ประชา สุวีรานนท์ : ล่าผัวกับฆ่าผี

ชื่อหนัง Pride and Prejudice and Zombies อาจจะทำให้หลายคนผงะ เพราะคล้ายกับนิยายคลาสสิคของ เจน ออสติน ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริง แม้จะสร้างจากนิยายของ เซธ แกรมฮ์-สมิธ แต่ก็ใช้เค้าโครงของ Pride and Prejudice นั่นเอง

แกรมฮ์-สมิธ เป็นผู้เขียนนิยายเรื่อง Abraham Lincoln : Vampire Hunter ซึ่งให้ประธานาธิบดีสหรัฐ ถือขวานเข้าจามหัวผีดูดเลือด คราวนี้ เขาเอาสาวหน้าใสในชุดแสนสวยมาสู้กับซอมบี้สุดสกปรก และให้เหล่าผีดิบที่กำลังหิวสมองมนุษย์บุกเข้าไปในทุ่งหญ้าเขียวขจีและบ้านเมืองของอังกฤษ

หนังเริ่มต้นเหมือนนิยายของออสตินคือที่บ้านของครอบครัวเบนเนต ขณะที่มหาเศรษฐีหนุ่มรูปงามย้ายมาอยู่ที่คฤหาสน์ข้างๆ และจัดงานเต้นรำขึ้น คุณนายเบนเนตสั่งให้ลูกสาวทั้งห้าไปงานเลี้ยงและหาทางแต่งงานกับผู้ชายรวยๆ

ผู้หญิงสนใจแต่ความงามและงานบ้าน ส่วนการ “หาผัว” ก็เป็นเรื่องที่จริงจังมาก งานเลี้ยงเต้นรำจึงเหมือนเทศกาลหาคู่ และคุณสมบัติแรกที่ต้องหมายตาคือทรัพย์สมบัติ

นอกจากนั้น การจะจับผู้ชายให้ได้ เธอยังต้องรู้จักปั้นหน้า ไม่พูดหรือทำอะไรตามใจคิด

 

หนังจะถ่ายทอดหัวใจของนิยายแบบนี้ นั่นคือความขัดแย้งระหว่างฐานะการเงินกับความรัก เปลือกนอกกับเนื้อแท้ และมรรยาทสังคมกับความจริงใจ ในงานเลี้ยง เจน พี่สาวคนโต ตกหลุมรักบิงลีย์ เศรษฐีคนนั้นตั้งแต่แรกเห็น ส่วนนางเอกคือ เอลิซาเบธ สนใจนายดาร์ซีย์ เพื่อนของบิงลีย์ แต่ทั้งสองทำเป็นไม่ชอบกัน มีการตั้งแง่ตั้งงอนและแสดงความหยิ่งยโสของตนออกมาอย่างเปิดเผย

ที่แตกต่างคือ แทนที่จะเก่งงานบ้านงานเรือนเหมือนหญิงทั่วไป สาวบ้านนี้กลับเชี่ยวชาญเรื่องศิลปะการต่อสู้ เพราะเพิ่งกลับมาจากการเรียนที่สำนักเส้าหลิน ครอบครัวเบนเนตแบ่งงานกันทำ แม่สอนงานบ้านและวิธีการเลือกผู้ชายดีๆ ส่วนพ่อสอนให้รู้จักป้องกันตนเองด้วยการส่งไปฝึกวิทยายุทธ์ถึงเมืองจีน

และเมื่อซอมบี้นับแสนกำลังจะบุกลอนดอน ระหว่างที่สาละวนกับการล่าผัว ห้าดรุณีก็ต้องช่วยกันฆ่าผีด้วย


เรื่องที่ออสตินเขียนเมื่อปี พ.ศ.2356 ถือกำเนิดในยุคแรกของนวนิยายและช่วงที่เรียกว่า “สมัยใหม่” หนังสือเล่มนี้ถูกยกย่องอย่างสูงและเป็นต้นแบบของนวนิยายคลาสสิคของไทยจำนวนมาก

ประโยคแรกที่ว่า “It is a truth universally acknowledged, that a single man in possession of a good fortune, must be in want of a wife” ถูกแทนที่ด้วย “It is a truth universally acknowl-edged that a zombie in possession of brains will be in want of more brains.” โดยไม่อธิบาย หนังจะบอกว่าอังกฤษมีกาฬโรคระบาด และในขณะเดียวกัน ผีดิบมากมายซึ่งดูเหมือนคนที่ตายเพราะโรคร้ายชนิดนี้ก็โผล่ออกมา

หนังซอมบี้ไม่ได้มีเพียงการกินสมองคนและเฉาะหัวผีดิบ ถ้าสังเกตดูจะเห็นว่ามักจะฮิตขึ้นมาหลังจากที่เกิดเหตุร้ายที่ใหญ่โตในระดับโลก เช่น ในช่วงปลาย 1960 (Night of the Living Dead ของ จอร์จ โรเมโร) แรงกระตุ้นคือความปั่นป่วนทางสังคมที่เกิดขึ้นเพราะสงครามเวียดนาม การต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน และบริโภคนิยม

ส่วนในปัจจุบัน (ซึ่งเริ่มด้วย 28 days Later) การกลับมาอีกครั้งก็มีเหตุการณ์ 9/11 และ Global Financial Crisis เป็นสิ่งที่ช่วยโหมโรง

นิยายของออสตินไม่มีสังคม มีแต่ชนชั้นกลาง อีกทั้งพยายามปลูกฝังคุณค่าต่างๆ ของชนชั้นนี้ เช่น ความสุภาพ มีศีลธรรม และหนักแน่น แต่จะไม่พูดถึงชนชั้นอื่น และความขัดแย้งระหว่างกันที่กำลังเกิดขึ้นในยุคนั้น

นักวิชาการชื่อ เรย์มอนด์ วิลเลียมส์ (The Country and the City) เคยวิจารณ์งานกลุ่มนี้ไว้ว่า where only one class is seen, no classes are seen วาทะนี้อาจจะเป็นจุดเริ่มของการเอานิยายมาตีความใหม่ ผีดิบถูกเพิ่มเข้าไป และทำให้ Pride and Prejudice กลายเป็นเรื่องของชนชั้นกลางกับซอมบี้

เมืองกับชนบทเป็นเวทีของความขัดแย้ง ซอมบี้กำลังทะลักจากชนบทเข้าไปในลอนดอน ซึ่งคล้ายกับการอพยพหนีภัยแล้งและความอดหยาก โดยเฉพาะ The Great Famine ในไอร์แลนด์ ซึ่งกำลังจะปะทุขึ้นมาในช่วงกลางศตวรรษนั้น

หนังจะบอกด้วยว่าในยุคล่าอาณานิคมของอังกฤษ การมุ่งหน้าไปยังตะวันออก ไม่ใช่เพื่อทรัพย์สินและวัตถุดิบอย่างเดียว แต่เพื่อฝึกฝนการควบคุมสังคมของตนให้ดีขึ้น นอกจากนั้น มันยังเป็นเหตุที่ทำให้ทหารบางคนนำเอาโรคร้ายบางอย่างกลับมาบ้านด้วย นักวิชาการชื่อ เอ็ดเวิร์ด ซาอิด พูดไว้ชัดเจนว่า สิ่งที่พยุงฐานะของครอบครัว Bertram ในนิยายชื่อ Mansfield Park ของออสติน คือการทำไร่อ้อยในแคริบเบียนและผลกำไรจากบริษัทอิสต์อินเดีย

เมื่อซอมบี้เข้ามาก่อกวนระเบียบสังคมในประเทศ อังกฤษจึงต้องหาทางกำราบปราบปราม และในท่ามกลางวิกฤตนี้ บทบาทของสาวๆ ไม่ได้ถูกลดทอนลง ล่าผัวและฆ่าผี เป็นภารกิจสองอย่างที่กุลสตรีต้องเรียนรู้และฝึกฝนให้ช่ำชอง

 

ผีดิบจะถูกฆ่าด้วยวิธีต่างๆ อย่างต่อเนื่อง และฉากบู๊ของเหล่านักสู้สาวแห่งตระกูลเบนเนตก็น่าดูเหมือนหนังจีน อย่างไรก็ตาม เพราะพยายามรักษาเนื้อหาและอารมณ์แบบออสตินเอาไว้ ซอมบี้จึงไม่ค่อยมีบทบาทในเชิงดราม่า และโผล่ขึ้นมาอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย

แต่ก็เหมาะสมดี ถ้าคิดว่าหนังกำลังพูดเรื่องชนชั้นแบบ “รู้กัน” นอกจากนั้น การเอาผีดิบไปเดินในคฤหาสน์พระราชวังที่ใหญ่โตโอ่โถงหรือนครหลวงของทุนนิยมยุคนั้น แถมยังถูกฆ่าด้วยน้ำมือของสาวสวยในชุดหรูระยับ (ซึ่งเป็นสิ่งที่ The Walking Dead ทำไม่ได้) ทำให้ซอมบี้หรือความเป็น “เขา” ที่แสนน่ากลัวนั้นชัดเจน

และฐานะของ “เรา” ซึ่งแปลว่า “อารยธรรม” ก็ชัดเจนขึ้นด้วย