศึกษาและพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมที่ครองตลาดต้องใช้เงินทุนสูง กลายเป็นว่าชนชั้นล่างจำนวนมาก ถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง ซึ่งทำให้ความทุกข์และความเครียดในหมู่ชนชั้นล่างนับวันสูงขึ้น

สำหรับเบรซซินสกี (1928-2017) งานเขียนของเขาเน้นหนักไปในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและภูมิรัฐศาสตร์ซึ่งนำมาใช้ในการอธิบายและคาดคะเนสถานการณ์และแนวโน้มการต่อสู้ระหว่างชนชั้นล่างกับชนชั้นบนในอีกมุมมองหนึ่ง เขามีงานเขียนที่ควรกล่าวถึงสามเล่มได้แก่

(ก) “ระหว่างสองยุค” (Between Two Ages : America”s Role in the Technetronic Era เผยแพร่ปี 1970) ชี้ว่าสหรัฐกำลังอยู่ระหว่างสองยุค หนึ่งคือขบวนการซ้ายใหม่ที่เคลื่อนไหวอย่างน่าเกรงขามในสหรัฐและยุโรปตะวันตก อีกหนึ่งได้แก่ระบบรัฐกิจที่ใหญ่โตเชื่องช้าในสหภาพโซเวียต สหรัฐมีบทบาทสองด้านได้แก่ การเผยแพร่การปฏิวัติเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ และการเป็นผู้รักษาสำคัญของสถานะเดิมของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไว้

(ข) “หมากรุกกระดานใหญ่” (The Grand Chessboard : American Primacy and Its Geostrategic Imperatives เผยแพร่ปี 1997 หลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต) ชี้ว่าต้องไม่ยอมให้ชาติใดขึ้นมีอำนาจครอบงำในดินแดนยูเรเซีย ซึ่งจะสามารถท้าทายต่ออำนาจโลกของสหรัฐได้

(ค) “โอกาสอีกครั้งเดียว” (Second Chance : Three Presidents and the Crisis of American Superpower เผยแพร่ปี 2007) ชี้ถึง “บาป” ทางนโยบายของสามประธานาธิบดีสหรัฐ ได้แก่ บุชผู้พ่อสร้าง “บาปกำเนิด” คลินตันสร้างบาป “การไร้ความสามารถจากปรารถนาดี” และบุชผู้ลูกที่สร้างบาป “หายนะของการเป็นผู้นำ”

ประธานาธิบดีที่จะขึ้นมาหลังปี 2008 มีโอกาสเป็นครั้งสุดท้ายในการแก้ไขบาปเหล่านี้ คือ การเสริมความเข้มแข็งของพันธมิตรแอตแลนติก ปฏิรูปการวิ่งเต้นทางการเมือง รักษาการนำในตะวันออกกลาง แก้ปัญหาอิสราเอล-ปาเลสไตน์ให้สำเร็จ สร้างฉันทามติทางสิ่งแวดล้อม สร้างยุทธศาสตร์ที่ดีขึ้นต่อการรุ่งเรืองของจีน เป็นต้น

จากงานเขียนของเบรซซินสกี ช่วยให้เห็นภาพการเคลื่อนไหวของชนชั้นนำโลกในการรักษาสถานะเดิมดังนี้

1) มีความน่าหวั่นเกรงจากขบวนซ้ายใหม่อันทรงพลังในสหรัฐและยุโรป และลัทธิคอมมิวนิสต์ในสหภาพโซเวียตที่ตั้งตระหง่าน การรักษาลัทธิเสรีนิยมไว้จำต้องปรับตัวครั้งใหญ่โดยผสมเข้ากับการปฏิวัติเทคโนโลยีข่าวสารและการสื่อสาร สร้างเป็นลัทธิเสรีนิยมใหม่และกระบวนโลกาภิวัตน์ขึ้นมา

2) ลำพังพันธมิตรแอตแลนติก คือสหรัฐและยุโรปตะวันตก ไม่พอรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้ จำต้องขยายวง ตั้งองค์การไตรภาคีรวมเอาเอเชียตะวันออกที่สำคัญคือญี่ปุ่นเข้าร่วม (ก่อตั้งปี 1973) ซึ่งต่อมามีการพัฒนาอย่างอิสระเป็นกลุ่ม 7 (1976) ที่ร่วมกันจัดการปกครองโลก

3) เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลาย มีนักรัฐศาสตร์สหรัฐบางคนเสนอว่า ประวัติศาสตร์มนุษย์ได้สิ้นสุดในยุคทุนนิยมนี้แล้ว แต่เบรซซินสกีเห็นว่า ยังมีดินแดนยูเรเซียที่ยังต้องช่วงชิงกัน แซมมวล ฮันติงตัน ที่มีความคิดแนวเดียวกันชี้ก่อนหน้านั้นว่า ยังมีการปะทะระหว่างอารยธรรมดำรงอยู่ ระหว่างอารยธรรมชาวคริสเตียนผิวขาวของอเมริกา-อังกฤษและยุโรปที่ครองอำนาจมากว่า 200 ปี กับอารยธรรมขงจื๊อมีจีนเป็นตัวแทน อารยธรรมอิสลามที่กระจายไปทั่วโลก และอารยธรรมฮินดูของอินเดีย เป็นต้น การปะทะกันนี้ทำให้อำนาจตะวันตกตกอยู่ในความไม่แน่นอน

4) เมื่อถึงปี 2008 เบรซซินสกีได้ชี้ว่าการตื่นตัวทางการเมืองใหญ่ที่เกิดขึ้นในประเทศตะวันตก บัดนี้ได้ขยายตัวไปสู่ความตื่นตัวทางการเมืองทั้งโลกแล้ว เขาบรรยายว่า “เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มนุษยชาติเกือบทั้งหมดได้ถูกกระตุ้นทางการเมือง เกิดจิตสำนึกทางการเมือง และมีปฏิสัมพันธ์กันทางการเมือง นักเคลื่อนไหวทั่วโลกกำลังก่อกระแสสูงในการแสวงหาการได้รับความนับถือทางวัฒนธรรมและโอกาสทางเศรษฐกิจในโลกที่บาดแผลแห่งความทรงจำของการครอบงำแบบอาณานิคม และจักรวรรดินิยมยังดำรงอยู่” ประเทศต่างๆ ต้องการความมีศักดิ์ศรีและสิทธิในการปกครองตนเอง (ดูบทความชื่อ The global political awakening ของ Sbigniew Brzezinski ใน nytimes.com 16.12.2008)

5) ผู้นำสหรัฐต่อจากประธานาธิบดีบุชผู้ลูก ไม่สามารถทำตามคำแนะนำของเขาได้มาก เมื่อถึงประธานาธิบดีทรัมป์ บาปทางการเมืองกลับยิ่งหนักขึ้นอีก ผลแห่งบาปนี้ได้สร้างความแตกแยกในสังคมอเมริกันอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนนับแต่หลังสงครามเย็น กับทั้งก่อความแตกร้าวในกระบวนโลกาภิวัตน์

อย่างไรก็ตาม การแตกร้าวของกระบวนโลกาภิวัตน์ที่นำโดยอเมริกา-อังกฤษ และยุโรป ไม่ได้หมายถึงว่ากระบวนโลกาภิวัตน์จะสิ้นสุด เพราะขั้วอำนาจใหม่ที่ขึ้นมาท้าทาย ได้แก่ รัสเซีย-จีน ก็ประกาศชัดว่าจะขับเคลื่อนโลกาภิวัตน์ต่อไป

เป็นโลกาภิวัตน์แบบประเทศต่างๆ เสมอภาคกัน

ไม่เป็นโลกาภิวัตน์แบบวางโตของสหรัฐ อิหร่าน ที่มีการปฏิวัติอิสลามก็เปิดประตูกว้างสำหรับการลงทุนจากภายนอก ดังนั้น ในเมืองไทย ผู้ที่ทำธุรกิจด้านค้าปลีก โซเชียลมีเดีย และเทคโนโลยีสารสนเทศก็ควรเตรียมรับมือกับการรุกเข้ามาของ แจ๊ก หม่า ประธานบริหารกลุ่มอาลีบาบาของจีนไว้ให้ดีก็แล้วกัน

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงการสอดส่องปราบปรามและการสร้างรากหญ้าเทียมของชนชั้นนำ