หลังเลนส์ในดงลึก/”ตีน ด่าน และหัวใจ”

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

“ตีน ด่าน และหัวใจ”

11.30 นาฬิกา ของบ่ายวันนั้น ผ่านมาแล้วหลายปี

เสือดาวตัวหนึ่งนอนเหยียดยาว ลมหายใจเป็นจังหวะสม่ำเสมอ ใบหูเล็กๆ ตรงปลายมีสีดำ กระดิกไปมา ส่วนหัวเริ่มขยับ

หลังจากนั่งข้างๆ เสือดาวตัวนี้มาแล้วร่วมสองชั่วโมง ยาสลบหมดฤทธิ์ เสือดาวฟื้นคืนสติ

ผมลุกขึ้นยืน เดินถอยห่างออกมาประมาณ 10 เมตร

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผมมีโอกาสได้พบกับเสือดาว

แต่เป็นครั้งแรก ที่ได้อยู่อย่างใกล้ชิดกระทั่งสัมผัสตัว ทำให้ผมรู้ว่าลำตัวของมันปกคลุมด้วยหนังและขนอันหนานุ่มกว่าที่เคยคิด

ลวดลายบนหนัง ที่เรียกว่า “ลายขยุ้มตีนหมา” งดงามอ่อนช้อย รวมทั้งมีรายละเอียดมากกว่าที่เคยเห็นไกลๆ

หลังขยับตัวไปมาสักพัก เสือดาวผงกหัวขึ้น มองมาทางผม ที่ขยับเท้าบนใบไม้แห้งกรอบ จนเกิดเสียงดัง

เสือดาวจับทิศทางของเสียงได้

เราสบสายตากันอยู่สักพัก

แม้จะยังอยู่ในสภาวะงัวเงียจากฤทธิ์ยา ผมก็เห็นดวงตาแข็งกร้าว พร้อมอาการแยกเขี้ยวและขู่คำราม

หลายปีต่อจากนั้น ผมมีโอกาสได้ร่วมงานกับโครงการศึกษานิเวศวิทยาของเสือโคร่ง ในสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ

ทำให้ผมได้พบกับช่วงเวลาอย่างนี้อีกหลายครั้ง

เวลาที่เสือฟื้นคืนสติ

และระหว่างเรา ก็คืนกลับสู่โลกแห่งความเป็นจริง

เป็นครั้งแรกอีกเช่นกัน ที่ผมได้พบกับ ดร.เดวิด สมิธ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเสือโคร่ง ที่เข้ามาช่วยผลักดัน และสนับสนุนการศึกษาเรื่องเสือโคร่งในประเทศไทย

ดร.เดวิดเข้ามาทำงานในป่าห้วยขาแข้งทางตอนใต้ พร้อมกับทีมจากสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ

บาธ เชเลเยอร์ มาในฐานะผู้ช่วย ดร.เดวิด

อาจเพราะอยู่ในวัยเดียวกัน ผมกับบาธสนิทกันอย่างรวดเร็ว

“เราอยากบอกให้ทุกๆ คนรู้ว่า ยังมีเสือโคร่งอาศัยอยู่ในป่าแห่งนี้ และบอกให้รู้ด้วยว่า พวกมันมีความสำคัญ มีหน้าที่อย่างไรในป่า”

ดร.เดวิดตอบคำถาม เมื่อผมถามว่า ทำไมถึงเข้ามาทำงานที่นี่

พวกเขาเริ่มงานมาแล้วหนึ่งสัปดาห์ ก่อนผมจะเข้ามา

“ถ้าโชคดีจับเสือโคร่งได้ เราจะสวมปลอกคอ ที่จะส่งสัญญาณบอกตำแหน่งที่เสืออยู่ และเราจะตามศึกษามันได้” ดร.เดวิดอธิบาย

การทำงานกับเสือ นอกจากประสบการณ์

พวกเขาต้องการสิ่งที่เรียกว่า “โชค” เช่นกัน

บาธ ชายหนุ่มชาวแคนาดา ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในป่า นับตั้งแต่แถบรัสเซีย อินเดีย บังกลาเทศ และบริเวณเกาะสุมาตรา

เขาช่วยนักวิจัยจับเสือมาแล้ว 40 ตัว

หลังเสร็จงานตอนกลางวัน ค่ำๆ เรานั่งคุยกันข้างกองไฟ

“เล่าเรื่องเสือกินคนให้ผมฟังหน่อย” ค่ำหนึ่ง ผมพูดกับบาธ เพราะเขาเคยอยู่ในป่าบังกลาเทศ ร่วมงานกับนักวิจัย ผู้พยายามปกป้องเสือ แม้ว่าที่นั่นเสือจะได้ชื่อว่าเป็นสัตว์ร้าย มีเสือจำนวนไม่น้อยโจมตีและกินเนื้อคน

“ผมเชื่อเช่นเดียวกับ คุณจิม คอร์เบต ว่าโดยปกติเสือไม่นิยมทำร้าย หรือกินคน” บาธตอบ

จิม คอร์เบต ได้ชื่อว่าเป็นพรานผู้ฆ่าเสือนับพันตัว

“อินเดียเป็นที่ซึ่งมีเสือกินคน มีบันทึกเรื่องเสือตัวหนึ่ง ทำร้ายและกินคนไปถึง 42 คน หลังจากโดนฆ่า จึงพบว่า ที่อุ้งตีนมันมีขนเม่นติดหักคาอยู่ นี่คือสาเหตุอันทำให้เสือหันมาทำร้ายคนและใช้เป็นเหยื่อ” บาธเล่า

“ไม่มีเหยื่อชนิดใดจะล่าได้ง่ายกว่าคนอีกแล้ว” บาธย้ำ และเล่าประสบการณ์ของเขา

“ในกรณีที่เสือพบคนเป็นครั้งแรก ถ้าเราไม่วิ่งหนีหรือแสดงท่าทีให้เสือรู้ว่าเราอ่อนแอกว่า เสือจะเลือกวิธีเลี่ยงไป แทนการเข้าโจมตี”

ครั้งหนึ่งในป่ารัสเซีย บาธเดินย่ำหิมะหนาๆ อากาศลบกว่า 10 องศาเซลเชียส

เขาตามรอยเสือโคร่งไซบีเรียไปจนถึงเหยื่อที่เสือฆ่าไว้

นั่นทำให้เขาต้องเผชิญหน้ากับเสือเจ้าของเหยื่อใกล้ๆ

“มันเดินตรงเข้ามาหา พอผมถอยไปสักหน่อย มันก็หยุด แยกเขี้ยวขู่เฉยๆ พอผมขยับเข้ามา มันก็ทำท่าพร้อมโจมตี”

บาธสรุปเหตุการณ์ในครั้งนั้นว่า เสือตัวนั้นหวงเหยื่อเท่านั้น เมื่อเขาไม่เข้าไปใกล้เกินกว่าระยะที่เสือกำหนดไว้ การเผชิญหน้าจึงไม่ลงเอยด้วยบาดแผล

การทำงานในบังกลาเทศ ทำให้บาธเห็นปัญหาที่เสือกำลังเผชิญ

“พื้นที่อาศัยของมัน ถูกทำลายเพื่อเปลี่ยนเป็นพื้นที่การเกษตร ทุกวัน ตอนนี้ที่นั่น เสือกับคนอาศัยอยู่ในพื้นที่เดียวกันแล้ว เช่นเดียวกับแถวสุมาตรา ที่เสือต้องอาศัยอยู่ในสวนปาล์ม”

สัตว์ป่าและคนอาศัยในพื้นที่เดียวกัน

การกระทบกระทั่งกันคล้ายจะเป็นเรื่องอันหลีกเลี่ยงไม่พ้น

“เมืองไทยยังมีโอกาสดีกว่าที่อื่นๆ” ดร.เดวิดให้ความเห็น

ผืนป่าบริเวณเทือกเขาตะนาวศรี ทั้งสองฝากฝั่งคือป่าผืนมหึมา เป็นแหล่งอาศัยที่ดีของสัตว์ป่า และพืชพรรณ

และรวมถึงเสือ

ผ่านไปกว่าครึ่งเดือน งานไม่คืบหน้า ไม่วี่แววเสือโคร่งเข้ามาใกล้กับดัก

ป่าแห้งแล้ง ควันไฟ ลอยแทรกอยู่ในอากาศ

ท่ามกลางบรรยากาศอันมัวซัวด้วยควันไฟ เช้าวันหนึ่ง เราพบเสือดาวตัวหนึ่งติดกับดัก

มันถูกวางยาสลบ เพื่อปล่อยตัวไป ดร.เดวิดไม่ใส่ปลอกคอที่มีเครื่องส่งสัญญาณวิทยุ

เสือดาว ไม่ใช่เป้าหมาย

เราช่วยกันอุ้มร่างหนักราว 50 กิโลกรัมนั้น มาวางใกล้ๆ ด่านใหญ่ เพื่อที่เมื่อเสือฟื้นจะได้ใช้ด่านนั้นเดินไป

ผมอาสานั่งเฝ้าเสือดาวหนุ่มตัวนี้ จนกระทั่งมันฟื้น

ด้วยอาการงัวเงีย เสือดาวใช้ความพยายามอย่างยิ่งที่จะยืนขึ้น ล้มๆ ลุกๆ อยู่หลายครั้ง

หลังจากยืนได้อย่างมั่นคง ด้วยเท้าทั้งสี่

มันหันมาจ้องผมอย่างจริงจัง

เป็นไปไม่ได้ที่จะอยู่ใกล้ขนาดสัมผัสตัวได้ ขณะเสือมีสติครบถ้วน อย่างเมื่อสองชั่วโมงก่อน

มันแยกเขี้ยว ขู่คำราม ก่อนหันหลังเดินไปตามด่าน ใบไม้แห้งส่งเสียงแกรกกราก แสดงถึงฝีเท้าที่ยังไม่มั่นคงนัก

มันเดินไปตามด่านใหญ่ราว 20 เมตร ก็แยกจากด่าน

ผมมองตามร่างเสือดาวที่ค่อยๆ เดินห่างออกไป

เสือดาวเลือกที่จะเดินไปตามด่านของมัน

สองชั่วโมงก่อนเสือฟื้น ผมจับตีนเสือดาวมาพิจารณา อุ้งตีนอ่อนนุ่ม แต่มีริ้วรอยจากการเหยียบหนาม และพื้นแข็งขรุขระ

ร่างของเสือดาวลับจากสายตา

เสียงแกรกกรากจางหาย

ตีนเดินไปตามด่านอย่างมั่นคงแล้ว

ผมเก็บกล้องเข้าเป้ มือยังมีกลิ่นเสือติดอยู่จางๆ

ในเวลาต่อมา ผมมีโอกาสเช่นนี้อีกหลายครั้ง ได้เรียนรู้ทำความรู้จักเสือเพิ่มเติม

แต่ผมจำช่วงเวลานั้นได้เสมอ

จับตีนเสือ ดูอุ้งที่ผ่านการเดินมาอย่างโชกโชน

จับที่ตีน แต่ที่สัมผัสได้ ดูเหมือนจะเป็นหัวใจ…