คนหลายชาติพันธุ์ ถูกกีดกันพ้นประวัติศาสตร์ไทย | สุจิตต์ วงษ์เทศ

ชนชั้นนำสมัยรัตนโกสินทร์ทำความผิดพลาดให้ประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทย ด้วยการกีดกันคนหลากหลายชาติพันธุ์ “ร้อยพ่อพันแม่” ออกจากประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทย เพราะหลงเข้าใจผิดเรื่อง “เชื้อชาติไทย” ที่ไม่มีจริงในโลก

ส่งผลให้หลงผิดไปว่ารัฐอยุธยาเต็มไปด้วยคน “เชื้อชาติไทย” พวกเดียวเท่านั้น จนทุกวันนี้ทางการยังไม่เปลี่ยน

เมื่อโลกไม่เหมือนเดิม จึงต้องร่วมกันแก้ไขความผิดพลาดที่คนรุ่นนี้ไม่ได้ทำ ด้วยการคืนพื้นที่ในประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทย ให้กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ตามหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีและมานุษยวิทยาที่พบเพิ่มเติม

อยุธยา “ร้อยพ่อพันแม่”

ประชากรในพระนครศรีอยุธยาจำแนกได้ราว 40 กลุ่ม แต่ละกลุ่มมีจำนวนไล่เลี่ยกัน เป็นบันทึกของชาวยุโรปที่เข้าถึงรัฐอยุธยาแผ่นดินพระนารายณ์

ในจำนวนชาติพันธุ์ 40 กลุ่ม อาจจำแนกเป็นกลุ่มดั้งเดิม และกลุ่มโยกย้ายจากภายนอก ดังนี้

(1.) กลุ่มดั้งเดิม ได้แก่ มอญ, เขมร, (กูย หรือกวย, ลัวะ, ละว้า, ข่าต่างๆ), มลายู-จาม ฯลฯ เป็นประชากรดั้งเดิมของลุ่มน้ำเจ้าพระยาตั้งแต่สมัยชุมชนเริ่มแรก (หรือก่อนประวัติศาสตร์) สืบเนื่องถึงสมัยการค้าโลกเริ่มแรก (หรือทวารวดี), การค้าจีน (หรือละโว้-สุพรรณบุรี) กระทั่งถึงสมัยละโว้-อโยธยา และกรุงศรีอยุธยาตอนต้น

คนพูดภาษาไทย (ต้นตอจากตระกูลไท-ไต) ไม่ใช่ประชากรดั้งเดิมของลุ่มน้ำเจ้าพระยา แต่มีหลักแหล่งเก่าอยู่บริเวณ “โซเมีย” ทางตอนใต้ของจีน โดยเฉพาะรอยต่อจีน (กวางสี)-เวียดนาม หลังมีการค้าจีนจึงทยอยโยกย้ายเข้าไปตั้งบ้านเรือนตามเส้นทางคมนาคมถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยา

(2.) กลุ่มโยกย้ายจากภายนอก ได้แก่ จีน, อินเดีย, อิหร่าน (เปอร์เซีย), ทิเบต ฯลฯ เป็นประชากรโยกย้ายจากภายนอกเข้าไปตั้งหลักแหล่งอยู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่สมัยการค้าโลกเริ่มแรก (หรือทวารวดี) แล้วอยู่สืบเนื่องยาวนานเหมือนกลุ่มดั้งเดิม กระทั่งกลายตนเป็นคนไทย

A House of a Siamese

สยาม ไม่ใช่ “ไทย”

ในจำนวน 40 กลุ่มนั้น มี 2 กลุ่มถูกเรียกจากชนชั้นนำอยุธยาว่า สยามใหญ่ (หรือไทยใหญ่) และสยามน้อย (หรือไทยน้อย)

แต่สยามไม่ใช่ไทย เพราะสยามประกอบด้วยคนร้อยพ่อพันแม่ (ที่มีกลุ่มไท-ไตรวมอยู่ด้วย) ที่ใช้ภาษาไทยเป็นภาษากลางทางการค้าดินแดนภายใน

คนที่ถูกเรียกสยาม หรือไทย ไม่เรียกตนเองว่าสยามหรือไทย หากเรียกตนเองตามชื่อของตนซึ่งไม่เหมือนคนอื่นเรียก แต่ในที่สุดเมื่อตั้งบ้านเรือนในอยุธยาก็กลายตนเป็นไทย

สยามใหญ่ (หรือ ไทยใหญ่) อยู่ลุ่มน้ำสาละวิน ในพม่า ประกอบด้วยคนหลายชาติพันธุ์ แต่มีภาษากลางทางการค้าเป็นภาษาไทย (หรือไท-ไต)

สยามน้อย (หรือ ไทยน้อย) อยู่ลุ่มน้ำโขง ในลาว ประกอบด้วยคนหลายชาติพันธุ์ แต่มีภาษากลางทางการค้าเป็นภาษาไทย (หรือไท-ไต)

สยามลุ่มน้ำโขงพบหลักฐานสำคัญมากเป็นภาพสลักขบวนแห่บนระเบียงปราสาทนครวัด ในกัมพูชา แสดงว่า (1.) ชนชั้นนำชาวสยามลุ่มน้ำโขง เป็นเครือญาติใกล้ชิดกษัตริย์กัมพูชา (2.) ชาวสยามลุ่มน้ำโขง มีโครงสร้างการเมืองแข็งแรง จึงมีขบวนแห่อย่างเป็นแบบแผน และ (3.) ศูนย์กลางของชาวสยามลุ่มน้ำโขงครั้งนั้นอยู่บริเวณปัจจุบันเรียกเวียงจันทน์ แต่มีบางส่วนทยอยโยกย้ายตามเส้นทางการค้าภายในลงไปตั้งบ้านเรือน บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา แล้วติดคำว่า “สยาม” ไปด้วย

ขุนนาง, สามัญชนคนทั่วไปหลายชาติพันธุ์ “ร้อยพ่อพันแม่” อยู่ปะปนในพระนครศรีอยุธยา (ลายเส้นจากหนังสือ จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์)

ขอม กลายตนเป็นไทย

ขอมเป็นใครก็ได้ที่นับถือศาสนาพราหมณ์และพุทธมหายาน สังกัดรัฐละโว้ พูดภาษาเขมร แต่หลังภาษาไทยมีอำนาจ บรรดาขอมละโว้ก็กลายตนเป็นไทย

ขอมไม่ใช่ชื่อชนชาติเฉพาะ ฉะนั้นไม่มีชนชาติขอมในโลก แต่ขอมเป็นชื่อทางวัฒนธรรมมีขึ้นราวหลัง พ.ศ.1500 ใช้สมมุติเรียกคนบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่นับถือศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธมหายาน แล้วใช้ภาษาเขมรสื่อสารในชีวิตประจำวัน กับใช้อักษรเขมรในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์

เช่นเดียวกับคำว่าแขก ใช้สมมุติเรียกผู้นับถือศาสนาอิสลาม และคำว่าคริสต์ ใช้สมมุติเรียกผู้นับถือศาสนาคริสต์ (ปรับปรุงใหม่จากข้อเขียนนานมากแล้วของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช)

เขมรไม่เรียกตัวเองว่าขอม และไม่มีคำว่าขอมในเขมร แต่เขมรรู้ภายหลังว่าถูกไทยเรียกขอม

ศูนย์กลางขอมครั้งแรกอยู่ที่รัฐละโว้ (ลพบุรี) ต่อมาย้ายลงไปอยู่ที่อโยธยาศรีรามเทพ (ต่อไปคือกรุงศรีอยุธยา) แล้วถูกขยายสมัยหลังไปอยู่กัมพูชา

ด้วยเหตุนี้ใครก็ตามจะถูกเรียกขอมทั้งนั้นไม่ว่ามอญ, เขมร, มลายู, ลาว, จีน, จาม หรือไทย ฯลฯ เมื่อนับถือพราหมณ์หรือพุทธมหายาน แล้วสังกัดรัฐละโว้-อโยธยา และอาณาจักรกัมพูชา แต่เมื่อภาษาและวัฒนธรรมไทยมีอำนาจ ขอมเหล่านั้นก็กลายตนเป็นไทย ส่วนคนทั่วไปมักเข้าใจต่างกันเป็น 2 อย่าง ว่า ขอมคือเขมร และ ขอมไม่ใช่เขมร

กรณีขอมไม่เขมร มีเหตุจากการเมืองสมัยใหม่ ลัทธิชาตินิยมช่วงสงครามเย็น โดยเฉพาะกรณีพิพาทเพื่อแสดงว่าไทยเป็นเจ้าของปราสาทพระวิหาร บรรดาชนชั้นนำไทยปลุกระดมว่าขอมสร้างปราสาทพระวิหารซึ่งไม่เขมร แต่ในทางวิชาการสากลคนทั้งโลกไม่เชื่อตามชนชั้นนำไทย

 

วิชาการใต้การเมืองอำนาจรวมศูนย์

ลัทธิชาตินิยม คลั่งเชื้อชาติไทย กระตุ้นให้เกิดโบราณคดี-ประวัติศาสตร์ศิลป์ในไทย หรือในทางกลับกัน โบราณคดี-ประวัติศาสตร์ศิลป์ในไทยมีกำเนิดจากอำนาจการเมืองลัทธิชาตินิยมคลั่งเชื้อชาติไทย ต่อเนื่องถึงสงครามเย็น (ใครที่โกหกตัวเองและโกหกคนอื่นว่าโบราณคดี-ประวัติศาสตร์ศิลป์ “ไม่การเมือง” ควรเลิกได้แล้ว)

เป็นเหตุให้เรียกฝีมือช่างแบบโตนเลสาบ กัมพูชา ที่พบในไทยว่า “ศิลปะลพบุรี” เพื่อหลีกเลี่ยงโครงสร้างการเมืองแบบเครือญาติของรัฐละโว้ (ซึ่งมีอำนาจการเมืองเหนือพื้นที่ทางตะวันออกแม่น้ำเจ้าพระยา) กับอาณาจักรเมืองพระนคร และเมืองพระนครหลวง บริเวณโตนเลสาบ ในกัมพูชา ซึ่ง “ลัทธิเชื้อชาตินิยมไทย” รับไม่ได้

บัดนี้หมดเวลาบ้าคลั่ง “ลัทธิเชื้อชาตินิยมไทย” ควรคืนพื้นที่ให้คน “ร้อยพ่อพันแม่” (รวมทั้งเขมร) โดยยอมรับความจริงที่มีหลักฐานวิชาการรองรับทางประวัติศาสตร์โบราณคดีและมานุษยวิทยา ว่า “ศิลปะลพบุรี” ไม่มีจริงในโลกสากล ถ้าจะมีก็อยู่ในโลกโกหกตนเองและคนอื่น เพื่อประจบการเมืองอำนาจรวมศูนย์ เพราะงานวิชาการโบราณคดี-ประวัติศาสตร์ศิลป์ของไทยอยู่ใต้การเมืองอำนาจรวมศูนย์ •