ไพลินไม่ชอบกินทุเรียน อาจเพราะมันยังไม่ถูก ‘แปรรูป’/บทความพิเศษ

บทความพิเศษ

มีเกียรติ แซ่จิว

 

ไพลินไม่ชอบกินทุเรียน

อาจเพราะมันยังไม่ถูก ‘แปรรูป’

 

ผลไม้ที่มีหนามแหลมรอบตัวและมีกลิ่นไม่พึงประสงค์ที่ตัวละครอย่าง ‘ไพลิน’ ต่อต้านมาแต่ต้นเรื่อง แต่กลับบอกในช่วงราคาทุเรียนตกต่ำและมีส่วนร่วมด้วยช่วยกันเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสด้วยการ ‘แปรรูป’ ทุเรียนว่า

“…แม้จะเกลียดทุเรียนปานใด แต่เธอก็ไม่เคยมีปัญหากับทุเรียนทอดเลย แถมชอบกินด้วยซ้ำ”

ทีแรกนึกว่าไพลินจะเกลียดทุเรียนในสวนทุเรียนของครอบครัวเป็นทุนเดิม ยิ่งพ่อชอบบังคับขืนใจให้เธอกินทุเรียนอยู่ทุกวันและแม่ก็ใจร้ายถึงขั้น “ยื่นป้อนให้ไพลินตอดกินอย่างขมขื่น”

ซึ่งบทบรรยายในหลายช่วงหลายตอน ก็บอกให้รู้ว่าไพลินนั้น มืดมิดอับแสงเหลือเกินที่อยู่ในครอบครัวที่มีพ่อแม่เป็นเผด็จการ

“ฝ่ามือของแม่เปื้อนเลือดที่ซึมออกมาจากรูหนามทุเรียนที่ปักทิ้งไว้ในเนื้อ

ทุเรียนเปื้อนเลือดแม่บังเกิดเกล้าป้อนเข้าปากลูกในไส้ นั่นคือบทลงโทษของแม่”

แต่ในส่วนที่เห็นได้ชัดที่สุดน่าจะอยู่ที่ตัว ‘พ่อ’ ซึ่งเผด็จการเสียยิ่งกว่าแม่ คือควบคุมทั้งภรรยาและลูกให้อยู่ภายใต้อำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

“พ่อตวาดใส่ไพลินเสียงดังและบังคับให้ทุกคนช่วยกันกินทุเรียนที่วางอยู่บนโต๊ะจนหมด ไพลินถูกพ่อบังคับให้กินเพราะพ่อรู้ว่าไพลินเกลียด ส่วนแม่ถูกพ่อบังคับให้กินเพราะพ่อเคยรู้ว่าแม่ชอบ ที่โต๊ะอาหารเย็นนั้น ทุเรียนพูแล้วพูเล่าถูกหยิบเข้าปากด้วยเรื่องราวภูมิหลังและสภาวะจิตใจที่แตกต่างไปในแต่ละคน”

จึงอดแปลกใจอยู่ไม่น้อยว่าไพลินหันไปชอบขบเคี้ยว ‘ทุเรียนทอด’ เอาตอนไหน?

 

แต่พอมองภาพรวมทั้งหมดแล้ว จึงเข้าใจในบัดดลว่า เพราะ ‘ทุเรียน’ ที่ไพลินเกลียดนักเกลียดหนา อาจเพราะมันยังไม่ถูก ‘แปรรูป’ จากสามัญสำนึกของครอบครัวที่คอยบงการบังคับขู่เข็ญให้เธอต้องกลืนกินอคติ ความเชื่อเก่า ระบบความคิดแบบเก่า เอาความเห็นของตนเป็นที่ตั้ง และเป็นลูกต้องอยู่ในโอวาทห้ามโต้แย้งเห็นแย้งผู้ปกครอง

เรื่องสั้นเรื่องนี้ จึงว่าด้วยการเมืองในบ้านก็คงไม่ผิด และนอกบ้านหรือในโรงเรียนคือความเสมอภาคเท่าเทียมที่เพื่อนนักเรียนทุกคนต่าง ‘ฟังเสียง’ และเคารพความเห็นต่างซึ่งกันและกัน

ซึ่งตรงนี้เองที่ในช่วงท้าย ๆ คือการผนึกกำลังร่วมมือร่วมใจกันของไพลิน ผองเพื่อนและครู ในการช่วยเหลือชาวสวนทุเรียนแปรรูปทุเรียนและจัดตั้งสหกรณ์ชุมชนขึ้น และครอบครัวของไพลินก็ ‘เปิดใจ’ มากขึ้น

ยอมรับความเห็นต่างที่ ‘เป็นเหตุเป็นผล’ เลิกมีอคติ มีธงในใจ ยึดมั่นว่า ‘สิ่งเดิม’ ที่ดีอยู่แล้วจะยั่งยืนสืบนาน

 

การปรับเปลี่ยนแปรรูปทุเรียนในครั้งนี้ นอกจากได้ช่วยประคับประคองชาวสวนทุเรียนให้ลืมตาอ้าปากได้อีกครั้ง โดยไม่ปล่อยให้ทุเรียนตกเน่าใต้ต้น และทุเรียนที่เหลือต้อง “ช่วยกันกินให้หมด” เหมือนครั้งที่ผ่านมา

แต่ยังทำให้เห็นว่าไพลินไม่ได้เกลียดทุเรียน (ทอด) แต่อย่างใด

เมื่อเสียงของเธอถูกรับฟังและสามารถทำความเข้าใจที่จะสมานฉันท์อยู่ร่วมกันได้อย่างผาสุก