ธงทอง จันทรางศุ | เรื่อง ‘ช้าง’ ของ ‘ช้าง’

ธงทอง จันทรางศุ

เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญจากมูลนิธิที่ทำงานด้านการอนุรักษ์แห่งหนึ่งให้ไปบรรยายเรื่องช้างในประวัติศาสตร์ เพื่อเป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งในงานรณรงค์หาทุนของมูลนิธิดังกล่าวเพื่อสนับสนุนงานอนุรักษ์ช้าง

แม้เป็นงานเล็กๆ ที่มีผู้เข้าร่วมงานไม่ถึงร้อยคน แต่บรรยากาศดีมากครับ

เพราะเป็นงานตอนบ่ายใกล้เย็น จัดงานในดงไม้ขนาดใหญ่ มีต้นไม้ร่มครึ้มทั้งบริเวณ มีช้างสองเชือกเป็นตัวประกอบส่วนหนึ่งของฉาก

ในงานมีดนตรีและนักร้องกิตติมศักดิ์สมัครเล่นซึ่งเป็นเพื่อนฝูงกันร้องเพลงไพเราะให้ทั้งคนและช้างฟัง

จะมีน่าเบื่อหน่อยก็ตรงที่ให้ผมพูดเรื่องช้างในประวัติศาสตร์อย่างที่ว่ายาวประมาณครึ่งชั่วโมง สงสารคนฟังจังเลย

ความยากของการพูดเรื่องช้างในประวัติศาสตร์ในเวลาครึ่งชั่วโมงคือทำอย่างไรก็ไม่มีทางจะนำข้อมูลที่เก็บเล็กผสมน้อยจากที่ต่างๆ ไปนำเสนอให้ได้ครบถ้วน คนพูดก็ต้องตัดอกตัดใจเพื่อรักษาเวลาครับ

หลายเรื่องที่ผมนำไปเล่าสู่กันฟังในวันนั้นเป็นความทรงจำที่ไม่ต้องเปิดหนังสืออ่านก็นึกออก แต่หลายเรื่องก็ต้องเปิดหนังสือเตรียมตัวไปพูด

พูดจบกลับมาบ้านที่กรุงเทพฯ แล้วข้อมูลก็ยังเหลืออีกมากมาย จะทอดทิ้งให้สูญหายไปก็แสนเสียดาย

อย่ากระนั้นเลย วิธีแก้ปัญหาคือนำข้อมูลเหล่านั้นมาระบายในคอลัมน์ตรงนี้ล่ะครับ

ถ้าอ่านไปบรรทัดสองบรรทัดแล้วเกิดเบื่อขึ้นมา ก็เลิกอ่านแล้วเปลี่ยนไปอ่านคอลัมน์อื่นก็ได้ครับ

อารมณ์ประมาณเบื่อไลฟ์สดแล้วเลิกดู ก็ไม่มีใครบังคับครับ ฮา!

เรื่องแรกที่น่านำมาเล่าสู่กันฟังคือเรื่องช้างเผือก เมื่อตอนผมเป็นเด็กเรียนอยู่ชั้นมัธยมเคยมีหนังเขมรเข้ามาฉายในเมืองไทย ผมไม่ได้ไปดูในโรงหนังหรอกครับ ดูแค่หนังตัวอย่างที่เขามาฉายในโทรทัศน์

จำได้ติดตาว่าช้างเผือกเขมรในหนังเรื่องนั้นเป็นช้างตัวโตทาสีขาวโพลนทั้งตัว แปลกตาเต็มที

นี่แปลว่าตอนทำหนังเรื่องนั้นเมืองเขมรแทบจะไม่รู้จักช้างเผือกตัวจริงเสียแล้ว

ช้างเผือกของแท้ไม่ใช่ช้างสีขาวเป็นหิมะหรือเป็นปุยนุ่น

หากแต่เป็นช้างที่มีลักษณะสำคัญตามตำรา 7 ประการ คือ ตาขาว เพดานขาว เล็บขาว พื้นหนังสีขาวหรือสีคล้ายหม้อใหม่ ขนหางขาว และอัณฑโกศขาวหรือสีคล้ายหม้อใหม่

รองลงมาจากช้างเผือกโบราณท่านเรียกว่าช้างสีประหลาด ถือเป็นช้างสำคัญคู่พระบารมีของพระเจ้าแผ่นดินเหมือนกัน ลักษณะของช้างสีประหลาดคือมีคุณสมบัติช้างสำคัญคล้ายช้างเผือกแต่ไม่ครบเจ็ดประการ

ช้างสำคัญอีกประเภทหนึ่งที่เราไม่คุ้นชื่อกันเสียแล้ว เรียกว่า ช้างเนียม มีลักษณะสำคัญสามประการ คือ พื้นหนังดำ งามีลักษณะเหมือนรูปปลีกล้วย และข้อสุดท้ายคือเล็บดำ

ช้างทั้งสามประเภทนี้พระราชบัญญัติรักษาช้างป่า พ.ศ.2454 กำหนดว่าเป็นของหลวงสำหรับแผ่นดิน

ใครพบใครมีก็ต้องแจ้งทางราชการ เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญจากสำนักพระราชวังไปตรวจสอบ

จะทึกทักเอาเองว่าเป็นช้างเผือก ช้างสีประหลาดไม่ได้ครับ เดี๋ยวเรื่องจะวุ่นวายใหญ่โตไปเปล่าๆ

ผมได้เคยสัมภาษณ์จมื่นศิริวังรัตน (เฉลิม คชาชีวะ) อดีตผู้เชี่ยวชาญเรื่องช้างของสำนักพระราชวัง ท่านเมตตาเล่าให้ฟังว่า เวลาท่านออกไปตรวจดูช้างเผือกว่าถูกต้องตามตำราหรือไม่ เพื่อให้เห็นสีผิวของตัวช้างชัดเจน

ท่านต้อง “หมักช้าง” โดยการซื้อมะขามเปียกมาประมาณ 3-4 กิโลกรัม เอามาใส่กระป๋องใหญ่ๆ เคล้าให้ละลายให้หมด แล้วนำมาทาตัวช้างให้ทั่ว

หมักทิ้งไว้หนึ่งคืน รุ่งเช้าเมื่อล้างออกแล้วจึงจะเห็นสีที่แท้จริง

เวลาล้างออกนั้นก็ห้ามใช้ผงซักฟอกสมัยใหม่เป็นตัวช่วยนะครับ ให้ใช้วิธีล้างด้วยน้ำเปล่าจนหมดจด เพื่อกลิ่นตัวที่แท้จริงของช้างจะได้คงอยู่

นอกจากการหมักช้างอย่างที่ว่าแล้ว ผมไปค้นดูหนังสือประชุมหมายรับสั่งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ความรู้เพิ่มเติมว่าเวลาช้างหลวงมัวหมองไม่ผ่องใส อาบน้ำแล้วก็ยังไม่สะอาดถึงใจ คราวนี้ต้องเดือดร้อนถึงสับปะรดล่ะครับ

ผมเดาว่าคงเอาสับปะรดมาปอกเปลือกออกแล้วถูที่ตัวช้างจนตลอดทั้งตัว น่าสนุกแต่คงเหนื่อยเอาการเนอะ

ในหมายท่านบอกไว้ว่าอย่างนี้ครับ

“พระบรมไกรสรนั้น มัวหมองจะชำระให้ผ่องใส จะต้องการผลสับปะรดวันละ 50 บาท เว้น 3 วัน ส่งทีหนึ่ง กว่าจะสิ้นเดือนเจ็ด ให้พระแก้ว พระคลังสวน นายระวาง จัดเอามาส่ง…อย่าให้ขาดได้ตามรับสั่ง”

อ่านแล้วนึกถึงเรื่องที่เคยพูดเล่นกันกับหมู่เพื่อนฝูงว่า รับสมัครคนไปอุ้มช้างอาบน้ำหรือแปลงฟันเสืออะไรทำนองนั้นเลยทีเดียว

แต่เรื่องเอาสับปะรดมาขัดตัวช้างนี้ ต้องถือเป็นกรณีพิเศษนะครับ ไม่ได้ขัดกันทุกวัน ปกติแล้วช้างเผือกช้างสำคัญที่ยืนโรงอยู่ในพระบรมมหาราชวังเดินออกไปอาบน้ำที่ท่าช้าง ที่ท่านนายรัฐมนตรีไปเปิดท่าเรือที่ทำใหม่เมื่อเดือนก่อน ตรงนั้นเรียกชื่อเต็มว่า ท่าช้างวังหลวง เพราะเป็นที่อาบน้ำของช้างที่อยู่ในวังหลวงคือพระบรมมหาราชวัง

ท่าช้างยังมีอีกแห่งหนึ่งครับ เรียกว่า ท่าช้างวังหน้า ท่านี้เป็นท่าสำหรับช้างที่อยู่ในพระบวรราชวังคือตรงตำแหน่งที่เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติและบริเวณใกล้เคียง เดินไปอาบน้ำรายวัน น่าเสียดายที่ท่าช้างวังหน้าทุกวันนี้มองไม่เห็นเสียแล้วเพราะสะพานพระปิ่นเกล้าสร้างคร่อมทับลงไป

จบเรื่องช้างอาบน้ำแล้วมาดูเรื่องอื่นอีกสักเรื่องดีไหมครับ

คราวนี้มาถึงเรื่องช้างล้ม เพราะน่ารู้มากว่าเวลาช้างล้มหรือช้างตายแล้ว ถ้าเป็นช้างหลวงเขาทำอย่างไรกัน

โชคดีมากที่หนังสือประชุมหมายรับสั่งสมัยรัชกาลที่สามก็มีเรื่องนี้ให้อ่านครับ

เหตุการณ์คราวนั้นคือพระยาช้างเผือกชื่อพระมงคลหัสดินทร์ ซึ่งยืนโรงอยู่ที่โรงช้างในพระบรมมหาราชวังล้ม วิธีปฏิบัติคือต้องนำศพพระยาช้างไปฝังที่ปากลัด แถวเมืองพระประแดงนู่น

วิธีการเคลื่อนย้ายศพพระยาช้างนั้นต้องต่อตะเฆ่ คือเครื่องลากเข็นสำหรับบรรทุกของหนักขนาดใหญ่แล้วยกศพพระยาช้างขึ้นวางบนตะเฆ่ (ซึ่งผมนึกไม่ออกเหมือนกันว่าจะยกขึ้นได้อย่างไร)

เสร็จแล้วก็ลากศพพระยาช้างออกทางประตูวิเศษไชยศรี เลี้ยวขวาไปทางศาลพระหลักเมือง เลี้ยวขวาอีกทีหนึ่งไปตามถนนสนามไชย ซึ่งในหมายรับสั่งเขียนว่า “เลี้ยวไปทางหน้าจักรวรรดิ์”

ซึ่งในที่นี้หมายถึงพระที่นั่งสุทไธสวรรค์มหาปราสาท บนกำแพงพระบรมมหาราชวังด้านทิศตะวันออก แต่เรียกชื่อ “จักรวรรดิ์” ตามแบบพระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์สมัยกรุงศรีอยุธยา

กำลังคนที่ใช้ลากศพพระยาช้างมีจำนวน 300 คน จาก “หน้าจักรวรรดิ์” ก็ลากต่อไปลงแม่น้ำที่ท่าเรือจ้างหน้าวัดพระเชตุพน ที่นั่นมีเรือขนาน 20 ลำผูกเรียงเคียงกันเป็นแพ “เอาเสาไม้ไผ่สี่เสาไปปักเรือขนาน แล้วให้ทำโครงการดาดฟ้าขาวสูงต่ำกว้างยาวพอสมควรศพพระยาช้าง”

ตรงนี้ก็นึกไม่ออกเหมือนกันครับว่าจะยกศพช้างจากตะเฆ่บนบกไปลงเรือขนานในแม่น้ำได้อย่างไร

ก่อนยกศพลงเรือมีบังสุกุลด้วยครับ เป็นหน้าที่สังฆการีนิมนต์พระสงฆ์บังสุกุล 500 ลูก และมหาบังสุกุลอีกห้ารูป

ลองนึกดูก็แล้วกันว่าจะยิ่งใหญ่มโหฬารสักปานใด

จับช้างในเพนียดที่อยุธยา สืบเนื่องจากขี่ช้างต่อจับช้างป่าของคนพื้นเมืองสุวรรณภูมิหลายพันปีมาแล้ว (ภาพจาก Voyage dans les Royaumes de Siam, de Cambodge de Laos et autres parties centrales de l’Indo-Chine, 1858-1861. Ithaca, New York: Cornell University Library. 1863)

การเคลื่อนศพพระยาช้างจากวังหลวงไปจนถึงท่าน้ำวัดพระเชตุพน ไม่ได้ไปแบบเงียบหงอย หากแต่มีกระบวนแห่ มีกลองชนะห้าคู่ จ่าปี่จ่ากลองครบถ้วน แถมด้วยฉัตรเบญจาอีก 10 คัน พอศพพระยาช้างลงเรือขนานแล้ว มีเรือดั้งเป็นเรือคู่ชักนำหน้าไปคู่หนึ่ง มีเรือข้าราชการตามไปในกระบวนอีก 20 ลำ แห่จากวัดพระเชตุพนลงไปทางปากน้ำจนถึงปากลัด ที่จดหมายเหตุบอกว่า “ท่าปากลัดข้างเหนือ”

ถึงที่นั่นแล้วก็ขุดหลุมฝังศพพระยาช้าง “ให้กลบปิดมิดชิดดี” เป็นอันเสร็จพิธี

เกี่ยวกับเรื่องนี้จมื่นศิริวังรัตน กรุณาอธิบายเพิ่มเติมว่า ตำบลที่นำช้างไปฝังไว้นั้นคือบริเวณที่เรียกว่าลัดโพธิ์อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา จะมีการขุดเป็นแอ่งไว้แล้วนำช้างไปส่งใส่ไว้ที่นั่น จนกระทั่งเมื่ออะไรต่างๆ เน่าโทรมหมดแล้ว ก็จะเก็บงาของพระยาช้างส่งคืนมายังสำนักพระราชวัง

เป็นอันว่าจบข้อมูลเรื่องช้างที่ค้นมาได้และจะทิ้งขว้างก็เสียดายเพียงนี้ก่อนนะครับ

ยามเทศกาลบ้านเมืองเป็นอย่างนี้ คิดอะไรไม่ออก หยิบเอาหนังสือเก่ามาอ่านดีกว่า

ไม่กล้าเปิดทีวีดูการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี

เรื่องแบบนั้นมันหวาดเสียวเกินไปสำหรับหัวใจอ่อนๆ ของผมครับ