เหรียญพระพุทธ-รูปเหมือน หลวงปู่อินทร์ วัดหนองรี พระเกจิชื่อดังถิ่นโพธาราม / โฟกัสพระเครื่อง : โคมคำ

โฟกัสพระเครื่อง

โคมคำ

[email protected]

 

เหรียญพระพุทธ-รูปเหมือน

หลวงปู่อินทร์ วัดหนองรี

พระเกจิชื่อดังถิ่นโพธาราม

 

“หลวงปู่อินทร์ ธัมมโชติ” วัดหนองรี อ.โพธาราม จ.ราชบุรี อีกหนึ่งพระเกจิอาจารย์ยุคหลังกึ่งพุทธกาลที่มีชื่อเสียงโด่งดังอีกรูป

สร้างพระเครื่องวัตถุมงคลและเครื่องรางของขลังไว้หลายชนิด วัตถุมงคลโด่งดังทางมหาอุดแคล้วคลาดและคงกระพัน โดยเฉพาะชาวราชบุรีและเพชรบุรี ล้วนนับถือมาก

มีเรื่องเล่าว่า นักการเมืองชื่อดังของเพชรบุรีในอดีต ถึงกับมาขอฝากตัวเป็นบุตรบุญธรรมเลยทีเดียว

วัตถุมงคลที่มีชื่อเสียงมาก คือ เหรียญรุ่นแรก สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2517 ที่ระลึกในพิธีสมโภชเปิดอุโบสถวัดหนองรี สร้างเพียงเนื้อเดียวคือเนื้อทองแดงเท่านั้น มีทั้งแบบที่ตอกโค้ดดาวและไม่ตอกโค้ดดาว ปลุกเสกเดี่ยว จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงปู่อินทร์ วัดหนองรี รุ่นแรก

ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มตัดขอบ รูปไข่ แบบมีหูในตัว ด้านหน้า เป็นรูปจำลองครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปมีอักขระภาษาไทย เขียนคำว่า “หลวงปู่อินทร วัดหนองลี” ในบางเหรียญจะมีการตอกโค้ดดาวกำกับไว้

ด้านหลัง มีอักขระยันต์พระเจ้า 5 พระองค์ ใต้ยันต์มีอักขระภาษาไทย เขียนคำว่า “ศิษย์สร้างถวาย หลวงปู่”

นอกจากนี้ยังมี “เหรียญหลวงพ่อใหญ่ วัดหนองรี” ซึ่งหลวงพ่อใหญ่ เป็นพระพุทธรูปประจำอุโบสถวัดหนองรี

สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2517 แจกเป็นที่ระลึกในงานผูกพัทธสีมาอุโบสถวัดหนองรี มีการสร้างเพียงเนื้อเดียว คือ เนื้ออัลปาก้า โดยหลวงปู่อินทร์ ปลุกเสกเดี่ยว จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้เช่นกัน

เหรียญหลวงพ่อใหญ่ วัดหนองรี

ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มตัดขอบรูปเสมา แบบมีหูในตัว ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อใหญ่ ใต้มีอักขระภาษาไทย เขียนคำว่า “หลวงพ่อใหญ่”

ด้านหลัง มีอักขระยันต์ รอบอักขระยันต์มีอักขระภาษาไทย เขียนคำว่า “ที่ระลึกผูกพัทธสีมา วัดหนองรี จ.ว.ราชบุรี ๒๕๑๗”

เป็นอีกวัตถุมงคลที่ได้รับความศรัทธาเชื่อมั่นในพุทธาคม

หลวงปู่อินทร์ ธัมมโชติ

กล่าวสำหรับประวัตินั้น ช่วงแรกนั้นไม่มีการจดบันทึกไว้ ทำให้เป็นที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง แต่พอทราบว่าท่านเกิดเมื่อปี พ.ศ.2442 ที่บ้านหนองกบ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี

จนเมื่ออายุครบบวชแล้ว จึงเข้ารับการอุปสมบท ที่พัทธสีมาวัดหนองกบ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี เมื่อราวปี พ.ศ.2464

จากนั้นได้ไปเรียนวิชาแถวกาญจนบุรีและนครปฐม ซึ่งในระหว่างนั้น ชาวบ้านให้เป็นเจ้าอาวาสถึง 3 วัด ได้แก่ วัดพระศรีอารย์ วัดหนองรี และวัดที่กาญจนบุรีอีกแห่ง ซึ่งทุกครั้งหลังจากช่วยสร้างศาสนสถานตามความต้องการของชาวบ้านสำเร็จแล้ว ก็จะลาออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาส

เพราะท่านบอกว่าเขาให้มาสร้าง เมื่อสร้างเสร็จแล้วก็พอ แสดงให้เห็นว่าไม่ยึดติดในลาภยศใดๆ

ในช่วงปลายอายุ จึงเป็นเพียงพระลูกวัดอาศัยอยู่ในกุฏิด้านหลังของวัด และไม่ออกนอกวัดไปงานปลุกเสกใดๆ แต่ทั้งคนในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง ต่างให้ความนับถือท่านอย่างสูง

คนใกล้ชิดเชื่อว่า ท่านสำเร็จอภิญญา เพราะในช่วงปลายชีวิตนั้น เวลาปลุกเสกท่านจะอธิษฐานจิตขอแค่เพียงอึดใจเท่านั้น บางครั้งแค่มองก็ใช้ได้แล้ว

ยกตัวอย่างเวลาท่านเจิมรถ ท่านจะให้ลูกศิษย์เอาแป้งไปเจิม ส่วนท่านจะยืนมองจากกุฏิของท่าน ก็บอกว่าใช้ได้แล้ว

หากมีผู้นิมนต์หลวงปู่อินทร์ไปปลุกเสกที่ใดก็แล้วแต่ โดยถ้าท่านรับปากจะไปงานไหน แล้วท่านจะให้เขียนวัน เวลาและสถานที่ที่ต้องการให้ปลุกเสก เมื่อถึงวันที่กำหนด ท่านเก็บตัวอยู่ในห้อง ไม่ออกไปไหน มีบางครั้งผู้นิมนต์ไม่มั่นใจ เมื่อเสร็จพิธีแล้วถึงกลับขนใส่รถมาให้ปลุกเสกอีก อาทิ นางพญา สก.๒๕๓๘

นอกจากนี้ พระพุทธกวักหรือพระพุทธยอดขุนพล ของหลวงพ่อขัน วัดพระศรีอารย์นั้น ถึงกับให้ลูกศิษย์หาบมาวัดหนองรี เพื่อขอให้หลวงปู่อินทร์ปลุกเสกอยู่หลายเพลา จากนั้นก็ให้หลวงพ่อขันไปปลุกเสกต่อ

 

อีกเหตุการณ์หนึ่ง มีพระเปรียญรูปหนึ่งกำลังจะเข้าสอบแปลบาลีเปรียญธรรม 5 ประโยคในอีกหนึ่งเดือนข้างหน้าและยังไม่ได้อ่านหนังสือเลยสักนิด จากที่ต้องอ่านเป็นร้อยๆ เล่ม พระรูปนี้ก็ลองถามท่านดู ท่านหลับตาสักครู่แล้วบอกว่าได้แน่นอน ครั้นถึงก่อนวันสอบ พระรูปนี้หยิบหนังสือมาพลิกดู 2-3 หน้า และฝึกแปลดู ปรากฏว่าในปีนั้น ข้อสอบออกตรงพอดี ทำให้สอบได้อย่างไม่น่าเชื่อ

มรณภาพลงด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2539 นับรวมสิริอายุ 97 ปี พรรษา 76 โดยร่างของท่านไม่เน่าไม่เปื่อย

ถึงแม้ละสังขารไปนาน แต่ร่างไม่เน่าไม่เปื่อย ทางวัดยังคงเก็บรักษาไว้ ที่พระเจดีย์วัดหนองรี เพื่อให้สักการบูชา •