‘จาม’ เป็นใคร? จามสมัยอยุธยา ไม่ถูกกวาดต้อนจากเขมร | สุจิตต์ วงษ์เทศ

ภาพอยุธยาในปี ค.ศ.1665 วาดโดย Johannes Vingboons

จามบ้านครัวถูกกวาดต้อนแบบยกครัวมาจากกัมพูชา (ไม่ใช่เวียดนาม) โดยมีหลักฐานบอกไว้ในพระราชพงศาวดาร

แต่จามสมัยอยุธยาและก่อนหน้านั้นเป็นประชากรดั้งเดิมของภูมิภาคอุษาคเนย์ โดยมีรัฐของตนอยู่ในเวียดนามและลาว มีความสัมพันธ์กับรัฐก่อนอยุธยาและรัฐอยุธยา จึงมีชาวจามอยุธยาตั้งบ้านเรือนเป็นกลุ่มใหญ่อยู่คลองคูจามน้อย-คลองคูจามใหญ่ (ปัจจุบันเรียกคลองตะเคียน) และมีบทบาททางการเมืองในราชสำนักเป็น “อาสาจาม” สมัยอยุธยา จึงเป็นจามดั้งเดิมที่ได้รับความไว้วางใจอย่างสูงจากราชสำนัก และไม่ได้ถูกกวาดต้อนมาจากไหน?

เรื่องเล่าจากชาวชุมชน (ในมติชนสุดสัปดาห์) มีข้อความบางตอนน่าสงสัยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์จามในไทย จะคัดข้อความส่วนนั้นมาแบ่งปันกันก่อน ดังนี้

“กองอาสาจามจากกัมพูชา
ชุมชนบ้านครัวตั้งอยู่ริมคลองแสนแสบ…

บรรพบุรุษของชาวบ้านครัว เป็นชาวมุสลิมจากอาณาจักรจามปา มีรกรากดั้งเดิมอยู่ในกัมพูชาและเวียดนาม ชาวจามมีความสามารถในการเดินเรือและการสงคราม พวกเขาอพยพและถูกกวาดต้อนเข้ามาอยู่ในสยามหลายระลอก ตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา บางส่วนเป็นทหารอาสา ‘กองอาสาจาม'”

[คัดมาบางตอนจากพื้นที่เรื่องเล่าจากชาวชุมชน หัวข้อ “235 ปี แขกจามบ้านครัวสร้างพื้นที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม” ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 1-7 กรกฎาคม 2565 หน้า 19]

บ้านครัว หมายถึง ชุมชนที่ถูกกวาดต้อนจากเขมรมาหมดทั้งครอบครัวตั้งแต่ปู่ย่าตายายพ่อแม่ลูกหลานเหลน ชาวบ้านครัว (ริมคลองแสนแสบ) ถือตนเป็นจามและเป็นมุสลิมซึ่งถูกเกณฑ์มาจากเขมร (ไม่มาจากเวียดนาม) เป็นแรงงานสร้างกรุงเทพฯ ในแผ่นดิน ร.1 มีหลักฐานบอกในพระราชพงศาวดาร ดังนี้

“สร้างพระนคร เกณฑ์เขมร 10,000 เข้ามาขุดคลองคูพระนครด้านตะวันออก ตั้งแต่บางลำภูตลอดมาออกแม่น้ำข้างใต้เหนือวัดสามปลื้ม…… พระราชทานชื่อว่าคลองรอบกรุง…… แล้วขุดคลองหลอดจากคลองคูเมืองเดิม 2 คลอง ออกไปบรรจบคลองรอบกรุงที่ขุดใหม่ และขุดคลองใหญ่เหนือวัดสะแกอีกคลองหนึ่ง พระราชทานนามว่าคลองมหานาค เป็นที่สำหรับประชาชนชาวพระนครจะได้ลงเรือไปประชุมเล่นเพลงและสักระวาในเทศกาลฤดูน้ำ เหมือนอย่างครั้งกรุงศรีอยุธยาเก่า และวัดสะแกนั้น เมื่อขุดคลองมหานาคแล้ว พระราชทานนามเปลี่ยนใหม่ว่าวัดสระเกศ และขอแรงเขมรที่เข้ามาขุดคลองให้ช่วยขุดรากทำพระอุโบสถใหม่ด้วย”

[จากหนังสือพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ของ เจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) พิมพ์โดยไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006) พ.ศ.2562 หน้า 56]

 

อาสาจามสมัยอยุธยา

เรื่องเล่าจากชาวชุมชน บอกว่าชาวจาม “ถูกกวาดต้อนเข้ามาอยู่ในสยามหลายระลอก ตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา บางส่วนเป็นทหารอาสา ‘กองอาสาจาม'”

ครั้นตรวจสอบหลักฐานวิชาการแล้วพบดังนี้

1. การกวาดต้อนชาวจามจากที่ต่างๆ สมัยกรุงศรีอยุธยา ไม่เคยพบหลักฐาน

2. “อาสาจาม” ในกรุงศรีอยุธยา ไม่เคยพบหลักฐานว่าเป็นชาวจามถูกกวาดต้อนมาจากที่ไหน? ไม่ว่าจากเขมรหรืออื่นๆ

จาม เป็นชื่อทางวัฒนธรรม หมายถึงประชากรของรัฐจามปาในเวียดนาม ราวหลัง พ.ศ.1000 ซึ่งมีบรรพชนเป็นกลุ่มคนดั้งเดิม (เรียก “ซาหวิ่น”) นับถือศาสนาผี มีหลายชาติพันธุ์อยู่ปะปนกัน โดยมีภาษากลางเป็นภาษามลายู และชำนาญเดินเรือทะเลสมุทร (ก่อนจีน)

ถิ่นฐานดั้งเดิมของจามมีกระจายกว้างขวาง แต่แบ่งกว้างๆ อย่างน้อย 2 ส่วน ได้แก่ ชายฝั่งทะเลและภายในภาคพื้นทวีป ดังนี้

1. ชายฝั่งทะเล เป็นที่รู้ทั่วไปว่าเรียกรัฐจามปา บริเวณเวียดนามกลาง แล้วขยายเครือข่ายเข้าไปถึงโตนเลสาบ (กัมพูชา), แม่น้ำโขง-ชี-มูล (ลาว, ไทย)

2. ภายในภาคพื้นทวีป อยู่บริเวณโขง-ชี-มูล ในลาวและไทย มีศูนย์กลางอยู่ “เมืองเรอแดว” (จำปาสัก)

การนับถือศาสนาของจาม แยกเป็น 3 สมัย ได้แก่ (1.) สมัยแรก นับถือศาสนาผี (2.) สมัยสอง นับถือศาสนาพุทธ และศาสนาพราหมณ์-ฮินดู (ปนศาสนาผี) (3.) สมัยหลัง นับถือศาสนาอิสลาม (รับผ่านมาจากจีน)

 

จามเข้าถึงอยุธยา

รัฐจามปาค้าขายทางทะเลอย่างแข็งแรงและกว้างขวางก่อนมีรัฐอยุธยา ต่อมาเมื่อมีรัฐอยุธยาแล้วเติบโตขึ้นก็กลายเป็นรัฐคู่แข่ง แต่ในที่สุดจามปาเป็นเมืองท่ารุ่งเรืองเหนือกว่าอยุธยา ราวเรือน พ.ศ.1900

ความเคลื่อนไหวเหล่านี้กระตุ้นให้ชาวจามจากจามปาออกค้าขายถึงอยุธยาแล้วตั้งหลักแหล่งถาวรเป็นประชากรอยุธยา จึงได้รับยกย่องอยู่ในกฎมณเฑียรบาลว่าเป็นกลุ่มค้าขายสำคัญของอยุธยาว่า “จีนจามชวานานาประเทศ”

ความใกล้ชิดของวงศ์จามกับวงศ์อยุธยา มีหลักฐานอยู่ในโคลงสรรเสริญพระเกียรติพระนารายณ์ บอกตรงไปตรงมาว่า “หลาน” เจ้านายจามจากรัฐจามปา (จำปา) ชื่อ “โปงซา” เดินทางไปเข้าเฝ้าถวายตัวต่อพระนารายณ์ ดังนี้

๏ นัดดาจาเมศร์ไท้ จำปา

นามชื่อโปงซาสา โรชแท้

มาทูลสุวรรณบา ทุกราช

เป็นบาทมุลิกาแล้ นอบนิ้วอภิวันท์ ฯ

รัฐสุพรรณภูมิบริเวณลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลองขยายอำนาจไปยึดพื้นที่ทางแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณ “เวียงเหล็ก” (ของพระเจ้าอู่ทอง) มีศูนย์กลางอยู่ “ตำหนักเวียงเหล็ก” (ปัจจุบันคือวัดพุทไธศวรรย์) โดยมีกลุ่มจามและชวา-มลายูทำหน้าที่ค้าขายทางทะเลสมุทร แล้วตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณเดียวกันซึ่งเรียกสมัยหลังว่า “ปท่าคูจาม” (มีความทรงจำว่ามัสยิดแห่งแรกอยู่ริมคลองตะเคียน ปัจจุบันคือมัสยิดกุฎีช่อฟ้า)

“ปท่าคูจาม” อยู่เวียงเหล็ก (ย่านวัดพุทไธศวรรย์) เป็นชื่อเรียกพื้นที่ซึ่งเป็นหลักแหล่งของคนพูดภาษามลายู (เช่น มลายูปตานี ฯลฯ) มีทั้งชาวจามและไม่จาม แต่โดยมีชาวจามเป็นกลุ่มหลักหรือมีอำนาจเป็นที่ยกย่องเกรงขามรู้จักมากสุด

“ปท่าคูจาม” หมายถึง ชุมชนจามมีคูน้ำล้อมรอบอยู่อีกฟากของเกาะเมืองอยุธยา [“ปท่า” ไม่มาจากภาษาเขมร แต่เป็นคำกร่อนจากคำเดิมว่า “ปละท่า” แปลว่า ฟากข้าง ซึ่งพบว่ามีใช้ในชื่อ อ.ปละท่า (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น อ.สทิงพระ) จ.สงขลา คำอธิบายนี้อยู่ในพระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอ้างพระราชดำริ ร.5]

“คูจาม” มี 2 แห่ง พบแผนที่ฝรั่งเศสทำในแผ่นดินพระนารายณ์ ดังนี้ (1.) คลองคูจามใหญ่ ปัจจุบันเรียกคลองตะเคียน หรือคลองขุนละครไชย และ (2.) คลองคูจามน้อย ปัจจุบันเรียกคลองคูจาม

 

“อาสาจาม” กองเรือรบทางทะเล

กษัตริย์จากรัฐสุพรรณภูมิ (สุพรรณบุรี) ลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง ยึดอำนาจจากวงศ์ละโว้ (ลพบุรี) แล้วขึ้นครองกรุงศรีอยุธยา ราวหลัง พ.ศ.1950 ชาวจามจาก “ปท่าคูจาม” มีส่วนสนับสนุนอย่างสำคัญการยึดอำนาจครั้งนั้น จึงรับมอบหมายดูแลกองเรือรบ เรียกสมัยต่อไปว่า “อาสาจาม”

อยุธยาได้รับยกย่องเป็น “ราชอาณาจักรสยาม” ศูนย์กลางการค้านานาชาติ เมื่อราชวงศ์สุพรรณภูมิขึ้นเป็นกษัตริย์รัฐอยุธยาโดยมีกำลังสนับสนุนสำคัญคือจามและจีน [ถ้ำจีน, ถ้ำจาม เป็นชื่อถ้ำคู่กันบนเทือกเขางู (จ.ราชบุรี) ลุ่มน้ำแม่กลอง เป็นความทรงจำแสดงความคุ้นเคยและยกย่องอย่างทัดเทียมกันซึ่งคนสมัยหลังมีต่อชาวจีน-ชาวจาม ผู้ชำนาญการค้าทางไกลในทะเลสมุทร] •

 

เรื่องเล่าจากชาวชุมชน มีข้อความบางตอนน่าสงสัย [จากมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 1-7 กรกฎาคม 2565 หน้า 19]