บทเรียนชีวิต ของ ‘ยอดนักแสดง-นักการเมืองหญิง’ ชาวอังกฤษ / คนมองหนัง

คนมองหนัง
Glenda Jackson /Photograph: Sarah Lee/The Guardian

คนมองหนัง

 

บทเรียนชีวิต

ของ ‘ยอดนักแสดง-นักการเมืองหญิง’ ชาวอังกฤษ

 

ปัจจุบัน “เกลนดา แจ๊กสัน” มีอายุ 86 ปี

เธอได้ชื่อว่าเป็น “นักแสดง-นักการเมือง” คนสำคัญของอังกฤษ

ในฐานะนักแสดง แจ๊กสันเคยได้รับรางวัลออสการ์สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมถึงสองสมัย จากบทบาทในหนังเรื่อง “Women in Love” เมื่อปี 1970 และ “A Touch of Class” เมื่อปี 1973

ต่อมา เธอตัดสินใจเดินเข้าสู่วงการการเมือง ด้วยการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคแรงงาน และได้รับเลือกเป็น ส.ส.ลอนดอนติดต่อกัน 5 สมัย ระหว่างปี 1992-2015

ช่วงท้ายของการทำงานการเมือง แจ๊กสันเคยสร้างวาทะลือลั่นกลางสภา ด้วยการอภิปรายประณาม “มาร์กาเรต แทตเชอร์” อดีตนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร จากพรรคอนุรักษนิยม ในวาระที่ฝ่ายหลังเสียชีวิตเมื่อปี 2013

โดยเธอฉายภาพว่า “ลัทธิแทตเชอร์” คือมรดกเลวร้าย ซึ่งสร้างความเสียหายทางสังคมและเศรษฐกิจให้แก่ประชาชนของสหราชอาณาจักรในระยะยาว ผ่านการทำลายสหภาพแรงงานและนโยบายรัฐสวัสดิการต่างๆ

หลังวางมือทางการเมือง แจ๊กสันกลับเข้าสู่วงการบันเทิงอีกรอบ โดยมีทั้งผลงานภาพยนตร์ ภาพยนตร์ที่ออกฉายทางโทรทัศน์ และละครเวที

ในวัยเกินแปดทศวรรษ เธอกลับมาคว้ารางวัลสำคัญทางการแสดงได้อีกหน ทั้งรางวัลบาฟตาสำหรับโทรทัศน์ สาขานักแสดงหญิงยอดเยี่ยม และรางวัลเอมมี สาขานักแสดงหญิงยอดเยี่ยม จากผลงานเรื่อง “Elizabeth is Missing”

รวมถึงรางวัลโทนี สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม จากละครเวทีเรื่อง “Three Tall Women”

เร็วๆ นี้ แจ๊กสันเพิ่งตอบคำถามที่ถูกส่งเข้ามาจากบรรดาผู้อ่านของเว็บไซต์/หนังสือพิมพ์ “เดอะการ์เดียน” เนื่องในโอกาสที่สถาบันภาพยนตร์แห่งสหราชอาณาจักร (บีเอฟไอ) กำลังจะจัดฉายผลงานหนังคลาสสิคจำนวนมากที่เธอเคยนำแสดง ในเดือนกรกฎาคม

นี่คือบทสนทนาบางส่วนที่สะท้อนมุมคิด-วิถีชีวิตของ “นักแสดง-นักการเมืองอาวุโส” ได้อย่างน่าสนใจ

: บนเส้นทางวิชาชีพในแบบของคุณ ผู้คนมักทึกทักว่าความสำเร็จจะต้องเดินเข้ามาหาคุณอย่างรวดเร็ว มันมีช่วงเวลาไหนบ้างหรือไม่ที่คุณต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อจะหางานทำในฐานะนักแสดง?

มีอย่างแน่นอน พอออกจากโรงเรียน ฉันก็ไปทำงานที่ร้าน “Boots” (ร้านขายยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ) และได้ไปร่วมงานกับกลุ่มนักแสดงสมัครเล่นในเมืองที่ฉันอาศัยอยู่

ต่อมา มีใครบางคนแนะนำให้ฉันเข้าไปศึกษาต่อในโรงเรียนการแสดง เวลานั้น ฉันเริ่มเบื่อกับการทำงานเป็นพนักงานขายของพอดี ฉันเลยคิดว่า “ใช่เลย ฉันต้องออกจากงานนี้แล้วแหละ”

ในที่สุด ฉันก็สอบเข้าเป็นนักเรียนการแสดงได้สำเร็จ และด้วยความช่วยเหลือจากหนึ่งในผู้จัดการของร้าน “Boots” ฉันยังได้รับทุนการศึกษาจากสภาท้องถิ่นของมณฑลเชชเชอร์ เพื่อเดินทางไปเล่าเรียนที่ราชวิทยาลัยศิลปะการแสดง พอจบจากที่นั่น ฉันก็ได้งานแสดงละครเวที 2-3 เรื่องโดยทันที

แต่หลังจากนั้น ฉันกลับว่างงาน (แสดง) เป็นเวลาเกือบสามปี ต้องขอบอกคุณว่า ช่วงนั้น ฉันหันไปประกอบอาชีพอื่นๆ ที่หลากหลายมาก ขณะเดียวกัน ฉันก็แต่งงานและเริ่มต้นใช้ชีวิตคู่อยู่ที่ย่านสวิส คอตเทจ (กรุงลอนดอน) ฉันจึงต้องพยายามทำงานทุกอย่าง เพื่อจะหาเงินก้อนเล็กก้อนน้อยมาจุนเจือครอบครัว

ฉันกลับไปเป็นพนักงานขายของ แล้วก็ไปทำงานออฟฟิศ ก่อนที่จะถูกไล่ออกโดยไม่ทราบสาเหตุ ฉันคิดว่าตัวเองโชคดีมากๆ ที่มีโอกาสได้ทำงานหลายประเภท และได้ร่วมงานกับผู้คนจำนวนมาก

เมื่อเส้นทางการทำงานสิ้นสุดลง ฉันมักเชื่อมั่นว่าตนเองจะไม่ย้อนกลับไปทำงานนั้นๆ อีก และความรู้สึกทำนองนี้ก็ไม่เคยจางหายไปไหน

: มีนักการเมืองและนักแสดงจำนวนไม่น้อยบนโลกใบนี้ ที่เป็นผู้แสดงซึ่งอ่อนด้อยความสามารถอย่างถึงที่สุด สตรีที่ประสบความสำเร็จ เฉลียวฉลาด และรู้เท่าทันโลกอย่างคุณ มีวิธีการรับมือกับคนเหล่านั้นอย่างไร?

ขออนุญาตเรียนตามตรง ฉันคิดว่านี่เป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามคนเป็นนักการเมืองและนักแสดงที่หยาบคายที่สุด

Glenda Jackson (left) and Vanessa Redgrave in Mary, Queen of Scots Photograph: Everett Collection/Alamy

: ระหว่างการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง “Mary, Queen of Scots” (1971) สายสัมพันธ์ระหว่างคุณกับ “วาเนสซา เรดเกรฟ” เป็นอย่างไรบ้าง? มันมีความรู้สึกของการเป็นคู่แข่งขันในทางวิชาชีพอยู่บ้างไหม? และปัจจัยทำนองนั้นส่งผลอย่างไรต่อบทบาทการแสดงที่พวกคุณต้องสวมบทเป็น “แมรี” (เรดเกรฟ) และ “เอลิซาเบธ” (แจ๊กสัน)?

จริงๆ แล้ว เราสองคนได้ร่วมฉากกันน้อยมากๆ ซึ่งนั่นถือเป็นความผิดหวังครั้งใหญ่ เพราะว่าฉันมีความเคารพ และยังคงเคารพวาเนสซาอย่างสูง

อย่างไรก็ตาม มุมมองทางการเมืองของเธอแตกต่างจากฉันโดยสิ้นเชิง ดังนั้น เวลาเธอออกมาแสดงความเห็นหลายต่อหลายครั้ง ฉันจะรู้สึกว่าคำพูดเหล่านั้นมันช่าง… เอาล่ะ ฉันไม่อยากกล่าวอะไรที่จะทำให้เกิดความวุ่นวายยุ่งยาก แต่แน่นอนว่า มันถือเป็นเกียรติอย่างมาก ที่ฉันเคยได้ร่วมงานกับเธอ

(เรดเกรฟเป็นนักแสดงหญิงคนสำคัญของอังกฤษที่เคลื่อนไหวทางการเมืองแนว “ซ้ายจัด” เธอเคยลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคแรงงานปฏิวัติแต่ไม่ได้รับเลือกเข้าสภา ทั้งยังแสดงจุดยืนที่นำไปสู่วิวาทะในหลายกรณี เช่น การปกป้องผู้นำพรรคที่มีพฤติกรรมล่วงละเมิดทางเพศ การสนับสนุนกองทัพสาธารณรัฐไอร์แลนด์-ไออาร์เอ และองค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์-พีแอลโอ กล่าวโจมตีกลุ่มยิวหัวรุนแรงว่าเป็น “พวกอันธพาลยิว” บนเวทีออสการ์ รวมถึงต่อต้านสงครามบุกอิรักด้วยการสนับสนุน “ซัดดัม ฮุสเซน”)

: อะไรคือปัจจัยที่ดึงคุณเข้ามาทำงานการเมือง?

ฉันเคยร่วมงานกับพรรคแรงงานนิดหน่อยขณะยังเป็นนักแสดง ตอนนั้น มีคนเข้ามาชักชวนฉันอยู่สองหนให้ลงสมัครรรับเลือกตั้ง นั่นเป็นช่วงเวลาที่แทตเชอร์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ฉันจึงตอบตกลง โดยไม่ได้คิดว่าตัวเองจะได้รับเลือกตั้งขึ้นมาจริงๆ

กล่าวโดยสัตย์จริง (ถ้ามองจากปัจจุบัน) ฉันไม่แน่ใจว่าตนเองจะสามารถทำอะไรที่แตกต่างออกไปจากเมื่อตอนเริ่มต้นลงสมัครรับเลือกตั้งใหม่ๆ เพราะนี่คือสิ่งที่คุณต้องเรียนรู้ในระหว่างที่คุณต้องลงมือปฏิบัติมันจริงๆ

ฉันคิดว่ามันเป็นเรื่องเยี่ยมมากๆ ที่ ณ เวลานี้ เรามีนักการเมืองหญิงในสภาเพิ่มขึ้น และพวกเธอต่างก็มีอายุน้อยกว่าเมื่อตอนที่ฉันเริ่มเข้าไปทำงานในสภาครั้งแรกเมื่อปี 1992

แต่ได้โปรดเถอะ อย่าให้ฉันเริ่มพูดนะว่าตัวเองคิดอย่างไรกับรัฐบาลชุดนี้

: คุณได้ส่งการ์ดคริสต์มาสไปให้ (อดีตนายกรัฐมนตรี) “โทนี แบลร์” บ้างหรือไม่?

ฉันไม่เคยส่งอะไรไปให้เขาทั้งนั้น

(แจ๊กสันเคยดำรงตำแหน่ง “รัฐมนตรีช่วยว่าการ” ที่กำกับดูแลงานด้านระบบคมนาคมขนส่งในกรุงลอนดอน ในรัฐบาลของแบลร์ระหว่างปี 1997-99 แต่ต่อมา เธอจะมีความเห็นไม่ตรงกับอดีตนายกฯ ในหลายประเด็น ตั้งแต่เรื่องนโยบายเก็บค่าเล่าเรียนในระดับอุดมศึกษา ไปจนถึงการส่งกองทัพไปอิรัก แจ๊กสันถูกมองว่าเป็น “ฝ่ายซ้ายแบบดั้งเดิม” ในพรรคแรงงาน ขณะที่กลุ่มของแบลร์พยายามวางตัวเป็น “ขั้วที่สาม/สายกลาง” ที่มีนโยบายเศรษฐกิจแบบขวากลางและนโยบายสังคมแบบซ้ายกลาง)

: “ไอลีน แอตกินส์” (นักแสดงหญิงชั้นนำร่วมรุ่นกับแจ๊กสัน) เคยเสียบทให้คุณ ระหว่างการออดิชั่นงานในโปรเจ็กต์ละครเวทีของ “ปีเตอร์ บรูก” เธอเขียนเล่าเรื่องนี้ไว้ในหนังสืออัตชีวประวัติที่วางจำหน่ายเมื่อปี 2011 ว่า บรูกขอให้คุณกับเธอถอดเสื้อผ้าออก ปรากฏว่าคุณลงมือถอดเสื้อผ้าของตัวเองทันที ส่วนแอตกินส์คิดว่าเธอได้ยินคำสั่งของผู้กำกับฯ ผิดไป สุดท้าย บรูกจึงบอกว่านั่นคือเหตุผลที่ทำให้เขาเลือกคุณแทนที่จะเป็นแอตกินส์ ซึ่งมีแนวโน้มจะชอบตั้งคำถาม ขณะที่เขาต้องการนักแสดงที่เชื่อฟัง คุณคิดว่านักเรียนการแสดงยุคปัจจุบันควรถูกฝึกฝนให้เป็นคนที่อยู่ในโอวาทของผู้กำกับฯ หรือไม่?

ฉันไม่มีความทรงจำในเรื่องนั้นเลย แต่ฉันยอมรับว่าตัวเองเป็นคนที่เชื่อฟังคำแนะนำ-คำสั่งต่างๆ อยู่เสมอ ฉันยอมรับข้อเท็จจริงนี้อย่างสิ้นเชิง

ถ้านั่นคือผู้กำกับฯ ที่คุณเชื่อถือ และนั่นคืองานที่คุณอยากทำมากๆ คุณก็ต้องยอมทำทุกอย่างที่พวกเขาร้องขอให้คุณทำ บนเงื่อนไขที่คุณสามารถยอมรับได้

: ตอนทำงานในสภา คุณเคยเข้าไปดูละครเวทีหรือภาพยนตร์ แล้วเกิดความคิดว่า “นั่นคือผลงานที่ยอดเยี่ยมมาก ฉันอยากร่วมแสดงในหนัง/ละครเรื่องนี้” บ้างหรือไม่?

คุณน่าจะรู้ ฉันคิดว่าตัวเองไม่เคยเข้าโรงละครหรือโรงหนังเลยตลอดช่วงเวลาที่ทำงานเป็น ส.ส. ฉันมั่นใจว่าฉันต้องเคยดูหนังบางเรื่องในทีวี แต่ฉันจำไม่ได้เลยว่าตนเองเคยเข้าโรงหนังในช่วงดังกล่าว และแน่นอนว่าฉันไม่เคยเดินเข้าไปในโรงละคร เพราะว่าคุณต้องทำงานในสภาเป็นเวลายาวนานหลายชั่วโมงมาก

แล้วตอนนี้ฉันได้เข้าไปดูอะไรในโรงละครหรือโรงหนังบ้างหรือไม่? คำตอบคือไม่ เพราะมันมีข้อแตกต่างกันระหว่างการเข้าโรงละครเพื่อไปหาความรื่นเริงบันเทิงใจ กับการเข้าโรงละครเพื่อไปทำงานอย่างจริงจัง

ถ้าถามว่าฉันคิดอย่างไรที่สถาบันภาพยนตร์แห่งสหราชอาณาจักรกำลังจะจัดฉายภาพยนตร์เก่าๆ ที่ฉันเองเคยนำแสดง? คำตอบคือฉันรู้สึกตื่นเต้น ที่จะมีหนังเก่าหลายเรื่องได้ขึ้นฉายบนจอใหญ่ ลองคิดดูสิว่าอะไรจะเกิดขึ้น ถ้าฉันนั่งดูโทรทัศน์อยู่ แล้วจู่ๆ หนังเก่าที่ฉันเคยร่วมแสดงก็ปรากฏบนจอ

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนทางบีเอฟไอจะจัดฉายหนังเก่าของฉันในช่วงค่ำ ซึ่งนั่นคงเป็นเวลาที่ฉันเข้านอนและอาจหลับสนิทไปแล้ว •

 

ข้อมูลจาก https://www.theguardian.com/film/2022/jun/16/glenda-jackson-answers-your-questions-i-think-thats-a-gross-insult-about-politicians-and-actors-frankly