วางบิล เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์/เย็น 6 ตุลา 19 — ปืนสั่งหยุด!!!

วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

เย็น 6 ตุลา 19 — ปืนสั่งหยุด!!!

เมื่อเหตุการณ์เริ่มคลี่คลายจากการที่ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เป็นนิสิตนักศึกษาทั้งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับอีกหลายมหาวิทยาลัยซึ่งถูกกวาดต้อนจากคณะบัญชี ธรรมศาสตร์ลงมานอนคว่ำหน้าสองมือประสานกันไว้หลังศีรษะ เริ่มทยอยลุกออกไปขึ้นรถที่รัฐบาลเตรียมไว้ด้านสนามหลวง

ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในเหตุการณ์ครั้งนี้ นอกจาก นายสุธรรม แสงประทุม เลขาธิการองค์การนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยกับคณะ ยังมี นายพิเชียร อำนาจวรประเสริฐ นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ นายกองค์การนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายกองค์การนักศึกษาจากหลายมหาวิทยาลัย ซึ่งผู้สื่อข่าวประชาชาติไปสัมภาษณ์มาลงพิมพ์ในหน้าหนังสือพิมพ์เพื่อความครบถ้วนสมบูรณ์ พร้อมกับคณะรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย

ทั้งหลายทั้งปวงเพื่อให้ผู้อ่านวิจารณญาณว่าเหตุที่เกิดขึ้นมีใครเกี่ยวข้องบ้าง และแต่ละคนมีความคิดเห็น ความรับผิดชอบอย่างไร

นอกจากข่าวซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่กระทั่งถึงรายงานสุดท้ายห้วงหลังเที่ยงที่บรรดาผู้ชุมนุมถูกกวาดต้อนขึ้นรถไปรวมกัน ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่งขณะนั้นจากรอบด้านมหาวิทยาลัย แม้แต่ในแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และฝั่งโรงพยาบาลศิริราชที่มีผู้ชุมนุมลงไปลอยคอถูกกวาดต้อนขึ้นเรือ

ภาพการ์ตูนการเมืองของประชาชาติโดย “อรุณ” ยังแสดงออกถึงเหตุการณ์ขณะนั้น เช่น ในฉบับวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เป็นภาพ “ชุมพล” ส่องปืนไปที่เป้าด้านหลังก้นช้าง และภาพวันที่ 7 ตุลาคม ฉบับแรก เป็นภาพมีข้อความว่า “เมืองไทย 6 ตุลา 19” มีนกแร้งบินโฉบลงมาที่ศพ 2 ศพ นอนคลุมธงชาติ ในมือมีมีดสั้นคนละเล่ม และคราบเลือด รวมกับภาพเหตุการณ์ในช่วงเช้าที่มีแต่ความทารุณโหดร้าย

ขณะที่ นายสรรพสิริ วิริยะสิริ แห่งสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 ออกมาทำหน้าที่สื่อมวลชน-โทรทัศน์ ถ่ายภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นออกอากาศในเช้าวันนั้นและค่ำวันนั้นให้พี่น้องประชาชนได้เห็นภาพแห่งความโหดร้ายอย่างจะจะ นับเป็นครั้งแรกที่สื่อโทรทัศน์ทำหน้าที่แห่งวิชาชีพสื่อมวลชน

ขณะที่สถานีโทรทัศน์จากต่าง ประเทศรายงานข่าวและภาพให้คนไทยในต่างแดนได้ทราบถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเต็มที่

ผมเดินกลับออกมาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปทางบางลำพูเพื่อหารถแท็กซี่กลับสำนักงานประชาชาติ พบนักข่าวที่สำเร็จใหม่จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ และวารสารศาสตร์ จากธรรมศาสตร์ ทั้งชายและหญิง บอกไปว่า เก็บกล้องและฟิล์มที่มีภาพเหตุการณ์กลับเข้าโรงพิมพ์ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจบแล้ว

ถึงโรงพิมพ์ เพื่อนในกองบรรณาธิการทุกคนต่างนั่งหน้าเครื่องพิมพ์ดีด เสียงรัวแป้นพิมพ์ดีดอึงคะนึง เพื่อส่งข่าวและภาพให้หัวหน้าข่าวหน้า 1 ปิดฉบับแรก วันที่ 7 ตุลาคม ที่จะพิมพ์และจำหน่ายช่วงบ่ายนี้

ต่างคนต่างพักรับประทานอาหารกลางวัน แล้วเริ่มพิมพ์ข่าวรายงานต่อในช่วงบ่ายเพื่อปิดข่าวฉบับหลัง เช้าวันที่ 7 ตุลาคม ผมหารือกับหัวหน้าข่าวถึงภาพที่ได้พบเห็นว่าจะรายงานได้ไหม หัวหน้าข่าวบอกว่า รายงานมาให้หมด ส่วนจะรายงานเป็นข่าวอย่างไร ขอเป็นหน้าที่ของหัวหน้าข่าวและบรรณาธิการ

บ่ายจัดวันนั้น 6 ตุลาคม 2519 ทุกคนที่อยู่ในกองบรรณาธิการประชุมร่วมกัน ตั้งแต่ ขรรค์ชัย บุนปาน ผู้จัดการ สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการบริหาร พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร บรรณาธิการ หัวหน้าข่าวหน้าหนึ่งและหัวหน้าข่าวอื่น กับนักข่าวเกือบทั้งหมด ประชุมเพื่อรับฟังการวิเคราะห์สถานการณ์และเหตุการณ์ต่อไปในเย็นวันนั้น ทั้งหารือกันว่าจะรายงานข่าวและเสนอภาพได้อย่างไร

ในที่สุด เพื่อให้ความจริงปรากฏ การตัดสินใจของผู้ใหญ่ในกองบรรณาธิการบอกว่า รายงานตามความเป็นจริงทั้งหมด ทุกคนจึงแยกย้ายนั่งประจำโต๊ะที่มีพิมพ์ดีดตรงหน้า พิมพ์ดีดเสียงดังราวงข้าวตอกแตก

นับจากนั้น แทบว่าไม่มีใครพูดคุยกับใคร เว้นแต่จะเดินไปหารือกับหัวหน้าข่าวเป็นครั้งคราว

กระทั่งใกล้เย็น รายงานข่าวเข้ามาว่า มีการเตรียมพร้อมเต็มกำลังตามคำสั่งของรัฐมนตรี ทั้งคณะรัฐมนตรีประชุมฉุกเฉิน ขณะที่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เริ่มสงบด้วยผู้ร่วมชุมนุมถูกต้อนนำขึ้นรถไปกักขังหลายแห่ง นักข่าวและช่างภาพต้องติดตามออกไปอย่างกระชั้นชิด

กระทั่งใกล้ 18.00 น. สถานีวิทยุแห่งประเทศไทยเริ่มให้ทุกสถานีเตรียมรับสัญญาณถ่ายทอดเสียงจากกรมประชาสัมพันธ์ แม้ด้วยสัญชาตญาณของบรรณาธิการ พอจะคาดเดาว่าจากนั้นจะเป็นอย่างไร กระนั้นทุกคนยังทำงานมือเป็นระวิง ส่งต้นฉบับให้ช่างเรียงเป็นระยะ

และแล้ว หลังเพลงชาติเวลา 18.00 น. จบ ไม่นานเสียงเพลงสยามมานุสติอันคุ้นเคยก็ดังขึ้น จากนั้นจึงเป็น “คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 1” ดังขึ้นเสียงเดียวกันทุกสถานีวิทยุ

“เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยปราศจากภัยของประชาชนทั่วประเทศ คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินจึงประกาศกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2519 เวลา 19.10 นาฬิกา เป็นต้นไป และให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้…”

จากนั้นมีประกาศออกมาในฉบับที่ 1 รวม 6 ข้อส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการปฏิบัติหน้าที่ของศาล “สั่ง ณ วันที่ 6 ตุลาคม พุทธศักราช 2519 พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน”

นักข่าว หัวหน้าข่าวเปลี่ยนจากพิมพ์ข่าวที่เกิดขึ้นตลอดวันนี้ เป็นรอพิมพ์คำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ตั้งแต่ฉบับที่ 1 เรื่อยมากระทั่งถึงฉบับที่ 5 ความว่า

“เพื่อให้การบริหารราชการของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย เพื่อความมั่นคงของชาติและความผาสุกของประชาชน คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินจึงให้สื่อมวลชนทุกประเภท ปฏิบัติดังต่อไปนี้…” ผมชะงักมือจากพิมพ์ดีดในเสี้ยววินาทีนั้น รอฟังแนวทางการปฏิบัติ

“1. ให้หนังสือพิมพ์รายวัน และสิ่งตีพิมพ์ต่อประชาชนอื่นๆ ที่เสนอข่าวและข้อเขียนแสดงความคิดเห็นทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ หยุดทำการพิมพ์ออกจำหน่ายจ่ายแจกตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ทั้งนี้ จนกว่าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินจะมีคำสั่งเป็นอื่น…”

“5. เอกสารและสิ่งพิมพ์ทุกชนิด ซึ่งเสนอข่าว บทความ และข้อเขียนแสดงความคิดเห็นอันส่อไปในทางก่อให้เกิดความแยกแยกความสามัคคีในชาติ หรือชี้นำผู้อ่านให้เกิดความนิยมเลื่อมใสในลัทธิคอมมิวนิสต์ อันจะเป็นการทำลายความมั่นคงของชาติ ไม่ว่าในวิถีทางใด ให้เก็บริบและทำลายให้หมดสิ้น

“ให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการตามคำสั่งนี้ ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป”

ผมและ (เชื่อว่า) ทุกคนต่างยกมือขึ้นจากพิมพ์ดีด เสียงเงียบเกิดขึ้นฉับพลันในวินาทีนั้น