วิกฤติศตวรรษที่21 : สงครามไซเบอร์ กับสเปซกับการพัฒนา

มองโลกปี 2017 และหลังจากนั้น (36)

ในศตวรรษที่ 21 ได้เกิดมีสิ่งแวดล้อมใหม่ แดนใหม่ นั่นคือไซเบอร์สเปซ หรือพื้นที่ข่าวสารของโลกในระบบอินเตอร์เน็ต กับทั้งเป็นสมรภูมิใหม่ด้วย

ไซเบอร์สเปซ ประกอบขึ้นจากหลายสิ่งทั้งที่เป็นเชิงกายภาพและเป็นแนวคิด ทฤษฎีและจินตนาการ ตลอดจนบริบททางการเมือง-สังคม

ดังนั้น จึงมีความหมายหลายอย่างแล้วแต่มุมมอง

แต่ความจริง ไซเบอร์สเปซเป็นประดิษฐกรรมอย่างหนึ่งของมนุษย์ เพื่อการเข้าใจและควบคุมธรรมชาติ ชีวิต สังคม ตลาด และตัวมนุษย์เอง

เป็นประดิษฐกรรมที่สร้างสะสมมาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 ตลอดมาทั้งศตวรรษที่ 20

นักวิชาการโดดเด่นคนหนึ่ง นอร์เบิร์ต วีเนอร์ (1894-1964) เป็นนักคณิตศาสตร์และนักปรัชญาชาวอเมริกัน แสดงบทบาทผู้สังเคราะห์การค้นพบและทฤษฎีต่างๆ ได้แก่ ทฤษฎีการสื่อสาร ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ ทฤษฎีระบบซับซ้อนและการป้อนกลับ ปัจเจกชนนิยม และสังคมที่พึงประสงค์ วางรากฐานของวิชาใหม่แขนงหนึ่งคือ “ไซเบอร์เนติกส์” เป็นวิทยาศาสตร์ว่าด้วยการควบคุมและการสื่อสารในสัตว์และเครื่องจักร

วีเนอร์เขียนหนังสือชื่อ “ไซเบอร์เนติกส์” ขึ้น (Cybernetics : Or Control and Communication in Animal and Machine เผยแพร่ปี 1948) เขาต่อต้านอำนาจครอบงำ ปฏิเสธที่จะรับทุนวิจัยจากหน่วยงานรัฐบาลและด้านการทหาร

วีเนอร์โตในความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ใหญ่สองด้านคือ การพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ (เขาเข้าร่วมบางส่วน) และการทำให้เป็นอัตโนมัติ ซึ่งเขามีบทบาทสำคัญ การทำเครื่องจักรและระบบให้เป็นแบบอัตโนมัติ ได้มีการพัฒนาไปมากในปัจจุบัน รวมความคือสร้างเครื่องจักรที่มีความสามารถเหมือนซูเปอร์แมนสำหรับมนุษย์ใช้งาน

แต่วีเนอร์เห็นว่ามันเป็นโศกนาฏกรรม และการคุกคามมากกว่าจะชื่นชมรมย์รื่น

เขาเตือนว่า “โลกในอนาคตยิ่งเรียกร้องให้เราต่อสู้กับความจำกัดทางปัญญาของเรามากขึ้น ไม่ใช่นอนสบายบนเปลญวนให้ทาสหุ่นยนต์คอยรับใช้”

และว่า “ผู้ที่ต้องประสบความทุกข์ยากจากปมเขื่องที่ต้องการรักษาอำนาจ และสถานะของตน ย่อมเห็นว่าการทำให้มนุษย์เป็นเครื่องจักรเป็นวิธีง่ายๆ ในการทำให้ความทะเยอทะยานของเขาเป็นจริง”

ท้ายสุดวีเนอร์สรุปว่า “เรามนุษย์ไม่สามารถต่อต้านความเห็นแก่ตัวของเราในการใช้อำนาจเครื่องจักรที่ได้มา ในการทำร้ายเพื่อนมนุษย์และโลก ทั้งมีความเป็นไปได้มากที่เราไม่สามารถจะควบคุมเครื่องจักรได้ตามปรารถนา ทั้งนี้เพราะมันมีการพัฒนาเร็วมาก และเรายังสร้างให้มันรู้จักตัดสินใจด้วยตนเอง”

ทัศนะของวีเนอร์ที่เป็นผู้ทำงานในด้านนี้ ยังคงมีอิทธิพลจนถึงปัจจุบัน

(ดูบทความของ Doug Hill ชื่อ The Eccentric Genius Whose Time May Have Finally Come (Again) ใน theatlantic.com 11.06.2014)

นี่ก็เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ง่ายว่าไซเบอร์สเปซกลายเป็นสมรภูมิได้อย่างไร

พัฒนาการและการควบคุมไซเบอร์สเปซ

ไซเบอร์สเปซมีด้านที่เป็นสิ่งแวดล้อมหรือแดนที่เสรี เป็นพื้นที่สาธารณะที่ใครจะเข้าไปใช้ก็ใช้

แต่โดยพื้นฐาน มันเป็นพื้นที่ที่มีเจ้าของ มีการควบคุม ถูกทำให้เป็นเครื่องมือทางการตลาด การลงทุน การแสวงหากำไร การเมืองและการทหารมาตั้งแต่ต้น และมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ

ไซเบอร์สเปซหมายถึงโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีข่าวสารที่ต่อเชื่อมกัน

โครงสร้างพื้นฐานนี้ประกอบด้วยคอมพิวเตอร์ ระบบที่มีคอมพิวเตอร์เป็นฐานเครือข่ายโทรคมนาคม เวิลด์ไวด์เว็บ และอินเตอร์เน็ต รวมทั้งข่าวสารที่ส่งและประมวลผลภายในระบบเหล่านี้ จากพัฒนาการที่ช่วยสร้างไซเบอร์สเปซ จะเห็นว่ามีอำนาจรัฐ การทหารและบรรษัทมาเกี่ยวข้องตั้งแต่ต้น ได้แก่

ก) สำนักงานโครงการวิจัยขั้นสูง กระทรวงกลาโหมสหรัฐได้ริเริ่มโครงการอาร์ปาเน็ตขึ้น (เริ่ม 1966 ส่งข้อมูลผ่านระบบได้ปี 1969 แนะนำต่อสาธารณะปี 1972) เชื่อมต่อคอมพิวเตอร์จำนวนมากเข้าเป็นเครือข่ายเดียวกัน

ข) ทศวรรษ 1980 มูลนิธิวิทยาศาสตร์ธรรมชาติของสหรัฐได้ขยายระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ไปทั่วประเทศ และเข้ามารับดูแลอินเตอร์เน็ตภาคพลเรือน ในช่วงเวลาเดียวกัน บริษัทด้านคอมพิวเตอร์ทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ได้ผลิตคอมพิวเตอร์สำหรับบ้านเรือนใช้แพร่หลายตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1980

ค) ในปี 1990 นักวิทยาศาสตร์แห่งองค์การวิจัยนิวเคลียร์ยุโรป (เซิร์น) ได้พัฒนาและใช้เวิลด์ไวด์เว็บ หรือพื้นที่ข้อมูลข่าวสารที่เชื่อมต่อกันในระบบอินเตอร์เน็ต ช่วยทำให้การไหลของข่าวสารในเครือข่ายการสื่อสารเป็นไปอย่างสะดวกยิ่ง ถือเป็นเสาหลักหนึ่งของยุคข่าวสาร ปี 1993 เซิร์นได้ยกเทคโนโลยีเวิลด์ไวด์เว็บแก่โลก

ง) การแปรอินเตอร์เน็ตเป็นธุรกิจเอกชนในสหรัฐ โดยในปี 1990 อาร์ปาเน็ตประกาศเลิกดำเนินการมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (หน่วยงานหนึ่งในรัฐบาลสหรัฐ) เข้าดูแลอินเตอร์เน็ตภาคพลเรือน มีความคิดที่จะขยายอินเตอร์เน็ตให้ครอบคลุมทั่วประเทศโดยไม่ต้องใช้เงินอุดหนุนจากรัฐบาล ได้แปรอินเตอร์เน็ตให้เป็นธุรกิจเอกชน ประกาศยกเลิกข้อห้ามการใช้อินเตอร์เน็ตเชิงพาณิชย์ในปี 1991 และในปี 1995 ประกาศให้อินเตอร์เน็ตเป็นธุรกิจเอกชนเต็มที่

การแปรรูปนี้ทำให้บริษัทเอกชนเข้ามาประกอบการในอินเตอร์เน็ตกันอย่างล้นหลาม

เช่น ปี 1998 เกิดเว็บค้นหากูเกิล ซึ่งต่อมาได้ขยายและซื้อกิจการด้านบริการและผลผลิตทางอินเตอร์เน็ตอื่นจำนวนมาก

ปี 2003 เปิดตัวเว็บการสร้างบล็อก “เวิร์ดเพรสส์” เฟซบุ๊ก (2004) ยูทูบ (2005) ทวิตเตอร์ (2006) จำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ในปี 1990 มีผู้เข้าถึงอินเตอร์เน็ตเพียง 3 ล้านคน ร้อยละ 75 อยู่ในสหรัฐ ร้อยละ 15 อยู่ในยุโรปตะวันตก

ในปัจจุบัน (30 มิถุนายน 2017) มีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตทั่วโลกกว่า 3,885 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 51.7 ของประชากรโลก

ประเทศจีนมีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตสูงสุดในโลก กว่า 730 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 53.2 ของประชากรจีน

อินเดียตามมาที่สอง แต่คิดเป็นสัดส่วนผู้ใช้เพียงร้อยละ 34.4

สหรัฐเป็นอันดับสามที่ 287 ล้านคน

ไทยมีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตสูงเป็นอันดับที่ 15 ที่ 57 ล้านคน สัดส่วนอัตราผู้ใช้ต่อประชากรทั้งหมดสูงถึงร้อยละ 83.5 เกือบเท่าของสหรัฐ (ดู internetworldstats.com)

จ) ปี 2000 ฟองสบู่ดอตคอมในสหรัฐแตก สะท้อนให้เห็นลักษณะเก็งกำไรในอุตสาหกรรมข่าวสารและการสื่อสารที่ไม่ได้มั่นคงกว่าธุรกิจอื่น

ฉ) การพัฒนาและการควบคุมไซเบอร์สเปซในจีน จีนเข้าร่วมยุคข่าวสารและสร้างไซเบอร์สเปซของตนอย่างก้าวกระโดด และต้องแก้ปัญหาความมั่นคงทางไซเบอร์สเปซตั้งแต่ต้น เพื่อรักษาตลาดและความมั่นคงแห่งชาติด้านนี้ไว้ จากการเข้าครอบงำของมหาอำนาจตะวันตกทางอุดมการณ์ วัฒนธรรมและการพาณิชย์

จีนสร้างเว็บค้นหาของตน “ไป่ตู้” (2000) และสร้างแอพพลิเคชั่น “วีแชต” (2011) ใช้สำหรับการส่งข้อความสั้นๆ การค้าและชำระเงิน เป็นต้น

ในด้านป้องกัน ริเริ่มโครงการเกราะทองคำ (ตะวันตกเรียก Great Firewall รณรงค์ปี 2003) พิจารณาและสกัดกั้นข่าวสารที่เผยแพร่ในอินเตอร์เน็ตของจีน ป้องกันการโจมตีทางข่าวสารจากภายนอกประเทศ

โดยมีมาตรการสำคัญสามประการ ได้แก่

ก) การขีดเส้นตีกรอบชัดเจนว่าห้ามก้าวข้าม

ข) การสอดส่อง ในปี 2013 มีรายงานว่าจีนมี “ตำรวจอินเตอร์เน็ต” ถึง 2 ล้านคน

ค) การจับกุม

การควบคุมอินเตอร์เน็ตแบบจีนนี้ ในทางปฏิบัติก็กระทำกันทั่วโลก ในประเทศตะวันตกเองก็ควบคุม สอดส่องการใช้อินเตอร์เน็ตมากขึ้น ด้วยข้ออ้างทางความมั่นคงและอื่นๆ

สงครามไซเบอร์กับมหาสงคราม

นับแต่ช่วงครึ่งหลังศตวรรษที่ 20 มีนักวิชาการบางคนตั้งข้อสังเกตว่า อำนาจแข็งทางการทหารและเศรษฐกิจ ที่เคยเป็นสิ่งขี้ขาด ได้ค่อยๆ เปิดทางให้แก่อำนาจอ่อนทางข่าวสารและการสื่อสารในการสร้างความยินยอมหรือการโน้มน้าวมากขึ้น

และเห็นชัดตั้งแต่การล่มของกำแพงเบอร์ลิน (1989) แต่การเปลี่ยนแปลงนี้กลับเป็นผลดีแก่สหรัฐ

เพราะว่าสหรัฐก็มีอำนาจอ่อนสูงด้วย ได้แก่ อิทธิพลครอบงำทางสื่อมวลชน สื่อสังคม การบันเทิง ท่วงทำนองดำเนินชีวิต และวัฒนธรรมป๊อป

แต่ในปี 2015 ได้เกิดมหาอำนาจแบบใหม่ปรากฏชัด เป็นมหาอำนาจทางไซเบอร์ มีทั้งในระดับรัฐและระดับต่ำกว่ารัฐที่มีทรัพยากรไม่มาก มีการโจมตีทางไซเบอร์ ประสานกับการปล่อยข่าวลวง ซึ่งส่งผลกระทบอย่างสูงต่อทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ

ภาคเอกชนที่ถูกโจมตีในปี 2016 เช่น ทวิตเตอร์ อเมซอน เน็ตฟลิกซ์ เพย์พัล และสำนักข่าวทั่วโลก เกิดการโจมตีโดยการปฏิเสธการให้บริการ (denials-of-service) ต่อโครงสร้างพื้นฐาน ในประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ได้แก่ สหรัฐ ประเทศต่างๆ ในยุโรป เอเชีย และตะวันออกกลาง (ดูบทความของ Paul Laudicina ชื่อ 2017 Will Be the Year of Cyber Warfare ใน forbes.com 16.12.2016)

ในเดือนพฤษภาคม 2017 เกิดการโจมตีของซอฟต์แวร์มุ่งร้ายเพื่อเรียกค่าไถ่วันนาคราย (WannaCry) ที่ส่งผลไปทั่วโลกภายในเวลาเพียงวันเดียวกระทบต่อคอมพิวเตอร์ 230,000 เครื่องใน 150 ประเทศ

ก่อให้เกิดการตื่นตัวครั้งใหญ่ในการสร้างระบบความมั่นคงทางไซเบอร์ขึ้นในเชิงพาณิชย์ธุรกิจ เช่น การเสนอแนวคิดสร้างกรอบความมั่นคงทางไซเบอร์ 5 ขั้น คือ

1) การกำหนดกรอบปัญหา ได้แก่ เรื่องการจัดการสินทรัพย์ สิ่งแวดล้อมทางธุรกิจ การปกครองหรือธรรมาธิบาล การประเมินความเสี่ยง ยุทธศาสตร์จัดการความเสี่ยง

2) การป้องกัน ได้แก่ การควบคุม การเข้าถึง การฝึกการตื่นตัว ความมั่นคงทางข้อมูล การป้องกันกระบวนการและขั้นตอนของข่าวสาร การป้องกันทางเทคโนโลยี

3) การตรวจจับ ได้แก่ ความผิดปกติและเหตุการณ์ต่างๆ การตามดูความมั่นคงอย่างต่อเนื่อง กระบวนการตรวจจับ

4) การตอบโต้ แผนการตอบโต้ การสื่อสาร การวิเคราะห์ การลดทอนผลเสียหาย การปรับปรุง

5) การฟื้นตัว แผนการฟื้นตัว การปรับปรุง การสื่อสาร (ดูบทความของ Anastasia Pyrinis ชื่อ The New Face of War : Security in the Age of Cyberwarfare ใน huffingtonpost.com 11.09.2017)

ในด้านทางทหาร รัฐมหาอำนาจได้มีการศึกษาและพัฒนาระบบความมั่นคงทางไซเบอร์จริงจังมานานแล้ว ทั้งในเชิงรับและเชิงรุก

เชิงรับได้แก่ การสร้างระบบป้องกันที่ซับซ้อน ทำให้สามารถรักษาเครือข่ายการสื่อสารไว้ได้ในทุกสถานการณ์

ในเชิงรุกมีทั้งด้านการขยายเครือข่ายการสื่อสารให้แผ่ครอบคลุมทั่วโลก ไปจนถึงการบ่อนทำลาย และการล้วงความลับต่างๆ ประสานกับปฏิบัติการจิตวิทยาเพื่อก่อผลทางการเมืองที่ต้องการ

รวมทั้งการโจมตีทางไซเบอร์เพื่อการทำลายล้างทางกายภาพข้ามพรมแดน โดยไม่ต้องใช้กำลังทางทหารอย่างที่เคยทำ

อาวุธทางไซเบอร์ที่ตรวจพบครั้งแรกได้แก่สตักซ์เน็ต เป็น “หนอนคอมพิวเตอร์” ปี 2010 ไวรัสนี้ได้ทำความเสียหายหนักแก่อุปกรณ์ในโรงแยกยูเรเนียม ทำให้แผนการแยกยูเรเนียมให้บริสุทธิ์ของอิหร่านเกิดปัญหา โดยตะวันตกเห็นว่าการทำยูเรเนียมให้บริสุทธิ์นี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างอาวุธนิวเคลียร์

ไวรัสสตักซ์เน็ตทำให้เครื่องแยกยูเรเนียม 1,000 แกนในอิหร่านต้องหยุดทำงาน

เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน อดีตนักวิเคราะห์ข่าวกรองสหรัฐให้สัมภาษณ์ว่า อิสราเอลและสหรัฐเป็นผู้ร่วมกันสร้างไวรัสคอมพิวเตอร์นี้ขึ้น (ดูข่าวชื่อ Snowden Says Israel, U.S. Created Stuxnet Virus That Attacked Iran ใน haaretz.com 09.07.2013)

แต่มีนักวิชาการบางคนชี้ว่าอาวุธทางไซเบอร์นี้ไม่ได้มีประสิทธิภาพมากนักทั้งในทางการเมืองและการทหาร

ตั้งแต่ปี 2011 ทำเนียบขาวและกระทรวงกลาโหมสหรัฐ เริ่มมีความเห็นว่าการโจมตีทางไซเบอร์เข้าข่ายของการสงคราม เพียงแต่ว่าต้องกำหนดให้ชัดเจนว่าทำแค่ไหนจึงเป็นการก่อสงคราม

เดือนตุลาคม 2012 นายลีออน พาเนตตา รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐขณะนั้นได้กล่าวเตือนถึง “ไซเบอร์ที่อ่าวเพิร์ล” ที่รุนแรงเทียบกับทัพอากาศญี่ปุ่นโจมตีอ่าวเพิร์ลในปี 1941 ว่าเป็นสิ่งเกิดขึ้นได้ และก่อผลทำลายล้างสูงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

กล่าวอย่างกว้างๆ ได้ว่า การโจมตีทางไซเบอร์ที่ก่อผลให้เกิดการตาย บาดเจ็บ เสียหายร้ายแรง เหมือนกับถูกทิ้งด้วยระเบิดหรือจรวด ก็ถือได้ว่าเป็นการใช้กำลังก่อสงคราม

อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจขั้นสุดท้ายอยู่ที่การตัดสินใจทางการเมืองที่ผู้นำขณะนั้นมองเห็นอย่างไร (ดูบทความของ Ellen Nakashima ชื่อ When is a cyberattack an act of war ใน The Washington Post 26.10.2012)

ในปัจจุบัน หลายชาติได้สร้างนักรบไซเบอร์อย่างจริงจัง เป็นกองทัพแฮ็กเกอร์หรือนักรบไซเบอร์และผู้พัฒนาอาวุธทางไซเบอร์

ขณะนี้สหรัฐก็มึนตึงกับรัสเซียเพิ่มขึ้นอีกเรื่องหนึ่งว่า รัสเซียได้แฮ็กข้อมูลสำคัญและเข้าแทรกแซง จนมีผลต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ วิจารณ์กันว่ามหาสงครามอาจเริ่มต้นจากสงครามไซเบอร์นี้เอง

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงความขัดแย้งระหว่างชนชั้นล่างกับชนชั้นบน