’11 ปี’ โรงไฟฟ้าฟูคุชิมา / สิ่งแวดล้อม : ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน
แฟ้มภาพโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ (ภาพอาซาฮีชิมบุน)

สิ่งแวดล้อม

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]

 

’11 ปี’ โรงไฟฟ้าฟูคุชิมา

 

เหตุการณ์ไฟไหม้โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ “ฟูคุชิมา” แท่งปฏิกรณ์นิวเคลียร์หลอมละลาย หลังเกิดแผ่นดินไหวขนาด 9.0 ริกเตอร์สเกล และคลื่นสึนามิซัดถล่มชายฝั่งทะเลตะวันออกของญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 นับถึงวันนี้ผ่านไปกว่า 11 ปี แต่เชื่อว่าผู้คนทั่วโลกยังคงจำภาพความหายนะได้ติดตา

ภาพคลื่นสึนามิม้วนตัวขึ้นไปเหนือท้องฟ้าสูงราว 40 เมตร กระแทกลงมายังชายฝั่งกวาดผู้คนกลืนหายไปกับมวลน้ำทะเล ไม่น้อยกว่า 11,000 คน

ภาพของบ้านเรือน ตึกอาคาร รถยนต์ เรือนานาชนิด ถูกคลื่นยักษ์ซัดพังยับเยินกลายเป็นขยะลอยไปตามกระแสน้ำทะเลที่ไหลเชี่ยวกราก

ภาพของผู้คนอพยพออกจากพื้นที่รอบโรงไฟฟ้ากว่า 470,000 คน เพราะหวาดผวากัมมันตรังสีรั่วไหลออกมาจากเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์

หมู่บ้านที่อยู่ใกล้โรงไฟฟ้ากลายเป็นหมู่บ้านร้าง ไร้ผู้คน

กัมมันตรังสีรั่วไหลลงไปในน้ำทะเล ปลิวกระจายไปตามสายลม

มีการตรวจวัดระดับรังสีพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าพบว่า แหล่งน้ำจืด น้ำทะเล พื้นที่เพาะปลูกมีรังสีปนเปื้อนสูงกว่ามาตรฐาน หลายประเทศสั่งห้ามนำเข้าสินค้าจากเขตฟูคุชิมา

ที่น่าแปลกใจว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้าฟูคุชิมา ไม่มีใครเสียชีวิตจากการสัมผัสรังสีโดยตรง มีเพียงเจ้าหน้าที่ 1 คนที่เข้าไประงับเหตุไฟไหม้พบว่าในภายหลังเป็นมะเร็งปอดเพราะได้รับปริมาณรังสีสูงและเสียชีวิตในเวลาต่อมา

ส่วนผู้เสียชีวิตอีกกว่า 2,000 คนพบว่าเกี่ยวพันกับเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ส่วนใหญ่เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย หลังมีอาการซึมเศร้า เครียดป่วย

 

รัฐบาลญี่ปุ่นทุ่มเทกำลังคน กำลังเงินเพื่อล้างกำจัดคราบกัมมันตรังสีเป็นเวลากว่า 5 ปีจึงประกาศยกเลิกเขตอันตรายและอนุญาตให้ชาวบ้านกลับมาใช้ชีวิตในบางพื้นที่อีกครั้ง คนที่กลับส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ คนหนุ่มสาวหวนกลับมาบ้านเกิดมีน้อยมาก

ส่วนปฏิบัติการกำจัดคราบกัมมันตรังสี ยังดำเนินต่อไปเนื่องจากปริมาณกัมมันตรังสีที่รั่วไหลออกจากเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์มีปริมาณสูงมาก คาดว่าต้องใช้เวลาอีกไม่น้อยกว่า 30 ปี

ประเมินกันว่า ตัวเลขความเสียหายจากแผ่นดินไหว คลื่นสึมามิและโรงไฟฟ้าฟูคุชิมาไฟไหม้ กัมมันตรังสีรั่วไหล ราวๆ 2 แสนล้านเยน

เฉพาะเหตุการณ์ที่โรงไฟฟ้าฟูคุชิมา ถือได้ว่าเป็นเหตุเกิดกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ครั้งรุนแรงที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล ที่ยูเครน

ชาวฟูคุชิมายื่นฟ้องร้องรัฐบาลญี่ปุ่นและบริษัทโตเกียว อิเล็กทริก เพาเวอร์ หรือเทปโก้ เจ้าของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูคุชิมา เรียกร้องค่าเสียหาย โดยอ้างเหตุผลว่า ประมาทเลินเล่อ ระบบป้องกันความเสียหายจากแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิไร้ประสิทธิภาพทำให้เครื่องปั่นไฟฟ้าหยุดเดินเครื่อง ไม่มีน้ำไปหล่อลื่นแท่งปฏิกรณ์นิวเคลียร์ร้อนจัดจนระเบิด ไฟไหม้เตาปฏิกรณ์

เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ศาลสูงแห่งญี่ปุ่นมีคำสั่งให้เทปโก้ชดใช้ค่าเสียหายให้กับเหยื่อ 3,700 คน คิดเป็นมูลค่า 1,400 ล้านเยน

ล่าสุด ศาลสูงมีคำพิพากษาว่ารัฐบาลญี่ปุ่นไม่ต้องรับผิดค่าเสียหายจากเหตุกัมมันตรังสีรั่วไหลออกจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูคุชิมา

ผู้ฟ้องร้องในคดีนี้ แสดงความไม่พอใจต่อคำตัดสินของศาลสูง อ้างว่ามีรายงานผลการศึกษาเมื่อ 9 ปีก่อนเกิดแผ่นดินไหวแรงสั่นสะเทือนในระดับ 9.0 ริกเตอร์สเกล จะเกิดผลกระทบกับโรงไฟฟ้าฟูคุชิมา

หลักฐานชิ้นนี้เป็นเครื่องยืนยันว่ารัฐบาลประมาทเลินเล่อ แต่ทางรัฐบาลโต้แย้งกลับไปว่า เป็นรายงานที่ไม่น่าเชื่อถือ และเหตุที่เกิดขึ้นนั้นเป็นอุบัติเหตุครั้งร้ายแรงมากจนไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบได้เลย

 

ประเด็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูคุชิมากลายเป็นปมสำคัญในการเลือกตั้งแทบทุกระดับของญี่ปุ่น ผู้สมัครที่มีแนวคิดต้านนิวเคลียร์ จะหยิกประเด็นนี้ไปปราศรัยเรียกหาคะแนนนิยม เพราะนิวเคลียร์เป็นบาดแผลทางใจของชาวญี่ปุ่นมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่สหรัฐทิ้งบอมบ์ในเมืองนางาซากิและฮิโรชิมา

ใครเอาประเด็นนิวเคลียร์มาพูดก็เท่ากับสะกิดแผลใจให้รู้สึกเจ็บปวด

แต่ชาวญี่ปุ่นก็ต้องนำประเด็นทางเศรษฐกิจ การอยู่รอดของประเทศ มาชั่งใจ

ญี่ปุ่นเป็นเกาะที่ไม่มีแหล่งพลังงานขนาดใหญ่ ไม่ว่าบ่อน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน หรือแม้กระทั่งแร่ยูเรเนียมใช้กับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต้องนำเข้า คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 84 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนพลังงานที่ใช้ในประเทศ

ในช่วงทศวรรษ 1960 เศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตก้าวกระโดด การใช้พลังงานพุ่งมโหฬาร ชาวญี่ปุ่นยอมรับว่ามีความจำเป็นต้องใช้พลังงานนิวเคลียร์เพื่อทดแทนการนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิล

รัฐบาลตัดสินใจสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์โตไกเป็นแห่งแรก ตั้งอยู่ในเขตอิบารากิ จากนั้นมาได้สร้างอีกหลายแห่ง รวมแล้วญี่ปุ่นมีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ทั้งหมด 54 เตา มีสัดส่วนการผลิตพลังงานป้อนเข้าระบบราว 30% ของพลังงานทั้งหมด

แต่หลังจากเกิดเหตุร้ายแรงกับโรงไฟฟ้าฟูคุชิมา ทำให้การเติบโตของพลังงานนิวเคลียร์ในญี่ปุ่นสะดุด รัฐบาลสั่งปิดและตรวจสอบโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ทุกแห่งอย่างละเอียดไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอย

เวลานี้เตาปฏิกรณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่กลับมาเปิดใช้งานมีเพียง 10 เตาเท่านั้น ญี่ปุ่นจึงต้องกลับมาพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นหลัก

 

ปรากฏว่า สถานการณ์โลกเปลี่ยน เกิดโรคระบาดโควิด-19 ต้องปิดประเทศ เศรษฐกิจญี่ปุ่นร่วงติดดิน ร้านรวงปิด จากนั้นเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ราคาน้ำมันดิบ ก๊าซและถ่านหินพุ่งสูงมาก ราคาสินค้าปรับตัวขึ้น เงินเฟ้อพุ่ง ค่าครองชีพเพิ่มสูงตาม

ขณะที่ความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี เมื่อผู้นำเกาหลีเหนือสั่งยิงขีปนาวุธข่มขู่เป็นประจำ

ปัจจัยเหล่านี้กลายเป็นแรงกระแทกให้ชาวญี่ปุ่นต้องหันกลับมาคิดถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ การพึ่งพาตัวเองและการป้องกันภัยคุกคามจากประเทศเพื่อนบ้าน

นักการเมืองญี่ปุ่นเร่งปลุกกระแสเรียกร้องให้ชาวญี่ปุ่นเปิดใจรับการใช้พลังงานนิวเคลียร์ เพื่อลดสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล

รัฐบาลญี่ปุ่นยังมีแผนเพิ่มปริมาณการผลิตพลังงานจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็น 22% แต่ย้ำว่ามาตรการป้องกันความปลอดภัยต้องอยู่ในชั้นสูงสุดและเป็นที่ยอมรับของประชาชน

ในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดนีงาตะ เมืองใหญ่สุดของชายฝั่งเกาะฮอนชู เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่แล้ว นายฮิเดโย ฮานาซูมิ ผู้สนับสนุนนายฟุมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน คว้าชัยชนะเหนือคู่แข่งที่มีแนวคิดต่อต้านนิวเคลียร์

ดูจากการเลือกตั้งนีงาตะและผลสำรวจความเห็นของสำนักข่าวเอ็นเอชเคเมื่อเร็วๆ นี้ แนวโน้มการเลือกตั้งครั้งใหม่ในปีนี้ จึงเป็นที่คาดกันว่าชาวญี่ปุ่นนึกถึงปัญหาเศรษฐกิจปากท้องสำคัญกว่าอันตรายจากกัมมันตรังสีนิวเคลียร์ •