ที่ดินทำกินบนจักรวาลเสมือนจริง/Cool Tech จิตต์สุภา ฉิน

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

Cool Tech

จิตต์สุภา ฉิน

@Sue_Ching

Facebook.com/JitsupaChin

 

ที่ดินทำกินบนจักรวาลเสมือนจริง

 

คอนเซ็ปต์ของ Metaverse หรือจักรวาลเสมือนจริงที่เราทุกคนแปลงร่างเป็นอวตารเข้าไปทำหลากหลายกิจกรรม อย่างการไปช้อปปิ้ง ดูคอนเสิร์ต ประชุม หรือท่องเที่ยวโดยที่กายหยาบของเราอาจจะยังนั่งอยู่บนโซฟาเป็นสิ่งที่บริษัทจำนวนมากขานรับและเริ่มลงมือทำอย่างกะตือรือร้นราวกับกลัวว่าหากไม่รีบทำตั้งแต่ตอนนี้ก็จะถูกทิ้งเอาไว้ข้างหลัง

สำหรับคนทั่วไป Metaverse ยังถือว่าห่างไกลกับชีวิตประจำวันมาก ตัวฉันเองก็ยังนึกไม่ค่อยออกเหมือนกันว่า Metaverse จะทำให้ไลฟ์สไตล์ของฉันเปลี่ยนแปลงไปในเร็ววันนี้ได้อย่างไร

ดังนั้น ในตอนนี้ Metaverse จึงยังถือว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้นและเป็นภารกิจของแบรนด์ที่จะต้องทำให้ผู้บริโภคเข้าใจประโยชน์ใช้สอยของมันให้ได้

หนึ่งในสิ่งที่แบรนด์กำลังทำกันอย่างขะมักเขม้นและอันที่จริงก็เป็นแนวทางปฏิบัติที่ไม่แตกต่างสักเท่าไหร่กับโลกแห่งความเป็นจริงก็คือการแข่งขันกันจับจองทำเลทองบนโลกแห่ง Metaverse เพื่อเปิดช้อปแห่งอนาคตให้คนส่งอวตารเข้ามาซื้อของกันนั่นเอง

‘ทำเลที่ตั้ง’ เป็นสิ่งที่ไม่ได้จำเป็นแค่บนโลกความเป็นจริง บน Metaverse เองก็ใช้หลักการแบบเดียวกันนี้เหมือนกัน ตอนนี้ทั่วโลกมีผู้ให้บริการบน Metaverse อยู่หลักๆ ราว 50 เจ้า

เปรียบให้เห็นภาพชัดๆ ก็อาจจะคล้ายๆ กับการมีห้างสรรพสินค้าอยู่ตามที่ต่างๆ ทั่วโลกสัก 50 แห่ง แบรนด์ดังๆ ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์แฟชั่น แบรนด์กีฬา แบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือแม้กระทั่งธนาคารก็ต้องประเมินว่าห้างไหน ทำเลไหน มีแนวโน้มจะค้าขายแล้วรุ่ง ก็เข้าไปจับจองพื้นที่เพื่อเปิดร้านกันในนั้น

คอนเซ็ปต์การช้อปปิ้งบน Metaverse เริ่มจากแบรนด์จับจองพื้นที่เพื่อเปิดร้านขายของ ในขณะที่นักช้อปก็นั่งอยู่บ้าน สวมอุปกรณ์แสดงภาพเสมือนจริงเพื่อเข้าไปซื้อของในห้างร้านนั้นๆ คล้ายกับการมีอวตารในเกมที่เราสามารถบังคับให้เดินไปเดินมา ทำภารกิจต่างๆ ได้ เมื่อถูกใจและอยากซื้อสินค้าชิ้นไหนก็จะต้องจ่ายเงินในรูปแบบของสกุลเงินคริปโต ชำระเงินเสร็จสิ้น สินค้าก็จะถูกส่งมาให้เราได้ใช้งานในโลกจริง

อย่างไรก็ตาม การซื้อของในร้านเสมือนจริงก็ไม่ได้แปลว่าของทุกชิ้นถูกออกแบบมาให้กายทิพย์เลือกให้กายหยาบใช้เท่านั้น เพราะของบางอย่างเราก็ซื้อให้กายทิพย์หรืออวตารของเราใช้บนโลกเสมือนจริงเลยก็ได้ เช่น ไอเท็มต่างๆ หรือเสื้อผ้าที่เราจะใช้แต่งเติมสีสันความสวยงามให้กับอวตารของเรา แทบไม่แตกต่างอะไรกับการที่เรากดซื้อไอเท่มในเกมที่เราเล่นทุกวันนี้นี่แหละ

นักลงทุนบางคนเปรียบเทียบว่า Metaverse ในตอนนี้ก็เหมือนกับโซเชียลเน็ตเวิร์กในยุคแรกเริ่ม ท้ายที่สุดก็จะเหลือผู้เล่นรายใหญ่ๆ ที่ครอบครองตลาดไป ส่วนรายเล็กๆ ก็จะไปครองใจผู้ใช้เฉพาะกลุ่มแทน

ปัจจัยที่จะทำให้ Metavese อันไหนเกิดหรือดับอยู่ที่คนแห่กันไปใช้ที่ไหน ถ้าแพลตฟอร์มไหนเพื่อนเราหรือครอบครัวเราใช้งานกันเยอะๆ ก็จะยิ่งทำให้เกิดเครือข่ายที่แน่นแฟ้นและกลายเป็นแพลตฟอร์มที่ดึงดูดคนได้มากที่สุด

คล้ายๆ กับที่ทุกวันนี้ถึงแม้ Facebook จะทำให้เราหงุดหงิดใจได้ในหลายมิติเหลือเกิน แต่เราก็ยังไม่ไปไหนเสียที เพราะเพื่อนเราส่วนใหญ่ยังอยู่บนนั้น

 

ลองมาดูกันว่าพื้นที่ที่แบรนด์จับจองกันบน Metaverse นั้นมันเล็กใหญ่แค่ไหน

หนึ่งในแพลตฟอร์ม Metaverse ที่ได้รับความนิยม อย่าง The Sandbox ระบุเอาไว้บนเว็บไซต์ว่าสิ่งที่เรียกว่า ‘LAND’ หรือ ‘ที่ดิน’ ที่แบรนด์สามารถซื้อได้ มีทั้งหมด 166,464 แปลง

แต่ละแปลงซึ่งเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสจะมีความกว้างยาวอยู่ที่ 96 x 96 เมตร และสูง 128 เมตร ซึ่งก็จะมีหน่วยเทียบให้ว่าเมตรที่เป็นหน่วยวัดบนโลกจริงนั้น เมื่อแปลงเป็นว็อกเซลสำหรับ Metaverse จะเป็นกี่ว็อกเซล ใครอยากได้พื้นที่ที่ใหญ่กว่านี้ก็ซื้อเอาหลายๆ แปลงแล้วค่อยมาผนวกรวมกันสร้างเป็นร้านใหญ่อลังการก็ได้

สำหรับราคาที่ดินบน Metaverse ของ The Sandbox จะอยู่ที่ราวๆ 2,300 ดอลลาร์ต่อแปลง หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 80,000 กว่าบาทแต่ที่ผ่านมาราคาสำหรับทำเลเด็ดๆ ก็บวมเป่งแทบแตกตัวไปในบางทำเล และมีแนวโน้มว่าราคาของที่ดินบน Metaverse จะเฟ้อขึ้นไปกว่านี้อีก

เพราะเหตุนี้ผู้เชี่ยวชาญก็เลยต้องออกมาเตือนกันอยู่เรื่อยๆ ว่าปรากฏการณ์ตอนนี้มีความคล้ายกับยุคตื่นทองอยู่บ้าง และหากฟองสบู่โลกเสมือนจริงแตกขึ้นมาเมื่อไหร่คนที่ลงทุนไปแล้วก็อาจพังพินาศได้

 

มีอยู่ประเด็นหนึ่งที่ BBC พูดถึงขึ้นมาและฉันคิดว่าเป็นประเด็นน่าสนใจที่ชวนให้คิดก็คือลองนึกถึงเวลาที่เราออกจากบ้านไปเดินซื้อของในห้างสรรพสินค้าดูสิคะ บางวันเราก็สามารถเดินเลือกของได้เป็นวันๆ เข้าไปตอนฟ้าสว่างโร่ กลับออกมาอีกทีก็มืดจนเห็นดาวเต็มฟ้าแล้ว ถึงจะเดินจนรู้สึกเหมือนขาทั้งสองข้างแทบจะหลุดออกมา

แต่เราก็ยังรู้สึกว่าดีเสียอีก ได้ออกกำลังกายทั้งวันเลย

เรื่องเดียวกันนี้จะไม่เกิดขึ้นกับการเข้าไปช้อปปิ้งในโลกเสมือนจริงเพราะตัวเราเองแทบไม่ต้องขยับเลย สิ่งเดียวที่เราต้องทำก็คือสวมแว่นแสดงภาพเสมือนจริง หรือแว่น VR ซึ่งมีขนาดใหญ่ครอบคลุมประมาณครึ่งหนึ่งของใบหน้า หาเก้าอี้นั่งสบายๆ และบังคับอวตารของเราให้เดินไปเรื่อยๆ

คำถามก็คือคนคนหนึ่งจะสามารถสวมแว่น VR ได้นานแค่ไหนต่อการไปเยือน Metaverse หนึ่งครั้ง ทุกวันนี้เราก็มีแนวโน้มที่จะนั่งมากเกินไปอยู่แล้ว แทนที่จะได้ลุกจากโต๊ะทำงานและออกไปเดินช้อปปิ้งเพลินๆ นอกบ้าน ถ้าต้องช้อปผ่านแว่น VR ก็จะยิ่งทำให้การขยับร่างกายนั้นน้อยลงไปอีก เวลาติดมือถือเรายังวางลงแป๊บๆ เดินไปทำนู่นทำนี่ได้ แต่พอสวม VR เราก็จะไม่อยากถอดเข้าถอดออก ยังไม่นับความรู้สึกมึนงงหลังจากถอดแว่น VR ซึ่งแต่ละคนก็จะมีอาการมากน้อยแตกต่างกันออกไป

ฉันก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าท้ายที่สุดแล้วร่างกายมนุษย์จะปรับให้เข้ากับการสวมแว่น VR นานๆ ได้หรือเปล่า แต่ก็ไม่น่าจะใช่เร็วๆ นี้

อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องไม่ลืมว่าถ้าหากโลกแห่ง Metaverse เกิดเป็นวงกว้างได้จริงก็จะมีความเป็นไปได้ที่น่าตื่นตาตื่นใจรอเราอยู่เยอะมาก แบรนด์ต่างๆ จะสร้างประสบการณ์แปลกใหม่ให้เราได้สัมผัสกันอย่างต่อเนื่อง

โดยที่ไม่ติดข้อจำกัดทางด้านกายภาพเหมือนที่ผ่านๆ มาอีกแล้ว