เหรียญนารายณ์ฯ-ชนะมาร หลวงพ่อรักษ์ ฐิตธัมโม พระเกจิวัดน้อยแสงจันทร์ / โฟกัสพระเครื่อง : โคมคำ

โฟกัสพระเครื่อง

โคมคำ

[email protected]

 

เหรียญนารายณ์ฯ-ชนะมาร

หลวงพ่อรักษ์ ฐิตธัมโม

พระเกจิวัดน้อยแสงจันทร์

 

“พระครูสุธรรมธาดา” หรือ “หลวงพ่อรักษ์ ฐิตธัมโม” อดีตเจ้าอาวาสวัดน้อยแสงจันทร์ ต.ลาดใหญ่ อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม

วัตถุมงคลที่จัดสร้างล้วนแต่มีพุทธคุณโดดเด่น เป็นที่ปรารถนา ทั้งประเภทเครื่องรางของขลัง ผ้ายันต์ ฯลฯ พุทธคุณร่ำลือไปทั่วลุ่มน้ำแม่กลองและภาคกลาง

รวมถึงเหรียญรุ่นแรก ที่จัดสร้างออกมา 2 แบบ คือ หลังพระพุทธชินราช และหลังพ่อบัณฑูรสิงห์ ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก

เหรียญพระนารายณ์ปราบนนทก

แต่ที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน คือ “เหรียญพระนารายณ์ปราบนนทก”

สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2516 ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มแบบมีหูในตัว สร้างด้วยเนื้ออัลปาก้า และเนื้อทองแดง

ด้านหน้า เป็นรูปจำลองห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ บนรูปมีอักขระไทยเขียนคำว่า “พ่อ แม่” และอักขระยันต์ ใต้รูปมีหนุมานแบกอาสนะของท่าน ใต้หนุมานเขียนคำว่า “หลวงพ่อรักษ์ ฐิตธมฺโม”

ด้านหลัง มีรูปจำลองพระนารายณ์แปลงกายเป็นนางฟ้าปราบยักษ์นนทก และมีอักขระยันต์ มีอักขระภาษาไทย เขียนคำว่า “วัดน้อยแสงจันทร์ จ.สมุทรสงคราม นารายณ์ปรายนนทก ๒๕๑๖” ซึ่งคือปีที่สร้างเหรียญ

เป็นเหรียญที่หายากและสร้างน้อย เชื่อกันว่าถ้ามีไว้บูชาจะช่วยเรื่องป้องกันภัยและอุปสรรคต่างๆ

เหรียญหลวงพ่อรักษ์ รุ่นชนะมาร

นอกจากนี้ ยังมีเหรียญอีกรุ่น คือ เหรียญรุ่นชนะมาร

สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2519 เป็นเหรียญที่มีศิลปสวยงามอีกเหรียญ สร้างด้วยเนื้ออัลปาก้า

ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มแบบมีหูในตัว ด้านหน้า เป็นรูปจำลองเต็มองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทย เขียนคำว่า “หลวงพ่อรักษ์ อายุ ๖๖ ปี รุ่นชนะมาร”

ด้านหลัง มีรูปจำลองพระพุทธเจ้าปางพระแม่ธรณีบีบมวยผม มีอักขระยันต์ มีอักขระภาษาไทย เขียนคำว่า “วัดน้อยแสงจันทร์ จ.สมุทรสงคราม ๒๔ เม.ย.๑๙” ซึ่งคือปีที่สร้างเหรียญ

เป็นเหรียญหายากของจังหวัดสมุทรสงครามอีกเหรียญ

หลวงพ่อรักษ์ ฐิตธัมโม

หลวงพ่อรักษ์ เกิดที่คลองบางตะบูน เมื่อวันแรม 7 ค่ำ เดือน 7 วันพุธ ปีจอ ตรงกับวันที่ 29 มิถุนายน 2453 บิดาชื่อนายยิ้ม และมารดาชื่อนางเหม

ในวัยเด็ก บิดาและมารดานำมาฝากเรียนหนังสือเป็นเด็กวัดอยู่วัดสวนแก้ว อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม ภายหลังย้ายมาอยู่ใกล้วัดน้อยแสงจันทร์ เคยตามอาไปอยู่ที่ปทุมธานีใกล้วัดเทียนถวาย แล้วย้ายไปที่ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี

เรียนหนังสืออยู่ที่นั่นจนอายุครบบวช จึงเข้ารับการอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดเทียนถวาย ต.บ้านใหม่ อ.เมือง จ.ปทุมธานี เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2474 มีพระครูธัญญเขตเขมากร (หลวงพ่อช้าง) วัดเขียนเขต เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระปทุมวรนายก (หลวงพ่อสอน) วัดเทียนถวาย เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายาว่า ฐิตธัมโม

จากนั้นจำพรรษาอยู่ที่วัดเทียนถวาย เพื่อร่ำเรียนวิชากับหลวงพ่อสอน และเรียนกัมมัฏฐานกับหลวงพ่อช้าง วัดเขียนเขต

ต่อมาไปเรียนวิชากัมมัฏฐานเพิ่มเติมจากท่านพ่อบัณฑูรสิงห์ (เจิม คุณาบุตร) ที่วัดเกตุมวดีศรีวราราม ต.บางโทรัด อ.เมือง จ.สมุทรสาคร จนสำเร็จวิชาต่างๆ มากมาย

แล้วจึงย้ายกลับมาจำพรรษาที่วัดน้อยแสงจันทร์ ซึ่งเป็นวัดบ้านเกิดของท่าน และอยู่จำพรรษาเรื่อยมาเพื่อโปรดโยมมารดาที่ชราภาพ ซึ่งในขณะนั้นหลวงพ่อพูนเป็นเจ้าอาวาส

จนถึงปี พ.ศ.2494 หลวงพ่อพูนมรณภาพลง ชาวบ้านและคณะกรรมการวัดจึงนิมนต์ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสสืบแทน ด้วยมีคุณสมบัติเหมาะสมด้วยอายุพรรษากาล มีความรู้ทางด้านวิทยาคม อีกทั้งปฏิบัติดีปฏิบัติชอบพร้อมด้วยศีลาจารวัตร

ผู้คนเลื่อมใสศรัทธาควรแก่การกราบไหว้เป็นอย่างยิ่ง

 

วัดน้อยแสงจันทร์ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ริมคลองแม่กลอง ต.ลาดใหญ่ อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม สร้างเมื่อปี พ.ศ.2459 โดยมีผู้สร้างคือ นายเหม็น นางน้อย นายจันทร์ และนางแสง ซึ่งได้สละทรัพย์สมบัติและที่ดินให้สร้างวัดพร้อมกับเรือนฝากระดานอีกจำนวน 3 หลัง และยังได้จัดสร้างเสนาสนะต่างๆ เพิ่มเติมให้ตลอดมา

ชาวบ้านจึงได้ให้ชื่อวัดนี้ว่า วัดน้อยแสงจันทร์ ตามชื่อผู้สร้าง เพียงแต่รายที่ 4 ซึ่งมีนามว่านายเหม็นนั้น เจ้าตัวเห็นว่าชื่ออาจจะไม่เป็นมงคลนัก จึงให้ใช้ชื่อเพียง 3 ราย

เมื่อหลวงพ่อรักษ์ได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาส ก็ได้พัฒนาวัดเพิ่มเติมอย่างสุดความสามารถ ทั้งการสร้างเสนาสนะต่างๆ เพิ่มเติม ปรับปรุงถาวรวัตถุต่างๆ ภายในวัดให้แข็งแรง มั่นคงมากขึ้น และยังได้ขัดเกลาให้ชาวบ้านอยู่ในศีลในธรรม

ในสมัยที่ท่านมีชีวิตอยู่นั้น จะเน้นงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง มีการฝึกอบรมพระภิกษุสามเณรทุกกึ่งเดือน ทำวัตรเช้า-เย็น รวมทั้งมีการอบรมศีลธรรมแก่เด็กวัด และนักเรียนโรงเรียนของรัฐ ประชาชนตามหลักเบญจศีลเบญจธรรม

พ.ศ.2516 ช่วยสอนประชาชนในจังหวัดสมุทรสงครามและจังหวัดใกล้เคียงให้รู้จักการนั่งกัมมัฏฐาน

เป็นพระนักพัฒนา อีกทั้งปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ชาวบ้านให้ความเลื่อมใสศรัทธา

ปกครองวัดเรื่อยมา จนล่วงเลยเข้าสู่วัยชราภาพ บ่อยครั้งทำให้อ่อนแรง สุขภาพไม่แข็งแรงดังเดิม กระทั่งล้มป่วยอาพาธเป็นประจำ ต้องเข้าออกโรงพยาบาลหลายครั้ง

คณะแพทย์ขอให้ท่านพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล เพื่อให้การรักษาอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด

ท้ายที่สุด ถึงแก่มรณภาพลงอย่างสงบในปี พ.ศ.2538 สิริอายุ 85 ปี พรรษา 64 •