บาดแผลหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ/บทความพิเศษ สมชัย ศรีสุทธิยากร

สมชัย ศรีสุทธิยากร

บทความพิเศษ

สมชัย ศรีสุทธิยากร

ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต

 

บาดแผลหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

 

การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19-23 กรกฎาคม พ.ศ.2565 แม้จะจบลงด้วยไม่มีใครในกลุ่มรัฐมนตรีผู้ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ 11 คนที่ต้องพ้นตำแหน่งหน้าที่จากการลงมติของสภาผู้แทนราษฎร

แต่บาดแผลที่เกิดขึ้นนั้นกลับไม่ใช่เนื้อหาที่ฝ่ายค้านมีความตั้งใจในการนำเสนอต่อประชาชน

ไม่ใช่ข้อมูลที่มัดแน่นจากการทำการบ้านมาอย่างหนักเพื่อชี้ให้เห็นข้อผิดพลาดบกพร่องในการบริหารราชการแผ่นดิน

แต่กลับเป็นความขัดแย้งแตกแยกภายในฝ่ายรัฐบาล และการเปิดโปงข้อมูลเกี่ยวกับการจ่ายเงินรายเดือนเพื่อเลี้ยงพรรคเล็กให้สนับสนุนรัฐบาลหรือที่เรียกว่าไลน์หลุด

บาดแผลที่ใหญ่สุดจนอาจลุกลามกลายเป็นอันตรายจึงมิใช่มาจากดาบคมของฝ่ายค้านที่ฟาดฟันลงตรงหน้า

แต่กลับมาจากมีดเล่มเล็กที่แทงข้างหลังของคนในกลุ่มฝ่ายเดียวกันเอง

คะแนนผลการอภิปราย

ที่นำไปสู่ความแตกแยก

แม้ว่าผลการลงมติหลังการอภิปรายจะไม่มีรัฐมนตรีใดที่ต้องพ้นจากตำแหน่ง แต่คะแนนที่แตกต่างกันนำไปสู่การกินแหนงแคลงใจทั้งในพรรคเดียวกันและระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล

กรณีหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่แม้ลูกพรรคตัวเองยังลงมติไม่ไว้วางใจ 1 คน และอีก 2 คนงดออกเสียง และยังมีสมาชิกจากพรรคร่วมรัฐบาลคือพรรคชาติไทยพัฒนาอีก 3 คนที่งดออกเสียง จนทำให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐมนตรีที่ได้รับคะแนนไว้วางใจต่ำที่สุด คือ 241 คะแนน ตามมาด้วยการสัมภาษณ์ของโฆษกพรรคว่าเรื่องนี้ติดใจและไม่พอใจ อะไรจะเกิดก็ต้องเกิดในวันข้างหน้า

เช่นเดียวกับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย และนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ที่ปรากฏเสียงของสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ สายปากน้ำทั้ง 6 คน พร้อมใจกันงดออกเสียง ทำให้ พล.อ.อนุพงษ์กลายเป็นผู้ได้รับคะแนนไม่ไว้วางใจสูงสุดถึง 212 เสียง กลายเป็นประเด็นต่อว่าต่อขานกันในกลุ่มไลน์ ส.ส.ของพรรค ว่าเหตุใด คำสั่งของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ผู้เป็นหัวหน้าพรรคจึงไม่ศักดิ์สิทธิ์ มีผู้ที่ไม่เชื่อฟังได้ แล้วจะอยู่ต่อไปกันอย่างไร

ในซีกฝั่งฝ่ายค้านก็มีการแหกมติไม่น้อยเช่นกัน เช่น พรรคเศรษฐกิจไทย ที่มี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นหัวหน้าพรรคที่ว่าแน่นหนา ยังมี ส.ส.จำนวน 4 คนที่ลงมติไว้วางใจรัฐบาล เช่นเดียวกับพรรคเพื่อไทย ก็มี ส.ส.ที่แหกมติ 7 คน พรรคก้าวไกล 4 คน และพรรคประชาชาติ 1 คน เป็นต้น

คำอธิบายต่อปรากฏการณ์ดังกล่าว ประการแรก คือความขัดแย้งในพรรค

ประการที่สอง คือความต้องการผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐมนตรีบางตำแหน่ง

และประการที่สาม ที่น่าจะเป็นหลักที่สุดคือ การมีจุดหมายปลายทางในการสังกัดพรรคการเมืองอื่นในอนาคต การลงมติจึงเป็นไปในทิศทางของพรรคที่ตนตั้งใจไปอยู่แทน

ความแตกแยกที่เกิดหลังลงมติจึงเกิดในทุกพรรคการเมือง โดยมีระดับความรุนแรงที่แตกต่างกัน แต่จะสามารถสมานรอยร้าวหรือยิ่งแตกแยกในอนาคต คงเป็นเรื่องของการบริหารจัดการในแต่ละพรรคยากที่จะคาดการณ์ได้

ไลน์หลุดที่เรื่องราวยังต่อเนื่องไปอีกไกล

บาดแผลที่ใหญ่กว่าประเด็นความแตกแยกในพรรค กลายเป็นประเด็นร้อนเมื่อมีไลน์หลุดด้วยความตั้งใจ เปิดเผยถึงการจ่ายเงินให้แก่พรรคการเมืองขนาดเล็กเดือนละ 100,000 บาท ต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 3 ปีแลกกับการเป็นเสียงสนับสนุนรัฐบาล

การจ่ายเงินดังกล่าวเป็นการจ่ายโดยคนนอกพรรคให้แก่หัวหน้าพรรคการเมือง แลกเปลี่ยนกับการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล เข้าข่ายการครอบงำพรรคการเมืองซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 28 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ที่กำหนดว่า

“ห้ามมิให้พรรคการเมืองยินยอมหรือกระทำการใดอันทำให้บุคคลอื่นที่มิใช่สมาชิกกระทำการอันเป็นการควบคุม ครอบงํา หรือชี้นํา กิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทําให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม”

หากปรากฏความคิดในมาตรานี้ ให้ดำเนินการต่อตามาตรา 92(2) คือ เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคการเมืองมีการกระทำดังกล่าว ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น โดยหากศาลมีคำสั่งยุบพรรคให้มีการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นด้วย

กล่าวง่ายๆ คือ ห้ามเป็นนักการเมืองตลอดชีวิต

ส่วนในมาตรา 29 เป็นการ “ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งมิใช่สมาชิกกระทําการใดอันเป็นการควบคุม ครอบงํา หรือชี้นํากิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทําให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม”

ความผิดตามมาตรานี้มีโทษตามมาตรา 108 โดยผู้ที่ดำเนินการมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5-10 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเช่นเดียวกัน

 

ไป กกต. หรือ ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการต่อ

ประเด็นของ ป.ป.ช.นั้น เป็นประเด็นความผิดตามมาตรา 128 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ที่ “ห้ามมิให้เจ้าพนักงานของรัฐผู้ใดรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคํานวณเป็นเงินได้จากผู้ใด นอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย” และมีประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาของเจ้าพนักงานของรัฐ พ.ศ.2563 กำหนดมูลค่าทรัพย์สินที่ได้ต้องไม่เกิน 3,000 บาท

การฝ่าฝืนดังกล่าว มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 169 มีระวางโทษจําคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 60,000บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

ในส่วนของ กกต.นั้น หากมีเรื่องร้องหรือเป็นความปรากฏที่ กกต.สามารถหยิบยกขึ้นมาเอง คณะกรรมการการเลือกตั้งสามารถใช้อำนาจตามมาตรา 32(2) ของพระราชบัญญัติว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2560 เมื่อปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อหรือเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำผิดหรือฝ่าฝืนกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง กกต.สามารถสั่งให้ ปปง. ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือสถาบันทางการเงินต่างๆ รายงานการทำธุรกรรมของบุคคลหรือพรรคการเมืองที่คาดว่าจะมีการกระทำความผิดได้ ก่อนที่ กกต.จะมีคำวินิจฉัยเพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในเรื่องการยุบพรรคและตัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งต่อไป

บาดแผลหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ จึงไม่ใช่แผลมีดบาดเล็กน้อยที่ไม่กี่วันก็สมานหาย แต่ยังกลายเป็นแผลเรื้อรังและขยายกว้างเกินกว่าที่คิด

ในขณะที่องค์กรอิสระที่ต้องมารับช่วงต่อเพื่อดำเนินการแก่ผู้กระทำผิด หากมีหลักฐานที่ชัดแจ้งแต่ยังฝืนทำทีเป็นมองไม่เห็น วันนี้ยังอาจมีชีวิตที่ปกติสุข แต่วันหน้าฟ้าเปลี่ยน อาจมีเรื่องเล่าที่จารึกเป็นตำนานได้อีกเรื่อง