เมืองฉะเชิงเทรา เก่าสุด อยู่บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา / สุจิตต์ วงษ์เทศ

สุจิตต์ วงษ์เทศ

 

เมืองฉะเชิงเทรา เก่าสุด

อยู่บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา

 

“เมืองฉะเชิงเทรา” เก่าสุด อยู่บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา พบครั้งแรกแผ่นดิน ร.1 ในพระอัยการตำแหน่งนา (ทหาร) หัวเมือง (ถูกชำระสมัย ร.1 ไม่ใช่ของเดิมสมัยพระบรมไตรโลกนาถ)

ก่อนหน้านี้เรียกอย่างอื่น เช่น เมืองเจ้าโล้ (หรือเจ้าโล่) ตามชื่อปากน้ำเจ้าโล้ ซึ่งมีชุมชนเมือง พบในพระราชพงศาวดารช่วงกรุงแตก พ.ศ.2310 จึงอาจลำดับความเป็นเมืองฉะเชิงเทรา ดังนี้

[1.] ปากน้ำเจ้าโล้เป็น “ชุมชนเมือง” เรียก “เมืองเจ้าโล้”

ยกเป็นเมืองฉะเชิงเทราแห่งแรก พบหลักฐานสนับสนุนอยู่ในจารึกแผ่นเงินวัดเจดีย์ (วัดพยัคฆอินทาราม) ต.บ้านใหม่ อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา

[2.] ย้ายไปบางคล้า สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์

[3.] ย้ายไปฉะเชิงเทรา (ปัจจุบัน) สมัย ร.3

 

เมืองฉะเชิงเทราในความทรงจำ

เรื่องราวของเมืองฉะเชิงเทรามีบอกในนิราศปราจีนบุรี (ไม่มีชื่อผู้แต่ง) น่าจะแต่งสมัย ร.3 หลักศึกเจ้าอนุ พ.ศ.2369-ก่อนขุดคลองแสนแสบ พ.ศ.2380

เมืองฉะเชิงเทราย้ายจากปากน้ำเจ้าโล้ เลื่อนลงไปอยู่บริเวณท่าทองหลาง ซึ่งมีโรงเหล้าทำเหล้าขาย (เมื่อ 60 ปีที่แล้ว ชาวบ้านทั่วไปเรียกบริเวณนี้ว่าโรงเหล้า หมายถึง อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา)

แปดริ้ว ในนิราศฯ บอกว่ามาจากนิทานลาวเรื่องพระรถ นางเมรี เล่าว่านางยักษ์ถูกจับลากตามคลองท่าลาด แล้วแล่เนื้อนางยักษ์โยนให้เสือสาง และทำเป็นริ้วได้แปดริ้วโยนให้แร้งกากิน (จะเห็นว่าเรื่องปลาช่อนใหญ่แล่เนื้อได้ 8 ริ้ว เป็นนิทานแต่งใหม่ในปัจจุบัน)

เจ้าโล้ ในนิราศฯ บอกว่ามาจากนิทานเรื่องเจ๊กทำไร่อยู่ปากคลองชื่อ “เจ้าโล่” ต่อมามั่งคั่งก็ตั้งเป็นบ้านเมืองชื่อเมืองเจ้าโล่ สมัยหลังกลายคำเป็นเจ้าโล้

ข้อความในนิราศปราจีนบุรี มีดังนี้

พอถึงท้ายนคราท่าทองหลาง ทั้งสองข้างฟากฝั่งเขาดั่งสวน

กระสังซากหมากมะพร้าวมะม่วงพรวน จนถึงจวนท่าเจ้าเมืองฉะเชิงเทรา

มีเหย้าเรือนเคหาน่าสนุก ตะรางคุกคันโพงทั้งโรงเหล้า

เป็นเมืองขึ้นอยุธยาพาราเรา ผู้ใหญ่เล่าว่าสุนนทามารนาง

เขาฉุดชักยักษ์มาตามท่าลาด เพชฌฆาตแล่เนื้อให้เสือสาง

ฉะเถิดเราเอาไปไยให้ไกลทาง ทำริ้วบางบอกกาให้มากิน

จึงให้ชื่อแปดริ้วนครัง อยู่ฟากฝั่งบูรพาชลาสินธุ์

เมื่อมารร้ายกลายสกนธ์เข้าปล้นกิน พระรถรู้ดอกจึงสิ้นชีวาลัย

ตรงชะวากปากน้ำเจ้าโล่นั้น เขาเล่ากันไว้ให้สิ้นที่สงสัย

ว่าเจ๊กคนหนึ่งนั้นมันกระไร แต่ทำไร่เพียรมาอยู่ช้านาน

จนมั่งคั่งตั้งเมืองขึ้นเลื่องลือ ตลอดชื่อจีนโล่รโหฐาน

ด้วยอาศัยใจมานะพ้นประมาณ เป็นนิทานก่อนเก่าเขาเล่ามา

[นิราศปราจีนบุรี (ไม่มีชื่อผู้แต่ง) น่าจะแต่งสมัย ร.3 หลังศึกเจ้าอนุ พ.ศ.2369-ก่อนขุดแสนแสบ พ.ศ.2380]

แผนที่แสดงแม่น้ำบางปะกงตั้งแต่ต้นน้ำจนปากน้ำลงอ่าวไทย [โดยทนงศักดิ์ หาญวงษ์ | พฤษภาคม 2565]

ฉะเชิงเทรา

ฉะเชิงเทรา แปลว่า คลองลึก หรือแม่น้ำลึก โดยปริยายหมายถึงแม่น้ำบางปะกงลึก

ฉะเชิงเทรา นักปราชญ์ทางภาษาอธิบายว่าเป็นการกลายคำจากภาษาเขมรว่า ฉฺทิงเชฺรา ดังนี้

จฺทิง หรือ ฉฺทิง หรือ สฺทึง แปลว่า คลอง หรือแม่น้ำ

เชฺรา (อ่านว่า โจฺร็ว) แปลว่า ลึก

[จากคอลัมน์ “ฝากให้คิด” โดย ฉ่ำ ทองคำวรรณ (นักปราชญ์ภาษาเขมร) อยู่ในนิตยสารรายเดือน สามทหาร ปีที่ 1 ฉบับที่ 4 (มีนาคม 2505) หน้า 39]

มีเอกสารของทางการฉะเชิงเทรา บอกว่าฉะเชิงเทราและบางคล้ามาจากชื่อในพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐว่า “เมืองนครพังค่า” กับ “เมืองแสงเชรา” ซึ่งเข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะแท้จริงแล้วสองเมืองนั้นอยู่ทางลุ่มน้ำป่าสัก จ.เพชรบูรณ์

ปากน้ำเจ้าโล้ (ซ้าย) คือปากคลองท่าลาด ไหลลงแม่น้ำบางปะกง (ขวา) ไปออกอ่าวไทย (ภาพจากโดรนมติชนทีวี พ.ศ.2565)

แปดริ้ว

แปดริ้ว กลายจากคำจีนว่า แปะเลียว หมายถึงเสาใบนับร้อย หรือนับไม่ถ้วน

แปะ แปลว่า หนึ่งร้อย เลียว, เรียว แปลว่า เสาใบ, เสาท้าย, สายเลียว (ในบทพระอัยการตำแหน่งนาพลเรือนมีชื่อในสำเภาว่า ตั้วเลียว ว่าสายเลียว กับเสาท้าย)

สอดคล้องกับเมืองแปดริ้วตั้งอยู่ปากน้ำเจ้าโล้ เส้นทางเรือเข้าไปลำเลียงแร่ธาตุและ “ของป่า” จากชุมชนที่ดอนภายใน จึงมีเรือใบนับไม่ถ้วนเรียงรายเข้าออกที่แปดริ้ว ต่อมาเลื่อนไปสร้างเมืองใหม่ และบริเวณเมืองใหม่มีโรงเหล้า มีเรือเข้าออกมากขึ้น •