แก่นต๋าตั๋วมีควักออก เอาบ่ากอกเข้ายัด / ล้านนาคำเมือง

ล้านนาคำเมือง

ชมรมฮักตั๋วเมือง

สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

แก่นต๋าตั๋วมีควักออก

เอาบ่ากอกเข้ายัด

 

แก่นฯตาต฿วฯมีฅวฯักออฯก อูาบ่าฯกอฯกเขั้ายัดฯ

 

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “แก่นต๋าตั๋วมีควักออก เอาบ่ากอกเข้ายัด”

แก่นต๋า แปลว่า ลูกตา

บ่ากอก คือ มะกอกป่า ลูกเท่าหมากดิบ เอามากินกับน้ำพริก ใส่ส้าผักหรือยำผักสดแบบล้านนา หรือเอามาใส่ส้มตำ

รวมความแปลว่า ลูกตาของตัวเองก็มี แต่ควักออก แล้วเอาลูกมะกอกเข้ายัดใส่ในเบ้าตาแทน

สำนวนล้านนาบทนี้มีความหมายในหลายแง่มุม

 

ความหมายประการแรก แปลว่า ของดีๆ ที่ตัวเองมีอยู่ ไม่รู้จักใช้ประโยชน์ กลับไปหาสิ่งไร้ค่าอื่นๆ มาใช้แทน ทำนองไม่เห็นคุณค่าสิ่งของที่ตนเองมีอยู่

อาจจะเทียบกับสำนวนไทยที่ว่า “ไก่ได้พลอย” เพราะไก่ย่อมไม่เห็นคุณค่าของอัญมณี กลับเขี่ยทิ้งไป

เพียงแต่ว่าสำนวน “ไก่ได้พลอย” ไก่ไม่ได้เอาอะไรมาแทนพลอยเม็ดนั้น แต่สำนวนล้านนาเอาลูกตาดีๆ ทิ้งไป เอาลูกมะกอกมาใส่แทน แล้วจะมองเห็นไหมล่ะนั่น

ขยายความของความหมายนี้ เช่น นายคำป่วยเป็นอัมพฤกษ์ รักษาแบบประกันสังคมในโรงพยาบาลอยู่ 10 วัน พอควบคุมความดันเลือด และไขมันในเลือดได้แล้ว พอเดินได้ ก็ออกจากโรงพยาบาลพร้อมกับยาที่ทางโรงพยาบาลจ่ายให้หลายซอง โดยไม่ต้องจ่ายสตางค์ ส่วนใหญ่ก็เพื่อป้องกันไม่ให้อาการเป็นกลับขึ้นมาอีก

แต่นายคำโยนถุงยาจากโรงพยาบาลทิ้งไปหมด ไปเจียดยาผีบอกจากท้ายบ้านมากินแทน ไม่ช้านานอาการอัมพฤกษ์ก็เป็นขึ้นมาอีก

เข้าทำนองยาที่มีอยู่ดีอยู่แล้วแต่ไปเอายาที่ไม่มีผลในการรักษามาใช้แทน

บ่าฯกอฯกมันฯบ่ใช่แก่นฯตาลํอฯ
บ่ากอกมันบ่ไจ้แก่นต๋าลอ
แปลว่า ลูกมะกอกไม่ใช่ลูกตาสักหน่อย

ความหมายประการที่สองเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ “วิสัยทัศน์”

คนเราทุกคนมีทัศนะ และมุมมองผ่านสายตา ส่วนหนึ่งของการรับรู้อาศัยการมองเห็น ดวงตาจึงเป็นช่องทางการรับรู้ทัศนะทางโลกโสตหนึ่ง

แต่บางคนมีวิสัยทัศน์ที่ผิดเพี้ยน แทนที่จะเชื่อสายตาตัวเองกลับมองโลกผ่านสายตาที่ทำจากลูกมะกอก อาจจะเพราะเชื่อคนอื่น ฟังจากคนอื่นโดยมีอคติเสียแล้ว เหมือนเชื่อลูกมะกอกมากกว่าแทนที่จะเชื่อสายตาตัวเอง ทำให้เกิดวิสัยทัศน์ที่ผิดเพี้ยนใช้ไม่ได้

เช่น การดูแคลนผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับโซเชียล และการใช้เทคโนโลยีทางอิเล็กทรอนิกส์ที่คนรุ่นเก่าไม่มีทางเก่งหรือทันกับโลกของโซเชียลเช่นเดียวกับคนรุ่นใหม่

แต่บรรดาลูกหลานกลับมองว่าคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ใช้ไม่ได้ในทุกขอบเขต มีความสามารถแค่ “สวัสดีวันจันทร์”

จึงลามปามเกิดกรณีไม่เคารพ และไม่เชื่อวิสัยทัศน์ของคนรุ่นก่อน ทั้งๆ ที่นั่นคือประสบการณ์ชีวิตที่มีค่า

เมื่อทั้งโซเชียลเกิดกระแสเห็นคนรุ่นเก่าเป็นไดโนเสาร์ ก็ย่อมเกิดความขัดแย้งขึ้นในสังคม จากการพึ่งเพียงวิสัยทัศน์ลูกมะกอกดังกล่าว •